ถึงเวลา...บำบัดตัวเอง ศุภลักษณ์ เข็มทอง

ถึงเวลา...บำบัดตัวเอง

ศุภลักษณ์  เข็มทอง

กรณีนี้ "ยา" อาจไม่ใช่คำตอบ นักกิจกรรมบำบัดใช้วิธีค้นหาศักยภาพที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย จากนั้นฟื้นฟู เพื่อให้เขาใช้ชีวิตได้...

เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่นักกิจกรรมบำบัด ช่วยบำบัดคนมามากมาย ไม่ว่าผู้ป่วยเป็นอัมพาต สมองเสื่อม โรคเครียด ออทิสติก หย่อนสมรรถภาพทางร่างกาย ฯลฯ แต่เมื่อเขาป่วยเป็นอัมพาต สิ่งที่เขาสอนคนอื่นนำมาใช้กับตัวเองได้แค่ไหน

และนี่คือบทเรียนสำคัญของ อาจารย์ดร.ศุภลักษณ์ เข็มทอง ประธานหลักสูตรกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ก่อตั้งโครงการ หมออาสา...มาหานะเธอ และยังเป็นวิทยากรอบรมเรื่องกิจกรรมบำบัด มีคนไข้มากมายที่ต้องให้คำปรึกษาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่เมื่อช่วงหนึ่งเขาป่วยหนัก เขามีตัวช่วยอย่างไร

อาจารย์ที่ร่ำเรียนกิจกรรมปริญญาโทและเอกที่ออสเตรเลีย ด้านกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางด้านจิตสังคม คิด เห็น ต่างจากจิตแพทย์และนักจิตบำบัดในบางมุม ถ้านักจิตวิทยาบอกว่า ต้องให้ยาผู้ป่วยทางจิต นักกิจกรรมบำบัดคนนี้บอกว่า บางกรณีไม่จำเป็น

เขามีวิธีการอย่างไร ทำให้เด็กสมองพิการ ออทิสติก สามารถเรียนรู้กิจวัตรประจำวันด้วยตัวเอง หรือคนเครียดกินยา เลิกกินยาได้อย่างไร

หากมิติความเครียดมีคำอธิบายที่ลึกกว่าที่เราได้ยินได้ฟัง เขาจะตอบเรื่องนี้อย่างไร ...

อะไรดึงดูดใจให้อาจารย์อยากเรียนด้านนี้

ตอนเด็กๆ ช่วงประถม น้องชายคนเล็กป่วย หมาตัวเล็กๆ กัดเขา สุนัขไม่ได้เป็นโรคอะไร แต่น้องผมช็อค เพราะหมอฉีดยาโด๊ปผิด น้องตายด้วยมือหมอ เกิดอะไรขึ้นทางการแพทย์สาธารณสุข และต่อมาคุณตาผม ซึ่งเป็นโรคสุราเรื้อรังอยู่โรงพยาบาลศรีธัญญา ผมไปเยี่ยมเห็นภาพหมอฉีดยานอนหลับอยู่นั่นแหละ คนดูแลคนไข้ก็ใช้กำลัง คุณตาทรมานมาก เมื่อลับมาอยู่บ้านที่อยุธยา สุขภาพจิตคุณตาดีกว่าอยู่โรงพยาบาล ผมก็เลยอยากเรียนอะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อพัฒนาปรับปรุงเรื่องเหล่านี้

แล้วทำไมไม่เลือกเรียนแพทย์

ผมไม่ชอบอาชีพหมอ เพราะเป็นอาชีพที่ใช้เหตุผลมากเกินไป ตั้งแต่เด็กๆ ผมก็เป็นภูมิแพ้เติบโตมาจากการฉีดยาทุกอาทิตย์ ก็เลยอยากเรียนรู้เกี่ยวกับยา อยากเป็นเภสัชกร แต่ผมเลือกกิจกรรมบำบัด อันดับสองที่คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้เรียนด้านนี้ เพราะรู้สึกว่าน่าสนใจ ตอนนั้นผมเรียนเป็นรุ่นที่ 13 ตอนที่รุ่นพี่ที่เรียนจบแล้วเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่อเมริกา ผมก็ได้รู้ว่า กิจกรรมบำบัดที่นั่นล้ำหน้ากว่าในเมืองไทย 30 ปี

ผมก็ได้เรียนทางการแพทย์ แต่ไม่ใช้ยา โดยออกแบบกิจกรรม ฝึกคนๆ หนึ่งให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ ทักษะชีวิตแบบนี้หมอก็ทำไม่ได้ เด็กสมองพิการ ช่วยตัวเองไม่ได้ น้ำลายไหลยืด ปากเกร็ง มือไม้เกร็งจับช้อนไม่ได้ นักกิจกรรมบำบัดฝึก 6 เดือนให้เด็กนั่งบนเก้าอี้ กินอาหารเองได้ ฝึกไม่ให้น้ำลายไหล กระตุ้นริมฝีปาก บำบัดด้วยการเคลื่อนไหวทางระบบประสาท ซึ่งเด็กสมองพิการกลุ่มนี้สามารถสอนให้จับช้อนได้ เรียนรู้ซ้ำๆ เด็กสมองพิการก็ทำได้ แม้จะกินหก ก็กินไป

ขณะที่สังคมไทยเชื่อว่า เด็กสมองพิการฝึกฝนไม่ได้ แต่นักกิจกรรมบำบัดบอกว่า ฝึกฝนได้ ?

ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เราเชื่อว่า ใครที่พิการหรือผิดจากคนทั่วไป เราต้องดูแลพวกเขาอย่างเต็มที่จนวาระสุดท้าย และไม่ได้คิดจะฝึกฝน ถ้าฝึก เด็กก็ทำได้ และทำได้ดี ราต้องตรวจให้ชัดว่า เราจะฝึกอะไรให้เขาได้บ้าง ฝึกระบบความคิดหรือกล้ามเนื้อ อย่างเด็กสมองพิการอายุก่อน 6 เดือน ถ้าเรียนรู้การเคลื่อนไหว หัดกินนม จับนั่ง ถ้าคนรู้ตรงนี้สมองจะพัฒนาได้ แต่มีความเชื่อผิดๆ แม้กระทั่งแพทย์ ถ้าเด็กเกิดก่อนกำหนด สมองพิการก็เอาเข้าตู้อบเลย ให้อาหารทางสายยาง เพื่อไม่ให้เด็กขาดอาหาร แต่หารู้ไม่ว่า เด็กเริ่มเครียด ต่อต้านเวลาป้อนนม ซึ่งเราเจอกรณีแบบนี้เยอะมาก พอออกจากตู้อบก็ไม่มีการฟื้นฟู ไม่ทำกิจกรรมบำบัด ให้แม่นำกลับบ้านเลย พอแม่เริ่มให้นม เด็กก็ปฎิเสธ เพราะเครียดและติดการให้อาหารทางสายยาง จริงๆ แล้วเด็กไม่ได้พัฒนาเลย ก็มาปรึกษาผม

คุณเรียนมาทางด้านกิจกรรมบำบัด เพื่อฟื้นฟูคนที่มีความบกพร่องทางจิตสังคม เรื่องนี้ต้องแก้ไขอย่างไร

ผมไปเรียนที่ออสเตรเลีย ผู้มีความบกพร่องทางจิตสังคม ซึ่งน่าสนใจมาก ไม่ว่าวัยเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เรื่องจิตหรือความคิดบกพร่องได้หลายระดับ ตอนไปเรียน ผมก็คิดว่า น่าจะได้เทคนิคใหม่ ๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เหมือนไปเรียนระบบการคิดใหม่

