"Learn Education"ปลดล็อก! การศึกษาด้วย 'นวัตกรรม'

"Learn Education"ปลดล็อก! การศึกษาด้วย 'นวัตกรรม'

ครูไม่พอ!ต้องรับมือกับเด็กจำนวนมาก ทำหน้าที่แค่สอนแต่แทบไม่ได้ลงไปแก้ปัญหาเด็กได้เป็นรายคน ที่มาของ 'Learn Education'นวัตกรรมการศึกษายุคใหม

“ฟินแลนด์ มีครูในอัตราส่วน 1 ต่อ 6 นั่นคือ ครูหนึ่งคนต่อนักเรียน 6-7 คน ขณะที่บ้านเรา ตัวเลขสถิติคือ 1 ต่อกว่า 20 แต่ลองไปดูตามโรงเรียนจริงๆ จะพบว่า อยู่ที่ 1 ต่อ 40-50 ด้วยซ้ำ พอเป็นแบบนี้ คุณครูท่านหนึ่งจึงไม่สามารถมอบสิ่งที่มีอยู่ในตัวท่านให้เด็กทุกคนได้อย่างทั่วถึง ครูเลยทำหน้าที่เป็นแค่คนสอน คนเลคเชอร์ แต่น้อยมากที่จะดูแลชีวิต แนะนำเส้นทาง หรือ แก้ปัญหาเด็กเป็นรายบุคคลได้”

“สุธี อัสววิมล” กรรมการผู้จัดการ และ“ธานินทร์ ทิมทอง” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ประกอบการด้านการศึกษา สะท้อนปัญหาใหญ่ ที่เกิดขึ้น และฝังลึกในระบบการศึกษาของไทยมาช้านาน

“พวกเราเชื่อว่า การศึกษาสำคัญที่สุด”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เพื่อนสนิทอดีตวิศวกรอนาคตไกล อย่าง “สุธี” และ “ธานินทร์” ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำธุรกิจด้านการศึกษา โดยเริ่มจากก่อตั้ง สถาบันกวดวิชาออนดีมานด์ ขึ้น ในปี พ.ศ. 2548 จากความตั้งใจที่จะใช้การศึกษาแก้ปัญหาของประเทศ 3 ปี ต่อมา จดทะเบียน บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาการศึกษาของประเทศ โดยมีทั้งโรงเรียนกวดวิชา ผลิตตำราเรียน สื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย

จนประมาณ 3 ปีก่อน ก็ขยายสู่ “Learn Education” นวัตกรรมการศึกษายุคใหม่ของเด็กไทย ที่นำระบบคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือในการช่วยสอน มีโปรแกรมที่รองรับเนื้อหาตามหลักสูตรจากส่วนกลาง สามารถย้อนเรียนเองได้ ปรับความเร็วได้ตามความสนใจของผู้เรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนให้ดียิ่งขึ้น ช่วยให้คุณครูมีเวลาดูแลนักเรียนเป็นรายบุคคลได้มากขึ้น ตอบโจทย์ขาดแคลนครู ทั้งยังปลุกจิตวิญญาณครูยุคนี้ขึ้นมาได้

“Learn Education” ดำเนินการในรูปแบบกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) และเป็นหนึ่งในกิจการเพื่อสังคม ที่เพิ่งคว้ารางวัล SE Awards สาขา “เปลี่ยน” (Change) ในปีนี้มาสดๆ ร้อน รับเงินรางวัล 1 ล้านบาท โดยการจัดของสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“กว่าสองปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เราตั้งไข่ เรียนรู้ ขลุกอยู่กับมัน ล้มลุกคลุกคลานมาก็เยอะ เครียดบ้าง เฟลบ้าง เป็นธรรมชาติของการรันกิจการ แต่ทำมาจนวันนี้ สิ่งที่ออกดอกออกผลให้เห็น ก็คือ เราเริ่มมีพอร์ทงานเสนอลูกค้าที่มีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง และสร้างผลกระทบในเชิงประโยชน์สู่สังคมได้จริง”

พวกเขาบอกผลการดำเนินงานตลอดกว่าสองปีของรันกิจการเพื่อสังคม ที่มีแนวคิดต่างไปจากการทำธุรกิจ คือ มีเป้าหมายหลักในการแก้ปัญหาด้านการศึกษาของไทย ไม่ใช่ผลกำไรในเชิงธุรกิจ แต่เลือกใช้โมเดลทางธุรกิจ เพื่อทำให้กิจการอยู่ได้ และสามารถสร้างประโยชน์สู่สังคมได้อย่างยั่งยืน

โมเดลในการหารายได้ของ Learn Education คือ ขายโซลูชั่นให้กับสถานศึกษาที่มีกำลังซื้อ แล้วนำกำไรบางส่วนมาแบ่งให้กลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อ เรียกว่า แม้เป็นโรงเรียนยากจน ในพื้นที่ห่างไกล ก็ต้องมีโอกาสได้เข้าถึงนวัตกรรมเพื่อการศึกษา ซึ่งลูกค้าหลักๆ คือ โรงเรียน ที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ รวมถึงองค์กรต่างๆ ที่ต้องการทำโครงการซีเอสอาร์ ให้เข้าถึงการศึกษาของเด็กไทย ก็สามารถมาร่วมมือกับพวกเขาได้

ทั้งสองคนเชื่อว่า ถ้ามีโมเดลทางธุรกิจที่ดี กิจการที่ตั้งขึ้นก็จะดำรงอยู่ได้ นั่นคือ การทำให้ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในบริษัทที่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี โรงเรียนและเด็กนักเรียนได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมที่สรรค์สร้างขึ้น สังคมในภาพรวมดีขึ้น ขณะที่พวกเขาก็ยังมีรายได้มาหล่อเลี้ยงองค์กรให้กิจการเดินหน้าไปได้ไม่สะดุด

“การทำเรื่องการศึกษา เราจะคิดแบบการค้าทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะทำให้ตัดสินใจลำบาก เวลาไปเจอปัญหาหนักๆ จะหาหลักยึดไม่ได้ แต่ถ้าทำเป็นกิจการเพื่อสังคม เรายังมีหลักยึดว่า มันเป็นประโยชน์ ถึงแม้จะไม่ดีบ้างในบางจังหวะ แต่ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน ขอแค่อดทนทำไป ก็คงสำเร็จได้ในวันหนึ่ง”

แผนการในระยะต่อไป คือการทำให้โซลูชั่นของพวกเขา สามารถแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศในสเกลที่ใหญ่ขึ้น พร้อมสร้างเครือข่ายครูให้เข้มแข็งขึ้น โดยเชื่อว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดกว่า 2 ปี ทำให้มีความพร้อมที่จะขยายผลสู่สังคมในวงกว้างต่อไปได้

นับจากวันแรกที่ฉุกคิดเรื่องความสำคัญของการศึกษา และเลือกหันหน้ามาคุยกัน ทั้งสองคนตัดสินใจหันหลังให้งานประจำ ที่ยังมั่นคง รายได้ดี และยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในเส้นทางนั้น “ธานินทร์” ให้เหตุของการตัดสินใจในครั้งนั้นว่า..

“ผมจะเสียดายมากกว่า ถ้าไม่ลงมาทำตรงนี้ในตอนที่ยังมีโอกาส สมมติถ้าผมอายุสัก 60 ปี ได้ขึ้นเป็นผู้บริหารเบอร์หนึ่งขององค์กร แต่กลับต้องมานึกย้อนเสียดายว่า ทำไมไม่ออกมาทำตรงนี้ และทำมันอย่างเต็มที่ เพราะการศึกษาทำให้ชีวิตผมดีขึ้น ถ้าเพียงได้ส่งผ่านชีวิตที่ดีขึ้นนี้ให้กับคนอื่นๆ บ้าง ก็จะส่งผลให้สังคมโดยรวมดีขึ้นได้” เขาสะท้อนความคิด

ขณะที่ “สุธี” บอกเราว่า ยังเชื่อในโมเดล “Social Enterprise” ว่าจะสามารถตอบโจทย์สังคม และตอบโจทย์ตัวตนของพวกเขา โดยเพียงทุ่มเทและใช้เวลาไปกับมันเต็มที่ ก็จะประสบความสำเร็จได้ในเส้นทางนี้..

“ผมมีความเชื่อว่า การเป็น เอ็นจีโอ หรือไปขอทุนจากต่างประเทศ ไม่เวิร์ค เพราะไม่สามารถหารายได้เลี้ยงตัวเองได้ และไม่สามารถกันรายได้มาใช้ในการวิจัยพัฒนา สิ่งที่ทำก็จะไม่ยั่งยืนและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในวงกว้าง ต่างจากการเป็น SE ซี่งสามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่า ทุกวันนี้จะเห็นว่า มีคนที่อยากทำงานซึ่งมีคุณค่าเยอะขึ้น โดยไม่ได้ต้องการร่ำรวยมากมาย ขอแค่พออยู่ได้ และได้ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ ก็เหมือนกับพวกผมตอนนี้”

สำหรับใครอีกหลายคน ที่ยังอยู่ในทางแยกของชีวิต กำลังค้นหาตัวเอง และอยากเลือกมาทำอะไรดีๆ แบบพวกเขา ทั้งสองคนฝากข้อแนะนำว่า ต้นทุนที่สะสมในตัวนั้นสำคัญที่สุด และ “ต้นทุนทางใจ” สำคัญกว่าต้นทุนทางเงิน

“สิ่งที่ทุกคนมีอยู่ในตัว ตลอดจนสิ่งดีๆ ที่เคยทำให้คนอื่น ก็คือ “ต้นทุน” ที่สั่งสมมา และต้นทุนนี้ มีค่ามากกว่าเป็นร้อยเท่า เมื่อเทียบกับต้นทุนที่เป็นเงินซึ่งพ่อแม่ให้มา ในมุมมองของพวกผม ต้นทุน “จิตใจ” ที่อยู่ในตัวเราเป็นต้นทุนที่ใหญ่ที่สุด แม้ไม่มีเงิน แต่ทุกสิ่งจะหมุนไปได้ด้วยใจของเรา และความสามารถของใจจะทำให้เราก้าวข้ามเรื่องหนักๆ ไปได้”

ทั้งสองคนบอกในตอนท้ายว่า การทำกิจการเพื่อสังคม เป็นการเปลี่ยนความคิด จากการดึงแต่ผลประโยชน์เข้าหาตัวเอง มาเป็นรู้จักให้กับสังคมรอบข้างด้วย ทว่าต้องเป็นการให้อย่าง “ฉลาด” คือ รู้จักทั้งให้และรับ

แล้วกิจการน้ำดีที่ทำ ก็จะขับเคลื่อนไปได้ และสามารถสร้างคุณค่าสู่สังคมได้อย่างยั่งยืน