คสช.ดันรถไฟรางคู่8เส้นทาง8.6แสนล.

คสช.ดันรถไฟรางคู่8เส้นทาง8.6แสนล.

คสช.ไฟเขียวแผนยุทธศาสตร์คมนาคม รถไฟทางคู่ 8 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 8.6 แสนล้านบาท

ใช้รางขนาดเดิม 1 เมตร 6 เส้นทางรวม 1.2 แสนล้าน พร้อมปรับแบบ 2 เส้นทาง รองรับรถไฟทางคู่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแทน"รถไฟความเร็วสูง" วงเงินกว่า 7.4 แสนล้านบาท เชื่อมรถไฟความเร็วสูงจีน พร้อมสั่งเดินหน้ารถไฟฟ้ากทม.-ปริมณฑล 10 สาย ตามแผนเดิม

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม วงเงิน 2.4 ล้านบาท แต่อนุมัติโครงการรถไฟรางคู่ 8 เส้นทาง ให้เริ่มทำได้ทันที ส่วนที่เหลือตามแผนนั้นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาแหล่งเงินทุนใหม่

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การประชุมคสช.วานนี้(29 ก.ค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางการพัฒนาในระยะเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2557-2558 ประกอบไปด้วย 2 แผนงานหลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง และ การพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงประตูการค้า เมืองหลัก กทม.และปริมณฑล

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง เป็นการเน้นที่การพัฒนารถไฟทางคู่รวม 8 เส้นทาง โดยแบ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟเป็นรถไฟทางคู่โดยใช้รางขนาด 1 เมตร ในเส้นทางรถไฟเดิมในช่วงที่มีปัญหาการคับคั่งของการเดินรถไฟ เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าและการขนส่งผู้โดยสารได้รวดเร็วขึ้น โดยได้เห็นชอบให้มีการเร่งดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทางระยะทางรวม 887 กิโลเมตร วงเงิน 127,472 ล้านบาท

ทั้ง 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางชุมทางจิระ - ขอนแก่น วงเงิน 26,007 ล้านบาท,เส้นทางประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร วงเงิน 17,293 ล้านบาท ,เส้นทางนครปฐม - หัวหิน วงเงิน 20,038 ล้านบาท ,เส้นทางมาบกะเบา - นครราชสีมา วงเงิน 29,855 ล้านบาท,เส้นทางลพบุรี - ปากน้ำโพ วงเงิน 24,842 ล้านบาท และเส้นทางหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน 9,437 ล้านบาท โดยจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และจะสามารถแก้ปัญหาการเดินรถไฟที่คับคั่งในปัจจุบันเนื่องจากจะสามารถเพิ่มจำนวนการเดินรถได้จาก 268 เที่ยวต่อวัน เป็น 800 เที่ยวต่อวัน

ปรับแผนสร้างรถไฟฟ้าแทน'ความเร็วสูง'

ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ โครงการวางมาตรฐานการเดินรถทางรางใหม่สำหรับอนาคต โดยสร้างรถไฟทางคู่ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางหนองคาย - นครราชสีมา - ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กิโลเมตร วงเงิน 392,570 ล้านบาท และเส้นทางเชียงของ - เด่นชัย - บ้านภาชี ระยะทาง 655 กิโลเมตร วงเงิน 348,890 ล้านบาท

นางสร้อยทิพย์ กล่าวว่า ทั้งสองโครงการนี้จะใช้งานรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและเป็นการรองรับการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมต่อกับสปป.ลาวและจีนในอนาคต

“โครงการเดินรถทางรางขนาด 1.435 เมตร จะเป็นการนำโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาไว้มาศึกษาเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนให้เป็นรถไฟทางคู่ระบบไฟฟ้าที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะใช้งบประมาณน้อยกว่าและมีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูงเพราะสามารถขนส่งได้ทั้งคนและสินค้า นอกจากนั้นหากในอนาคตประเทศไทยจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงในอนาคตก็สามารถใช้รางขนาด 1.435 ที่จะมีการสร้างใน 2 เส้นทางนี้ในการเดินรถได้ด้วย” นางสร้อยทิพย์กล่าว

สั่งเดินหน้ารถไฟฟ้า10สายในกทม.