ที่ออสเตรเลียสร้างโปรแกรมดูแลเด็กที่มีอาการบกพร่องเหมือนกัน อย่างเด็กออทิสติกในประเทศเขา ต้องฝึกตั้งแต่ตัวเด็ก แม่และครู นำกิจกรรมบำบัดหลายแนวคิดมาผสมผสานใช้ แต่ในเมืองไทยสอนไม่กี่อย่าง ซึ่งแนวคิดที่จะนำมาพัฒนาเด็กออทิสติก อาจไม่ใช่กิจกรรมบำบัดอย่างเดียว เราต้องนำมาเรียงระบบใหม่ อย่างโปรแกรมที่เรียน ไม่ได้ดูว่า เด็กมีปัญหาอะไร แต่ดูว่า เด็กมีความสามารถอะไรเหลืออยู่ ก็แบ่งเกรดตามความสามารถ ผมเอาแนวทางนี้มาใช้เป็นคู่มือทักษะชีวิตสำหรับคนบกพร่อง ถ้าออกคำสั่ง แล้วไม่เรียนรู้ พ่อแม่ต้องทำท่าทางให้ดู ถ้าทำไม่ได้ ก็จับให้ทำ ผมนำมาใช้ในเมืองไทย ก็ใช้ได้จริง แต่ต้องมองเป็นระบบ

นอกจากที่กล่าวมา ยังมีคนที่มีความบกพร่องด้านอื่นอีกไหม

สมองเสื่อมก็ต้องฝึกฝน กลุ่มวัยรุ่นที่กลัวการกลืน บางคนกินอาหาร แล้วสำลักอาหาร ไม่กินอีกเลย หรือกลุ่มวัยรุ่นซึมเศร้า กลุ่มวัยรุ่นที่เพิ่งทำงานมีอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ผู้ใหญ่ที่มีความเครียด มีความล้าคือ เหนื่อย ไม่อยากทำอะไร มีสามระดับคือ คิดมากจนล้า ก็มีผลทางจิตใจเป็นความล้าทางจิต หรือไม่ทำอะไร ก็เป็นความล้าทางกาย แต่พอมีความล้ามากๆ ก็เป็นต้นเหตุความเครียด

ความเครียดมีสาเหตุที่ลึกซึ้งกว่าที่หลายคนเข้าใจอย่างไร?

ปกติคนเราเข้าใจว่า ความเครียดคือการจัดการนี่นั่นเยอะ แล้วเกิดเครียด แต่เราลืมเรื่องความล้าจากการใช้ชีวิต เรียนหนังสือก็ล้าได้ เด็กพิการก็ล้าได้ ตอนที่ผมเรียนปริญญาเอก อาจารย์ที่สอนผม ก็ทำวิจัยเรื่องความล้าโดยเฉพาะ เขาเรียกว่า ความล้าหลังโรคเรื้อรัง

ความล้ากับความเบื่อหน่ายเหมือนกันไหม

เกี่ยวโยงกัน ยกตัวอย่าง มีคนไข้ปรึกษาว่า “ไม่อยากทำงานแล้ว งานมันหนักมากเลย” แต่ก็ฝืนทำไปเรื่อยๆ โดยคิดลบ "ไม่ทำก็ไม่มีเงิน" จากความล้าทางความคิด เปลี่ยนเป็นความล้าทางจิตใจ พอไปเรื่อยๆ ร่างกายก็รับไม่ไหว เพราะจิตใจไม่มีความสุข ก็อยากหยุดงานไปเที่ยว ไปเที่ยวก็ไม่ได้ตอบโจทย์ลดความล้า วงจรก็จะกลับมาอีก เกิดความล้าทางร่างกายสะสมไว้เรื่อยๆ คราวนี้ร่างกายเริ่มแปรปรวนกลายเป็นความเครียด ทุกระบบเปลี่ยนแปลงหมด ถ้าจัดการความเครียดไม่ได้ ก็ให้ลองเครียดเชิงบวก ถ้าเครียดเชิงลบไปเรื่อยๆ เป็นอีกแบบ

แล้วเครียดเชิงบวกเป็นอย่างไร

ต้องเปลี่ยนทัศนะใหม่ว่า “ทุกวันจันทร์ฉันอยากไปทำงาน ทำงานก็ได้ความรู้” ก็คือ ปรับความคิด

ส่วนใหญ่คนที่มีความบกพร่องทางจิต ก็ไปปรึกษาจิตแพทย์ ?

