สนามวิจารณ์ : เมื่อ TPO บรรเลงดีกว่า IPO ?

สนามวิจารณ์ :  เมื่อ TPO บรรเลงดีกว่า IPO ?

บทวิจารณ์นี้มีชื่อเต็มว่า "เป็นไปได้หรือไม่ที่ วง TPO จะบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข5 ของมาห์เลอร์ ได้ดีกว่าวง IPO!!!"

เป็นไปได้หรือไม่ที่ วง TPO จะบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข5 ของมาห์เลอร์ ได้ดีกว่าวง IPO!

 

แค่ข้อความข้างต้น อาจดูเป็นการท้าทายอะไร ที่น่าชวนทะเลาะ-ถกเถียงกันทางดนตรีได้มากพอดู วงซิมโฟนีออร์เคสตราสัญชาติไทย อย่าง ทีพีโอ (Thailand Philharmonic Orchestra) จะบรรเลง ซิมโฟนี หมายเลข 5 ของ กุสตาฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler)ได้ดีกว่า วงออร์เคสตราที่ได้ชื่อชั้นว่า เป็นวงระดับนานาชาติ หรือระดับโลก อย่าง ไอพีโอ (Israel Philharmonic Orchestra) ได้หรือ

คำตอบสำหรับคำถามแบบนี้ ยังไม่จำเป็นต้องรีบตอบในทันที แบบคำตอบเชิงปรนัยสั้นๆ ว่า “ใช่”หรือ “ไม่ใช่” ยิ่งในทางดนตรีด้วยแล้ว มีอะไรๆ ที่ต้องได้ข้อมูลเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยการประเมินหาคำตอบ ซึ่งท้ายที่สุดก็คงเสมือนคำถามเชิงปรัชญาที่ฟังดูง่ายๆ ที่สุดท้ายแล้ว คำตอบก็ยังคงล่องลอยอยู่ในสายลมนั่นเอง ศิลปะที่ดีจึงมักกระตุ้นให้เราเกิดการขบคิด,วิเคราะห์ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบสิ้นเฉกเช่นในกรณีนี้

ผมเองมีโอกาสได้ชมการแสดงสด ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ ราว 4-5 ครั้ง และการฟังจากผลงานบันทึกเสียงโดยวงออร์เคสตราระดับโลกอีกมากมายจนนับไม่ถ้วน จึงพอจะกล่าวได้บ้างว่า รู้จักบทเพลงนี้ได้ดีพอสมควร พอจะรู้ได้ว่า ทั้งความน่าตื่นเต้น โฉบเฉี่ยว, สีสันอันเจิดจ้า, ความทรงพลังทางดนตรี หรือแม้แต่บางช่วง-บางตอนอันดื่มด่ำลึกซึ้ง จนทำให้เราจมดิ่งสู่ภวังค์อารมณ์เบื้องลึกนั้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ต้องการวงดนตรีที่สูงไปทุกๆ ด้าน ทั้งความสามารถอันท้าทาย, ประสบการณ์, เทคนิคและจำนวนผู้บรรเลง ซิมโฟนีบทนี้ ซึ่งกินเวลายาว 70 กว่านาที จึงเสมือนมหากาพย์ และอาจจะคล้ายๆ การประกอบพิธีกรรมอยู่กลายๆ ทีเดียว

และการบรรเลงซิมโฟนีบทนี้ โดยวงทีพีโอ ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2558 ที่ผ่านมา ก็มีเรื่องราวมากมายที่น่ากล่าวถึงเป็นอย่างยิ่ง

