สธ.ห่วงฝังแร่รักษามะเร็งหวั่นแผ่รังสี

สธ.ห่วงฝังแร่รักษามะเร็งหวั่นแผ่รังสี

สธ.ห่วงคนไทยฝังแร่รักษามะเร็ง หวั่นแผ่รังสี ทำให้คนใกล้ชิด หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายได้

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าว “มาตรการการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษาด้วยการฝังแร่แบบถาวรจากต่างประเทศ” ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยมะเร็งคนไทยที่เดินทางไปฝังแร่ไอโอดีน-125 แบบถาวรที่สถานบริการสุขภาพ ประเทศจีน ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด ซึ่งมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมา เนื่องจากไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้รับการฝังแร่มากเท่าไร ยิ่งได้รับการฝังแร่ปริมาณมาก ร่างกายผู้ป่วยก็จะยิ่งมีการแผ่รังสีออกมามาก ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลรักษาผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายได้ เนื่องจากไม่ทราบว่าผู้ป่วยเดินทางไปฝังแร่มา ทั้งที่จริงแล้วสามารถป้องกันได้โดยการสวมเสื้อตะกั่ว

รศ.นพ.ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย นายกสมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การฝังแร่ในไทยมีมานานแล้ว ไม่ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ แต่การใช้รักษามะเร็งนั้นมีข้อบ่งชี้ โดยการใส่แร่แบบชั่วคราวมักจะทำในการรักษามะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งมดลูก ส่วนการฝังแร่แบบถาวรจะใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มแรกเท่านั้น ไม่ใช่ในระยะลุกลาม ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลผู้ที่เดินทางไปฝังแร่จากประเทศจีนมานั้น ขณะนี้รวบรวมได้ราว 40 ราย พบว่า ไม่น่าจะทำอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน เพราะไม่ได้ฝังแร่เฉพาะตามข้อบ่งชี้ที่มีอยู่ แต่ทำการฝังแร่ในทุกจุดของร่างกายที่เป็นมะเร็ง ซึ่งการฝังแร่เช่นนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ และจากการสอบถามพบว่า ผู้ป่วยที่ไปฝังแร่ก็ไม่ได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องหลังการฝังแร่ หรืออาจได้รับคำแนะนำแต่ไม่เข้าใจ นอกจากนี้ การจะให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้นั้นการแผ่รังสีต้องไม่สูงเกินกว่ามาตรฐาน แต่จากการวัดอัตราการแผ่รังสีผู้ป่วยหลายคนที่ไปฝังแร่ที่จีนมาพบว่า สูงเกินกว่ามาตรฐาน

ผศ.พญ.สมใจ แดงประเสริฐ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า จากการได้รับรายงานผู้ป่วยที่เดินทางไปฝังแร่ที่จีนมานั้นพบว่ามีการฝังแร่หลายจุดในร่างกาย ซึ่งยังมีส่วนที่ต้องระวัง เพราะต้องเข้าใจก่อนว่ากัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมาจากแร่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ ก็สามารถทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อปกติได้เช่นกัน เท่าที่พบคือมีการฝังในกระเพาะ ซึ่งพบว่าทำให้กระเพาะทะลุ นอกจากนี้ การฝังใกล้เส้นเลือดใหญ่ก็จะทำลายเส้นเลือด ทำให้เส้นเลือดตีบหรือฝ่อ ซึ่งในกระเพาะมีเส้นเลือดเยอะมากจึงทำลายหนักกว่า หรือแม้กระทั่งรายที่กำลังส่งมาพบว่าฝังในสมองของเด็กอายุ 2 ขวบ เป็นต้น ส่วนอัตราการแผ่รังสีนั้นพบว่าแผ่ออกมาเกินกว่าจากที่ค่าที่คนปกติควรได้รับ 20-40 เท่า

นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ รองเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่จะนำเข้าแร่กัมมันตภาพรังสีเข้ามาใช้ในการรักษาจะต้องขออนุญาตสำนักงานฯ ก่อน ซึ่งจะมีการตรวจมาตรฐานของหน่วยงาน หากผ่านจึงอนุญาตให้นำเข้ามาใช้ได้ แต่กรณีดังกล่าวเป็นการไปฝังที่ต่างประเทศไม่ถือว่าเข้าข่ายเรื่องการนำเข้าตาม พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ อย่างไรก็ตาม การไปฝังแร่ที่จีนพบว่าไม่ได้ทำตามมาตรฐาน เพราะตามมาตรฐานนั้นคือ 1.โรงพยาบาลต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลเร็วเกินไป ต้องรอให้รังสีลดลงก่อน 2.มีบัตรแสดงตัวผู้ป่วยที่รับการฝังแร่ และ 3.ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว มีเสื้อตะกั่วให้สวม ต้องอยู่ห่างจากคนรอบข้างเท่าไรอย่างไร

นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังการฝังแร่แบบถาวรกรณีที่แพทยืแอนุญาตให้กลับบ้านได้แล้วนั้นคือ 2 สัปดาห์แรกจะต้องไม่อยู่ใกล้ชิดเด็กและสตรีมีครรภ์เป็นเวลานาน เพราะเนื้อเยื่อเด็กและทารกในครรภ์อยู่ในช่วงการพัฒนา อาจทำให้เกิดผลกระทบได้ แต่หลังจากนั้นประมาณ 3-4 เดือนก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เพราะค่าครึ่งชีวิตของไอโอดีน-125 อยู่ที่ 60 วัน หมายความว่าทุก 60 วันพลังในการแผ่รังสีของมันจะลดลงครึ่งหนึ่ง เช่น 100 พอครบ 60 วันก็เหลือ 50 อีก 60 วันก็เหลือ 25 เป็นต้น ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความแรงขอแร่แต่ละเม็ดด้วย เพราะสามารถผลิตให้แร่ไอโอดีน-125 มีความแรงต่างกันได้

รวมไปถึงจำนวนแร่ที่ฝังและตำแหน่งที่ฝังด้วย เพราะหากยิ่งฝังปริมาณมาก หรือฝังใกล้ผิวหนังมาก อัตราการแผ่รังสีก็จะยิ่งมากตามไปด้วย ระยะเวลาในการที่อัตรารังสีจะลดลงจึงนานมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อความมั่นใจและปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งกลับจากฝังแร่จากจีน ควรไปวัดอัตราการแผ่รังสีที่โรงพยาบาลว่าเกินมาตรฐานหรือไม่ และรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ทั้งนี้ สำนักงานฯ ได้ทำคู่มือข้อแนะนำการปฏิบัติตัวหลังฝังแร่แบบถาวรแจกจ่ายไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ด้วย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การใส่แร่แบบชั่วคราวและการฝังแร่แบบถาวรในประเทศไทยมีมานานแล้ว มีการดำเนินการทั้งหน่วยบริการภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยการฝังแร่แบบชั่วคราวดำเนินการ 22 แห่ง และแบบถาวรดำเนินการ 8 แห่ง สำหรับอันตรายจากการรับรังสีคือในระยะสั้นอาจเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เมื่อยล้า ผมร่วง หมดสติ ระยะยาวมีข้อมูลว่าอาจทำให้เกิดมะเร็งบางชนิดได้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงบนสารพันธุกรรม สำหรับผู้ที่เดินทางไปฝังแร่ที่จีนมาสามารถมาวัดอัตราการแผ่รังสีได้ที่โรงพยาบาลที่ให้การรักษามะเร็งด้วยวิธีการฝังแร่ทั้งหมด

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากการตรวจสำนักงานให้คำปรึกษาในการส่งตัวผู้ป่วยไปฝังแร่ที่จีนทั้ง 2 แห่งนั้นพบว่า ไม่ได้ทำผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 เพราะไม่มีการให้บริการทางเวชกรรม อย่างไรก็ตาม กรมฯจะทำหนังสือแจ้งให้ศูนย์ให้คำปรึกษาปฏิบัติตามแนวทางการโฆษณาตามหลักเกณฑ์ของ สธ. และประสานขอรายชื่อผู้ที่ไปรับบริการฝังแร่ที่จีนว่ามีใครบ้าง เพื่อให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง และจะทำหนังสือถึงเอกอัครราชทูตจีนขอความร่วมมือในการทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลรักษามะเร็ง

นายวีระชัย ชมสาคร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองบริโภค (สคบ.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลยังไม่พบการร้องเรียนเรื่องการฝังแร่มายัง สคบ. อย่างไรก็ตาม สคบ.จะตรวจสอบว่าการโฆษณาของศูนย์ให้คำปรึกษาการไปฝังแร่ที่จีนนั้นทำผิดฐานโฆษณาเกินจริงหรือไม่ โดยจะต้องขอข้อมูลหลักฐานทางวิชาการมาประกอบการพิจารณาด้วยว่าเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือโอ้อวดหรือไม่

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า เรื่องนี้จะมีการปรึกษาไปยังผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยให้ทราบ ว่าเกิดปัญหาเดินทางไปฝังแร่แบบถาวรที่จีนเป็นจำนวนมาก เพื่อขอคำคำแนะนำอย่างเป็นทางการในเรื่องกัมมันตภาพรังสี เพราะเป็น 1 ใน 5 เรื่องตามกฎอนามัยระหว่างประเทศคือ โรคติดต่อ โรคจากสัตว์สู่คน อาหารปลอดภัย สารเคมี และกัมมันตภาพรังสี