ไม่เสมอไป คนที่มาปรึกษา ส่วนใหญ่มีอาการแล้ว ยกตัวอย่าง พูดอะไรซ้ำๆ อารมณ์แปรปรวน โวยวาย หงุดหงิดง่าย ถ้ามีอาการช่วง 1-3 เดือนแรก ก็รักษาได้เร็วหน่อย แต่หลังจากสามเดือน เริ่มคุ้มตัวเองไม่อยู่ มือไม้สั่น ตาลอย เพ้อเจ้อ บางคนเห็นภาพหลอน แต่ปัจจุบันจิตแพทย์ไม่ค่อยรู้กระบวนการฟื้นฟู ให้แต่ยา นักจิตบำบัดก็ให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ เวลาปรึกษาจิตแพทย์ เขาจะมองว่า คนไข้รายนั้นคิดเองได้ไหม ถ้าไม่ได้ ก็ให้ยาและปฎิบัติแบบนั่นแบบนี้ แต่ไม่ได้แก้ที่การกระทำ

แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ?

มีกรณีหนึ่ง คนไข้นอนไม่หลับ จิตแพทย์ก็ให้ยานอนหลับ แก้ตามอาการ ถ้าต้องทำจิตบำบัด ก็ใช้ทฤษฎีทางจิตแบบเก่าๆ คือบอกให้หลับตานะ ย้อนไปดูความขัดแย้งในวัยเด็ก ผมคิดว่า ถ้าจิตแพทย์เรียนรู้การฟื้นฟูอีกแบบ เขาจะให้คนไข้วิเคราะห์ตัวเอง เปลี่ยนความคิดความเข้าใจใหม่ ซึ่งจิตแพทย์ไม่ค่อยใช้ จึงส่งเคสมาปรึกษาผม ซึ่งผมมองว่า ถ้าคนไข้มีศักยภาพ มีความเชื่อดีๆ เหลืออยู่ 3-6 สัปดาห์ก็รักษาได้

เมื่อจิตแพทย์ส่งมาให้นักกิจกรรมบำบัดช่วยเหลือ คุณทำอย่างไร

ก่อนอื่นต้องดูความสามารถที่เหลืออยู่ ซึ่งวิชาชีพอื่นๆ ทางการแพทย์ไม่ดูตรงนี้ ดูแค่ปัญหาคนไข้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผมจะดูว่า เขายังดูแลตัวเองได้ไหม สามารถศึกษาหาความรู้ได้ไหม ทำงานได้ไหม พักผ่อนนอนหลับได้ไหม เข้าสังคมได้ไหม ถ้าไม่ได้ ก็ค่อยๆ เรียงลำดับฝึกฝนใหม่ในแต่ละด้าน ซึ่งจะมีมาตรฐานการประเมิน

กรณีไหนที่จิตแพทย์ส่งคนไข้มาให้อาจารย์ดูแล

ถ้าเขารู้ว่า นักกิจกรรมบำบัดท่านนี้ สามารถให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพจิตสังคมได้ หรือคนไข้รู้ก็มาหานักกิจกรรมบำบัดได้เลย

นักกิจกรรมบำบัดจำเป็นต่อสังคมแค่ไหน

ในประเทศพัฒนาแล้ว กิจกรรมบำบัดจำเป็นมาก แต่ต้องฝึกนักกิจกรรมบำบัดให้สามารถใช้เทคนิคได้ทุกอย่าง และลองกับตัวเอง และนักกิจกรรมบำบัดต้องรู้เรื่องเหล่านี้ คือ 1. อาจใช้ตัวเองบำบัดเป็นตัวอย่าง หรือให้คนไข้ใช้ส่วนที่ดีๆ บำบัดตัวเอง 2. กิจกรรมรอบๆ ตัว ให้วิเคราะห์และสังเคราะห์ วิเคราะห์ว่าทำได้กี่ขั้นตอน และสังเคราะห์คือ ออกแบบขั้นตอนใหม่ อย่างคนที่ใช้มือไม้ไม่ได้ ต้องมาฝึกการกลืนอาหาร การแต่งตัว หรือคนป่วยทางจิตไม่ดูแลตัวเอง กิจกรรมบำบัดต้องฝึกให้เขาดูแลตัวเองได้ ซึ่งฝึกต่างจากพยาบาลที่ทำให้ แต่กิจกรรมบำบัด คุณต้องทำเอง 3. ต้องมีกระบวนการเรียนรู้และการสอน 4.ต้องปรับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักกิจกรรมบำบัดไม่ค่อยทำ เพราะคิดว่า สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องทางกายภาพ จริงๆ แล้วสิ่งแวดล้อมคือ ความคิด และนี่แหละที่ทำให้ผมทำโครงการ”หมออาสา มาหานะเธอ” คือ การป้อนอาหารที่คลินิกไม่เหมือนการป้อนอาหารที่บ้าน

เป็นโครงการที่ต้องเดินทางไปทำกิจกรรมบำบัดที่บ้านคนไข้ ?

โครงการนี้ทำมาสองปี ตอนนี้ผมถ่ายทอดให้คนอื่นทำต่อ ถ้าจะปรับเรื่องการกิน ผมต้องไปดูว่า เด็กที่มีปัญหา เวลาอยู่บ้านกินข้าวอย่างไร พ่อแม่เด็กที่ป่วยนั่งกินข้าวอย่างไร ต้องไปปรับความคิดว่า นั่งแบบไหนลูกจะได้เรียนรู้ ผมต้องทำให้ดู แต่ละครั้งที่ไปต้องใช้เวลาสี่ชั่วโมง ถ้าไม่ทำตรงนี้ ทัศนคติไม่เปลี่ยน ผมก็อาสาไปด้วยตัวเอง เพราะผมอยากรู้ว่า การปรับสิ่งแวดล้อม มันใช้ได้ไหม

เห็นบอกว่า บางครอบครัว พ่อแม่กระตือรือร้นในการรักษาลูก ก็เลยทำให้ลูกพัฒนาการดีขึ้น?

บางกรณีที่ผมดูแล ผมบอกไปว่า ผมจะดูแลให้คำปรึกษาแนะนำการดูแลลูกของเขาจนโต โดยผมไม่คิดเงิน แม้ผมจะแอบเอามาที่คลีนิคบ้าง เพราะผมได้ความรู้เพื่อนำไปถ่ายทอดให้คนอื่นอ่านในหนังสือ ยกตัวอย่าง เด็กผิวเผือก สายตาเลือนรางคนหนึ่ง โดนแสงไมได้เลย พ่อแม่เอาลูกมาตอนอายุ 3 เดือน ผมอยากให้เขาถ่ายวีดีโอการพัฒนาการของลูกเขาที่บ้านด้วย ถ้าทำได้ 6 อาทิตย์ ผมจะไปเยี่ยมที่บ้าน พ่อแม่กระตือรือร้น ทำให้เด็กดีขึ้นเรื่อยๆ จากเด็กกลัวแสง พัฒนาจนทนต่อแสงได้ จากเด็กไม่กินข้าว ร้องไห้ตลอด ก็เริ่มกินข้าว เดินและทรงตัวได้ ผมไปดูที่บ้าน ปรับแสงบางส่วนในบ้าน จนเด็กเริ่มนอนหลับได้ดี เริ่มเล่นและพูด ปัจจุบันเด็กเข้าเรียนกับเด็กปกติได้ กรณีนี้ประสบความสำเร็จ เพราะพ่อแม่กล้าติดต่อไปที่นักกิจกรรมบำบัดในอเมริกา และจักษุแพทย์

นอกจากนี้ อาจารย์ยังมีคอร์สอบรม "การจัดการความสุข" และหัวข้ออื่นๆ อีก เรื่องเหล่านี้จำเป็นกับชีวิตอย่างไร

เราต้องไปสะกิดให้เขาคิด หลักการทุกอย่างเหมือนหลักการทุกศาสนา แต่ถ้าเราไม่สะกิด เขาก็ไม่รู้ว่าจะปฎิบัติอย่างไร เวลาอบรม ผมไม่ได้นั่งบรรยายอย่างเดียว ผมท้าทายให้ทำ ทำให้เขารับรู้ ตระหนักรู้

นักกิจกรรมบำบัดแบบอาจารย์ มีอยู่ในเมืองไทยกี่คน

ถ้านักกิจกรรมบำบัดทั่วไปมีหลายร้อยคน แต่เฉพาะทางที่เรียนกิจกรรมบำบัดจิตสังคมมีผมคนเดียว ผมกำลังสร้างคน เพื่อให้สังคมเรียนรู้ด้วย ผมก็เลยเรียกตัวเองว่า นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม กว่า 7 ปีแล้วที่ผมต้องอบรมกิจกรรมบำบัดทางด้านต่างๆ ให้บุคลากรในโรงพยาบาลต่างๆ และอบรมกิจกรรมให้คนไข้และญาติ รวมถึงจิตแพทย์ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติใหม่ วิธีการของผมคือ ไม่ว่าจะป่วยด้วยโรคอะไรก็ตาม เขามีศักยภาพอยู่ เราเป็นผู้กระตุ้นให้เขารู้ตัวเองว่า มีศักยภาพอะไร ความเชื่อของเขาก็จะเปลี่ยน พัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น คนเรามีพลังอยู่ในตัวเอง เราแค่ใส่เทคนิคบางอย่าง ให้เขามีความหวัง มีพลัง และค้นหาความสุขในตัวเองให้ได้

อาจารย์ไปเรียนรู้ศาสตร์ NLP (Neuro Linguistic Programming) แล้วนำมาใช้กับคนไข้อย่างไร

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้ทุนจากบริษัทในเมืองไทยให้ไปเรียนเรื่อง NLP (Neuro Linguistic Programming) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการสื่อสารของระบบประสาทของมนุษย์ เขาเชิญอาจารย์จากสิงคโปร์มาสอน พวกเขาให้ทุนโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะเขาอยากรู้ว่า เราทำเรื่องจิตสังคม พอมาเรียนด้าน NLP จะช่วยเสริมกับการทำงานได้ไหม NLP ที่ผมเรียนมีอยู่ประมาณ 50 เทคนิค แต่คนนำมาใช้แค่นิดเดียว ศาสตร์NLP เกิดขึ้นหลังกิจกรรมบำบัด เน้นเรื่องการทำงานของสมอง สื่อสารอย่างไรให้เข้าใจตัวเองและผู้อื่น ซึ่งตรงนี้แหละที่กิจกรรมบำบัดไม่มี