การบรรเลงครั้งนี้อยู่ภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรจอมเฮี้ยบชาวอิตาเลียน อัลฟอนโซ สการาโน (Alfonso Scarano) ซึ่งอาจจะเริ่มสร้างความอึดอัดให้กับบรรดานักดนตรีหลายต่อหลายคนในวง ถึงความจ้ำจี้-จ้ำไช, จุกจิกในรายละเอียด และอารมณ์อันขี้หงุดหงิด (เมื่อวงบรรเลงออกมาไม่ได้ตามมาตรฐานที่เขาตั้งไว้) สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวเบื้องหลังในช่วงการฝึกซ้อม หากแต่เมื่อเราได้สดับผลงานการบรรเลงภายใต้การควบคุมวงของเขา เราคงต้องยอมรับอย่างเถียงไม่ได้ว่า เขาสามารถสร้างมาตรฐานการบรรเลงได้อย่างประณีตงดงามกว่าวาทยกรคนอื่น (ของวงทีพีโอ) เขาเป็นวาทยกรที่ทำให้นักดนตรีที่ไม่ชอบหน้าเขา บรรเลงออกมาได้อย่างถูกต้อง, สะอาด, ไพเราะหมดจด นี่แหละความขัดแย้งเชิงตรรกะอันน่าขัน

ผมเองก็ไม่ได้ชื่นชอบกับการตีความซิมโฟนีบทนี้ของเขาทั้งหมด หลายจุด, หลายตอนผมไม่เห็นด้วยกับเขา หากแต่ผมต้องยอมสยบให้กับความดีของเขา ที่สามารถทำให้วงออร์เคสตราสัญชาติไทยอย่างทีพีโอ บรรเลงออกมาได้สะอาด, สูงด้วยระเบียบวินัย และผิดพลาดน้อย สร้างความเข้มข้นจดจ่อในสมาธิของการบรรเลงได้ตลอดเวลาร่วม 80 นาที นี่ก็แทบจะมากเกินพอแล้ว และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการบรรเลงบทเพลงเดียวกันนี้โดยวงระดับโลก อย่างอิสราเอล ฟิลฮาร์โมนิก ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อคืนวันจันทร์ที่20 ตุลาคม พ.ศ.2557 ภายใต้การอำนวยเพลงโดย สุบิน เมห์ธา (Zubin Mehta) แล้ว ก็ยิ่งชวนให้เราต้องหันมาหยุดทบทวนกันให้หนักๆ มากยิ่งขึ้น เกี่ยวกับแนวคิดเรื่อง แบรนด์เนม, เรื่องวงระดับโลก และเรื่องวาทยกรระดับโลกว่า แท้จริงแล้ว มายาคติเหล่านี้สร้างมรรคผลอะไรที่เป็นแก่นสารกันจริงๆ บ้างในการฟังดนตรีคลาสสิกด้วยความบริสุทธิ์ใจ, ฟังด้วยการเห็นแก่คุณค่าทางดนตรีและศิลปะอย่างแท้จริง

ในหนังสือ “The Mahler Symphonies An Owner’s Manual” เขียนโดย เดวิด เฮอร์วิทซ์ (David Hurwitz) เขากล่าวถึงการเปิดการบรรเลงในท่อนแรกตอนเริ่มแรก ซึ่งมาห์เลอร์ เขียนแนวเดี่ยวทรัมเป็ต (Trumpet) ให้เริ่มต้นออกตัวการบรรเลงอย่างสุดแสนจะกดดัน-หวาดเสียวว่า “ซิมโฟนีเปิดการบรรเลงด้วยแนวเดี่ยวทรัมเป็ตที่ยากราวกับนักไต่หน้าผา ซึ่งต้องบรรเลงให้ได้อย่างสมบูรณ์พร้อม เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากผิดพลาดขึ้นมา มันจะส่งผลกระทบทำให้วงออร์เคสตราทั้งวงเสียขวัญอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว” เขา (David Hurwitz) พูดถูกมาก ผมเองอยากจะเปรียบเทียบเพิ่มเติมด้วยซ้ำไปว่า มันยังเสมือนการร่ายโองการอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเริ่มพิธีกรรม หากผู้อ่านโองการเกิดประหม่า อ่านผิดพลาด นั่นย่อมส่งผลทางจิตวิทยาต่อพิธีกรรมทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา กดดันเสมือนการยิงประตูลูกโทษลูกสุดท้ายที่ชี้ชะตา-ชัยชนะในฟุตบอลโลก ท่ามกลางสายตาผู้ชมนับล้านๆ คู่ทั่วโลก

ผมพอจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้เพียงเท่านี้ (ที่เหลือขอเชิญท่านไปลองเปิดดูในยูทูบกันเอาเองก็แล้วกัน) สุรสีห์ ชานกสกุล หัวหน้ากลุ่มทรัมเป็ต เปิดตัวการบรรเลงในค่ำวันนั้นได้อย่างถูกต้องไม่มีพลาด เขาสามารถอ่านโองการอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อเริ่มพิธีกรรมได้อย่างงดงาม สร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักดนตรีเพื่อนผู้ร่วมงานทั้งหมด รวมถึงวาทยกรและผู้ชมให้เกิดความมั่นใจและคาดหวังในสิ่งดีๆที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา

  เลโอนาร์ด เบอร์นสไตน์ (Leonard Bernstein) สุดยอดวาทยกรอเมริกันผู้ล่วงลับ เคยกล่าวว่า เพียงแค่วง อิสราเอล ฟิลฮาร์โมนิก บรรเลง ซิมโฟนีของมาห์เลอร์แบบซ้อมครั้งแรกสุด (Sight Reading) ก็สามารถ “เปล่งเสียงแห่งความเป็นยิว” ได้แล้ว น่าเสียดายที่การบรรเลงของวงอิสราเอล ฟิลฮาร์โมนิก ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กับ สุบิน เมห์ธา ไม่สามารถทำให้เราสัมผัสหรือได้กลิ่นทางดนตรีแห่งความเป็นยิวใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่การบรรเลงโดยวงทีพีโอ ภายใต้การอำนวยเพลงโดยอัลฟอนโซ สการาโน ในแนวทำนองแรก (1st Theme) ของท่อนแรกในลักษณะ “เพลงแห่ศพ” (Funeral March) นั้น สการาโนทำให้กลุ่มเครื่องสายของวง “ส่งกลิ่นดนตรียิว”เตะจมูกได้อย่างไม่ต้องมีอุปาทาน มันฟังคล้ายการร้องเพลงแบบเอื้อน, แปร่งๆ แกว่งๆ (มิได้แปลว่าเพี้ยน!) ฟังดูคล้ายๆ เทคนิคการรูดสาย(Portamento) ซึ่งผมเองไม่เคยสัมผัสกลิ่นนี้ในซิมโฟนีของมาห์เลอร์ได้มาก่อนเลย (แม้แต่จากการบรรเลงอันเป็นเลิศโดยวงซานฟรานซิสโกซิมโฟนีฯที่ฮ่องกง)

ไม่ทราบจริงๆ ว่า นี่สการาโน จงใจสร้างมันขึ้นมาหรือไม่? และถ้าเช่นนั้นเขาใช้วิธีการใดกับกลุ่มเครื่องสายของวง ทีพีโอ(กลุ่มที่อาจไม่ชอบหน้าเขามากที่สุด?) แต่นี่คืออีกครั้งหนึ่งที่เขาทำให้กลุ่มเครื่องสายของวงทีพีโอก้าวสู่ท็อปฟอร์มได้อีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดหรือแม้แต่นักดนตรีจะชอบหน้าเขาหรือไม่ก็ตาม

ท่อนที่สาม (Scherzo) ในซิมโฟนีบทนี้ยาวที่สุด, กินเวลาในการบรรเลงมากที่สุด มีความสมบูรณ์และสำคัญเสมือนซิมโฟนีอีกบทหนึ่งที่แยกออกมาต่างหาก ความสำคัญและความกดดันของแนวทรัมเป็ตในท่อนแรกเป็นอย่างไร มาห์เลอร์ได้นำความกดดันและท้าทายนั้นมาโยนให้กับแนวเดี่ยวแตรเฟรนช์ฮอร์น (French Horn) ในท่อนนี้ราวกับการโยนเผือกร้อนทางดนตรี

