ฟื้น "หัวโต" โชว์แสนสุข

ฟื้น "หัวโต" โชว์แสนสุข

“หัวโตกลองยาว” เป็นอีกหนึ่งการละเล่นพื้นบ้านที่สร้างความสุขให้กับคนไทยสมัยก่อน

ซึ่งจะมีขึ้นในงานประเพณีต่างๆ เช่น งานบวช งานบุญ หรืองานแต่ง เพื่อให้งานนั้นๆ เกิดความคึกคักและรื่นเริง โดยการละเล่นนี้จะเป็นการเดินขบวนแห่ไปพร้อมกับเสียงกลองยาวที่ตีคู่จังหวะการเดินสร้างความครื้นเครงระหว่างการเดินขบวน อีกทั้งยังมีการใส่ “หัวโต” ที่เป็นหน้ากากขนาดใหญ่คล้ายกับ “แป๊ะยิ้ม” ของชาวจีน แต่จะมีขนาดและหน้าตาที่แตกต่างจากแป๊ะยิ้มโดยสิ้นเชิง

เมื่อถูกลืมไปจากสังคมไทยนานเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี การละเล่นพื้นบ้านนี้จึงถูกนำกลับมาฟื้นฟูและอนุรักษ์อีกครั้ง โดยมี ไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ นายอำเภอประจำอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานคณะกรรมการจัดงาน “เทศกาล หัวโตอู่ทอง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2557” และมี ร้อยตรีสุพีร์พัฒน์ จองพานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดงาน โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มี ธเนศ วรศรัณย์ รองประธานสภาฯ นำขบวน งานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 - 25 พฤษภาคม 2557 เพื่อสืบสานประเพณีการแห่หัวโตกลองยาวที่เป็นการละเล่นของคนไทยภาคกลางในสมัยอดีตให้กลับคืนสู่สังคมไทยอีกครั้ง

นายอำเภอประจำอำเภออู่ทอง กล่าวว่า “การจัดงานในปีนี้รูปแบบการจัดงานจะถูกยกระดับขึ้น เนื่องจากจะมีการชุมนุมหัวโตมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยจะมีขบวนแห่ทั้งหมด 22 ขบวน ซึ่งจะเป็นขบวนแห่หัวโตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”

จุดเด่นของการแห่หัวโตกลองยาวคือ “การใส่หัวโต” เนื่องจากขนาดและความใหญ่ของหัวโตจะทำให้ขบวนแห่ดูมีสีสัน พิสิทธิ์ ลีรัตนนุรัตน์ (อาจารย์พลอย อู่ทอง ) ศิลปินผู้สืบสานและฟื้นฟูการละเล่นพื้นบ้าน หรือผู้สร้างหัวโต กล่าวว่า “เอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นและสร้างความฮือฮา ดึงดูดจุดสนใจในขบวนแห่คือหัวโต ทั้งนี้ในงานประกอบไปด้วยขบวนแห่หัวโตที่หลากหลาย ได้แก่ หัวโตรูปคนโบราณสมัยทวารวดี, หัวโตดาราตลกพื้นบ้าน, หัวโตรูปคนหัวล้าน, หัวโตตัวการ์ตูน, หัวโตล้อเลียนนักการเมือง, หัวโตรูปลูกปัดสมัยทวารวดี และหัวโตรูป 12 นักษัตร รวมทั้งหมดกว่า 187 หัว ประกอบกับดนตรีพื้นบ้านบรรเลงระหว่างการเดินขบวน โดยจะเป็นขบวนแห่หัวโตกลองยาวที่จะสร้างความอลังการและความประทับใจให้แก่แขกผู้มาเยือนอย่างแน่นอน”

การละเล่นพื้นบ้านประเภทนี้ไม่มีการบันทึกว่ามีมาตั้งแต่สมัยใด แต่เชื่อกันว่าได้แบบอย่างการเล่นกลองยาวมาจากชาวพม่าในสมัยกรุงธนบุรีที่ไทยกับพม่ากำลังทำสงครามกัน ซึ่งขณะหยุดพักการรบนั้น ทหารพม่าจะเล่นกลองยาวกันอย่างสนุกสนานเพื่อเป็นการผ่อนคลาย เมื่อชาวไทยได้เห็นจึงนำมาเป็นแบบอย่างในการละเล่นพื้นบ้านของไทยตามที่เห็นในขบวนแห่พิธีต่างๆ เช่น ขบวนแห่นาค หรือขบวนแห่หัวโตกลองยาว เป็นต้น

ศิลปินท่านเดิมกล่าวต่อว่า เมื่อสมัยก่อนการผลิตหัวโตนั้นอาจไม่ง่ายมากนัก ชาวบ้านที่นี่จะใช้การสานไม้ไผ่โดยนำมาสานขึ้นเป็นลักษณะโครงสร้างของหัวคน สำหรับขนาดก็แล้วแต่ความต้องการของผู้สานว่าต้องการความใหญ่ของขนาดหัวโตเท่าใด หลังจากนั้นจะนำกระดาษหนังสือพิมพ์มาแปะให้ทั่ว เพื่อทำให้เป็นโครงสร้างลักษณะใบหน้าของคนโดยไม่มีการตกแต่งใบหน้าแต่อย่างใด

เนื่องจากหัวโตแบบโบราณสานด้วยไม้อาจทำให้มีน้ำหนักมากสร้างความลำบากแก่ผู้สวมใส่ พิสิทธิ์ จึงได้คิดปรับปรุงและพัฒนารูปแบบหัวโตให้มีรูปแบบสวยงาม ใช้งานง่ายและมีความคงทน เมื่อสวมใส่จะไม่ร้อนอบอ้าว โดยใช้แผ่นโฟมมาตัดเป็นโครงรูปร่างหน้าตา แล้วใช้กระดาษหนังสือพิมพ์มาปิดทับ ใช้เวลาในการทำหนึ่งหัวต่อหนึ่งวัน ลักษณะของหัวโตจะมีน้ำหนักเบา ด้านบนของหัวจะเจาะช่องระบายอากาศช่วยในการหายใจ รวมทั้งที่หัวจะมีการแต่งแต้มใบหน้าให้มีความสวยงามสร้างแรงดึงดูดให้กับขบวนแห่ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น

กาลเวลาเปลี่ยนไป ยุคสมัยก็เปลี่ยนตาม การละเล่นของไทยในอดีตจึงพบเห็นได้ยากขึ้นในปัจจุบัน “การแห่ขบวนหัวโตกลองยาว" ของอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จึงถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่จะช่วยอนุรักษ์ประเพณีการละเล่นพื้นบ้านของไทยให้กลับมาเป็นที่นิยมของสังคมไทยและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยสืบไป