พระที่นั่งอนันตสมาคม เกร็ดสถาปัตยกรรมคู่ประวัติศาสตร์

พระที่นั่งอนันตสมาคม เกร็ดสถาปัตยกรรมคู่ประวัติศาสตร์

หินอ่อนเหมืองคาร์ราร่า ทฤษฎีเรือเอี้ยมจุ๊น ลายเซ็นมร.ตามัญโญอยู่ตรงไหน และงานศิลป์แผ่นดินชิ้นใหม่ 'เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์'

"เมื่อแปดปีที่แล้ว คือพ.ศ.2550 พระที่นั่งอนันตสมาคมก็มีอายุครบ 100 ปีของการวางศิลาฤกษ์ แต่พระที่นั่งองค์นี้ใช้เวลาสร้างแปดปี คือเปิดใช้เมื่อปีพ.ศ.2458 มีการบำเพ็ญพระราชกุศลเฉลิมพระที่นั่ง นับถึงปีนี้ก็ครบ 100 ปีของการเปิดใช้" อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ บรรยายไว้ในการรับเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ถ่ายทอดความรู้ขณะนำชม พระที่นั่งอนันตสมาคม ในกิจกรรม ‘เปิดตำนาน 100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคม กับเอไอเอส เซเรเนด’

คนไทยต่างเคยเห็น พระที่นั่งอนันตสมาคม ผ่านภาพถ่ายและสื่อประเภทต่างๆ หลายคนเคยเดินทางมาชมความงามด้วยตาตนเอง หลายคนทราบข้อมูลดีอยู่แล้ว แต่ถ้าใครยังต้องการข้อมูลพระที่นั่งองค์นี้ เรื่องที่อาจารย์เผ่าทองถ่ายทอด อาจช่วยเพิ่มคลังความรู้ส่วนตัว

พระที่นั่งอนันตสมาคม สร้างขึ้นเต็มรูปแบบตะวันตกอย่างแท้จริง เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวที่มีในประเทศไทย รวมฝีมืองานช่างแขนงต่างๆ แบบตะวันตกและผสมผสานกับแบบไทย ที่สำคัญคือรวมช่างเกือบทุกแขนงของตะวันตก ทั้งสถาปัตยกรรม การแกะสลักหินอ่อน ประติมากรรม จิตรกรรมฝาผนัง-เพดาน ลวดลายเหล็กดัด-เหล็กหล่อ รวมทั้ง ‘พื้น' ขององค์พระที่นั่ง ที่เราไม่ได้เห็นเลยเนื่องจากปูพรมแทบจะทุกตารางนิ้ว ก็ปูด้วย หินอ่อนสีขาว จากเหมืองในเมือง คาราร่า (Carrara) ประเทศอิตาลี เช่นเดียวกับองค์พระที่นั่ง

“หินอ่อนจากเหมืองคาราร่ามหัศจรรย์ตรงเป็นเหมืองหินอ่อนเดียวในโลกที่มีหินอ่อนครบทุกสี คือหลายร้อยสี เหมืองหินอ่อนที่อื่นอาจมีสีเดียว สองสี สามสี ห้าสีหรือสิบสี แต่ที่นี่มีทุกสี ประการที่สองคือ เหมืองหินอ่อนคาราร่าขุดต่อเนื่องกันมาจนถึงนาทีนี้เป็นเวลา 400 ปี ไม่เคยหยุดขุด และไม่เคยหมด นาทีที่พวกเรานั่งคุยกันตรงนี้ หินอ่อนคาราร่าก็ยังขุดอยู่ ที่สำคัญ หินอ่อนที่นำมาสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม เนื้อหินอ่อนสีขาวเป็นสีขาวบริสุทธิ์อย่างที่เราเห็นกันแบบนี้ เหมืองอื่นจะไม่มีสีขาวเท่านี้ เนื้อลายมากกว่านี้”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้าง ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ เพื่อเป็นท้องพระโรงในรัชสมัยของพระองค์ ถือเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดที่แสดงถึงความเป็นอารยะของประเทศไทยในขณะนั้น เป็นพระราชดำริอันล้ำค่าของรัชกาลที่ห้าทรงสร้างเอาไว้ให้ลูกหลานได้เก็บกินจนทุกวันนี้ เช่นเดียวกับ ‘วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว)’ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้สร้างขึ้น เรามีนักท่องเที่ยววันละหลายหมื่นคนไปวัดพระแก้ว เรามีนักท่องเที่ยวมาที่ ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ วันละไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นคน ค่าบัตรผ่่านประตู 150 บาท ถือเป็นมรดกที่เราเก็บกินไปชั่วนาตาปี

ที่สำคัญคือ ทรงสร้างอาคารเหล่านี้เพื่อต่อสู้การเข้ามาของโลกตะวันตก เพื่อให้อารยประเทศยอมรับว่าเราเจริญแล้ว ไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน

"การสร้างพระที่นั่งองค์นี้อยู่ในช่วงเวลารอยต่อของการล่าอาณานิคม เราลงมือสร้างพ.ศ.2450 เป็นยุคที่การล่าอาณานิคมของตะวันตกทวีกำลังสูงสุด รัชกาลที่ห้าเสด็จพระราชสมภพพ.ศ.2396 เป็นช่วงที่ยุโรปลงมาล่าอาณานิคมในเอเชีย อินเดียตกเป็นเมืองขึ้น พม่าใต้ตกเป็นเมืองขึ้น...

เมื่อรัชกาลที่ห้าทรงมีพระชนมายุุ 14 พรรษา ท่านเห็นเหตุการณ์ที่ฝรั่งเศสมายึดอินโดจีนไปจากเรา(เวียดนาม ลาว เขมร) เวลานั้นประเทศเรามีพื้นที่หนึ่งล้านกว่าตารางกิโลเมตร ขณะนี้เราเหลือห้าแสนกว่าตารางกิโลเมตร หายไปประมาณ 55 เปอร์เซนต์ ทรงเห็นเหตุการณ์ที่พระราชบิดาเสียดินแดน...

พอพระชนมายุ 15 พรรษา 10 วัน ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ท่านอยู่ในภาวะที่ประเทศโดนเฉือนออกตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรปพ.ศ.2440 จึงเป็นการเสด็จเพื่อราชการบ้านเมือง จากนั้นเมื่อเสด็จกลับมาแล้ว ต้องคิดเตรียมการ ท่านทรงจ้างสถาปนิก-วิศวกรเข้ามาอยู่ในประเทศเยอะแยะ 30-40 คน เพื่อเตรียมการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม...

การวางศิลาฤกษ์พ.ศ.2450 ไม่ได้แปลว่าคิดเดี๋ยวนั้นแล้ววางศิลาฤกษ์ได้ มันจะต้องมี 10 ปีของการวางแผน เสด็จกลับจากยุโรปพ.ศ.2440 ปั๊บ ทรงวางแผนเลยว่าจะสร้าง" อ.เผ่าทอง เล่า

และกว่าจะสร้างได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้สถาปนิกใหญ่ มร.มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) เขียนแบบเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตาม

"เพราะ มร.ตามัญโญเมื่อรับพระบรมราชโองการว่าจะสร้างพระที่นั่งหินอ่อน เขียนแบบขึ้นมาถวายแล้ว แต่ยังไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน พอท่านชี้พื้นที่ปั๊บตรงนี้ นี่คือนา ดินเป็นดินเลนหมดเลย ตามัญโญคิดไม่ออกเลย ว่าจะเอาหินอ่อนหนักไม่รู้กี่ร้อยกี่พันตัน มาวางอยู่บนดินเลนโดยไม่ให้จม หรือไม่ให้เอียงเหมือนหอเอนปิซ่าได้อย่างไร เขาเป็นทุกข์มากที่จะสร้าง...


เขาอยู่บ้านหลวงพระราชทานริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ปัจจุบันรื้อลงสร้างเป็นโรงแรมรอยัลออร์คิดเชอราตัน) เช้าก็ไปนั่งริมน้ำ คิดไม่ออก เห็นเรือโยงขนของผ่านไป เช้าไปเย็นกลับ เช้าไปเรือขนข้าวขนทรายเพียบแประน้ำเทียบเสมอกราบเรือ ตกเย็นเอาข้าวขึ้นท่าเสร็จเรียบร้อย เรือลอยพ้นน้ำขึ้นมา เห็นอยู่เป็นเดือนเป็นปี จนคิดได้ว่า พระที่นั่งต้องทำเป็นเรือ ให้ลอยได้...


ใต้พระที่นั่งขุดเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และมีน้ำ พระที่นั่งตอกเสาเข็ม แต่ใต้นั้นเป็นอ่างน้ำทั้งอัน น้ำเสมอฐานพระที่นั่ง ดันพยุงพระที่นั่งอยู่...

เราไม่เคยรู้เลยจนเมื่อพ.ศ.2525 ฉลองกรุงเทพฯ สองร้อยปี เราขุดลงไปดูว่าองค์พระที่นั่งจะมีปัญหาอะไรบ้าง เราพบว่ามีน้ำขังเต็มหมด สถาปนิกส่วนหนึ่งบอกให้เอาน้ำออก คิดว่าน้ำใต้ดินท่วม สถาปนิกอีกตระกูลช่างที่เรียนจบจากอิตาลีรีบยับยั้ง บอกเอาน้ำออกไม่ได้ ดูดแห้งเมื่อใดพระที่นั่งทรุดทันที เหมือนเราเล่นน้ำทะเล อุ้มคนอยู่ในน้ำทะเล คนจะเบา พระที่นั่งก็ลอยอยู่บนน้ำเบาตัวฉันนั้นเลย..

เขาเอาทฤษฎีเรือเอี้ยมจุ๊นในแม่น้ำเจ้าพระยามาสร้างพระที่นั่งองค์นี้ มันมหัศจรรย์ลั่นฟ้าที่สุด เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่ที่สุดในเอเชียไม่มีใครนึกออก จนถึงวันนี้ไม่เคยทรุด ไม่เคยร้าว ไม่เคยมีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น" อาจารย์เผ่าทอง กล่าว


สถาปนิกใหญ่ มร.ตามัญโญ รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ถวายงานและภูมิใจในผลงาน เขาได้ฝาก ลายเซ็น ไว้ภายในพระที่นั่งองค์นี้ เป็นประติกรรม กิ่งปาล์มในกรอบสามเหลี่ยมสีทอง ติดตั้งไว้ตรงรอยต่อระหว่างฐานโดมกับผนัง สวยงามกลมกลืนไปกับงานประดับตกแต่งภายในพระที่นั่งฯ

"มร.ตามัญโญเป็นคาทอลิกที่เคร่งมาก สัญลักษณ์กิ่งปาล์มนี้มาจากข้อความใน Old Testament ตอนพระเยซูเสด็จกลับกรุงเยรูซาเลม ไม่ใช่ฤดูที่จะมีดอกไม้ ประชาชนจึงหักกิ่งปาล์มซึ่งมีอยู่เต็มทะเลทราย มาโบกเพื่อรับเสด็จ" อาจารย์เผ่าทอง เล่า

รัชกาลที่ห้าทรงคุมงานสร้าง ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’ ได้ 3 ปี ได้งานฐานราก ก็เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เวลาสร้างต่ออีก 5 ปีเต็มก็เสร็จสมบูรณ์ วิธีการก่อสร้างคือ วัสดุทุกอย่าง หลังคาโดม งานประติมากรรมทุกชิ้น ล้วนแกะสลักทำสำเร็จรูปในอิตาลี แล้วส่งมาประกอบในเมืองไทย ใช้เงินไปทั้งหมด 15 ล้านบาท เทียบได้ประมาณ 15,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

โอกาสนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘เปิดตำนาน 100 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคม กับเอไอเอส เซเรเนด’ ยังได้ชื่นชมผลงาน ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 6 ผลงานประณีตศิลป์ชั้นสูงฝีมือคนไทยสมาชิก สถาบันสิริกิติ์ ซึ่งมีผลงานที่รังสรรค์ขึ้นใหม่และชิ้นดั้งเดิมซึ่งสร้างขึ้นตามวาระสำคัญ ล้วนแต่สุดยอดฝีมือช่างไทย

ผลงาน ฉากปักไหมน้อย เรื่อง ‘อิเหนา’ มองเผินๆ ครั้งแรกคิดว่า ‘ภาพเขียน’ แต่สีสันและลายเส้นอ่อนช้อยที่ปรากฎ กลับเกิดจากการฝีมือการ ‘ปักผ้า’ ที่เรียกวิธีนี้ว่า ปักซอย เป็นงานประณีตศิลป์ของไทยแต่โบราณที่มีความละเอียดอ่อน บรรจงปักเรียงด้วย ‘ไหมน้อย’ หรือเส้นไหมที่ละเอียดที่สุด ไล่ระดับสีและแสงเงา ให้เกิดเป็นภาพที่มีมิติงดงาม งานศิลป์แผ่นดินชิ้นนี้เล่าวรรณคดีไทยเรื่อง ‘อิเหนา’ บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่สอง ผูกแบบปักรวม 18 ตอน เลือกตอนที่นิยมร้องเล่นกันแพร่หลาย ความยาวชิ้นงาน 9.61 เมตร สูง 4.29 เมตร ระดมจำนวนช่างฝีมือ 143 คน ใช้ระยะเวลาจัดทำ 4 ปี

ในโอกาสที่ระหว่างปีพ.ศ.2558-2560 เป็นช่วงระยะเวลาที่มีวาระอันเป็นมงคลเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อเนื่องกัน 3 ปี ผลงานศิลป์แผ่นดินชิ้นใหม่ที่ ‘สถาบันสิริกิติ์’ กำลังดำเนินงานอยู่ในขณะนี้คือ เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ เป็นเรือนยอด 9 ยอดตามรัชกาล มีลักษณะเป็นเรือนยอดยกพื้นสูง ทั้งสี่ด้านไม่มีผนัง เป็นสถาปัตยกรรมไทยแท้ ปรากฎอยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งอนันตสมาคม

"ชื่อนี้เป็นชื่อพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า สร้างในวาระสำคัญหลายประการ" อาจารย์เผ่าทอง กล่าวและว่า โดยหน้าบันแต่ละทิศที่รวมอยู่บนเรือนยอดจะประดับสัญลักษณ์พระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก, สมเด็จย่า, พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี

อาจารย์เผ่าทองกล่าวเสริมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสถานที่ก่อสร้าง ‘เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์’ ด้วยพระองค์เอง จากหลักฐานภาพเก่าในสมัยรัชกาลที่ห้าทรงโปรดให้สร้างพลับพลาโถงเพื่อประทับทอดพระเนตรการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมตลอดสามปี ซึ่งเมื่อขุดลงไปก็เจอฐานรากโบราณของพลับพลาเดิม


นอกจากนี้ยังทรงโปรดให้ก่อสร้างด้วยวัสดุคงทนถาวรยาวนานมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คือ สเตนเลสสตีลและทองเหลืองหล่อ ยกขึ้นประกอบ ไม่ใช่ไม้แกะสลัก

“วาระที่สถาบันสิริกิติ์กำหนดจะสร้างให้เสร็จ คือเดือนมิถุนายน พ.ศ.2559 เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ประการที่หนึ่ง, ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา ในปีพ.ศ.2560, สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 84 พรรษา,สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา พ.ศ.2560”

เป็นอีกวาระสำคัญสำหรับการจัด ‘งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 7’ เพื่อเฉลิมฉลองมหามงคลแห่งแผ่นดิน