ในท่อนนี้สปอตไลท์ทางดนตรีจับจ้องไปที่แนวเดี่ยวฮอร์นตลอดทั้งท่อน นันทวัฒน์ วรานิช หัวหน้ากลุ่มเฟรนช์ฮอร์นของวงทีพีโอ เป็น “พระเอก”ในคืนวันนั้น ผมเองแทบจะไม่เชื่อหูและไม่เชื่อสายตาว่าเสียงฮอร์นอันก้องกังวาน ทรงพลังอย่างน่างดงามในคืนวันนั้น เป็นเสียงที่บรรเลงโดยนักดนตรีชาวไทยเราเอง (ขออภัยที่ผมพูดแบบนี้) สิ่งที่ผมอยากจะสื่อกับทุกๆ ท่านจริงๆ ก็คือ ปัจจุบันเรามีนักดนตรีชาวไทยที่มีระดับมาตรฐานทางเทคนิค-ความสามารถระดับนานาชาติอยู่ไม่น้อย หากแต่พวกเราจะเปิดใจยอมรับความจริงอันน่าชื่นชมนี้ได้ไหม ซึ่งนันทวัฒน์ วรานิช คือหนึ่งในตัวอย่างอันสำคัญนี้

ถ้าจะถามแบบคาดคั้นว่า นันทวัฒน์ เป่าไม่หลุดเลยหรือ ก็คงต้องถามกลับไปว่าเราจะเทียบกับบริบทไหน? ถ้าเทียบกับการฟังจากแผ่นซีดี(ที่ผ่านการตัดต่อแก้ไขมาแล้ว) ก็คงต้องตอบว่าเขามีหลุดบ้าง แต่น้อยมากๆ และถ้าจะเทียบกันในบริบทของการบรรเลงจริงๆ สดๆ บนเวทีคอนเสิร์ต ผมถือว่าเขาบรรเลงได้อย่างไม่ผิดพลาด เมื่อ สุรสีห์ ชานกสกุล เปิดการบรรเลงได้อย่างไม่ผิดพลาดในท่อนแรกแล้ว มันก็เสมือนการส่งมอบความกดดันทางดนตรีมาสู่มือของนันทวัฒน์ในท่อนนี้ ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างไม่น่าผิดหวัง

มาห์เลอร์ เขียนสำนวนดนตรีให้กับแนวเฟรนช์ฮอร์น ด้วยสำนวนภาษาสำหรับเครื่องดนตรีชนิดนี้อย่างแท้จริง ทั้งความแผดก้องกังวาน ที่ให้ความรู้สึกราวกับเราได้ยินมันจากป่าลึก ความดังแบบสุดขีดที่จะต้องประคองให้มันออกมาควบคู่กับความงดงาม ส่วนหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับการตีความของสการาโนในท่อนนี้ ก็เห็นจะได้แก่ จังหวะเต้นรำในท่อนนี้ที่ยังฟังดูแข็งและตรงตามโน้ตจนเกินไป จนขาดความอ่อนโยน,ขาดความสุข, รอยยิ้มและความมีชีวิตชีวาในการเต้นรำ มาห์เลอร์ไม่เคยขาดรสชาติของดนตรีเต้นรำอันมีชีวิตชีวาในซิมโฟนีของเขา ซึ่งวาทยกรจำเป็นต้องเก็บให้ครบถ้วนเช่นกัน

ช่วงหาง (Coda) ของท่อนนี้ทรงพลัง, ร้อนแรงดุดันราวกับเปลวไฟ หากแต่ สการาโนกลับถือไม้บาตอง (Baton)อำนวยเพลงอย่างสงบนิ่ง ราวกับอำนวยเพลงที่ยังอยู่ในอารมณ์เพลงร้องอันอ่อนหวาน (Cantabile) นี่แหละรสนิยมของผู้อำนวยเพลงที่ดี เขากำลังบอกกับพวกเราว่า จงตัดสินความสามารถของผมที่คุณภาพของเสียงดนตรี มิใช่ตัดสิน(คุณภาพดนตรี) จากท่วงท่าร่ายรำของผม

