อุทธรณ์ลดโทษ'79นักรบศรีวิชัย'บุกNBT

อุทธรณ์ลดโทษ'79นักรบศรีวิชัย'บุกNBT

พิพากษาอุทธรณ์แก้โทษ "79นักรบศรีวิชัย การ์ด พธม." บุก NBT ชุมนุมปี 51 ใช้อาวุธขู่พนักงานหยุดทำงาน

จากโทษปีเศษเหลือ คุกคนละ 6-8 เดือน ส่วน 6 รายขณะเกิดเหตุเป็นเยาวชน เจอคุก 3 เดือน แต่ศาลให้โอกาสกลับตัว สั่งรอลงอาญาไว้ ด้านทนายยื่นประกันคนละ 2 แสน ลุ้นรอสู้ฎีกาต่อ ขณะที่จำเลยร่วม 6 คน เบี้ยวนัดศาล เจอหมายจับอีก

ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 17 พ.ย.57 เวลา 12.15 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ที่กลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ซึ่งอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวก รวม 85 คน ซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัย การ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ, ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92,210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2535

ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 17 พ.ย.51 บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.51 จำเลยทั้ง 82 คน กับพวกอีก 3 คน ซึ่งเป็นเยาวชน ร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานี NBT พร้อมพกอาวุธจำนวนมาก จากนั้นจำเลยได้ร่วมกันทำลายทรัพย์สิน รวมค่าเสียหายทั้งสิ้นกว่า 6 แสนบาท ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของทางราชการ โดยจำเลยที่ 1 มีเครื่องรับและส่งวิทยุคมนาคม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่จำเลยที่ 39 , 80 มีใบกระท่อม ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 รวมจำนวน 18 ใบไว้ในครอบครอง ในชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ในข้อหา พกพาอาวุธปืนติดตัวไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 39 ให้การรับสารภาพ เฉพาะข้อหามีใบกระท่อมไว้ในครอบครองแต่ภายหลังกลับให้การปฏิเสธ ส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1-85 ให้การปฏิเสธ

ขณะที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี 18 เดือน ( คิดเป็น 2 ปี 6 เดือน) , จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี 6 เดือนและสั่งปรับ 500 บาท ส่วนจำเลยที่ 3-29 , 31-38 ,40,41,43-46 ,48-79 , 82 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน , จำเลยที่ 24 จำคุก 1 ปี 12 เดือน ( คิดเป็น 2 ปี ) และจำเลยที่ 39 , 80 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือนและปรับ 500 บาท ขณะที่จำเลยที่ 30, 47 , 81 จำคุกคนละ 12 เดือน ( คิดเป็น 1 ปี) ส่วนจำเลยที่ 83-85 จำคุกคนละ 9 เดือน

ขณะระหว่างกระทำผิดจำเลยที่ 30 ,47 ,81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี และจำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชน และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โดยโทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลย 30 ,47,81,83,85 มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี โดยโจทก์ - จำเลย ยื่นอุทธรณ์คดี

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า โจทก์ มีพนักงานสอบสวน เบิกความสอดคล้องกันว่า แกนนำ พธม. มีคำสั่งให้กลุ่มจำเลย กับพวกที่ไม่นำตัวมาฟ้อง บุกรุกสถานทีโทรทัศน์ เอ็นบีที และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในวันที่ 26 ส.ค.51 เวลา 05.00 น. ซึ่งพวกจำเลย รวมกลุ่มกันที่ ริม ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีอาวุธปืน มีด ไม้กอล์ฟ บุกเข้าไปภายในอาคารดังกล่าว บังคับให้พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไล่ให้ทุกคนออกจากอาคาร แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าห้ามแต่ไม่เป็นผล และวันเดียวกัน เวลา 18.00 น. จำเลยทั้งหมดกับพวก จึงออกจากพื้นที่

ศาลเห็นว่า แม้จำเลยจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การที่บุกรุกให้หยุดเสนอข่าวต้องมีกฎหมายรองรับ พฤติการณ์แห่งคดีและการกระทำของจำเลยเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และนายธเนศ จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืน แต่อย่างไรก็ตาม ทางนำสืบของโจทก์ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในฐานะเป็นหัวหน้าหรือไม่ เช่นเดียวกับความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้นโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดเป็นผู้กระทำผิด

สำหรับความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ โจทก์ มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ขณะนั้นเป็นผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ได้เบิกความว่า คืนเกิดเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่ กลุ่มจำเลยได้พกอาวุธเข้ามาในสำนักงาน พร้อมกับให้พนักงานทุกคนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ศาลเห็นว่า การกระทำที่บุกรุกเข้าไปโดยมีอาวุธแล้วสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติงาน ย่อมทำให้พนักงานเกิดความหวาดกลัวและยอมทำตามคำสั่งของพวกจำเลย การกระทำของพวกจำเลย จึงเป็นความผิด

ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่มีเหตุนั้น รับฟังได้จากคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ว่า เป็นผู้ครอบครองอาวุธโดยมีใบอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพว่า พกเครื่องกระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 1 นัด และขนาด .38 จำนวน 5 นัด ซึ่งการกระทำดังกล่าว ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยอื่นจะมีส่วนรู้เห็นความผิดนี้ด้วย อีกทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ เบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 กับพวก พกอาวุธปืนและไม้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของใคร พยานที่นำสืบมาจึงยังไม่อาจฟังได้ชัดเจนว่าจำเลยอื่น ร่วมกระทำผิดฐานพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะด้วย

ขณะที่ความผิดฐานซ่องโจร เห็นว่า โจทก์ นำสืบว่า ทราบข่าวจำเลยจะบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ตามคำสั่งแกนนำ แต่พยานหลักฐานโจทก์นั้นก็ไม่อาจนำสืบให้เห็นว่าพวกจำเลยได้มีการประชุมวางแผนกันล่วงหน้าก่อนบุกรุก การกระทำจึงยังไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร ที่ศาลชั้นต้นลงโทษพวกจำเลยความผิดนี้ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น

แต่ที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ลักษณะการชุมนุมของจำเลยเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก่อความไม่สงบวุ่นวาย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง และบุกรุกสำนักงานของผู้อื่น ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

จากพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมา การกระทำของจำเลย ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวต่อเนื่องกัน ซึ่งผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุดฐานบุกรุก ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องความผิดดังกล่าว แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจนำมาวินิจฉัยได้ตามกฎหมาย

จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1-29 , 31-41 , 42 - 46 , 48 - 80 และ 82 มีความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและข่มขู่จะใช้กำลังประทุษร้าย ให้จำคุกคนละ 1 ปี ซึ่งจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานพากกาอาวุธปืนและมีเครื่องวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ให้จำคุกอีก 4 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 1 ปี 4 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 30,47 และ 81 ขณะก่อเหตุอายุไม่เกิน 20 ปี จึงให้จำคุกคนละ 8 เดือน และจำเลยที่ 83-85 ขณะเกิดเหตุอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้จำคุกคนละ 6 เดือน

โดยคำให้การจำเลยประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอบยู่บ้าง จึงเห็นควรลดโทษ ให้จำเลยที่ 1-29 , 31-41 , 42 - 46 , 48 - 80 และ 82 คนละกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 6 เดือน และลดโทษกึ่งหนึ่งให้จำเลยที่ 1 ฐานพกพาอาวุธ คงจำคุกอีก 2 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 8 เดือน

ส่วนจำเลยที่ 30 ,47 และ 81 ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 6 เดือน โดยจำเลยที่ 30, 47 , 81 , 83-85 ขณะกระทำผิดเป็นเยาวชน จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ ส่วนความผิดฐานซ่องโจรนั้นให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลังนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจำเลย กล่าวว่า วันนี้เตรียมหลักทรัพย์เป็นเงินสด และกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ มาพร้อมยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมด คนละ 200,000 บาท เพื่อจะฎีกาสู้คดีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี ในการอ่านคำพิพากษาวันนี้ จำเลยที่ 7, 19, 36 ,42 ,73และ 85 ไม่มาศาล โดยจำเลยส่วนใหญ่ไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง ซึ่งศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่าจำเลยทราบนัดแล้วไม่มา จึงเห็นควรให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย โดยให้ออกหมายจับจำเลยทั้ง 6 รายเพื่อนำตัวมารับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไป