ทีซีซีฯยอมถอยเวิ้งนาครเขษม

ทีซีซีฯยอมถอยเวิ้งนาครเขษม

ทีซีซีฯยอมถอยเวิ้งนาครเขษม 2ปีเกมต่อรอง'ทุนใหญ่-ชุมชน'

ผู้ค้าเวิ้งนาครเขษม แจงทีซีซีแลนด์ รับหลักการ ตอบรับข้อเสนอ 287 ผู้ค้าฯ คงวิถีชุมชน-ลดค่าเช่า-ให้ที่พักอาศัย -ให้สิทธิ์ผู้เช่าเดิมเช่าต่อตามจำนวนคูหาเดิม เหลือเพียงต่อรองเข้ารื้อถอนจากต.ค.ปีนี้ เป็น มี.ค.ปีหน้า เล็งลงนามข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเร็วๆ นี้

ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง "ชุมชน" กับ "การพัฒนา" เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก เมื่อการพัฒนา "รุกคืบ" เข้าไปเปลี่ยนแปลง หรือทำลายวิถีชีวิต อัตลักษณ์ จิตวิญญาณ ของชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่

"เวิ้งนาครเขษม" เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความขัดแย้ง โดยพื้นที่ดังกล่าวถือเป็น "ไข่แดง" กลางกรุง ย่านเยาวราช (เจริญนคร ซอย 8 และ 10) ที่ถูก "ทุนใหญ่" อย่าง ทีซีซี แลนด์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าซื้อพื้นที่ 14 ไร่ 91 ตารางวา เพื่อหวังพัฒนาที่ดินให้คุ้มค่าเชิงพาณิชย์ จากวงเงินที่ทุ่มซื้อไปเกือบ 5,000 ล้านบาท หรือตกตารางวาละ 804,800 บาท ถือเป็นราคาต่อตารางวาซื้อที่ "แพงที่สุด" ณ ปีที่โอน

เนื่องจากศักยภาพของพื้นที่ ที่กำลังจะมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินพาดผ่าน ย่อมสร้างมูลค่าพื้นที่ได้มากกว่า "ย่านค้าเก่า" ซึ่งเป็นศูนย์กลางค้าส่งอุปกรณ์ขนาดใหญ่ (Hardware) จำหน่ายเครื่องมือก่อสร้าง อุปกรณ์ดนตรีไทย ดนตรีสากล เฟอร์นิเจอร์ อะไหล่ เครื่องจักร เครื่องครัว แหล่งใหญ่ของไทย ในปัจจุบัน

จนเกิดการ "ต่อรอง" ระหว่างคนในชุมชน (287 ผู้ค้าเวิ้งนาครเขษม) กับ เจ้าของที่คนใหม่ ยาวนาน "เกือบ 2 ปี" ของการเข้าซื้อพื้นที่เมื่อปี 2555 หลังก่อนหน้านี้คนในชุมชนได้ "ลงขัน" เพื่อซื้อที่ดินแข่งเจ้าสัวเจริญ แต่ มูลนิธิราชสกุลบริพัตร ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม สรุปขายให้กับเจ้าสัวเจริญ

ล่าสุด "ชุมชนเข้มแข็ง" สามารถต่อรองจนทุนใหญ่ จนที่สุดยอมอ่อนข้อในหลายข้อเสนอ จากกระแสสังคมกดดันหนัก

"ทุนใหญ่ ยังต้องเงี่ยหูฟังชุมชน"

อีกหนึ่งโมเดลการต่อสู้ของคนในชุมชน เพื่อคงไว้ซึ่งมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ ของ วิถีชีวิต อัตลักษณ์ของชุมชน ที่สั่งสมมาเป็น "ร้อยปี" ให้เดินคู่กันไปกับ "การพัฒนา"

สมศักดิ์ ทรงธรรมากุล ประธานชุมชนเวิ้งนาครเขษม เปิดเผยถึงการเจรจาครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิ.ย.กับทีซีซีฯ ว่า ทางทีซีซีฯ ยอมรับข้อเสนอด้านโมเดลการพัฒนาชุมชนเวิ้งนาครเขษมในหลายข้อ โดยสิ่งที่ทีซีซีฯ เห็นตรงกันกับชุมชน คือ การพัฒนาต้องควบคู่กับการรักษารากเหง้าและจิตวิญญาณ รวมทั้งอาคารเก่าที่มีสถาปัตยกรรมคุณค่า วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตชุมชน ดังนั้นจึงเห็นตรงกันที่จะขยายพื้นที่ให้คนในชุมชนบางส่วนเข้าพักอาศัยในพื้นที่ โดยยอมลดขนาดของโรงแรมบูทิค ลงจากเดิม เพื่อเก็บคุณค่าของสิ่งปลูกสร้างพร้อมกับจิตวิญญาณของสถานที่เดิมให้ได้มากที่สุด

“ทางทีซีซีฯ ยอมกันพื้นที่ให้คนในชุมชนบางส่วนได้พักอาศัย ต่างจากโมเดลเดิมที่ไม่ให้เข้าพักอาศัย เก็บไว้เป็นพื้นที่ขายของเพียงอย่างเดียว" ประธานชุมชนเวิ้งนาครเขษม กล่าว

เขายังกล่าวถึงข้อต่อรองอื่นๆ ที่ชุมชนเสนอไปยัง ทีซีซีฯ โดยเฉพาะการให้สิทธิผู้เช่าเดิม ด้วยการ "ลดค่าเช่า" ลง 40% จากอัตราปกติ เป็นเวลา 20 ปี โดยผลการเจรจาสรุปว่า ทีซีซีฯ ยอมลดราคาให้ 30% จากอัตราปกติ และยังได้ขยายระยะเวลาการเช่าในอัตราค่าเช่าดังกล่าวจาก 20 ปี ไปถึง "รุ่นลูกรุ่นหลาน"

รวมถึงการให้สิทธิ์ผู้ค้าเวิ้งฯ เดิม "เช่าคูหา" เท่าจำนวนคูหาเดิมที่มีอยู่ จากโมเดลเดิมจะให้สิทธิ์เช่าได้เพียง 1 คูหาเท่านั้น

"หากผู้ค้าเวิ้งฯท่านใดเป็นเจ้าของคูหาเดิม 10 คูหาก็ยังคงได้รับสิทธิ์เช่าในพื้นที่ใหม่จำนวน 10 คูหาเท่าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง และยังได้รับสิทธิ์การเช่าไปถึงชั้น 2 ของอาคาร จากเดิมที่ให้เช่าเฉพาะพื้นที่ด้านล่าง เท่านั้น" ประธานชุมชนเวิ้งนาครเขษม ระบุ

ข้อเสนอส่วนใหญ่ที่ทางชุมชนเสนอไปนั้น ได้รับตอบสนองดีใน "เกือบทุกข้อ" โดยกรรมการที่เข้าหารือกับทีซีซีฯ จะแจ้งผลการเจรจาในรายละเอียดให้กับชุมชนทราบต่อไป แต่เท่าที่ชี้แจงชุมชนบางส่วนไป ส่วนใหญ่ก็พอใจกับผลการเจรจา ทั้งเรื่องการอนุรักษ์พื้นที่ ชุมชน จิตวิญญาณ วิถีชุมชน รวมถึงการให้สิทธิ์กับผู้มีรายได้น้อยได้ค้าขาย

ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยที่ทีซีซีฯ รับจะไปดำเนินการ คือ ภายใน 1 เดือนจากนี้จะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่เวิ้งฯ และระหว่างที่เข้าปรับปรุงพื้นที่ในโซน 1 (ตลาดปีระกา) จะจัดหาพื้นที่ใหม่ชั่วคราวให้ผู้ค้าเวิ้งฯที่ได้รับผลกระทบทำการค้าขายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีบางข้อเสนอจากชุมชนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยทางทีซีซีฯ ขอเวลาตัดสินใจ นั่นคือ "ระยะเวลาการย้ายออกจากพื้นที่" ที่ข้อเสนอชุมชนขอเลื่อนระยะเวลาการย้าย เพื่อเปิดทางให้ผู้พัฒนาเข้าไปรื้อ ทุบ และปรับปรุงพื้นที่ในวันที่ 20 มีนาคม 2558 แต่ทางทีซีซีฯ กลับขอให้ร่นระยะเวลากลับขึ้นมาเป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดยทีซีซีฯ ให้เหตุผลว่าได้นัดทีมผู้รับเหมาเข้าพัฒนาโครงการในวัน เวลา ดังกล่าวไว้แล้ว

“ทีซีซีฯ ให้เหตุผลว่าล็อกเวลาผู้รับเหมาไว้แล้ว จึงยังไม่ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ ซึ่งเราจะเรียกผู้ค้าเวิ้งฯ ที่อยู่โซน 1 ซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ไปอยู่พื้นที่อื่นชั่วคราวให้มารับฟังข้อต่อรองด้วยตัวเอง"

วิศิษฐ์ เตชะเกษม ที่ปรึกษาเวิ้งนาครเขษม กล่าวว่า ทางทีซีซีฯ รับข้อเสนอทั้งหมดทั้ง 8 ข้อ โดยทั้งเรื่องหลักและเรื่องย่อย โดยหนึ่งในนั้นมีข้อเสนอที่ให้โอกาสคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาและออกแบบพื้นที่ ซึ่งทางทีซีซีฯรับปาก มีเพียงเงื่อนไขของระยะเวลาที่แตกต่างกันเท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมการจะต้องเข้าหารือกับตัวแทนทีซีซีฯอีกรอบเพื่อหาทางออกของการพัฒนาร่วมกัน โดยที่เวิ้งนาครเขษม ไม่สูญเสียอัตลักษณ์และคุณค่าของวิถีชุมชนเดิมไป

