ไม้ต่อแห่งความฮา 'พิมพ์พิชา อุตสาหจิต'

ไม้ต่อแห่งความฮา 'พิมพ์พิชา อุตสาหจิต'

ลูกสาวคนโตของ วิธิต อุตสาหจิต กำลังรับไม้ต่อธุรกิจความฮาของตระกูลอุตสาหจิต ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด

ขึ้นชื่อว่าธุรกิจในครอบครัว ใช่ว่าคนในทุกครอบครัวจะยินยอมพร้อมใจสานต่อจนธุรกิจรุ่งเรืองต่อไปได้ แต่สำหรับธุรกิจความฮาของตระกูล 'อุตสาหจิต' กำลังมีคนรุ่นใหม่มารับไม้ต่ออย่างมุ่งมั่นและตั้งใจ...
คนๆ นั้นคือ นิว - พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ลูกสาวคนโตของ วิธิต อุตสาหจิต หรือที่แฟนการ์ตูนขายหัวเราะรู้จักกันดีในนาม 'บก.วิติ๊ด' ผู้เป็นทั้งตำนานและเป็นโลโก้ความฮาระดับชาติซึ่งหาตัวจับยาก

ที่ว่าเป็นตำนาน นอกจากหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะและอื่นๆ ในเครือจะอยู่ยั่งยืนยงมาจนทุกวันนี้ ความที่เป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์แต่ยังเติบโตสวนกระแสหนังสืออันซบเซาได้นั้นก็ยิ่งยืนยันว่านี่แหละตำนานของจริง
จากวันนั้นจนวันนี้ขายหัวเราะยังทำหน้าที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่นักอ่าน บรรณาธิการอย่างวิธิตก็ยังทำหน้าที่บรรณาธิการเช่นเดิม เพียงแต่วันนี้เขากำลังถ่ายทอดวิชาฮาและการบริหารชั้นเซียนให้ลูกสาวคนนี้ ซึ่งไม่ช้าก็เร็ว นิวจะต้องรับ
หน้าที่แทน บก.วิติ๊ด แน่นอน
ตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีจากรั้วจามจุรี นิวไปศึกษาต่อด้านธุรกิจที่ประเทศอังกฤษ และเป็นเวลาปีกว่าแล้วที่เธอกลับมาทำงานในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด

ทำหน้าที่อะไรบ้าง?
หน้าที่หลักของนิวคือดูเรื่องโปรเจกต์ต่างๆ ที่เป็นโปรเจกต์ธุรกิจ โดยเฉพาะโปรเจกต์ใหม่ๆ คุณแม่อยากให้ใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาดูแลเรื่องต่างๆ เช่น ตอนที่สติ๊กเกอร์ไลน์เพิ่งฮิตใหม่ๆ โปรเจกต์นั้นนิวก็เป็นคนดู แต่จริงๆ หน้าที่คือดูทุกอย่างที่อยู่ภายใต้แบรนด์บันลือกรุ๊ป และพวกธุรกิจทั้งที่มีอยู่แล้วอย่างสำนักพิมพ์ แอนิเมชั่น และอันใหม่ๆ ที่เราเพิ่งต่อยอดไป นิวจะดูภาพกว้าง ดูทุกตัว ไม่ได้เจาะลึกไปในตัวใดตัวหนึ่ง นิววางแผนและพยายามขับเคลื่อนทุกอย่างให้เดินไปพร้อมๆ กัน
นอกจากหน้าที่ด้านธุรกิจแล้ว ก่อนไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษซึ่งเกี่ยวกับธุรกิจ นิวเรียนปริญญาตรีด้านนิเทศศาสตร์ เพราะฉะนั้นจึงมีมุมมองทั้งสองด้าน คือด้านคอนเทนต์กับด้านธุรกิจ จึงมีงานที่รับผิดชอบมากกว่าโดยตำแหน่งที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ก็จะช่วยดูเรื่องคอนเทนต์ด้วยในบางตัว อย่างในงานสัปดาห์หนังสือถ้ามีเล่มไหนที่บก.ทำไม่ไหวหรือต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น หมาจ๋า นิวก็จะเป็นบก.เล่มด้วยค่ะ

กลับมาจากอังกฤษแล้วเริ่มงานเลยหรือเปล่า?
ก็เริ่มเลยค่ะ จริงๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ถามว่าอยากพักไหม ก็เลยขอพักหนึ่งอาทิตย์ นิวคิดว่าขอน้อยแล้ว แต่คุณแม่บอกว่าพักวันเดียวก็พอ นั่นแหละค่ะ กลับมาแค่วันเดียวก็เริ่มงานเลย

