โยจิ ยามาโมโต้ แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้วิ่งหนีแฟชั่น

โยจิ ยามาโมโต้ แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้วิ่งหนีแฟชั่น

ทำไมทำสีดำ ทำไมตัดโอเวอร์ไซส์ บางทีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ตอบไม่ได้ว่ามาจากอะไร แต่โยจิ ยามาโมโต้ มีคำอธิบายได้หมด

ความโดดเด่นอันเป็นเอกลักษณ์ในงานออกแบบแฟชั่นของแฟชั่นดีไซเนอร์วัย 70 ปี โยจิ ยามาโมโต้ (Yohji Yamamoto) ที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ คือ การใช้สีดำ และ โครงเสื้อที่มีขนาดใหญ่ (oversize) เกินรูปร่างจริงของนางแบบมากๆ

หลังประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงบนถนนแฟชั่นโลกที่กรุงปารีส โยจิใช้ 'สีดำ' และ 'โครงเสื้อโอเวอร์ไซส์' ในทุกคอลเลคชั่นที่เขาออกแบบ จนกลายเป็น 'ลายเซ็น' มาตลอด 32 ปีในอาชีพดีไซเนอร์

ทำไมทำสีดำ ทำไมตัดโอเวอร์ไซส์ บางทีดีไซเนอร์รุ่นใหม่ตอบไม่ได้ว่ามาจากอะไร แต่โยจิมีคำอธิบายได้หมด เรื่องราวชีวิตเขาคือคำตอบทั้งหมด ทำไมใช้สีดำทุกครั้ง ทำไมตัดเสื้อผ้าขนาดใหญ่

"ชีวิตที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พร้อมเสียงระเบิดในกรุงโตเกียวตลอดเวลา เป็นความมืดมนของชีวิตที่เศร้า พ่อซึ่งจากกันไปเมื่ออายุสองขวบเนื่องจากสงคราม ความเศร้าของแม่ ความตายของพ่อ และภาวะสงครามในโตเกียว มันเป็นสีดำสำหรับเขา นั่นคือที่มา...ทำไมทุกคอลเลคชั่นของโยจิ ยามาโมโต้ จึงมีสีดำ" ไชยยง รัตนอังกูร บรรณาธิการบริหาร นิตยสารวอลล์เปเปอร์ ประเทศไทย กล่าว

"เสื้อผ้าโอเวอร์ไซส์เป็นเหตุผลมาจากโยจิเห็นสภาพผู้หญิงญี่ปุ่นช่วงแพ้สงคราม ช่วงที่แม่ลำบากต้องดูแลเขา เขามองว่าผู้หญิงต้องได้รับการดูแล ผู้หญิงญี่ปุ่นส่วนหนึ่งต้องสร้างความสบายใจให้ทหารอเมริกันที่เข้ามา เขารู้สึกว่าผู้หญิงญี่ปุ่นต้องแบกภาระการเป็นผู้แพ้สงคราม เสื้อผ้าของโยจิจึงเป็นเสมือนการให้ความคุ้มครองผู้หญิง ปกป้องผู้หญิงทั้งจากสภาพอากาศ สายตาผู้ชาย และหยิบยกปรัชญากิโมโนญี่ปุ่นมาใช้ด้วย สะท้อนทั้งวิธีคิดและความรู้สึกที่อยู่ภายในใจ ซึ่งเขาทำมาจนถึงปัจจุบัน"

โยจิ ยามาโมโต้ พยายามทำ 'โครงสร้างของการตัดเย็บ' ในเชิง สถาปัตยกรรม เพื่อให้เสื้อผ้ามีขนาดใหญ่มากๆ เหมือนจะใส่ไม่ได้ แต่จริงๆ ข้างในมีการออกแบบด้าน 'โครงสร้าง' ด้วยฝีมือระดับช่างเย็บเสื้อชั้นสูง ซึ่งเมื่อคนใส่แล้วสามารถควบคุมเสื้อผ้าชุดนั้นได้

"เขาศึกษาการตัดเย็บอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เสื้อผ้าคงรูป และให้ความรู้สึกได้จริง ไม่ใช่เพียงว่าออกแบบแล้วตัดเย็บออกมาได้จริง แต่ไม่ได้ให้พลังอย่างที่ต้องการ" ไชยยง กล่าวถึงวิธีการทำงานของ โยจิ ยามาโมโต้ ขณะนำชมนิทรรศการชีวิต ความคิด และผลงาน ของ โยจิ ยามาโมโต้ แฟชั่นดีไซเนอร์ผู้วิ่งหนีแฟชั่นหรือ Wallpaper* x Siam Center present YOHJI YAMAMOTO ซึ่งจัดแสดง ณ พื้นที่ไอเดีย อเวนิว ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์ วันนี้-11 พฤศจิกายน พ.ศ.2557

โยจิ ยามาโมโต้ มีคำว่า นัวร์ (noir) ซึ่งแปลว่าโลกมืดในบางอย่างของญี่ปุ่นซุกซ่อนอยู่ในสไตล์ของเขาตลอดมา ทำให้แบรนด์เขามีเอกลักษณ์อย่างแข็งแรงมาตลอด ภาณุ อิงคะวัต นักสร้างสรรค์งานโฆษณา และนักออกแบบแฟชั่น กล่าวในวันที่ไปร่วมงานเปิดนิทรรศการ

"ตอนนั้นยุโรปคือเจ้าแห่งแฟชั่น มีทั้งคริสเตียน ดิออร์, อีฟ แซงต์ โลรองต์, กุชชี่ การที่ตะวันออกจะไปเหยียบเวทีโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในช่วงนั้นต้องถือว่าประเทศญี่ปุ่น -ไม่ใช่เฉพาะวงการดีไซเนอร์- ต้องการทะยานไปอยู่บนเวทีโลก คล้ายๆ เกาหลีใต้วันนี้ ไม่ว่ารถ เพลง หนัง วัฒนธรรม แฟชั่น เขาพยายามหยิบดีไซเนอร์หรือผลงานของเขาขึ้นไปยืนอยู่บนเวทีโลก ถือเป็นการบุกเบิกครั้งสำคัญของญี่ปุ่น" ภาณุกล่าวและเล่าต่อไปว่า ญี่ปุ่นตัดสินใจเลือกเปิดตัวที่ปารีส ดินแดนซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางของแฟชั่น ไปด้วยกัน 3 แบรนด์ คือ กอม เด การ์ซง (Comme des Garcons), อิซเซ่ มิยาเกะ (Issey Miyake) และ โยจิ ยามาโมโต้

"ตอนนั้นโลกแฟชั่นคือโลกของสีสัน ญี่ปุ่นเอาความดำเข้าไปใส่แฟชั่นยุโรป ซึ่งทำให้คนแตกฮือเพราะไม่เคยเห็นแฟชั่นอะไรแบบนี้ โดยเฉพาะทุกคนเป็นกบฎทางแฟชั่น ไม่มีใครทำแฟชั่นออกมาเป็นสาวสวยเซ็กซี่แบบยุโรป ทุกคนมาด้วยจุดยืนที่ชัดเจน เพื่อมาหัก(break)วิธีการทำงานแฟชั่นของยุโรป ทุกแบรนด์ที่ไป...หยิบความเป็นญี่ปุ่นไปด้วย นี่คือความแตกต่าง และเขาทำให้โลกเห็นความเป็นญี่ปุ่นและคุณค่าความเป็นญี่ปุ่น กอม เด การ์ซงยืนอยู่บนความเป็นการ์ตูนอยู่เยอะมาก ลูกเล่นสนุก, อิซเซ่ มิยาเกะ หยิบเอาความเป็นงานฝีมือของญี่ปุ่น การพับกระดาษ(origami) โยจิหยิบความนัวร์ของญี่ปุ่น จากชีวิตที่เขาเติบโตมาในญี่ปุ่นยุคสงคราม มาปั้นเป็นแนวคิดคอนเซปต์ของแบรนด์ เป็นความเก่งของแต่ละคน" ภาณุ กล่าว

แต่ถ้าคิดจากมุมมองของนักวิชาการแฟชั่น ผศ.อโนทัย ชลชาติภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์แฟชั่น ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การที่ ดีไซน์เอเชีย จะไปแทรกอยู่ในปารีสได้ต้องมีความพิเศษจริงๆ สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนมองจากการชมนิทรรศการนี้คือ วิธีคิดงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแรงบันดาลใจหรือคอนเซปต์ แต่เป็น วิธีการทำแฟชั่น ซึ่งเป็นองค์รวมใหญ่

"ถ้าเรากลับมามองว่าคนยุโรปคิดงานอย่างไร จะพบว่าคนยุโรปคิดงานอย่างเอาตัวคนเป็นที่ตั้ง (bodyconcious) เอาหุ่นซึ่งมีอกเอวสะโพกเป็นที่ตั้ง ทำแพทเทิร์นอยู่บนรูปร่างสามมิติ ขณะที่คนญี่ปุ่นถ้าเราไปดูเคนโซ่, อิซเซ่ มิยาเกะ, เรอิ คาวาคูโบ, โยจิ ทุกคนสร้างเสื้อโดยไม่พะวงรูปร่าง แต่สร้างประติมากรรมของคนขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของคนญี่ปุ่นเลย ถ้าเรากลับไปดูเป็นรายกรณี คนญี่ปุ่นทำการ์ตูน การ์ตูนก็จะไม่มีจริง แต่ตั้งอยู่บนลักษณะพื้นฐานของสัตว์บางชนิด แต่ออกมาแล้วไม่เป็นสัตว์ตัวนั้น ออกมาเป็นสิ่งที่ปฏิวัติวงการการ์ตูนมากๆ พอกลับมาดูแฟชั่น เราจะเห็นว่าของญี่ปุ่นโดยเฉพาะโยจิ สร้างตัวประติมากรรมขึ้นมาใหม่ เป็นคนใหม่ที่มีอกเอวสะโพกแบบใหม่ ที่มีขนาดอย่างใหญ่มาก หรือเล่นกับความดำ-ความมืดก็แล้วแต่ แต่โครงของมันไม่ปกติ ตรงนี้คือจุดที่แหวกไปอยู่แถวหน้าได้ ตรงนี้อยากให้วงการแฟชั่นไทยหันมามองประเด็นนี้มากๆ เพราะการที่คุณจะไปแทรกตัวอยู่ในวงการแฟชั่นโลกได้ วิธีคิดงานต้องไม่เหมือนคนอื่น" ผศ.อโนทัย กล่าว

ในฐานะดีไซเนอร์รุ่นใหม่ พลพัฒน์ อัศวะประภา ยอมรับว่าชื่อ โยจิ ยามาโมโต้ มีความหมายสำหรับคนทำงานออกแบบสำหรับเขาเช่นกัน

"คำหนึ่งที่ผุดขึ้นมาเสมอเมื่อเอ่ยชื่อโยจิคือ 'ดีไซเนอร์ ออฟ ดีไซเนอร์ส' มีไม่กี่คนในโลกที่ใช้คำนี้ โยจิสามารถสร้างคำศัพท์หรือวิธีการมองโลกในแบบของเขาได้ชัดเจน อันนี้สำคัญมาก จะสี่สิบปี เจ็ดสิบปี หรือดีไซเนอร์ปัจจุบันนี้ก็ต้องคิดในการสร้างคำศัพท์ของตัวเอง ที่จะใช้สื่อสารกับคนใส่เสื้อผ้าของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นมาก"

