พิศุทธิ์ สายโอบเอื้อ วัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ

พิศุทธิ์ สายโอบเอื้อ วัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ

เรื่องราวของอดีตนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่หันเหชีวิตมาสู่เส้นทางสายดนตรี

เมื่อผู้เขียนอ่านโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ คอนเสิร์ตเชมเบอร์ มิวสิค รายการ Romantic Music’s Variety Celebrated แสดงที่หอประชุม สถาบันเกอเธ่ เวลา 19.30 น. วันนี้ พุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557 โดย พิศุทธิ์ สายโอบเอื้อ (ไวโอลิน), เดวิด อับราฮัมยาน (วิโอลา) และ จุน โคมัตสุ (เปียโน) ทำให้ผู้เขียนย้อนรำลึกถึงนักไวโอลินหนุ่ม พิศุทธิ์ สายโอบเอื้อ กับกิจกรรมดนตรีคลาสสิกมากมายที่เขามีส่วนร่วมเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เขาหายหน้าหายตาไปจากวงการดนตรีคลาสสิกบ้านเราเกือบ 9 ปี

พิศุทธิ์ เป็นนักไวโอลินและนักวิโอลา คลื่นลูกใหม่วงการดนตรีคลาสสิกบ้านเรา เส้นทางดนตรีของเขาอาจแปลกว่านักดนตรีอาชีพคนอื่นๆ เพราะเขาร่ำเรียนโดยตรงมาทางด้านเศรษฐศาสตร์และด้านการเงิน เล่นไวโอลินตั้งแต่เด็ก ด้วยความรักดนตรี ในที่สุดตัดสินใจไปเริ่มต้นใหม่ ด้วยการเรียนดนตรีจนจบระดับปริญญาตรีและโท จาก สถาบันดนตรีรอตเตอร์ดัม (Rotterdam Conservatory) ประเทศเนเธอร์แลนด์

ความสามารถด้านการเล่นไวโอลินและวิโอลาของพิศุทธิ์ ประจักษ์ในระดับนานาชาติ ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยสอนเครื่องสายในสถาบันดนตรีรอตเตอร์ดัม, นักดนตรีอาชีพประจำวงออร์เคสตราในประเทศสเปน, นักดนตรีในวงเชมเบอร์ มิวสิค ชนะรางวัลการแข่งขัน, การแสดงร่วมกับวงออร์เคสตราและวงเชมเบอร์ชั้นนำหลายประเทศในยุโรป, เคยร่วมมาสเตอร์คลาส และเล่นดนตรีภายใต้การอำนวยเพลงของวาทยกรชื่อดังหลายต่อหลายคน

เรียกได้ว่า ประสบการณ์ดนตรีของพิศุทธิ์ “เพียบ” และ “ครบเครื่อง” ดนตรีคลาสสิก ทำให้ผู้เขียนต้องขอนัดหมายพูดคุยกับเขา เนื้อหาเรื่องราวดนตรีต่างๆ จากปากคำของพิศุทธิ์ ล้วนน่าสนใจและมีประโยชน์ยิ่ง ความเป็นคนที่เติบโต ร่ำเรียนมาจากศาสตร์หลายสาขา ทำให้มุมมองต่างๆ ของเขาหลากหลายยิ่ง


ครอบครัวส่งเสริมการเรียนดนตรี

“ผมเรียนหนังสือตั้งแต่ ป.1 ถึง ม.6 จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ตอนอายุ 7 ขวบ เริ่มเรียนดนตรีไทย เพราะโรงเรียนสนับสนุนให้นักเรียนทำกิจกรรม พ่อแม่ชอบดนตรี ให้ลองเล่นเครื่องดนตรีไทยก่อน”

“ตอนนั้นเล่นซอด้วงกับระนาดเป็นส่วนใหญ่ พอขึ้นชั้น ม.1 อายุ 12 ปี คุณพ่อให้ลองไปเล่นดนตรีสากลบ้าง เลือกเล่นไวโอลิน เพราะเป็นเครื่องสายด้วยกัน”