ความเนี้ยบ,ความเจ้าระเบียบทางดนตรีอันเคร่งครัดของเขาส่งผลกระทบต่อสุนทรียภาพอีกด้านหนึ่งไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่กล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้นว่า ซิมโฟนีของมาห์เลอร์ มีครบทุกรสชาติ, ทุกมิติ สมดังวลีเด็ดของเขาเองที่เคยกล่าวไว้ว่า “เขียนดนตรีซิมโฟนีบทหนึ่งก็เสมือนสร้างโลกขึ้นทั้งใบ เพราะมันต้องบรรจุไว้ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง”

ดนตรีในท่อนที่ 4 ในจังหวะช้า (Adagietto) นี่คือซิมโฟนีสำหรับวงเครื่องสายล้วน (และพิณฮาร์พ) อันแสนจะพิสุทธิ์ มันก้าวเลยพ้นจากเพียงคำว่า “งดงาม” หากแต่มันดึงเราไปสู่ปฏิกริยาเบื้องลึกทางจิต, ภวังค์ห้วงลึกทางสมาธิ จนนำไปสู่สำนึกแห่งศาสนา แต่สการาโนยังกลับถือไม้บาตองกำกับดนตรีในท่อนนี้อย่างเคร่งครัด เป็นที่รู้ๆ กันมานาน จนแทบจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วว่าดนตรีซิมโฟนีในท่อนช้าอันสุขุมลุ่มลึกนั้น วาทยกรจะปฏิบัติต่อดนตรีแบบนี้อย่างระมัดระวัง,นุ่มนวล,ละมุนละไม จนพวกเขา (วาทยกร) ก็มักจะนิยมที่จะวางอาวุธในมือ (ไม้บาตอง) และใช้นิ้วมือทั้ง10นิ้ว “ปั้น” วลี, ประโยคทางดนตรีอย่างนุ่มนวล โดยทางปฏิบัติแบบ “วงใน” แล้ววาทยกรจึงมักจะ “หยุดอำนวยเพลง” ในดนตรีแบบนี้ วางไม้บาตอง ขยับมือทั้งสองข้างอย่างอ่อนโยน ถอยบทบาทไปเป็นเพียงผู้ฟังดนตรีที่เพียงแค่ส่งสายตาชื่นชมเสียงดนตรีอันงดงามนั้น

ในคืนวันนั้น สการาโนกลับยังคงถือไม้บาตองอำนวยเพลงอย่างใกล้ชิดระมัดระวังแบบทุกฝีก้าว เราจึงสัมผัสความงามได้เพียงในระดับระเบียบทางตัวโน้ตดนตรี อันเป็นความงามของเสียงซึ่งยังอยู่แค่ในระดับ “ภววิสัย”(Objective) เป็นดนตรีที่ฟังดูระมัดระวังจนออกจะเกร็งไปบ้างในเสียงดนตรีที่เกิดขึ้น บางครั้งศาสตร์แห่งการอำนวยเพลงก็อาจเสมือนศาสตร์แห่งการปกครอง การปกครองขั้นสูงก็คือการปกครองโดยไม่ต้องออกแรงปกครองควบคุมใดๆ ด้วยความไว้วางใจ, เชื่อใจในผู้ใต้บังคับบัญชาบ้าง เราจึงมักจะได้ยินเรื่องราวของวาทยกรระดับโลกหลายต่อหลายคนว่า ในการอำนวยเพลงของท่านเหล่านั้น บ่อยครั้งท่านอำนวยเพลงโดยไม่ต้องออกแรงควบคุมใดๆ อำนวยเพลงโดยไม่ต้องควบคุม-ปกครองโดยไม่ต้องปกครอง วันหนึ่งสการาโนน่าจะเดินไปถึงจุดนั้น

