เปิดผลตรวจ 'สหกรณ์คลองจั่น' ปล่อยกู้มิชอบ28ราย-หมื่นล้าน

เปิดผลตรวจ 'สหกรณ์คลองจั่น' ปล่อยกู้มิชอบ28ราย-หมื่นล้าน

(รายงาน) เปิดผลตรวจ “สหกรณ์คลองจั่น” ปล่อยกู้มิชอบ28ราย-วงเงินหมื่นล้าน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำรายงานสรุปสภาพปัญหาของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรณีสหกรณ์ฯ คลองจั่น ให้เงินกู้ยืมแก่ “สมาชิกสมทบ” ซึ่งเป็นนิติบุคคล 28 ราย จำนวนเงิน 11,858.48 ล้านบาท รวมทั้งการกระทำอื่นๆ ที่ขัดต่อกฎ ระเบียบ และข้อบังคับสหกรณ์ ตลอดจนการเข้าไปแก้ไขปัญหาของกรมส่งเสริมสหกรณ์ นับตั้งแต่ปี 2545-ปัจจุบัน โดยแบ่งสภาพปัญหาและการแก้ไขออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้


แก้ข้อบังคับ-เริ่มให้คนนอกกู้
ระยะที่ 1 เริ่มจากปี 2545 สหกรณ์ฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ โดยให้สมาชิกสมทบเป็น “นิติบุคคล” ได้ ภายใต้เงื่อนไข “ต้องมีวัถตุประสงค์เพื่อให้ความสะดวกและช่วยเหลือทางการเงินสหกรณ์หรือส่งเสริมความเจริญแก่กิขจการของสหกรณ์”


ต่อมาปี 2546 หลังจากการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าวเพียงปีเดียว ผู้สอบบัญชีภาคเอกชนตรวจสอบพบข้อบกพร่องทางบัญชีของสหกรณ์ฯ ณ วันที่ 31 ธ.ค.2545 โดยมีการให้ “เงินกู้” แก่บุคคลภายนอก สมาชิกสมทบ และสหกรณ์อื่น โดยไม่มีระเบียบรองรับ วงเงิน 153,313,165.25 บาท


กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ มีหนังสือแจ้งข้อสังเกตสหกรณ์ฯ และให้แก้ไขปรับปรุง เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2546 ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีหนังสือเมื่อวันที่ 3 เม.ย.2546 ให้สหกรณ์เร่งรัดแก้ไข แต่สหกรณ์ฯ ไม่ได้รายงานผลการแก้ไข ต่อมาสหกรณ์ฯ แจ้งกลับมาว่า ได้แก้ไขมาตลอดแต่ไม่ให้รายละเอียดการแก้ไข และแจ้งว่าไม่สามารถแก้ไขได้เสร็จภายใน 31 ธ.ค.2546


จากนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้ผู้ตรวจการสหกรณ์ ตรวจสอบการแก้ไขเมื่อ 13 พ.ย.2546 พบว่า สหกรณ์ฯ ให้เงินแก่สมาชิกสมทบ 9 ราย รวมเป็นเงิน 177,958,374.25 บาท จึงมีหนังสือนายทะเบียนสหกรณ์ ลงวันที่ 30 ธ.ค.2546 สั่งให้สหกรณ์ฯ เรียกคืนเงินกู้ และระงับการให้เงินกู้แก่บุคคลภายนอกโดยเด็ดขาด พร้อมทั้งให้รายงานผลการแก้ไขภายใน 60 วัน


ทว่าในปี 2547 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้รับรายงาน เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2547 ว่า สหกรณ์ฯ ให้เงินกู้แก่นิติบุคคลเพิ่มขึ้นจากเดิม จึงมีหนังสือแจ้งให้สหกรณ์ฯ ส่งเอกสารเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลภายนอกหรือนิติบุคคล ภายใน 15 วัน แต่สหกรณ์ฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง


อย่างไรก็ดี นายทะเบียนสหกรณ์ ได้ออกคำแนะนำ เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการรับสมาชิกสมทบของสหกรณ์ กำหนดให้สหกรณ์สามารถรับสมาชิกสมทบที่เป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และคณะบุคคล ตามที่กำหนดคุณสมบัติไว้ในข้อบังคับ ทำให้สหกรณ์ฯ แก้ไขข้อบังคับ และได้รับสมาชิกสมทบทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน และกลุ่มอาชีพเข้าเป็นสมาชิกสมทบของสหกรณ์ฯ


กรณีดังกล่าวทำให้ปัญหาการให้เงินกู้ “บริษัท” ยุติลงไประยะหนึ่ง แต่การให้เงินกู้แก่ “สมาชิกสมทบ” ยังขัดต่อคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ และไม่ปฏิบัติตามระเบียบสหกรณ์


 ฝืนคำสั่ง-ก่อนิติสัมพันธ์ใหม่
ระยะที่ 2 ของปัญหาการปล่อยกู้ขัดระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ฯ คลองจั่น เกิดขึ้นระหว่างปี 2549-2552 โดยในช่วงปี 2549-2550 หลังจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับและรับสมาชิกสมทบเป็นนิติบุคคลและให้เงินกู้แก้สมาชิกสมทบ เพิ่มเติมอีก 14 ราย รวมเป็นเงิน 991,000,000 บาท ซึ่งเป็นการให้เงินกู้ขัดต่อระเบียบการให้เงินกู้ที่กำหนดว่า "ให้สมาชิกสมทบแต่ละรายกู้ได้ไม่เกิน 90% ของมูลค่าหุ้นบวกเงินฝากของตน"
จากนั้นในปี 2551-2552 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัย มาตรา 41 พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ว่า สมาชิกสมทบจะต้องมีคุณสมบัติเป็น “บุคคลธรรมดา” และ “บรรลุนิติภาวะ”


จากคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาทำให้นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งเพิกถอนคำรับจดทะเบียนข้อบังคับของทุกสหกรณ์ สำหรับสมาชิกสมทบที่ไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัย และให้ทุเลาความเสียหาย โดยให้นิติสัมพันธ์ดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดตามเงื่อนไข แต่จะก่อนิติสัมพันธ์ใหม่ ไม่ได้


แต่หลังจากมีคำสั่งเพิกถอนข้อบังคับดังกล่าวกับทุกสหกรณ์แล้ว สหกรณ์ฯ คลองจั่นยังมีการให้เงินกู้แก่นิติบุคคลแลกลุ่มบุคคลเพิ่มเติมอีก 17 ราย เป็นเงิน 6,502,953,998 บาท!


พบปล่อยกู้มิชอบรวม1.18หมื่นล้าน
ระยะที่ 3 เป็นการให้เงินกู้นิติบุคคลที่ไม่ชอบด้วยคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 2553-2556 เริ่มจากปี 2553 สหกรณ์ฯ คลองจั่น ให้เงินกู้แก่สมาชิกสมทบเพิ่ม รวมเป็นเงิน 11,858,442,018 บาท และมีดอกเบี้ยเงินกู้ค้างรับ 32,757,541 บาท


นอกจากนี้ยังออก “ตั๋วสัญญา” ใช้เงินแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา จำกัด จำนวน 1,093,110,273.98 บาท


ไม่สนคำสั่ง-เปิดรับสมาชิกนอกพื้นที่
ถัดมาปี 2554 นายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง คณะผู้ตรวจการสหกรณ์จากกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยมี รองอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นประธาน ได้เข้าตรวจสอบฐานะการเงินของสหกรณ์ฯ คลองจั่น พบข้อบกพร่องสหกรณ์ 7 ประเด็นจึงได้รายงานผลพร้อมวิธีแก้ไขแก่นายทะเบียนให้พิจารณาสั่งการ
ต่อมานายทะเบียนออกคำสั่งถึงสหกรณ์ฯ ให้แก้ไขข้อบกพร่อง และเร่งรัดรายงานผลการแก้ไข ซึ่งสหกรณ์ฯ รายงานว่า ได้พยายามแก้ไขตามที่รับแจ้ง แต่ปรากฏว่าในปี 2555 ผู้ตรวจสหกรณ์ ได้ตรวจสอบพบว่า สหกรณ์ฯ ยังรับสมัครสมาชิก “นอกพื้นที่ดำเนินงาน”


ฟ้อง“แพ่ง-อาญา”ศุภชัยกับพวก
ปี 2556 คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2556 ได้ยื่นฟ้อง “อาญา-แพ่ง” กับ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร และอดีตผู้ช่วยผู้จัดการสหกรณ์ กับพวก รวม 5 คดี


ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีคำสั่ง เมื่อ 5 เม.ย.2556 ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ฯ คลองจั่น เพื่อเร่งรัดติดตามการแก้ปัญหา และประสานงานช่วยเหลือให้การตรวจสอบและแก้ไขเกิดความถูกต้อง รอบคอบ และเป็นไปตามกฎหมาย


อย่างไรก็ดี เมื่อสหกรณ์ฯ จัดประชุมใหญ่วิสามัญ วันที่ 28 พ.ค.256 ที่ประชุมได้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แทนตำแหน่งที่ว่าง ปรากฏว่า นายศุภชัย ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการชุดที่ 29
ต่อมานายทะเบียนสหกรณ์ มีหนังสือ ให้สหกรณ์ฯ ส่งแผนแก้ไขปัญหาด้านการเงินและการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ พร้อมทั้งแจ้งทุกครั้งหากมีการประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ แต่สหกรณ์ฯ ส่งแผนที่ขาดความชัดเจนและไม่ได้แจ้งกำหนดการประชุมแต่อย่างใด