“เรียนไวโอลินกับ อาจารย์สุทิน ศรีณรงค์, อาจารย์พรต เรืองศรีมั่น, อาจารย์สมชาย อัศวโกวิท ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษมาสอนที่โรงเรียน ปี ค.ศ.1992 เข้าวงดุริยางค์เยาวชนไทย สอบได้เข้าไปเล่น เป็นแรงบันดาลใจ ก็เลยตั้งใจซ้อม อีก 2 ปี ต่อมา เป็นตัวแทนจากประเทศไทยเข้าร่วมเล่นในวง อาเชียน ยูธ ออร์เคสตรา ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้น ม.3”

“ตอนอยู่วงดุริยางค์เยาวชนไทย เข้าอบรมมาสเตอร์คลาสด้านไวโอลินกับศิลปินจากต่างประเทศ และมีโอกาสได้เล่นเป็นนักดนตรีเทรนนีกับวงบีเอสโอ”

“ตอนอยู่ ม.4 ผมสอบเข้าเรียนเอกดนตรี คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ได้ แต่ในที่สุดก็ไม่เอา ตอนนั้นรู้สึกว่า ผมไม่ได้อยากเล่นดนตรี และตอนนั้นก็เรียนไวโอลินกับอาจารย์ชูชาติ พิทักษากร อยู่แล้ว ผมชอบวิชาอื่นด้วย เรียนจนจบ ม.6 ก็เรียนต่อปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยากทำทั้งคู่ไปด้วยกัน”

“เรียนจบปริญญาตรี เรียนต่อปริญญาโท ด้านการเงิน ที่คณะบัญชีฯ จุฬาฯ จบแล้วทำงานอยู่ 1 ปี เป็นนักวิเคราะห์ในบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันเล่นไวโอลินอยู่ในวงบางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตรา และตั้งวง โนวา สยาม สตริง ควอร์เต็ต กับเพื่อนๆ”

ชอบดนตรีมากกว่างานประจำ

“ระหว่างทำงานผมเล่นกับวงบีเอสโอ สอนไวโอลินด้วย ชอบดนตรีมากกว่า คิดว่าสามารถดำรงชีวิตได้ถ้าทำงานด้านดนตรี มีรายได้เพียงพอ เลี้ยงชีพได้ ถ้าชอบดนตรีมากกว่า ทำไมเราไม่ทำให้เต็มที่เสียเลย ผมเลยคิดหาทางไปเรียนดนตรีต่อในต่างประเทศ”

“ตอนที่เล่นกับวงบีเอสโอ มีนักไวโอลินหญิงชาวจีน ย้ายมาอยู่เมืองไทย เป็นพาร์ทเนอร์เล่นดนตรีด้วยกันในวง เธอเรียนจบปริญญาโทด้านดนตรีจากประเทศฮอลแลนด์ แนะนำว่าน่าจะไปเรียนที่นั่น เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก”

“ตอนนั้น ปี ค.ศ. 2006 ผมเลยบินไปฮอลแลนด์ เล่นให้อาจารย์ฟัง เขาบอกให้ไปสอบออดิชั่นในวันรุ่งขึ้นเลย ผมสอบได้ ขอเรียนต่อปริญญาโท แต่อาจารย์บอกว่าในยุโรป ถ้าไม่ได้เรียนปริญญาตรีดนตรีมาก่อน เขาไม่อนุญาตให้เรียนปริญญาโท ผมเลยต้องเริ่มต้นเรียนปริญญาตรี เริ่มเรียนปี 1 ดนตรีใหม่ ที่สถาบันดนตรีรอตเตอร์ดัม เอกด้านไวโอลิน โทด้านการอำนวยเพลง”

นักดนตรีประจำวงออร์เคสตรา ประเทศสเปน

“เรียนจนจบ 4 ปี ระหว่างเรียนเล่นดนตรีหารายได้ไปด้วย จบแล้วไปออดิชั่น เพื่อเป็นนักดนตรีในวงออร์เคสตราอาชีพหลายที่ ทั้งที่สวีเดน, เยอรมัน, ฮอลแลนด์, ฝรั่งเศส, สเปน ในที่สุดได้ทำงานเต็มเวลากับวง Castilla La Mancha Symphony Orchestra ประเทศสเปน”

“ระหว่างนั้นผมก็เรียนปริญญาโทต่อที่สถาบันเดิม อาจารย์สอนไวโอลินของผม เป็นชาวรัสเซีย ชื่อ Olga Martinova ตอนเรียนอยู่ อาจารย์ให้ผมเป็นผู้ช่วยสอนด้วย บอกว่า ระหว่างทำงานเล่นดนตรีประจำอยู่ ถ้ารับผิดชอบวิทยานิพนธ์ได้ ก็ไม่มีปัญหา”


“ผมทำงานกับวงสเปนอยู่ได้ประมาณ 2 ปีครึ่ง เศรษฐกิจประเทสเปนแย่ลง ไม่มีเงินจ่ายนักดนตรี ติดค้างเงินนักดนตรีทุกคนถึง 6 เดือน จนในที่สุดถูกฟ้องล้มละลาย กลับจากสเปน ระหว่างนั้นผมทำงานกับวงเชมเบอร์ ในประเทศฝรั่งเศส จบปริญญาโทแล้ว อาจารย์ก็ยังให้เป็นผู้ช่วยสอนอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่ผมจะกลับมาเมืองไทยเมื่อต้นปีนี้”

ประสบการณ์ดนตรีในต่างประเทศ

“ต่างประเทศมองดนตรีเป็นศิลปะ เป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึก ในไทยมองการเล่นเครื่องดนตรีเป็นเสมือนคล้ายๆ กับการเล่นกีฬา คนไทยและคนเอเชียมองเรื่องเทคนิคว่า คนเก่งต้องเล่นเร็ว มีเทคนิคการปฏิบัติเครื่องดนตรีที่ดี จริงๆ แล้วฝรั่งเขาไม่ได้สอนในเรื่องนี้มาก เขาเน้นว่า เวลาคุณเล่นดนตรี คุณแสดงออกไปอย่างไร หรือต้องการจะสื่อสารอะไรกับผู้ฟัง”

“ในยุโรป ทั้งรัฐบาลและคนทั่วไป ให้การสนับสนุนดนตรีเป็นอย่างมาก เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ”

“ในฮอลแลนด์ผู้คนให้ความสำคัญกับดนตรีสมัยใหม่มาก Mentality ของคนฮอลแลนด์ ชอบอะไรใหม่ๆ ที่แปลกและแหวกแนว ประเทศฮอลแลนด์มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่มาก มีผลทำให้คนดัชเห็นวัฒนธรรมที่หลากหลาย ยอมรับอะไรมากขึ้น ฮอลแลนด์โด่งดัง 2 เรื่อง หนึ่ง - คอนเทมเพอรารี มิวสิค และสอง - บาโรก มิวสิค ที่ชอบดนตรีบาโรก เพราะเขาต้องการความเป็นยุโรป ในยุคบาโรก ฮอลแลนด์เป็นศูนย์กลางดนตรีของยุโรป”

คนรุ่นใหม่กับคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิก

พิศุทธิ์ เคยทำงานดนตรีร่วมกับวาทกรชื่อดังชาวแคนาดา ยานนิค ไนเซท-เซกาน (Yannick Nezet-Seguin) ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการดนตรีวง ฟิลาเดลเฟีย ออร์เคสตรา วาทยกรคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงอีกคนหนึ่ง พิศุทธิ์เล่าประสบการณ์ส่วนหนึ่ง ที่สะท้อนภาพคนฟังเพลงคลาสสิกรุ่นใหม่ในยุโรปว่า

“ยานนิค เป็นวาทยกรที่มีพลังมาก ทำให้เวลาเล่นต้องมีพลังไปกับเขาด้วย เวลาผมเล่นในวงกับเขา ผมจะเล่นตามง่ายมาก การแสดงคอนเสิร์ตรุ่นใหม่ จะเป็นสไตล์ที่มีการแสดงพลังออกมามากขึ้น”

“รุ่นเก่าวาทยกรจะไม่ค่อยขยับ (ร่างกาย) มาก เป็นวาทยกรที่มี Charisma มีเอเนอร์จี โดยไม่ต้องขยับ แต่ในปัจจุบัน การแสดงดนตรีมีการเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะสังคมและคนสมัยใหม่ ต้องการการเป็น Individuality คนมาฟังคอนเสิร์ต ต้องการเห็นอะไรที่แตกต่างจากเดิม วาทยกรเวลาต้องการแสดงอะไรออกมา จะมีภาษาร่างกายที่ช่วยให้คนดูตามได้ว่า เขาต้องการสื่อสารอะไรกับนักดนตรีในวง”

ความน่าสนใจของคอนเสิร์ตวันนี้ - พุธที่ 19 มีนาคม

“การแสดงริไชทัล คอนเสิร์ตทั่วไป มักเป็นการบรรเลงเพลงลักษณะโซนาตา 2 - 3 เพลง แต่ผมอยากแสดงความหลากหลายของเพลงที่น่าสนใจ ครึ่งแรกของการแสดง เป็นการบรรเลงเพลงสำหรับเดี่ยวไวโอลิน เพลงเดี่ยววิโอลา คลอด้วยเปียโน โชว์เสียงไวโอลิน โชว์เสียงวิโอลา”

“โปรแกรมการแสดงครึ่งหลัง จะเป็นการแสดงร่วมกัน อาทิ บทเพลงทรีโอของบราห์มส์ บรรเลงด้วยไวโอลิน วิโอลา และเปียโน โชว์เครื่องดนตรีทุกเครื่องพร้อมกัน เพลงสุดท้ายผลงานของ เปียซ์โซลล่า เป็นเพลงที่ค่อนข้างตื่นเต้น สนุกสนาน ดนตรีแทงโก เหมาะกับตอนจบของคอนเสิร์ต”

คำแนะนำสำหรับผู้สนใจเรียนดนตรี

พิศุทธิ์ สายโอบเอื้อ หนุ่มนักไวโอลิน คลื่นลูกใหม่ของไทย พูดจาเนิบนาบ นิ่งสงบ ทัศนะความคิดเห็นต่างๆ ล้วนสะท้อนประสบการณ์ดนตรีคลาสสิก ลักษณะผู้ “สุกงอม” ทางความคิด รวมถึงแนวคิดหลากหลาย เปี่ยมความรู้ด้านการสอนและการแก้ปัญหาต่างๆ ในการเล่นไวโอลิน กล่าวทิ้งท้าย ด้วยคำแนะนำสำหรับผู้สนใจเรียนดนตรีว่า

“อย่างแรก ต้องแน่ใจว่า เรารักจะเล่นดนตรีจริงๆ เพราะว่า บางคนคิดว่าการเล่นดนตรีไม่ต้องทำงานหนัก ความจริงคนเรียนดนตรีหนักกว่าการทำงานอย่างอื่น เพราะว่านอกจากต้องเรียนรู้ทุกอย่างแล้ว ยังต้องใช้เวลาซ้อมเป็นประจำ หลายชั่วโมงต่อวัน ถ้าไม่รักจริงๆ .... ยากครับ”

ลองไปสัมผัสเสียงไวโอลินของ “พิศุทธิ์ สายโอบเอื้อ” ได้ ในค่ำคืน ... วันนี้ ที่สถาบันเกอเธ่ ครับ.