ชี้จุดอ่อน'ยุบอบจ.'ตั้งเทศบาลกึ่งลากตั้ง
"ที่ผ่านมา นายกอบจ.กับผู้ว่าฯบารมีข่มกันอยู่ ฉะนั้นหากลดฐาน อบจ.เป็นเทศบาลจังหวัด ขรก.ท้องถิ่นบางส่วนเห็นด้วย
ฮือฮาพอสมควรสำหรับพิมพ์เขียวการปรับโครงสร้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นผลจากการประชุมลับระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับกระทรวงมหาดไทย เพราะหากทำจริงต้องถือว่า "รื้อ" กันขนานใหญ่ ไม่ใช่แค่ "ปรับโครงสร้าง"
ข้อเสนอที่เป็นพิมพ์เขียวและหลุดออกมาถึงสื่อ สรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆ ดังนี้
1.ยุบรวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เข้ากับเทศบาล กลายเป็นเทศบาลจังหวัด 2.อปท.จะเหลือเพียง 2 รูปแบบ คือ เทศบาล กับแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา 3.เทศบาลมี 3 ระดับ คือ เทศบาลจังหวัด เทศบาลอำเภอ เทศบาลตำบล โดยเทศบาลตำบลเป็นการยุบรวม หรือยกระดับจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสภาตำบลในพื้นที่ ให้มีตำบลละ 1 เทศบาล
4.ฝ่ายบริหาร นำโดยนายกเทศมนตรีทุกระดับ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สภาเทศบาล มาจากการแต่งตั้งหรือเลือกกันเองของผู้ใหญ่บ้านและหัวหน้าชุมชนในพื้นที่ของเทศบาลนั้นๆ 5.อบจ.เดิมปรับรูปแบบเป็นสำนักงานท้องถิ่นจังหวัด มีผู้อำนวยการเป็นข้าราชการ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณและงานธุรการ ห้ามฝ่ายการเมืองเข้าไปทำหน้าที่ 6.ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย จากฝ่ายราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ทรงคุณวุฒิ รับผิดชอบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น
ข้อเสนอนี้จัดว่าแรง และส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ คสช.กับรัฐบาล ทำให้มีการออกมาปฏิเสธข่าวจากผู้เกี่ยวข้องทันควัน ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่หลุดออกมานั้นเป็นเอกสารที่ใกล้เคียงกับเอกสารราชการ ตัวเลขยังพิมพ์ด้วยเลขไทย!
คนในวงการท้องถิ่นบอกว่า พิมพ์เขียวนี้มีสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (สมาพันธ์ปลัด อบต.) และสมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (สมาคมข้าราชการ อบจ.) จัดให้...
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า พอจะทราบตื้นลึกหนาบางของข้อเสนอนี้พอสมควร จึงรู้สึกว่าไม่ดีเท่าไร เพราะวัตถุประสงค์ที่ต้องการทำก็เพื่อรวมศูนย์อำนาจ และทำให้รัฐบาลควบคุมท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น
"ตามข่าวระบุว่าไปคุยลับๆ กัน ทั้งๆ ที่น่าจะรอให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติเสียก่อน แล้วค่อยไปถกเถียงกันในนั้น" ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าว และว่าข้อเสนอที่ออกมามองดูก็รู้ว่าได้รับการผลักดันจากข้าราชการมหาดไทยกับข้าราชการท้องถิ่นบางกลุ่ม มหาดไทยอยากลดจำนวนท้องถิ่นลงอยู่แล้ว และอยากให้การปรับโครงสร้างครั้งนี้ทำให้ราชการส่วนภูมิภาคมีอำนาจเข้มแข็งขึ้น
"ที่ผ่านมานายก อบจ.กับผู้ว่าฯ บารมีข่มกันอยู่ ฉะนั้นหากลดฐาน อบจ.เป็นเทศบาลจังหวัด ข้าราชการท้องถิ่นบางส่วนจึงเห็นด้วย โดยเฉพาะสายที่ไปเลือกข้างกับมหาดไทย แต่ อปท.ฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ไม่เห็นด้วย"
นักรัฐศาสตร์จากจุฬาฯ ยังชี้ประเด็นที่น่าจะสร้างปัญหาตามมาอย่างมากกว่า โครงสร้างนี้ให้ความสำคัญกับข้าราชการประจำมากเกินไป ทั้งข้าราชการท้องถิ่นและส่วนภูมิภาค ซึ่งถือว่าน่ากลัว เพราะถ้าเราพูดถึงการปกครองท้องถิ่นที่มีเป้าหมายให้ประชาชนเข้มแข็ง สิ่งที่จะปรับโครงสร้างนี้ก็ไปสวนทางกับหลักการทั้งหมดเลย
"ถ้าให้ข้าราชการเข้ามามีบทบาท ถามว่าข้าราชการทุกคนโอเคหรือไม่ ถ้าโอเคก็คงไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้าข้าราชการบางส่วนเกิดมีผลประโยชน์ จะตรวจสอบได้อย่างไร เพราะกลไกตรวจสอบข้าราชการมีน้อยกว่านักการเมือง"
ด้าน ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการจากสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ย้อนถามว่า "โมเดลแบบนี้กำลังจะพาประเทศไทยกลับไปเป็นรัฐราชการหรือเปล่า" ก่อนจะขยายความว่าโมเดลที่ปรากฏออกมาถือว่าให้บทบาทกับฝ่ายประจำมากเกินไป เทศบาลระดับตำบลเอาผู้ใหญ่บ้านมาเป็นสภาเทศบาลเลย
"เรื่องผู้ใหญ่บ้านมันยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เช่น ที่มาของผู้ใหญ่บ้านมีข้อครหาค่อนข้างเยอะ เพราะการเลือกผู้ใหญ่บ้านใช้เงินมาก แข่งขันกันสูง มากกว่าการเมืองระดับชาติเสียอีก บางพื้นที่ซื้อเสียงกันหัวละ 5 พันบาทก็ยังมี ส่วนวาระของผู้ใหญ่บ้านยังเป็นถึงอายุ 60 ปี ฉะนั้นสภาเทศบาลที่ให้ผู้ใหญ่บ้านเข้าไปทำหน้าที่จะต้องกำหนดวาระหรือไม่ หรือแม้จะกำหนดวาระ แต่ตัวบุคคลเป็นคนเดิม เพราะเป็นไปถึงอายุ 60 ปี มันก็ไม่เกิดระบบหมุนเวียน"
ส่วนการปรับบทบาทให้ อบจ.เป็นสำนักงานท้องถิ่นจังหวัด ให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้อำนวยการ ดูแลเรื่องงบประมาณซึ่งจะตั้งเป็นกองทุนพัฒนาท้องถิ่นนั้น ดร.สติธร บอกว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องใช้แค่ชั่วคราว หรือระยะเริ่มต้นเท่านั้น
"หลักการคือต้องทำเพื่อกระจายการดูแลเรื่องงบประมาณและการบริหารงานบุคคลไปให้ท้องถิ่น สอดคล้องกับภารกิจที่ถ่ายโอนจากส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายต้องออกแบบให้ทุกระดับมาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่ในช่วงแรกฝ่ายประจำอาจเข้าไปช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพราะท้องถิ่นอาจไม่เชี่ยวชาญหรือไม่มีความชำนาญ ที่สำคัญคือป้องกันปัญหาการทุจริต แต่โมเดลนี้ควรใช้แค่ 1-3 ปี จากนั้นระยะยาวควรให้อิสระกับ อปท.ในการดูแลกิจการท้องถิ่นทั้งหมด"
ดร.สติธร กล่าวด้วยว่า ถ้าจะให้โมเดลนี้เป็นโมเดลถาวร ต้องบอกว่าย้อนยุค เพราะการพัฒนาท้องถิ่นไทยเดินหน้ามาไกลมากแล้ว ถึงขั้นเลือกตั้งนายก อปท.โดยตรง เลือกตั้งสภาท้องถิ่นทั้งหมดโดยตรง และวางบทบาทให้ อบจ.กำกับดูแลภาพรวมของการพัฒนาในจังหวัดด้วย