แนะดัน‘วาระแห่งชาติ’ ขับเคลื่อน‘วิจัยไทย’ทะลุ1%จีดีพี

แนะดัน‘วาระแห่งชาติ’ ขับเคลื่อน‘วิจัยไทย’ทะลุ1%จีดีพี

(รายงาน) แนะดัน‘วาระแห่งชาติ’ ขับเคลื่อน‘วิจัยไทย’ทะลุ1%จีดีพี

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพและบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จัดสัมมนาเรื่อง “CEO Innovation Forum 2015 : Driving R&D Investment to 1% of GDP through Public-Private Partnership” โดยเห็นว่าการเพิ่มงบวิจัยถือเป็นสิ่งจำเป็นในการแข่งขันยุคใหม่ เสนอให้ทำเป็น“สเมือน”วาระแห่งชาติ

นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ นำเสนอผลการสำรวจการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนไทย ประจำปี 2557 โดยระบุว่าค่าใช้จ่ายการทำวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2549 ขยับเป็น 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2556


“ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของภาครัฐ แต่แนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐในปี 2554 ซึ่งมีสัดส่วน 51% ขณะที่ภาครัฐลงทุน 49%”


ในปี 2556 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยพัฒนา 5.7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐที่ไม่ใช่ภาคเอกชน ซึ่งประกอบด้วย อุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ส่วนภาคเอกชนในปี 2556 ส่วนแบ่งอยู่ที่ 47% ภาครัฐ 53% ไม่ใช่เพราะเอกชนลงทุนวิจัยน้อยแต่เป็นเพราะภาครัฐทำวิจัยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคอุดมศึกษามากถึง 1.8 หมื่นล้านบาท สถาบันวิจัยของรัฐ 1.1 หมื่นล้านบาท และรัฐวิสาหกิจลงทุน 2 พันกว่าล้านบาท


อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ขณะนี้มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัย 1% ของจีดีพี จีน 2% ของจีดีพี สำหรับไทยมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ดูจาก 0.47% ปี 2556 และคาดการณ์ในปี 2558 น่าจะอยู่ที่ 0.7% ฉะนั้น ในปี 2559 ที่ตั้งเป้าไว้ 1% มีความเป็นไปสูง ซึ่งต้องดูว่าจะมีแรงขับเคลื่อนขนาดใหญ่หรือไม่


ผลการสำรวจดังกล่าวยังระบุถึงบุคลากรด้านการวิจัยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นแต่ยังกระจุกตัวอยู่ในภาครัฐ โดยประเทศไทยมีนักวิจัยระดับปริญญาเอก 10,767 คน แต่อยู่ในภาคเอกชนแค่ 6% ตรงข้ามกับตัวเลขการลงทุนวิจัยของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นที่มาของโครงการทาเลนท์โมบิลิตี้ที่พยายามเคลื่อนย้ายกำลังคนภาครัฐมาช่วยภาคเอกชน


ส่วนอุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่ลงทุนมากสุดคือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีและอาหาร ขณะที่ภาคบริการที่มีการลงทุนวิจัยพัฒนาเพิ่มขึ้นคือ ธุรกิจบริการที่ปรึกษา และธุรกิจบริการด้านวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่า ผู้ประกอบการไทยที่เดิมทำด้านเทรดดิ้งหรือนำเข้ามานาน จึงมีความรู้เรื่องการตลาดและความต้องการของลูกค้า ได้เปลี่ยนมาทำการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นเองมากขึ้น


อุปสรรคที่ผู้ประกอบการพบคือ ขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามต้องการ ต้นทุนการทำนวัตกรรมสูงเกินไป ขาดข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีและความยากในการหาพันธมิตรร่วมวิจัย ขณะที่ผลสำรวจยังพบว่า ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยรัฐถูกเลือกอยู่ในอันดับท้ายๆ โดยภาคเอกชนต้องการมาตรการหรือแรงจูงใจบางอย่างที่จะทำให้เกิดความร่วมมือมากขึ้นกับหน่วยงานวิจัยของภาครัฐ


ตั้งเป้าปีหน้า1%จีดีพี
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าการตื่นตัวของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นนี้ถือเป็นทิศทางที่ดี เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่จะให้มีการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาไว้ที่ 1% ของจีดีพี


“การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง การสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างยั่งยืนด้วย”


นอกจากการส่งเสริมการลงทุนเกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนา ปีนี้รัฐบาลยังปลดล็อกให้นักวิจัยและนักเรียนทุนรัฐบาลไปทำงานในภาคเอกชนได้ หรือนโยบายทาเล้นท์โมบิลิตี้ เป็นการนำคนเก่งเข้าสู่สนามแข่ง โดยสามารถนับอายุงานและการใช้ทุนได้ รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับภาคเอกชนที่ทำวิจัย หรือการบริจาคเข้ากองทุนวิจัยของรัฐ โดยสามารถนำต้นทุนในการวิจัยและพัฒนามาลดหย่อนภาษีได้ในอัตรา 300% เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนวิจัยพัฒนาในประเทศ แก้ปัญหาวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ต้องนำขึ้นห้างไปขายสร้างมูลค่าได้ และยังมีโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การผลักดันให้มีศูนย์วิจัยหรือนิคมวิจัยของภาคเอกชน


“เราตั้งเป้าหมายด้านค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาโดยรวมของประเทศไว้ที่ 1% ของจีดีพีในปี 2559 และขยับเป็น 2% ของจีดีพีในปี 2564 ซึ่งสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 70% ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของประเทศด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” นายพิเชฐกล่าว


เอสซีจีเพิ่มงบเป็น1%ของยอดขาย
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวถึงประสบการณ์ในการเปลี่ยนผ่านเอสซีจีไปสูงองค์กรนวัตกรรมว่า นวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญที่องค์กรให้ความสำคัญ เป้าหมายไม่ใช่เพื่อความอยู่รอด แต่เพื่อที่จะเป็นผู้นำ ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย แต่คาดหวังถึงระดับอาเซียนและระดับโลก


ที่ผ่านมาบริษัทลงทุนด้านวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อเนื่อง เพราะการแข่งขันในยุคนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มุ่งเรื่องค่าแรงราคาถูกหรือทรัพยากรตามธรรมชาติ แต่เป็นการแข่งขันเรื่องของนวัตกรรมที่เข้ามาสร้างความแตกต่างและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ


“ในแต่ละปีเอสซีจีลงทุนมหาศาล ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนการวิจัยขยับขึ้นมาเป็น 1% ของยอดขาย หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 4,890 ล้านบาท” นายกานต์กล่าว


จากนโยบายและมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนานั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดแรงจูงใจในการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องจักรทางการเกษตรจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีสัญญาณว่าจะเข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงการตั้งศูนย์นวัตกรรมในประเทศไทย ขณะเดียวกันภาคเอกชนในประเทศควรหันมาให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรม เนื่องจากเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการแข่งขัน เพราะรูปแบบการดำเนินธุรกิจยุคนี้แข่งกันที่นวัตกรรม


ต้องทำเป็นวาระแห่งชาติ
ด้านนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ บรรยายหัวข้อ “ความสำคัญของงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” ว่า เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำเสมือนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งแนวนโยบายและมาตรการของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในประเทศหันมาให้ความสำคัญ และร่วมมือกันทำเพื่อให้เกิดผลที่ดีต่อประเทศชาติโดยรวม


“ในมุมมองของนายแบงก์ ตัวเลขไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับแนวคิดในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรม ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือกันในหลายภาคส่วนที่ทำเกิดผลในทางปฏิบัติ”


ขณะนี้ เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก หลายประเทศพยายามที่ผลักดันให้เศรษฐกิจของตนเองเติบโตด้วยการกระตุ้นดีมานด์มากกว่าซัพพลาย แต่จากประสบการณ์จะเห็นได้ว่า สหรัฐอเมริกาหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตหรือซัพพลาย ซึ่งจะเป็นขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาวมากกว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายอุปสงค์ในระยะสั้น ด้วยการให้ความสำคัญกับการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยี แม้ว่าจะไม่ได้สร้างรายได้มากนัก แต่เป็นวิธีการอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว


“ยิ่งในช่วงที่เปิดเออีซีปลายปีนี้ ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการทำวิจัยพัฒนามากกว่าการมองแต่ด้านอุปสงค์หรือดีมานด์อย่างเดียว"