โยนบอร์ดเศรษฐกิจดิจิทัลชี้ขาดประมูล4จี

โยนบอร์ดเศรษฐกิจดิจิทัลชี้ขาดประมูล4จี

“พรชัย” เผยแก้ก.ม.พ.ร.บ.กสทช เตรียมบูรณาการทำงานขับเคลื่อนไอซีที รองรับพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล คาดแล้วเสร็จเม.ย.

ผ่านสนช.ประกาศใช้ได้เลย ขณะที่แผนประมูล 4จี ให้กสทช.ดำเนินการคู่ขนานไปก่อนจากนั้นส่งไม้ต่อคณะกรรมการดิจิทัลชี้ขาด ด้าน "ฐากร" ยัน กสทช.ไม่โดนริบอำนาจเพียงแต่ต้องทำงานร่วมไอซีทีมากขึ้น ขณะที่ "วิษณุ" แจงดึง "กทค.-กสท." ออกจาก กสทช.ขจัดงานซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการดิจิทัลอีโคโนมี รับไม่แน่ใจกฎหมายใหม่คลอดทันประมูล 4จี “ทีดีอาร์ไอ” ออกโรงค้าน โยกกสทช.อยู่ใต้กำกับรัฐ ผิดหลักสากลหวั่นขาดความเป็นอิสระ

นายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า การแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นการบูรณาการทำงานและปฏิรูปการทำงานด้านไอซีทีของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดิจิทัล อีโคโนมีของประเทศ

โดยคาดว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.นี้ พร้อมกับร่างกฎหมายอีก 8 ฉบับที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว และเชื่อว่าจะใช้เวลาราว 2-3 เดือนผ่านขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากนั้นจะประกาศใช้ได้ทันที

ส่วนการประมูล 4จี บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์นั้น กสทช.ก็สามารถดำเนินควบคู่ไปได้ กับการเสนอแผนบริหารคลื่นความถี่ให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและคณะกรรมการอื่นๆ อีกราว 30 คนเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีการประมูล 4จี แน่นอน

นอกจากนี้ สาเหตุของการแก้ไขกฎหมายและเสนอร่างกฎหมายใหม่ 8 ฉบับดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เช่น การวางโครงข่ายสายไฟเบอร์ออพติก ที่พาดตามสายและเสาไฟฟ้า ที่มีจำนวนมาก สร้างปัญหาในหลายพื้นที่ และไม่มีหน่วยงานใดจัดการปัญหาดังกล่าวได้อย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อมีการคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล เชื่อว่าจะสามารถจัดการปัญหานี้ได้

ขณะเดียวกัน ต้องบังคับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงทะเบียนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ เพราะปัจจุบันถือว่าละเลยมาก ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพ ฉวยโอกาสใช้เป็นช่องโหว่ในการต้มตุ๋นผู้บริโภค

คณะกก.ดิจิทัลฯชี้ขาดประมูลคลื่น

ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว สำนักงานกสทช. ยังคงอยู่ไม่ได้ถูกยุบ หรือริบอำนาจแต่อย่างใด เพราะกสทช.ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลในด้านเรกูเลเตอร์ไป เช่น ราคาค่าบริการ คุณภาพการให้บริการ การออกใบอนุญาต การจัดทำแผนบริหารเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม วิทยุและโทรทัศน์ การเปิดประมูลคลื่นความถี่ เพียงแต่การประมูลคลื่นความถี่นั้น จะต้องเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลที่ได้กำหนดว่า คลื่นใด สามารถประมูลเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ คลื่นใดใช้เพื่อบริการสังคม เพื่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่คลื่นทุกคลื่น ต้องเปิดประมูลเท่านั้น

“คณะกรรมการดิจิทัลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน มีรองนายก และรมว.ไอซีที และ กสทช. ทั้งหมดจะมาจากหลายๆ หน่วยงาน โดยจะมีคณะกรรมการราว 30-32 คน การนำคลื่นมาจัดสรรเป็นเครื่องมือสำหรับการเดินหน้าดิจิทัล อีโคโนมี และต่อจากนี้ต้องมีนโยบายไปเลยว่าคลื่นนี้ประมูลได้กี่เมก คลื่นนี้เหมาะกับใช้เชิงพาณิชย์ หรือคลื่นนี้ต้องใช้เพื่อบริการสังคม” รมว.ไอซีที กล่าว

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึง กรณีที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมามีมติเห็นชอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลโดยกฎหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยการออกกฎหมายนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องการจัดตั้งองค์กร และปรับรูปแบบของกระทรวงไอซีที ที่ต้องจัดทำเป็น พ.ร.บ.จากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานให้ขับเคลื่อนโดยเร็วภายในปี 2558 เพราะมีผลเกี่ยวกับเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 4 จี นั้น

กสทช.ยังคงยืนยันว่า สำนักงาน กสทช.ยังคงทำตามแผนงานเดิม กสทช. เหมือนเดิม ดังนั้น ในการประมูลคลื่นความถี่ 4จี ก็ยังคงเดินหน้าประมูลตามหน้าที่ตามเดิมที่กฎหมาย พ.ร.บ.กสทช. กำหนด ได้ส่งหนังสือถามยังไป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปแล้ว

กสทช.ชี้พ.ร.บ.ดิจิทัลฯไม่กระทบ

ส่วนกรณีการกำหนดร่างกฎหมายเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเพิ่มเติมอีกจำนวน 8 ฉบับ นั้น มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ของ กสทช. เนื่องจาก กสทช.ยังดำเนินตามกฎหมาย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ซึ่งเมื่อพิจารณากฎหมายใหม่นั้น อำนาจหน้าที่ของ กสทช.ที่ยังคงอยู่ คือ 1.การกำหนดแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่แห่งชาติ 2.แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียง 3.หน้าที่การประสานงานกิจการระหว่างประเทศ เช่น ดาวเทียม 4.การยุบบอร์ด กสทช.รวมเป็น บอร์ดชุดเดียว 5.กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ยูเอสโอ) เปลี่ยนมาเป็นกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ มติครม.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลโดยกฎหมายแบ่งเป็น 3 กลุ่ม แม้จะมีผลเกี่ยวกับเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ 4จี แต่พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ต้องการเอื้อประโยชน์ให้ใครทั้งสิ้น และเป็นธรรมดาที่จะต้องมีผลกระทบกับหลายส่วน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกระดับรัฐวิสาหกิจ เช่น กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการปรับรูปแบบการทำงานของกสทช. ให้เป็นที่ยอมรับและมีรายได้เข้ารัฐที่มากขึ้นเพื่อชดเชยรายได้ที่เสียไปกับการอุดหนุนประชาชนที่เดือดร้อนในเรื่องต่างๆ

"วิษณุ"แจงแยก"กทค.-กสท."

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลหลายฉบับ รวมถึงร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... (พ.ร.บ.องค์กรฯ) ซึ่งมีเนื้อหายกเลิกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) จนหลายคนวิจารณ์ว่าอาจเป็นการยุบกสทช.

นายวิษณุ กล่าวว่า สาเหตุที่ยกเลิกอำนาจหน้าที่ กทค. และ กสท.เนื่องจากมีคณะกรรมการชุดใหม่ คือ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำให้อำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนต้องจัดใหม่

เมื่อซักว่า จะสามารถเปลี่ยนแปลงกรรมการกสทช.ให้หลากหลายได้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ทำได้ เปลี่ยนเรื่ององค์ประกอบ อำนาจหน้าที่เรื่องความสัมพันธ์กับรัฐ

เมื่อถามว่า เหตุใดจึงไม่แก้ไขกฎหมายของกสทช. แต่มาออกกฎหมายใหม่แทน นายวิษณุ กล่าวว่า หากแก้ตรงนั้นจะเท่ากับว่ายังไม่ครอบคลุมสิ่งที่รัฐบาลต้องการ เรื่องนี้ทำได้ 2 แบบ คือ 1.แก้ไขกฎหมายกสทช. และ 2.ออกกฎหมายใหม่ สุดท้ายเรื่องนี้เป็นเพียงเทคนิคทางกฎหมายเท่านั้นเอง บังเอิญว่าการออกกฎหมายใหม่มีความจำเป็นมากกว่า เพราะต้องสร้างอะไรขึ้นมาใหม่เยอะที่มันแปลกปลอมไปจาก กสทช. ดังนั้นจะไปใส่ในกฎหมายกสทช.ไม่ได้

เมื่อถามย้ำว่า คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการประมูลคลื่น 4 จีที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แน่ว่ากฎหมายจะออกมาทันหรือไม่ แต่หากทันก็เป็นคณะกรรมการชุดนี้

ทีดีอาร์ไอค้านโยกกสทช.อยู่ใต้รัฐ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจะให้ กสทช.อยู่ภายใต้กำกับของคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า หากกฎหมายมีผลในทางปฏิบัติจะทำให้สถานะของ กสทช.เปลี่ยนแปลงจากองค์กรอิสระเป็นองค์กรใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งโดยหลักการแล้วไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กสทช.มีบทบาทหน้าที่ในการกำกับดูแลหรือเป็นเรกูเลเตอร์ของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งควรคงความเป็นอิสระมากกว่ามาอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาล

แม้ที่ผ่านมากสทช.จะถูกร้องเรียนจากฝ่ายต่างๆ ในหลายเรื่อง เช่น การใช้จ่ายงบประมาณ และการที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคได้ดีเท่าที่ควร แต่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของ กสทช.ไม่ควรเป็นการเอาหน่วยงานนี้กลับเข้ามาอยู่ในกำกับของรัฐ แต่ควรแก้ไขด้วยการเพิ่มกลไกการตรวจสอบ การประเมินประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการ กสทช.ทุกชุดรวมไปทั้งการแก้ไขการถอดถอนให้ทำได้ง่ายมากขึ้นหากพบว่าการทำงานไม่มีประสิทธิภาพและมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส