'โฆษะ' โมเดลยั่งยืนคู่สังคม

'โฆษะ' โมเดลยั่งยืนคู่สังคม

“โฆษะกรุ๊ป” ธุรกิจโรงแรมเก่าแก่แห่งเมืองขอนแก่น เลือกดำเนินธุรกิจบนความพอเพียงและมุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน นำพาแบรนด์สู่ความยั่งยืน

อะไรคือหัวใจที่จะทำให้ธุรกิจหนึ่ง อยู่มาได้นานหลายทศวรรษ ทั้งยังคงได้รับการสนับสนุนที่ดีจากผู้คนทุกภาคส่วนของสังคม

สำหรับ “โฆษะกรุ๊ป” ธุรกิจโรงแรมเก่าแก่แห่งเมืองขอนแก่น ที่อยู่คู่เมืองดอกคูนเสียงแคนเกือบ 5 ทศวรรษ และขยับขยายสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมในวันนี้ พวกเขาเริ่มจากวิธีคิดที่เรียบง่าย บนจุดยืนที่ชัดเจน คือ มุ่งตอบแทนคุณแผ่นดิน และดำเนินธุรกิจบนวิถีแห่งความพอเพียง

เรื่องเล่าของชาว “โฆษะ” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “เถ้าแก่ซา แซ่โค้ว” ต้นสกุล “โฆษะวิสุทธิ์” เดินทางจากเมืองจีน มาทำมาหากินอยู่ที่ขอนแก่น เริ่มจากค้าขายของป่าและพืชไร่ ก่อนบุกเบิกโรงสีข้าว และโรงเลื่อยไม้บนแผ่นดินอีสาน สร้างเนื้อสร้างตัวจนประสบความสำเร็จ

สิ่งที่ทำควบคู่ไปกับธุรกิจ คือ มุ่งตอบแทนผืนแผ่นดิน อย่าง การร่วมกับเพื่อนคณบดีชาวจีน สร้าง “โรงเรียนฮั้วเคี้ยววิทยาลัย” ขึ้น เพื่อสอนลูกหลานชาวจีน ให้ได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของจีน และไทย

อุดมการณ์จากคนรุ่น 1 ถูกส่งต่อให้ทายาทรุ่น 2 “เชษฐ์ โฆษะวิสุทธิ์” ผู้ให้กำเนิด “โรงแรมโฆษะ” ที่ให้บริการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2511 เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับจังหวัดขอนแก่น ด้วยโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในภาคอีสาน ณ ขณะนั้น ขณะที่ทายาทคนอื่น ยังหาลู่ทางขยายธุรกิจ จนนำมาสู่บริษัทในเครือ “โฆษะกรุ๊ป” อย่าง บริษัท เฟอร์โกอุตสาหกรรม จำกัด ,บริษัท อุตสาหกรรมห้องเย็น R.C.K. จำกัด และบริษัท ไทยไอโซวอลล์ จำกัด ในวันนี้

วันนี้ธุรกิจอยู่ในมือของคนรุ่น 3 ใต้การนำของ “ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือโฆษะกรุ๊ป (ขอนแก่น) พร้อมกับมรดกชิ้นสุดท้ายที่คนรุ่น 2 ทิ้งไว้ให้ก่อนเสียชีวิต คือ ข้อความในกระดาษทิสชู่ เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นไทยได้ใจความว่า..

‘ลูกหลานครอบครัวโฆษะ ต้องยึดมั่นใน 3 ข้อ คือ มีความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ของในหลวง พร้อมที่จะแบ่งปันความมั่งมีให้กับสังคม และต้องดูแลความผาสุกของพนักงานเราทุกคน’

“ผมถือว่า กระดาษแผ่นนี้เป็นมรดกที่มีค่าที่สุด”

ชาติชาย บอกกับเรา ถึงสิ่งสุดท้ายที่ผู้เป็นพ่อทิ้งไว้ให้ ก่อนกลายมาเป็นจุดยืนในการทำงานของเขาในวันนี้ ที่ไม่ว่าจะการใช้ชีวิต ดำเนินธุรกิจ หรือแม้แต่ปฏิบัติต่อสังคม ก็ไม่ได้ออกนอกลู่ 3 หัวใจนี้ เวลาเดียวกับที่พยายามถ่ายทอดแนวคิดเดียวกันนี้ ไปสู่พนักงาน และผู้คนในสังคม อย่างต่อเนื่อง ผ่านค่านิยมของชาวโฆษะที่ว่า..

“งานอดิเรกของครอบครัวโฆษะ คือ มุ่งมั่นสะสมความดี ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและในหลวง”

ภาพคุ้นชินของคนที่นี่ คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมจนเป็นงานอดิเรก อาทิ ปลุกจิตสำนึกคนไทย ร่วมตอบแทนคุณแผ่นดิน การลงพื้นที่เป็นจิตอาสาในเหตุการณ์ต่างๆ อย่าง สึนามิ และน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 การนำที่ดินทูลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อดำเนินการจัดทำศูนย์การเรียนรู้ด้านเกษตรและประมง สนับสนุนกิจกรรมทั้งด้านกีฬา การศึกษา และสังคมในเมืองขอนแก่น แม้แต่การประกาศเป็นโรงแรมแห่ง กรีนเทคโนโลยี เพื่อร่วมอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศและโลกใบนี้ เหล่านี้เป็นต้น

ทำธุรกิจโรงแรม ไม่ง่าย และไม่ใช่พวกเขาจะไม่เคยผ่านวิกฤติสาหัส ดูได้จากเหตุการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ช่วงเวลาเดียวกับที่ โฆษะกรุ๊ป เริ่มเดินหน้าขยายการลงทุน ด้วยการก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า โรงแรมและสำนักงานให้เช่า ซึ่งเงินลงทุนก้อนใหญ่ มาจากการกู้ยืมเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐ พอรัฐบาลสมัยนั้น ประกาศนโยบายค่าเงินบาทลอยตัว เลยกระทบกับลูกหนี้อย่างโฆษะแสนสาหัส

ทายาทรุ่น 3 บอกเราว่า วันนั้นพวกเขาผ่านวิกฤติมาได้ ด้วยคาถาวิเศษที่ชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง” กับอาวุธ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน

“ผมถือว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากสำหรับชาวไทยและชาวโลก โฆษะเอง เราได้นำแนวคิดนี้มาใช้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ นับว่าเป็น คาถาแห่งความสำเร็จ ที่ทำให้ฝ่าวิกฤติครั้งนั้นมาได้”

จากการทำธุรกิจที่เคย “มองโลกในแง่ดีเกินไป” เห็นโอกาสเกิดก็เร่งขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องกลับมาคิดใหม่ และดำเนินธุรกิจแบบประมาณตนมากขึ้น เวลาเดียวกับแผนจัดการกับวิกฤติ ตั้งแต่ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย แม้เจอวิกฤติหนัก ก็ไม่มีนโยบายให้พนักงานออก และไม่ลดเงินเดือน แต่ใช้วิธี ลดเงินเดือนผู้บริหารลง เพื่อมาประคับประคองต้นทุนที่มี และใช้ความพยายามในการบริหารจัดการทุกรูปแบบ

เกิดวิกฤติธนาคารถอยหนี ลูกหนี้ตามมา แต่เขาบอกว่า ต้องทยอยใช้หนี้ทุกคน ไม่หลบหน้าหนี

“เราพยายามลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย อย่าง โรงแรมต้องทำอาหาร อะไรปลูกเองได้เราก็ปลูก พนักงานคนไหนมีอะไรก็ให้เอามาขายให้กับโรงแรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเขาด้วย เราจึงมีวัตถุดิบป้อนโรงแรมอย่างต่อเนื่อง และได้ถ่ายทอดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปยังพนักงานของเราไปพร้อมกันด้วย”

พวกเขาใช้เวลากว่า 5 ปี ในการสะสางปัญหา จนทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย และเริ่มกลับมายืนได้อย่างสง่าอีกครั้ง