พลพัฒน์กล่าวด้วยว่า โยจิถ่ายทอดผลงานการออกแบบแฟชั่นของเขา ด้วยแพทเทิร์นที่ภาษาคนทำเสื้อเรียกว่า deconstructing (ลดทอนรูปแบบ) โยจิเอาแพทเทิร์นของคนยุโรปมาเททิ้งออกไปหมด

"โยจิเป็นหนึ่งในช่างเสื้อชั้นสูงของญี่ปุ่น แต่วิธีที่เขาใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าคือการใช้วิธีลดทอนรูปแบบ มุมมองของเขาไม่ว่าจะเป็นแบบนัวร์ แบบลดทอนรูปแบบ เขาถ่ายทอดผ่านคำศัพท์ผ่านวัฒนธรรมการมองของเขา สำหรับผมคือเป็นมากกว่าเสื้อผ้า เสื้อผ้าเขาไม่ว่ากี่สิบปีผ่านไป ไม่มีคำว่ายุค ไม่มีคำว่าสมัย ทุกอย่างเราจะมองเห็นตัวตนของเขาชัดเจน ถ้าใครมีโอกาสลองอ่านประวัติของเขา จะพบว่าเสื้อทุกตัว เทคนิคทุกอย่าง สี ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตเขาออกมาอย่างไร" พลพัฒน์ กล่าว

นิทรรศการ Wallpaper* x Siam Center present YOHJI YAMAMOTO แบ่งเป็นโซนต่างๆ นำเสนอชีวิตบนเส้นทางสายแฟชั่นกว่า 48 ปีของ 'โยจิ ยามาโมโต้' ผู้สร้างทฤษฎีการออกแบบแฟชั่นที่ท้าทายคนทั้งโลก อัตชีวประวัติที่หล่อหลอมความเป็นตัวเขาเอง

โซนที่เล่าเรื่องการพิสูจน์ตัวตนครั้งแรกที่กรุงปารีส เปิดตัวแบรนด์เสื้อผ้าสตรีของตัวเองในนาม Y's การเผชิญและสยบคำท้าท้ายจากแบรนด์เจ้าถิ่น จนกระทั่งได้รับคำเชิญให้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานในลักษณะ Collaboration กับแบรนด์ Hermes, Mikimoto, Mandarina Duck และการสร้างแบรนด์เสื้อผ้ากีฬา-สตรีทแวร์ในชื่อ Y-3 ร่วมกับอาดิดาส เป็นอาทิ

โซนภาพถ่ายผลงานคอลเลคชั่นฤดูหนาวปี 2014 ยังคงไว้ซึ่งดีเอ็นเอในงานออกแบบของเขา แต่เพิ่มเติมด้วยการทำงานร่วมกับศิลปินญี่ปุ่น Yasuto Sadada ด้วยการเพ้นท์มือวาดลวดลายต่างๆ บนชุดเดรสและเสื้อโค้ตที่ทำจากวัสดุหนังเกรดเอ ผลลัพธ์ที่ได้คือความสดใหม่ในผลงานแฟชั่นที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางด้านงานฝีมือ

โซนจัดแสดงคอลเลคชั่นโยจิ ยามาโมโต้ จากนักสะสมแฟชั่นคนไทย ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล, ทินกร อัศวรักษ์, ชยิน รุจิรัตนา และนักสะสมจากต่างประเทศที่ล้วนหาชมได้ยาก 20 อาร์ทพีซ ชุดต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นอิทธิพลด้านงานดีไซน์ที่โยจิมีต่อวงการแฟชั่นโลก เช่น โครงเสื้อแจ๊คเก็ตหลวมที่ไร้โครงสร้างชัดเจน รายละเอียดตกแต่งที่ถูกลดทอนลงจนเกือบจะไม่มีบนเสื้อโค้ท และชุดกระโปรงทรงตรงง่ายๆ ที่ไร้ความสมมาตรบนผ้าสีดำสนิท ทำให้กลุ่มลูกค้าของ Y's และ Yohji Yamamoto ถูกเรียกว่า ชนเผ่ากา (karasu-zoku)