“ดีเอสไอ-ปปง.”ลุยดำเนินคดี-อายัดทรัพย์
ด้านการสอบสวนดำเนินคดี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ทำการอายัดทรัพย์สินนายศุภชัย, นายลภัส โสมคำ กรรมการ, นางศรัญญา มานหมัด อดีตผู้จัดการสหกรณ์ และนายกฤษฎา มีบุญมาก หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2556 รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้แจ้งข้อหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2556 คดีอยู่ระหว่างการสอบสวน


ทั้งนี้ ดีเอสไอ มีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ ให้ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ ออกคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
กรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าวเป็นการกล่าวหาการกระทำในอดีต ไม่ถือว่าเป็นการกระทำหรืองดเว้นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ปัจจุบัน


ประกอบกับกรรมการอื่นอีก 13 คน ไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดด้วย จึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 22 (4) แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์


ระหว่างนั้น ผู้ตรวจการสหกรณ์ตรวจสอบพบว่า กรรมการดำเนินการของสหกรณ์ฯ ได้เจรจาขาย “หุ้นด้อยสิทธิ” ของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง คืน มูลค่า 15,000,000 บาท โดยสมาชิกเป็นผู้ซื้อหักจากบัญชีเงินฝากสหกรณ์ ก่อให้เกิดการเสียเปรียบแก่สมาชิกรายอื่น ซึ่งนายทะเบียนได้สั่งให้สหกรณ์ฯ ส่งเอกสารการทำธุรกรรมการเงินทุกสัปดาห์ แต่สหกรณ์ก็ไม่ได้รายงานแต่อย่างใด


ทั้งนี้ ผู้ตรวจการสหกรณ์ ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานของสหกรณ์ฯ เมื่อ 3 ต.ค.2556 แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องจึงมีการเสนอเรื่องให้มีคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ซึ่งนายทะเบียนได้มีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2556


ตั้งกรรมการชั่วคราวสางปัญหา
ระยะที่ 4 คณะกรรมการชั่วคราวได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา โดยให้หาแหล่งเงินทุนเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินให้สมาชิกหรือสหกรณ์ที่มีเงินฝากสามารถถอนดอกเบี้ยได้ และได้ร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูสหกรณ์ รวมทั้งพิจารณาเรื่องการขายที่ดินของนายศุภชัยที่ถูกเจ้าหน้าที่อายัดทรัพย์ และให้ติดตามทวงหนี้สมาชิกสมทบ 28 ราย (32 สัญญา)


ต่อมากรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดการประชุมผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2557 ซึ่งสหกรณ์ที่มาประชุมทั้งหมดยินดีช่วยเหลือเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่สหกรณ์ฯ คลองจั่น แต่ขอความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟูว่าต้องทำได้จริง


จากนั้นวันที่ 23 มี.ค.2557 สหกรณ์ฯ จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 ซึ่งที่ประชุมสหกรณ์ฯ เลือกกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 30 จำนวน 15 คน โดยมี นายเผด็จ มุ่งธัญญา เป็นประธาน


ยื่นศาลล้มละลายขอฟื้นฟูกิจการ
ระยะที่ 5 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดประชุมเครือข่ายการเงินสหกรณ์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนสหกรณ์ฯ คลองจั่น เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 3 ครั้ง


พร้อมกันนั้นได้ทำหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรมเพื่อพิจารณา “ประกาศกฎกระทรวง” ให้สหกรณ์เป็นนิติบุคคลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลายเพื่อสหกรณ์จะได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายสำหรับฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ได้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้สหกรณ์ประเภทสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นนิติบุคคลอื่นตามบทนิยามคำว่า “ลูกหนี้” เมื่อวันที่ 5 ส.ค.2557 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2557


กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขขอความยินยอมเพื่อการฟื้นฟูกิจการ ส่วนสหกรณ์ฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2557 ซึ่งศาลรับคำร้องเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2557 มีผลทำให้สหกรณ์ฯ เข้าสู่ระบบ สภาวะการพักชำระหนี้


ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ ได้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการโดยเน้นในเรื่องสภาพคล่องทางการเงินเป็นหลัก โดยจ้าง บริษัท สยาม พร็อบเพอร์ตี้ แอนด์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในชั้นการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งศาลจะนัดฟังคำสั่งฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ ในวันที่ 20 มี.ค.นี้