วิกฤติครั้งนี้เลยไม่ได้นำมาแต่ข่าวร้าย แต่สอนบทเรียนครั้งใหญ่ให้แก่พวกเขา คำว่า พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน กลายเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจในเวลาต่อมา แม้แต่ความคิดของพนักงานก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่ใช้ของทุกอย่างให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ไม่เหลือทิ้ง ไม่สูญเปล่า น้ำทุกแก้วที่แขกเหลือทิ้ง นำไปรวมกันเพื่อใช้ในการทำความสะอาด การลดขนาดซองน้ำตาลให้เล็กลง ทั้งเพื่อลดของเหลือทิ้งและสร้างสุขภาพที่ดีให้แขกที่เข้าพัก เหล่านี้เป็นต้น

หนึ่งในการสร้างภูมิคุ้มกัน และบริหารความเสี่ยงของธุรกิจโรงแรม คือ เรื่องของความปลอดภัย เขาบอกว่า ตั้งแต่เปิดธุรกิจมา ประตูล็อบบี้ของโรงแรมไม่เคยปิด ฉะนั้นความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ทุกวินาที จึงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้านความปลอดภัยสูงสุด โดยธุรกิจต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของลูกค้า พนักงาน และแม้แต่ทรัพย์สินขององค์กร

“ทุกวันนี้เราดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังขึ้น เพราะคงไม่สามารถรู้ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต จึงต้อง พอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน ในการขยับขยายการเติบโตของเรา”

โฆษะ เชื่อในการทำธุรกิจที่ไม่โดดเดี่ยว นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาเลือกอยู่อย่าง "เป็นมิตร" กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อย่าง การเป็นสมาชิกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน ได้ช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นด้วยกัน โดยใช้ประสบการณ์และโนว์ฮาวของโฆษะ เพื่อลบภาพคู่แข่งขัน มาร่วมสร้างการเติบโตไปพร้อมกัน ขณะผลพลอยได้จากการอยู่รวมกันอย่างเข้มแข็ง คือ ธุรกิจมีอำนาจต่อรองมากขึ้น อย่างการ รวมกันสั่งซื้อของเพื่อให้ได้ต้นทุนที่ถูกลง เหล่านี้เป็นต้น
หรืออย่าง นโยบายการตั้งราคาที่ไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า ไม่ฉกฉวยขึ้นราคาในช่วงฤดูท่องเที่ยว ทว่าก็ไม่คิดขายตัดราคา จนโรงแรมขนาดเล็กอยู่กันไม่ได้ เช่นกัน

“ธุรกิจโรงแรมต้องแข่งกันด้วยบริการ ไม่ใช่มาใช้วิชาเด็กอนุบาล แล้วทำคนอื่นเดือดร้อน แบบนั้นไม่ดี คิดแบบนี้ธุรกิจถึงจะยั่งยืน” เขาบอก

ในวันที่มีโอกาสไปพูดถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำ คำกล่าวของซีอีโอโฆษะกรุ๊ป อาจสร้างความประหลาดใจให้ใครหลายคนอยู่บ้าง เมื่อเป้าหมายสูงสุดในการทำธุรกิจของเขาก็แค่ ต้องการสร้างองค์กรแห่งนี้ ให้มีคุณค่าต่อแผ่นดิน และส่งทอดความคิดนี้สืบต่อไปไม่สิ้นสุด

“ผมเชื่อว่า ถ้าเราเป็นองค์กรที่มีคุณค่าต่อแผ่นดิน ลูกค้า หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ก็คงให้การสนับสนุน ซึ่งเมื่อมีคนสนับสนุน เราก็คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน แต่ถ้าเราเป็นองค์กรที่ขี้โกง ไม่มีคุณธรรม วันหนึ่งคนเขาก็ต้องรู้อยู่ดี และแน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากสนับสนุนองค์กรที่ไม่ดี จริงไหม ฉะนั้นธุรกิจจะยั่งยืนได้ ก็ต้องมีคุณค่าต่อแผ่นดินด้วย”

อีกหนึ่งต้นแบบเอสเอ็มอี ที่เป้าหมายไม่ใช่แค่ผลกำไรทางธุรกิจ แต่ต้องการเป็นแบรนด์ยั่งยืน คู่แผ่นดินไทยตลอดไป