วงการออกแบบศิโรราบให้กับความสามารถของเขาด้วยรางวัลจากหลายเวที เช่น รางวัล 26th Fashion Editors Club (FEC)Award, Tokyo, รางวัล 4th Mainichi Fashion Award, Tokyo, รางวัล Night of Stars Award from Fashion Group, New York และ 18th Annual Council of Fashion Designers of America (CFDA) Awards’ “International Award”, New York เป็นต้น

ผลงานของโยจิยังได้รับการจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นสูงทั่วโลก เช่น Modern Art Gallery of the Palazzo Pitti (Firenze, Italy), Musee de la Mode et du Textile (Paris, France) และ Victoria & Albert Museum in London เป็นต้น

ปิดท้ายด้วยโซนวีดีโอสัมภาษณ์, โยจิ ยามาโมโต้ให้สัมภาษณ์เป็นกรณีพิเศษเพื่องานนี้โดยเฉพาะ ถ่ายทอดเรื่องราวตัวเขาเอง ความคิดและผลงาน นับเป็นภาพยนตร์สารคดีน่าสนใจที่สุดในวงการแฟชั่น ณ นาทีนี้

"เป็นนโยบายของเราอยู่แล้ว ทุกปีอยากให้มีเรื่องราวของนักออกแบบที่เป็นตำนานจริงๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนไทย ต้นปีที่ผ่านมาเราได้สัมภาษณ์โยจิ ยามาโมโต้ เนื้อหาดีมาก ความทุ่มเทของโยจิที่มีต่อเรา เขาเขียนบ้างคำตอบให้ด้วยตัวเขาเอง คือบทความเจแปนแอนด์มี เป็นปรัชญาชีวิตที่ลึกซึ้งมาก เขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วเรามาแปลเป็นภาษาไทย เขาบอกว่านี่เป็นมาสเตอร์พีซอันหนึ่งที่เขาไม่เคยเขียนให้ใคร พอดีผมเจอกับคุณแป๋ม(ชฎาทิพ จูตระกูล)และทีมสยามเซ็นเตอร์ ก็บอกว่าอย่าให้อยู่ในนิตยสารอย่างเดียว เอาออกมาเป็นสามมิติได้ไหม เราก็เริ่มต้นติดต่อโยจิที่จะสืบหาผู้คนที่มีคอลเลคชั่นสำคัญของโยจิมาจัดแสดงให้คนไทยได้เห็น โดยเฉพาะนักเรียนแฟชั่น หรือดีไซเนอร์รุ่นใหม่ นิทรรศการนี้เหมือนเป็นหนังตัวอย่างของโยจิ" ไชยยง กล่าวถึงที่มาของการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับโยจิ ยามาโมโต้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

"ถ้าเราพูดถึงดีไซเนอร์เอเชียที่เป็นระดับท็อปของโลก ก็มีไม่กี่ชื่อ กับเป็นจังหวะดีที่ฉลอง 70 ปีโยจิ และ 32 ปีในวงการแฟชั่นของเขาซึ่งอยู่ได้มาถึงปัจจุบัน และยังทำแฟชั่น 6 คอลเลคชั่นทุกๆ ปี ผมไม่ได้เป็นดีไซเนอร์ แต่เป็นบรรณาธิการที่สนใจศึกษาเรื่องความคิดของคน ผมคิดว่าเขาเป็นปรมาจารย์ที่มีพลังและยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเราควรต้องไปคารวะสักครั้ง" บรรณาธิการบริหาร นิตยสารวอลล์เปเปอร์ ประเทศไทย กล่าวถึงการเลือกสัมภาษณ์โยจิ ยามาโมโต้

และทำให้คนไทยซึ่งสนใจงานออกแบบ รู้จัก 'ตัวตน' และ 'วิธีคิด' ของดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่นามนี้มากขึ้น