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายซึ่งเป็นโครงการเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่ประชุมคสช.ให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปตามแผนทั้งหมด โดยกระทรวงคมนาคมได้มีการชี้แจงว่าขณะนี้ในบางโครงการมีการดำเนินการไปใกล้แล้วเสร็จ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ ขณะนี้งานโยธาคืบหน้ากว่า 94% และคาดว่าจะสามารถทดรองเดินรถได้ในปี 2558 และเริ่มเดินรถเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2559

ขณะที่ตามแผนรถไฟฟ้าทั้ง 10 เส้นทางจะยังคงเปิดให้บริการได้ในปี 2562 รวมระยะทาง 410 กิโลเมตร

คตร.อนุมัติจัดซื้อหัวรถจักร3พันล้าน

สำหรับการจัดซื้อรถจักรและตู้โดยสารใหม่เพื่อทดแทนของเก่าที่ใช้งานมานานขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากที่ขอใช้งบประมาณ 3,056 ล้านบาทในการซ่อมหัวรถจักรเก่าไปจัดซื้อหัวรถจักรใหม่ซึ่งจะสามารถจัดซื้อได้จำนวน 36 คัน ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการโดยจะทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟทั่วประเทศ

สำหรับการพัฒนาการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมกับประตูการค้าระหว่างประเทศและการค้าชายแดน เป็นการเชื่อมโยงเส้นทางเมืองหลัก กทม.และปริมณฑล เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานที่สำคัญ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้รองรับสายการบินพาณิชย์

นอกจากนั้นยังจะมีการเร่งปรับปรุงระบบถนนเชื่อมโยงประตูการค้าของประเทศ ในพื้นที่ที่มีความสำคัญกับการค้าชายแดน และกำลังจะมีการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ทางหลวง ตราด - หาดเล็ก,ตาก - แม่สอด,ถนนเลี่ยงเมืองอรัญประเทศ-สระแก้ว เป็นต้น ขณะที่ระบบถนนเชื่อมเมืองหลักจะมีการเดินหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายพัทยา - มาบตาพุด ซึ่งได้รับงบประมาณในการเวนคืนที่ดินในปีงบประมาณ 2557 - 2558 แล้ว

ตั้งคณะทำงานกำหนดวงเงินตามแผนยุทธศาสตร์

ปลัดกระทรวงคมนาคมยังกล่าวด้วยว่าที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานในการกำหนดวงเงินในโครงการและแผนงานต่างๆรวมทั้งกำหนดแหล่งที่มาของเงินที่จะใช้ลงทุนในโครงการตามแผนงานและยุทธศาสตร์การคมนาคมซึ่งคณะทำงานชุดนี้ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และกระทรวงคมนาคม โดยกำหนดระยะเวลาในการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ก่อนที่จะรายงานให้ที่ประชุม คสช.รับทราบเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้แหล่งที่มาของเงินลงทุนในโครงการต่างๆสามารถพิจารณาได้จากหลายแหล่ง ได้แก่ เงินงบประมาณ วงเงินตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ การลงทุนและแหล่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPPs) และแหล่งเงินทุนอื่นๆ เช่น การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมเงินลงทุน

นอกจากนั้นที่ประชุมฯยังเห็นชอบในหลักการกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมของไทย 4 ด้าน 5 แผนงาน โดยยุทธศาสตร์ 4 ด้านที่กระทรวงคมนาคมเสนอคือ การสร้างเสริมความมั่นคงทางสังคม การสร้างรากฐานความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง และการสร้างโอกาสสำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นประชาคมอาเซียน

จาก 4 ยุทธศาสตร์ได้แปลงมาสู่แผนงาน 5 ด้าน ประกอบไปด้วย การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาการจราจรใน กทม.และปริมณฑล การเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศและเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ และแผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการด้านการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย