'ดุสิต'กับบทบาทสปช.ดัน'โซลาร์รูฟท็อป'ลดพีคไฟฟ้า

'ดุสิต'กับบทบาทสปช.ดัน'โซลาร์รูฟท็อป'ลดพีคไฟฟ้า

(สัมภาษณ์พิเศษ) "ดุสิต" กับบทบาทสปช. ดัน "โซลาร์รูฟท็อป" ลดพีคไฟฟ้า

ในแวดวงอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ของไทย ยามนี้ถือว่าชื่อของ นายดุสิต เครืองาม มีบทบาท โดดเด่นมากที่สุด ในสถานะที่เป็นทั้งผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าวมานาน มีสถานะทั้งเป็นนักวิชาการ เป็นนักธุรกิจ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยโซลาร์ฟิวเจอร์ จำกัด เป็นนายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ที่แสดงความคิดเห็นทั้งคัดค้านและสนับสนุน นโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับเรื่องของโซลาร์เซลล์ และบทบาทล่าสุด กรรมาธิการด้านพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ต้องนำเสนอแนวทางปฏิรูปนโยบายด้านพลังงาน ไม่นับรวมสถานะส่วนตัวที่เป็นน้องชาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ใครๆก็ต้องให้ความเกรงใจ

เปิดแผนส่งเสริมพลังงานสปช.

นายดุสิต เครืองาม เป็น 1ใน 14 กรรมาธิการด้านพลังงานของสปช. ในคณะอนุกรรมาธิการด้านพลังงานทดแทน ที่พยายามจะผลักดันการส่งเสริม เรื่องของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายที่จะให้รัฐบาลส่งเสริมเรื่องนี้จำนวน 20,000 ภายใน 20 ปีหรือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่รัฐบาลมีเป้าหมายรับซื้อแล้ว 3,800 เมกะวัตต์

ในที่สุดคณะอนุกรรมาธิการด้านพลังงานทดแทน กำลังจะเสนอคณะกรรมาธิการพลังงานชุดใหญ่ และสปช.ทั้งคณะให้ความเห็นชอบ เรื่องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ"โซลาร์ รูฟท็อป" ที่ใช้ระบบ Net Metering แบบไม่จำกัดปริมาณและระยะเวลา ที่จะช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) ในเวลากลางวัน และชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ออกไปได้ 3,000-4,000 เมกะวัตต์

เน้นโซลาร์เซลล์ 2หมื่นเมกะวัตต์

ทั้งนี้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ระยะเวลา 20 ปี (2558-2579) ที่กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ ทางคณะอนุกรรมาธิการด้านพลังงานทดแทน เห็นว่าควรต้องส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ 20,000 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ 60% เป็นการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป ส่วนอีก 40% เป็นโซลาร์ฟาร์ม การส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปในสัดส่วนที่มากกว่า เป็นการกระจายรายได้ลงไปสู่ประชาชน ที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือขายให้กับรัฐได้ในระดับครัวเรือนใช้เงินลงทุนไม่มากนัก

ขณะที่โซลาร์ฟาร์ม เป็นการลงทุนโดยธุรกิจขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลมีการเป้าหมายการซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแล้ว 3,600 เมกะวัตต์ ขณะที่โซลาร์ รูฟท็อป มีเป้าหมายอยู่ที่ 200 เมกะวัตต์ จึงต้องเร่งส่งเสริมเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วนในระยะแรก นายดุสิต กล่าวกับ"กรุงเทพธุรกิจ"

นายดุสิต กล่าวว่าคณะอนุกรรมาธิการเสนอเรื่องการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป แบบ Net Metering โดยไม่จำกัดปริมาณการรับซื้อ และไม่จำกัดระยะเวลา เป็นวาระเร่งด่วน (Quick Win) ที่จะต้องดำเนินการก่อน โดยไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สามารถมีมติออกมาไปนโยบายได้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าได้เลย

เชื่อช่วยลดพีคการใช้ไฟฟ้าได้

ส่วนระบบNet Metering ถือเป็นระบบที่ใช้กันอยู่ในสากล โดยผู้ที่ร่วมโครงการจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านของตัวเองในเวลากลางวัน และไฟฟ้าที่จะผลิตเหลือก็จะส่งขายให้ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในอัตราค่าไฟฟ้าแบบTOU Rate หรือราคาในช่วง Peak ที่มีราคาสูงกว่าอัตราปกติ ส่วนช่วงกลางคืนจะซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า มาใช้ภายในบ้านในอัตราปกติ โดยมีการคิดค่าไฟฟ้าจากค่าสุดท้ายของมิเตอร์ที่จดบันทึก

แนวทางดังกล่าวจะช่วยลดพีค ของไฟฟ้าช่วงกลางวันได้ และชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงออกไปได้

“ในกรรมาธิการพลังงาน สปช. มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา 4 ชุด เพื่อแบ่งงานกันทำในด้านต่างๆ คือ การปฏิรูปโครงสร้างปิโตรเลียม ,โครงสร้างพลังงานในภาพรวม,โครงสร้างกิจการไฟฟ้า และโครงสร้างพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ในแต่ละชุด จะมีการนำเสนอเรื่องที่เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน หรือQuick Win ที่จะให้หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบรับลูกจาก สปช.ไปดำเนินการได้เลย โดยที่ไม่ต้องรอการแก้ไขกฎหมาย หรือร่างกฎหมายใหม่ หรือรอรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้การปฏิรูปทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น “ศ.ดร.ดุสิต กล่าว

หนุนกพช.รับซื้อไฟโซลาร์ฟาร์ม

สำหรับบทบาทของนายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย นายดุสิต กล่าวว่าเมื่อเร็วๆนี้ได้มีหนังสือ สนับสนุนมติของ กพช. เมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม โดยได้รับค่าไฟฟ้าตามระบบฟีดอินทารีฟ ในอัตรา 5.66 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 25 ปี ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี2558 รวม 3,800 เมกะวัตต์ ก่อให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนในเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์โดยรวม 260,000 ล้านบาท ทำให้การพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วงปี 2553-2558 เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ต้องคอยติดตามว่า ความพยายามที่จะผลักดัน เรื่องของการส่งเสริมพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ ภายใต้หมวกใบต่างๆที่ นายดุสิต สวมอยู่จะได้รับการตอบรับจากรัฐบาลและกระทรวงพลังงานมากน้อยแค่ไหน 20,000 เมกะวัตต์ภายใน 20 ปี จะเป็นเรื่องจริงหรือแค่ ความฝันของนายดุสิต ไม่เกินปี 2558 น่าจะได้รู้