NLP เป็นศาสตร์ช่วยจัดระบบสมองใหม่ ยกตัวอย่าง เวลารักษาอาการเครียด ผมใช้กิจกรรมบำบัด ต้องใช้เวลา 6 สัปดาห์ เพื่อทำให้เขาเชื่อมั่นในศักยภาพ กลับไปทำงานได้ แต่ถ้าผมใช้เทคนิค 1 ใน 50 ของ NLP ตั้งคำถามแก้โจทย์ได้ โดยสังเกตว่า คนไข้เด่นเรื่องการมอง หรือการสัมผัส หรือการได้ยิน ถ้าคนๆ นั้นเด่นเรื่องการมอง ถ้าผมจะเปลี่ยนความเชื่อของเขา ข้อมูลที่ผมพูด เขาจะไม่รับ ความเชื่อก็ไม่เปลี่ยน ผมต้องให้เขาดูภาพ เอากิจกรรมบำบัดประยุกต์ ให้นึกภาพหรือดูภาพที่เขาประสบความสำเร็จ ปรากฏว่าเขาเปลี่ยนความคิดเร็วมาก ผมให้เขานึกถึงภาพตัวเองที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ผมแค่พูดสั้นๆ ไม่ต้องลงรายละเอียด

ตอนที่อาจารย์ป่วยหนัก บำบัดตัวเองอย่างไร

ปีที่แล้ว ผมทำงานเยอะมาก ไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน ทำเรื่องผู้นำสุขภาวะของคนทั้งประเทศ และผมต้องทำหลักสูตรให้มหาวิทยาลัย เสาร์อาทิตย์แทบไม่ได้หยุด ช่วงนั้นผมได้เรียนรู้ศาสตร์ NLP เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผมออกหน่วย เกิดอาการขาข้างขวาไม่มีแรง ผมไม่ได้คิดว่า ผมมีปัญหาเรื่องสมอง วูบไปเลย ผมก็คิดว่าคงขาดเกลือแร่ อาการแบบนี้เป็นอยู่สามวัน ผมทำงานอยู่บนดอยแม่สลอง ตอนจะเดินกลับที่พัก ล้มไปเลย พี่ๆ ที่เป็นหมอแบกมา เริ่มปากเบี้ยว แขนไม่มีแรงครึ่งซีก รู้ตอนนั้นว่าอัมพาตเฉียบพลัน จนมาสแกนสมอง เส้นเลือดใหญ่ตีบ เขาก็ฉีดยาละลายลิ่มเลือด ต้องใช้เวลารักษาตัว 3 เดือน เดือนนี้ (เมษายน 2557 )เป็นเดือนที่ 4 แต่ผมพักได้แค่หนึ่งเดือน ตอนนี้ต้องทำงาน ผมละอายใจมากเลย ทั้งๆ ที่ตัวเองดูแลคนไข้อัมพาต เขียนหนังสือเรื่องนี้ ผมต้องใช้กิจกรรมบำบัดตัวเอง หมอบอกว่า ห้ามทำอะไรให้นอนพัก แต่กิจกรรมบำบัดบอกไว้ว่า ถ้ามีความสามารถก็ทำได้ ผมพยายามลุกขึ้น โดยใช้ไม้เท้าค้ำยันเข้าห้องน้ำ ใช้พลังตัวเองบ้าง เริ่มเรียนรู้ใหม่หมด นั่งหน้าคอมฯ เกินสี่นาทีไม่ได้ ต้องเปิดหนังสือที่ผมเขียนมาอ่านใหม่ ผมเขียนไว้ว่า หมอและกิจกรรมบำบัดก็ช่วยคุณไม่ได้ ต้องคิดวิธีการเอง ผมต้องปรับเรื่องอาหารการกิน

แบบนี้เข้าทำนองว่า รู้อะไรมากมาย แต่ลืมดูแลตัวเอง ?

ประสบการณ์ที่ใช้กับคนไข้ก็ใช้ไม่ได้ เราไม่รู้จะการสื่อสารกับตัวเองอย่างไร ผมไม่เชื่อคำพูดตัวเอง สองเดือนที่ป่วย เพิ่งจะเข้าใจตัวเองจาก NLP ตอนนั้นผมทุกข์มาก ผมต้องมาทำงานทั้งๆ ที่ป่วย เพราะหยุดต่อไม่ได้ แม่ผมต้องขับรถจากรามอินทรามาส่งผมที่ศาลายา ผมต้องตื่นเช้า หงุดหงิดง่ายกว่าเดิม ผมรู้ว่า อารมณ์ผมเปลี่ยน มีสภาพไม่ต่างจากคนไข้ แต่เป็นคนไข้ที่ต้องทำงาน ทั้งเครียดและล้า ตอนนั้้้นผมไม่ค่อยมีแรงเดินไปกินข้าว แม่ต้องทำข้าวกล่องให้สามมื้อ พอเจอทุกข์มากๆ ผมก็หาทางออก เริ่มคิดว่า ไม่ได้แล้วเราเริ่มหงุดหงิดใส่แม่ ต้องปรับระดับความคิด ผมเขียนจดหมายขอที่อยู่ใกล้ๆ ที่ทำงานในมหาวิทยาลัย งานไหนทำเองไม่ได้ ก็ให้น้องทำ เริ่มสื่อสารกับตัวเองและผู้อื่น จากที่ไม่ทานอาหารเช้า ก็หันมาทานอาหาร และทานผัก

ศาสตร์ NLP ตอบโจทย์อาจารย์อย่างไร

ผมได้หลักใหญ่ๆ มาสามอย่าง คือ 1.ต้องไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ถ้าไม่ดูแลตัวเองก่อน มัวแต่ดูแลคนอื่น คงแย่ ตอนอยู่ในห้องเรียน NLP ผมเป็นคนแรกที่ทำกิจกรรม ผมร้องไห้เลย เพราะผมดูแลคนอื่นมากไป ผมเปลี่ยนความเชื่อเลย 2. เขาสอนให้คิดบวก วางแผนให้เป็นขั้นเป็นตอน ปัญหาของผมคือ คิดบวกไม่จริง ผมบอกแม่ว่า "กินผักเยอะๆร่างกายจะดีเอง" แต่ผมไม่ได้ทำ และอาทิตย์ที่แล้วผมทำได้แล้ว ปลูกต้นอ่อนทานตะวันกิน เพราะเป็นจังหวะที่ผมไปดูแลคนไข้สายตาเลือนลาง เขาปลูกต้นอ่อนทานตะวันกิน ผมก็ได้เรียนรู้ ซึ่งศาสตร์ NLP บอกว่า ทุกอย่างเป็นการเชื่อมโยงกันหมด ถ้าเรามีความเครียด ต้องตื่นรู้กับตัวเองว่า เครียดทางบวกหรือลบ ต้องหาเหตุและผลในตัวเองได้ ก่อนนอนทุกคืน ต้องดูว่า เราตั้งใจจะทำอะไรที่เป็นบวกอย่างไร ถ้าเป็นศาสตร์กิจกรรมบำบัด สอนว่า ถ้าตั้งใจว่า จะทำงานอย่างที่1.. 2.. 3...ต้องทำให้เสร็จ แต่ NLP สอนว่า ให้เลือกงานที่ชอบที่สุดอย่างเดียว ทำให้ผมควบคุมจิตใต้สำนึกได้ดีขึ้น

จัดการกับความเครียดได้มากขึ้น ?

หมอบอกว่า ผมทำงานทางจิต ทำไมผมจัดการความเครียดไม่ได้ ตอนแรกๆ ผมก็ทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ผมคิดว่า ทำได้ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้กลไกมากขึ้น ผมพบว่า ผมก็มีความคิดดีๆ อยู่ในจิตใต้สำนึก แต่ไม่ได้เรียงร้อยออกมาใช้ เราใช้ส่วนจิตใต้สำนึกแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เราใช้ความคิดมากกว่าความรู้สึก อาการผมหนักมาก ถ้าผมไม่กินยาละลายลิ่มเลือดสักวัน ก็ไปเลย เส้นเลือดผมตีบสามเส้นและเป็นเส้นสำคัญของสมอง ตอนนี้ผมอยู่ได้เพราะยาและใจ