นี่เป็นการบรรเลงซิมโฟนีของมาห์เลอร์ ที่ทำให้เราจดจำไปได้ยาวนานอีกครั้งหนึ่ง (แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับการตีความของเขาทั้งหมด) ซิมโฟนีของมาห์เลอร์ที่เราสัมผัสได้ว่าบรรจงฝึกซ้อมและเตรียมตัวมาอย่างดี นักดนตรีและวาทยกรมีความตั้งใจจริงและเอาจริงเอาจังกับการบรรเลง โอกาสในการบรรเลงดุริยางคนิพนธ์ในระดับสุดยอดที่เป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต”ที่พวกเขาจะไม่ปล่อยให้มันผ่านไปแบบการทำงานประจำ (Routine) นี่แหละที่ทำให้ผมอดคิดเปรียบเทียบการบรรเลงของวงทีพีโอ กับการบรรเลงของวง ไอพีโอ กับ สุบิน เมห์ธา ไม่ได้

สุบินเองเคยสารภาพไว้อย่างกล้าหาญและน่าชื่นชมว่า เลนนี (เลโอนาร์ด เบอร์นสไตน์) ไม่เห็นด้วย (ไม่ชื่นชม) กับการอำนวยเพลงซิมโฟนีบทนี้ของสุบิน เอง ซึ่งผมเองก็ไม่สงสัยเลยจากการชมการแสดงของวงอิสราเอล ฟิลฮาร์โมนิก ในคืนวันนั้น อดคิดลึกๆ แบบท้าทายสุดๆ อยู่ไม่ได้ว่า ถ้าเลนนียังมีชีวิตอยู่และได้มีโอกาสมานั่งฟัง ทีพีโอ ในคืนวันนั้น เขาจะรู้สึกอย่างไร ผมแอบจินตนาการแบบนี้ เพราะผมเชื่อมั่นว่าในทางดนตรีแล้ว เลนนีมีความจริงใจและบริสุทธิ์ใจต่อเสียงดนตรี โดยปราศจากอคติเรื่องแบรนด์เนมทางดนตรีใดๆ ทั้งสิ้น

ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ที่สยายปีก โฉบเฉี่ยวอย่างสง่างามในหอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร ซึ่งตอนนี้พอจะเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า มีระบบสะท้อนเสียง (Acoustic) ที่เพราะที่สุดในเมืองไทย และเสียงดีกว่าหอแสดงดนตรีหลายๆ แห่งในยุโรปด้วยซ้ำไป หลายเดือนก่อน ผู้บริหารของวงออร์เคสตราแห่งสถานีวิทยุบีบีซีแห่งกรุงลอนดอน กล่าวออกปากอย่างไม่ลังเลว่า หอแสดงดนตรีแห่งนี้ ดีกว่าหอแสดงดนตรีในประเทศอังกฤษด้วยซ้ำไป ผมเองกล้าสนับสนุนคำพูดและความคิดของเขา เพราะผมเองก็เคยไปฟังการบรรเลงในคอนเสิร์ตฮอลชั้นนำในยุโรปมาบ้างแล้ว ทั้งที่กรุงเบอร์ลิน (Philharmonie) และที่กรุงเวียนนา(Musikvereinssaal) จึงกล้าพูดได้ว่า มหิดลสิทธาคาร คือหอแสดงดนตรีที่มีระบบสะท้อนเสียงที่เพราะมากแห่งหนึ่งในโลก คุณภาพของหอแสดงดนตรีระดับนี้, คุณภาพการบรรเลงก็ดังที่กล่าวสาธยายไปยืดยาวแล้ว ทั้งหมดนี้ ผมยังไม่กล้าที่จะฟันธงตอบคำถามที่ตั้งขึ้นเองจั่วหัวแบบชวนทะเลาะไว้ว่า “เป็นไปได้หรือไม่ที่วง TPO จะบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข5 ของมาห์เลอร์ได้ดีกว่าวง IPO ? ”


ขืนตอบความรู้สึกจากใจจริงออกไปแบบตรงๆ สั้นๆ ก็คงอาจทำให้ถูกหมั่นไส้และเกลียดขี้หน้ากันได้ง่ายๆ กันพอดี.

ตีพิมพ์ครั้งแรกในส่วนจุดประกาย นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2558