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ในกลุ่มผู้ค้าเวิ้งฯ โซน 1 ที่รวมจำนวนพื้นที่อาคารทั้งหมด 30 คูหา หรือ 30 ตึก ในจำนวนนี้มี 20 กว่ารายที่จะต้องย้ายออก ซึ่งมีทั้งผู้ที่พร้อมและไม่พร้อมแตกต่างกันไป บางรายเป็นผู้ค้ารายย่อย แผงเล็ก ซึ่งยังไม่พร้อมย้ายออก เนื่องจากยังไม่มีที่พักอาศัยใหม่มาทดแทน

“การเจรจาตอนนี้เดินมาถึงระยะเวลาการย้ายออก ที่ยังตกลงกับทีซีซีฯไม่ได้ ทางทีซีซีฯ บอกว่า อาจจะหาวิธีการหรือเงื่อนไขบางอย่างเพื่อให้ชุมชนย้ายออกในเดือนต.ค.นี้ ทางกรรมการเวิ้งฯ ต้องร่วมกันคิดหาทางออกเพื่อผสานผลประโยชน์ให้กับคนในชุมชนมากที่สุด ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่พร้อมย้ายออก แต่เราต้องมองภาพรวมผลประโยชน์ของทุกฝ่ายที่ยอมรับร่วมกันได้"

แหล่งข่าวหนึ่งในผู้ค้า 287 รายในเวิ้งนาครเขษม วิเคราะห์กลยุทธ์แนวทางการเจรจาและการเข้าพัฒนาพื้นที่ของทีซีซีฯ ว่า ถือเป็นเทคนิคการเจรจาที่เล่นเกมต่อรองสังคมกับชุมชนในหลายประการ ตั้งแต่การแยกชุมชนออกเป็น 4 โซน เพื่อให้มีระดับความเดือดร้อนแตกต่างกันตามระยะเวลาการเข้ารื้อถอน ทำให้ชุมชนอาจไม่มีพลังพอในการเจรจาต่อรอง ขณะเดียวกัน ทีซีซีฯ ยังประกาศให้สังคมรับรู้ว่าโครงการนี้จะเลื่อนการพัฒนาออกไป เพื่อลดแรงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม แต่โดยการดำเนินการและเงื่อนไขระยะเวลาเข้ารื้อถอนยังคงเป็นเวลาเดิม

“ชุมชนค่อนข้างหวาดหวั่นและไม่ไว้ใจการกระทำของทีซีซีฯ เพราะการพูดและการกระทำเป็นคนละอย่างกัน ถือว่าเป็นการเล่นเกมต่อสังคมพอสมควร ทำให้คนในชุมชน และสังคมยอมรับ และวางใจ แต่กลับเร่งดำเนินการก่อสร้าง และรื้อถอน จึงค่อนข้างเป็นห่วงถึงความจริงใจในการเข้าดำเนินการของทีซีซีฯ ในภายภาคหน้า แม้จะประกาศยึดหลักการพัฒนาควบคู่กับวิถีชุมชน หากไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างคนในชุมชนเวิ้งฯกับทีซีซีฯ”

ปัญจิน ธนารักษ์โชค เจ้าของ บริษัท นิวย่งเส็ง (1966) จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ของผู้จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือ ก่อสร้างเครื่องปั๊มน้ำ กล่าวว่า เขาต้องการตั้งคำถามกลับไปที่จุดเดิมว่า การไปเจรจาถึงผลประโยชน์เช่นนี้นั่นแสดงว่าชุมชนเวิ้งฯต้องยอมรับในโมเดลธุรกิจ ที่จะสร้างพลาซ่า หรือ ชอปปิง เซ็นเตอร์ ในรูปแบบที่มีแต่หน้ากากตึกสไตล์โคโลเนียลครอบตึกเดิม และรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไปหรือไม่

“ผมไม่มีปัญหากับใครอยู่แล้ว ผมเข้าใจความเปลี่ยนแปลง และสภาพธุรกิจในอนาคต ย้ายก็ย้ายหากรูปแบบเปลี่ยนแปลงไป ผมอยู่ไม่ได้ผมก็ปล่อยเช่าให้กับคนอื่น แต่สิ่งที่ผมติดใจคือการอธิบายให้ชัดและพูดความจริงให้กับคนในเวิ้งฯ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าๆ ที่ไม่เข้าใจภาษาธุรกิจสมัยใหม่"