ทำงานมาปีกว่าๆ เป็นอย่างไรบ้าง?
สมัยก่อนตอนเด็กๆ ก็ช่วยงานคุณพ่อคุณแม่มาบ้างแล้วค่ะ แต่จะช่วยฝั่งคอนเทนต์มากกว่า เพราะตอนเด็กๆ จะชอบอ่านชอบเขียน และเราเรียนมาด้านนั้นด้วยก็เลยชอบด้านนั้น พอเรียนจบมาด้านธุรกิจและเข้ามาทำงานจริงๆ จึงพบว่ามีหลายอย่างที่มันมากกว่าแค่คอนเทนต์ดี คือทำคอนเทนต์ให้ดีก็ยากแล้ว
เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการหลากหลายมากและมีปัจจัยอื่นๆ เช่น หนังสือเราดีแต่มันไม่ใช่แค่นั้นแล้วจบ จะต้องมีเรื่องความแปลกใหม่หรือตรงกับรสนิยมของผู้อ่านซึ่งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ฯลฯ ก็เลยรู้สึกว่ายากเหมือนกันที่เราเข้ามาดูแลส่วนนี้ และยิ่งไปเรียนธุรกิจมาทำให้เปิดมุมมองของเราว่าจะต้องไม่ดูแค่คอนเทนต์ดี แต่ต้องดูว่ามันจะขายได้ไหม ไปสู่ตลาดแล้วจะเป็นอย่างไร คือคิดหลายด้านมาก และยังไม่รวมด้านปัญหาเฉพาะหน้าที่เราต้องเจอ อย่างตอนเรียนทุกอย่างก็จะจบแค่นิว เราควบคุมทุกอย่างได้ ถ้าคะแนนไม่ดีก็อ่านหนังสือวิชานี้เพิ่ม แต่ในโลกการทำงานมันควบคุมไม่ได้เลย

เมื่อก่อนคิดว่าจะมารับไม้ต่อจากคุณพ่อหรือเปล่า?
จริงๆ ไม่ได้วางแผนไว้ขนาดนั้นว่าจะต้องมาทำ แต่ก็ใกล้ชิดมาโดยตลอด มันเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ อย่างตอนไปที่เรียนต่างประเทศไปเจอตัวอย่างธุรกิจสื่ออย่างหนึ่งที่ดีมาก เราก็เผลอคิดไปเองว่าอย่างนี้น่าจะเอามาทำที่บริษัทเรานะ เพราะเราโตมากับสิ่งเหล่านี้ และคุณพ่อคุณแม่เป็นคนที่ทำงานหนักมากจริงๆ อยู่ที่บ้านเขาก็จะคุยงานกัน เพราะฉะนั้นก็จะซึมซับมาตลอดว่าอะไรที่เกี่ยวกับงานก็นำมาใส่ใจและต่อยอดให้บริษัทเรา
แล้วพอเรียนจบพอดีนิวเป็นลูกที่สนใจด้านนี้พอดีและเป็นลูกคนโตก็เลยอยากเข้ามาช่วยคุณพ่อคุณแม่ในตอนที่ท่านยังสอนเราได้อยู่ เข้ามาตอนที่เรายังได้รับความรู้ ได้รับมุมมองจากเขาอยู่ ไม่อยากเข้ามาตอนที่คุณพ่อคุณแม่ห่างจากวงการไปแล้ว

ตอนนี้ได้ทำเต็มตัว มุมมองเปลี่ยนไปไหม?
เปลี่ยนค่ะ อย่างแรกคือในโลกของการทำงาน โลกของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจสื่อ ไม่มีคำว่าสูตรสำเร็จ อย่างตอนเรียนเราจะพยายามหาสูตรสำเร็จของการทำคะแนน มันทำได้ แต่โลกการทำงาน มันไม่มีทางทำได้เลยค่ะ ทั้งเรื่องผู้บริโภคที่รสนิยมเปลี่ยนไปตลอดเวลา หรือเรื่องช่องทางต่างๆ หรือในโลกธุรกิจก็มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราหยุดอยู่กับที่ไม่ได้เลยค่ะ และโมเดลที่เคยใช้กับงานหนึ่งดีก็ไม่ได้แปลว่าจะไปใช้กับอีกงานหนึ่งได้ นี่คือสิ่งที่นิวเรียนรู้ว่าทุกอย่างต้องสร้างสรรค์ใหม่ คิดเยอะๆ คุยเยอะๆ ระดมสมองเยอะๆ แล้วตั้งใจ ให้เวลาแก่มันมากๆ มันถึงจะสำเร็จได้

เครียดไหมที่ต้องรับผิดชอบเรื่องใหญ่ๆ ทั้งที่ยังเป็นวัยรุ่น?
ก็มีเครียดบ้างค่ะ แต่ถ้าถามว่ากลัวไหม ก็รู้สึกว่าไม่ได้ขนาดนั้น เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ และเราก็อยากทำด้วยค่ะ ก็เป็นเวทีที่ทำให้เราได้พิสูจน์ตัวเอง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจ และเป็นงานที่เรารัก นิวก็คิดภาพไม่ออกเหมือนกันว่าถ้านิวต้องไปทำงานอย่างอื่นคงทำได้ดีถ้านิวตั้งใจ แต่จะมีความสุขเท่ากับงานนี้ไหม นี่เป็นงานที่เราผูกพันมาตั้งแต่เด็ก นิวโตมากับสิ่งนี้ สิ่งนี้ทำให้นิวโตขึ้นมา ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเสียโอกาสอะไร แต่คิดว่าได้มีโอกาสอีกแบบหนึ่งมากกว่าที่ได้ทำงานใหญ่ตั้งแต่อายุน้อยๆ ถ้าผ่านความกดดัน ผ่านงานยากๆ มาได้ จะทำให้เราโตไปอีกระดับหนึ่ง

รู้สึกว่าโตเกินตัวหรือเปล่า?
ถ้าในแง่ความมุ่งมั่นก็คงมุ่งมั่นเกินตัวอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าในแง่มุมมอง การตัดสินใจ หรือการเข้าหาคน บางส่วนนิวก็ยังอยากเก็บความเป็นเด็กของตัวเองไว้ ไม่อยากเป็นคนที่เข้าหาใครโดยคิดว่าฉันเก่ง ฉันเลิศที่สุด หรือฉันเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพราะในบางมุมต้องยอมรับว่าเราต้องฟังคนอื่น ต้องอ่อนน้อม มันต้องสมดุลความเป็นผู้ใหญ่ในด้านการทำงาน ความรับผิดชอบ ต้องเป็นผู้ใหญ่ให้เต็มที่แหละ ไม่มีคำว่าเด็กในโลกการทำงาน แต่ถ้าในมุมการปฏิสัมพันธ์นิวก็ยังอยากเป็นนิวในช่วงอายุที่เหมาะสมกับนิว ไม่ได้อยากโตเกินตัวค่ะ

มีเวลาใช้ชีวิตแบบวัยรุ่นไหม?
มีนะคะ (อมยิ้ม) ถึงงานของนิวจะหนัก เป็นงานออฟฟิศที่ตารางยุ่งหน่อย แต่นิวก็จะแบ่งเวลา ทำงานคือทำงาน เสาร์อาทิตย์ก็มีทำงานเพิ่มอีกนิดหนึ่ง แต่โดยปกติก็จะมีเวลาไปกินข้าวกับเพื่อน ก็เหมือนคนปกติค่ะ

คาดหวังว่าบันลือกรุ๊ปยุคใหม่จะเป็นอย่างไร?
จริงๆ นิวเองก็ยังตอบไม่ได้ แต่อยากให้มันไม่อยู่ในรูปแบบเดียว อยากให้ไปในทุกช่องทาง และที่สำคัญอยากนำมันไปสู่ดินแดนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะปัจจุบันการที่สื่อออนไลน์เข้ามามันเป็นภัยคุกคามต่อสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสใหม่ๆ ที่ทำให้การสื่อสาร การเข้าถึงคอนเทนต์ทุกอย่างเข้าถึงกันได้ เราจึงไม่อยากหยุดแค่ประเทศไทย ก็จะมีส่งออกคอนเทนต์ ส่งออกวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมความฮาของเราที่เป็นจุดแข็งของเรา อาจเริ่มที่อาเซียนแล้วค่อยไปทั่วโลก
ยิ่งเรื่องความฮาที่เป็นจุดแข็งของเรามันเป็นเรื่องสากล เป็นเรื่องที่ทุกคนสนุกไปด้วยกันได้ มันทำให้คนมีความสุขซึ่งตรงกับคำขวัญของบริษัทเรา Enhance to Happiness ถ้ามีโอกาสก็อยากทำค่ะ

นอกจากอนาคตของบริษัท มองอนาคตตัวเองไว้อย่างไร?
ตอนนี้ไม่ได้โฟกัสเรื่องอนาคตระยะยาวมากค่ะ ถ้ามองเรื่องอนาคตก็ไม่วางแผนอะไรขนาดนั้น เพราะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเรื่องการทำงานก็จะทำให้บริษัทเติบโตให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้บันลือเป็นบริษัทสื่อชั้นนำของประเทศและถ้าทำถึงระดับโลกไหวก็จะทำค่ะ


ความสุขของนิวคืออะไร?
ความสุขของนิวคือแค่มีเวลาว่างๆ อยู่กับครอบครัวและได้ทำอะไรที่อยากทำ ไม่มีงาน ไม่มีโทรศัพท์เข้ามาตามงาน แค่นี้ก็โอเคแล้ว ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะอยากได้อะไรมากกว่านี้ แค่นี้ก็พอแล้ว