รัฏฐาธิปัตย์'กำนันสุเทพ' ความฝันหรือความเพ้อฝัน?

รัฏฐาธิปัตย์'กำนันสุเทพ' ความฝันหรือความเพ้อฝัน?

จับประเด็นร้อน! รัฏฐาธิปัตย์'กำนันสุเทพ' ความฝันหรือความเพ้อฝัน? พลเรือนคนแรกที่กระทำเยี่ยงนี้คือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้นำ "สภาปฏิวัติ"

คำว่า "รัฎฐาธิปัตย์" อาจเป็นคำศัพท์ที่คนรุ่นใหม่ ไม่เคยคุ้น แต่สำหรับคนไทยที่ผ่านประสบการณ์การรัฐประหาร ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็คงเข้าใจความหมายของคำคำนี้

ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ โดยคณะทหาร ก็จะมีการสถาปนารัฏฐาธิปัตย์ เพื่อการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล เพื่อบริหารบ้านเมือง

เพราะ "รัฏฐาธิปัตย์" หรืออำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐ ดังนั้น สิ่งอื่นใดจะมีอำนาจยิ่งกว่าหรือขัดต่ออำนาจอธิปไตยหาได้ไม่

การสถาปนารัฎฐาธิปัตย์ของรัฐสมัยใหม่ มีรูปแบบหลักอย่างน้อย 4 ประการคือ 1) การใช้กำลังอาวุธ 2) การใช้สิทธิพลเมืองก่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติอหิงสา 3) การผสมผสานระหว่างสิทธิพลเมืองกับพลังอำนาจทางทหาร และ4) การใช้สิทธิเลือกตั้ง

มาคราวนี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะเลขาธิการ กปปส. ถือว่าเป็น "พลเรือน" คนที่ 2 ซึ่งกล้าประกาศตัวเป็น "องค์รัฏฐาธิปัตย์" จะสั่งการยึดทรัพย์ตระกูลชินวัตร และแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เหมือนคณะทหารที่ยึดอำนาจในอดีต

พลเรือนคนแรกที่กระทำเยี่ยงนี้คือ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้นำ "สภาปฏิวัติ" ที่ประกาศแถลงการณ์ยึดอำนาจรัฐบาลชาติชาย และแต่งตั้ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2532

ผลแห่งการกระทำครั้ง ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ถูกจับกุมในข้อหาก่อกบฏในราชอาณาจักร ต้องสู้คดีนานนับสิบปี ศาลฎีกาจึงพิพากษายกฟ้อง

ใน พ.ศ.นี้ สุเทพ เทือกสุบรรณ อ้างการสถาปนารัฎฐาธิปัตย์ โดยการใช้สิทธิพลเมืองก่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติอหิงสา

เดิมที "สุเทพ" และ กปปส. มี 2 แนวทางที่ประกาศมาในรอบ 4 - 5 เดือนนี้ ระยะแรกชัดเจนว่า ยอมรับบทบาทของวุฒิสภา ที่อาจจะก้าวเข้ามาทำหน้าที่ตามมาตรา 172, 173 คือการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7

ต่อมา "สุเทพ" เสนอแนวทางปฏิวัติโดยประชาชน เสมือนหนึ่งว่าให้ กปปส. มีความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่จะดำเนินการกระบวนการตั้งรัฐบาลประชาชนและสภาประชาชนได้เอง โดยไม่พูดถึงวุฒิสภา

แต่การกระทำดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นเรื่องตลกไร้สาระ กปปส.จึงหันกลับมาเรียกร้องให้ "กองทัพ" ออกมาจากจัดการกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีกครั้ง

และเมื่อแน่ชัดแล้ว "กองทัพ" จะไม่กระทำการยึดอำนาจเหมือนในอดีต เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 "สุเทพ" จึงกลับมาประกาศถึงแนวทางความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ของ กปปส.อีกครั้งหนึ่ง

ประกอบกับองค์กรอิสระ เตรียมตัดสินคดีที่เกี่ยวกับสถานะ "นายกรัฐมนตรี" ของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากยิ่งลักษณ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง

"สุเทพ" จะฉวยจังหวะนี้ ออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีของประชาชน และตัวเขาเองจะนำรายชื่อนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กราบบังคมทูลฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ โดยสุเทพจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

นี่คือโมเดล "ปฏิวัติโดยประชาชน" ที่แกนนำ กปปส. ปีกที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้เสนอสุเทพมานานแล้ว แต่เลขาธิการ กปปส. ก็ยังไม่ตัดสินใจกระทำการเสียที

ต้องติดตามกันต่อไปว่า ความฝันอันสูงสุดของกำนันสุเทพ จะเป็นจริงหรือไม่?