ศาลแพ่งชี้จนท.ใช้กำลังเกินเหตุต้องรับผิดชอบ

ศาลแพ่งชี้จนท.ใช้กำลังเกินเหตุต้องรับผิดชอบ

ศาลแพ่ง ระบุหากเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ต้องรับผิดชอบตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 18 ก.พ.57 เวลา 14.00 น. นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติม ในคดีหมายเลขดำ 275/2557 ที่ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม , ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะ รองผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด จากการประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เมื่อวันที่ 21 ม.ค.57 ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่มีเหตุจำเป็นร้ายแรง

โดยทนายความของนายถาวร โจทก์ ในคดีดังกล่าว ขอให้ศาลวินิจฉัย และมีคำสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รักษาการนายก ฯ , ร.ต.อ.เฉลิม ผอ.ศรส. และ พล.ต.อ.อดุลย์ รองผอ.ศรส. จำเลยทั้งสามหยุดการฝ่าฝืนคำสั่งการคุ้มครองชั่วคราวเป็นการด่วน

ซึ่งคำร้องระบุว่า ศาลแพ่ง นัดฟังคำพิพากษาคดีฟ้องเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ เวลา15.00 น. และคดีนี้ศาลเคยมีคำสั่งในการคุ้มครองชั่วคราวกรณีฉุกเฉินไว้ว่า การดำเนินการตามมาตรการอื่นๆ ให้เป็นไปโดยสุจริต เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินกว่าเหตุหรือความจำเป็น แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ ( 18 ก.พ.) เป็นต้นมา จำเลยทั้งสามดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากมีแก๊สน้ำตา อาวุธปืนออกมาสลายการชุมนุม แม้อ้างว่าเป็นการขอคืนพื้นที่และไม่สลายการชุมนุมก็ตาม แต่มีการใช้กำลังตำรวจที่มีแก๊สน้ำตาและอาวุธโดยเฉพาะที่สะพานผ่านฟ้า ที่แม้มีทีมเจรจาเข้ามาขอคืนพื้นที่ถนนราชดำเนินทั้งหมดคืน แต่ระหว่างปรึกษาหารือกันปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังทั้งหมดเข้ามาล้อมผู้ชุมนุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง โดยไม่รอผลเจรจาและทำการรื้อแผงกั้น เต๊นท์ที่พักอาศัยพร้อมทั้งยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่นั่งสวดมนต์ หลังจากนั้นยังมีทั้งเสียงปืน อาวุธสงครามและระเบิดจำนวนมากมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำลายเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า โดยประชาชนผู้ชุมนุมไม่ได้ต่อสู้ใดๆ ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 44 ราย รวมทั้งมีการจับกุมผู้ชุมนุมไปอีก 144 ราย จึงเป็นกรณีที่เห็นว่าจำเลยทั้ง 3 และเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำการเกินกว่าเหตุและความจำเป็น ซึ่งโจทก์ได้นำพยานที่เห็นเหตุการณ์ 3 ปาก มาเพื่อให้ศาลสอบถามประกอบคำร้อง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามและเจ้าหน้าที่หยุดการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมหรือขอคืนพื้นที่ทั้งหมด

ขณะที่ศาลพิเคราะห์คำร้องแล้ว เห็นว่า ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ดังนั้นหากมีการกระทำฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองตามที่โจทก์อ้าง จำเลยทั้งสามย่อมต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ มาตรา 17 กรณีจึงไม่จำเป็นต้องสอบถามข้อเท็จจริงอีก

ภายหลังนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง หัวหน้าทีมทนายความ กล่าวว่า แม้ศาลจะไม่ได้ให้ไต่สวนพยานและไม่ได้มีคำสั่งชัดเจนให้จำเลยทั้งสามหยุดการกระทำดังกล่าว แต่ศาลได้ระบุไว้แล้วว่าหากกระทำการที่เกินกว่าเหตุย่อมต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ม.17 ดังนั้นหากเรารวบรวมข้อเท็จจริงได้ว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติไม่เป็นธรรม และเกินกว่าเหตุ ก็สามารถที่จะรวบรวมหลักฐานฟ้องเจ้าหน้าที่ได้ในภายหลัง ส่วนการฟ้องคดีหลักที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ที่เราเห็นว่านายกฯกับพวกดำเนินการโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น ต้องรอฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ ( 19 ก.พ.) เวลา 15.00 น.

ด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความรับผิดชอบคดี กล่าวว่า เหตุที่ต้องมายื่นคำร้องเพิ่ม เพราะวันนี้ศรส.ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจำนวนมาก อ้างจะขอคืนพื้นที่ หรือเปิดการจราจร แต่ที่มีทั้งแก๊สน้ำตาและปืน ซึ่งครั้งแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาเจรจาขอเปิดพื้นที่เพื่อการจราจร โดยแกนนำก็ได้เปิดพื้นที่ให้แล้ว แต่ต่อมา รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ย้อนกลับมาขอเจรจาเพื่อเปิดพื้นที่การจราจรทั้งหมดอีก กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขอกลับไปปรึกษากับแกนนำก่อน ซึ่งระหว่างการเจรจานั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาเต็มพื้นที่และใช้แก๊สน้ำตา ขณะที่ผู้ชุมนุมนั่งสวดมนต์อยู่ ต่อมาก็มีเหตุการณ์ใช้อาวุธปืน ซึ่ง กปปส.เห็นว่าเป็นการใช้กำลังที่น่าจะฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลที่ให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเป็นธรรม และสุจริตไม่เกินกว่าเหตุ จึงนำข้อเท็จจริงมาร้องต่อศาล อย่างไรก็ดีหลังจากนี้ กปปส.จะรวบรวมข้อเท็จจริง ตรวจสอบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลหรือไม่ หากฝ่าฝืนและเป็นความผิดทางอาญา ก็จะพิจารณาดำเนินคดี ฟ้องตามกฎหมาย เช่น ข้อหาปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เป็นต้น

ขณะที่นายสวัสดิ์ ยังกล่าวถึงการยื่นคำแถลงปิดคดีที่ฟ้องเพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้วยว่า ตามที่ ศรส.ระบุ ยื่นแถลงปิดคดีโต้แย้งประเด็นว่า ศาลแพ่งเคยมีคำวินิจฉัยคดีที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยและโฆษกพรรคฯ ฟ้องรัฐบาลยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าการประกาศเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารนั้น เราก็ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ว่าข้อเท็จจริงในเหตุการณ์มีความแตกต่างกัน เพราะในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ครั้งนั้น ได้พบว่ามีการก่อเหตุร้ายแรงในหลายพื้นที่ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้เมื่อปี2553 เกี่ยวกับความขัดแย้งของรัฐธรรมนูญ ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ไว้ด้วยว่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว ผู้ได้รับความหายอาจนำคดีเข้าสู่กระบวนการของศาลยุติธรรมได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 218 รวมทั้งมีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ม.17 ดังนั้นหากเราไม่สามารถยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลแพ่งก็คงจะไม่รับเรื่องไว้วินิจฉัยตั้งแต่แรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งคดีนี้ นอกจากที่จะห้ามเจ้าหน้าที่อายัดเครื่องอุปโภคบริโภคที่ใช้ในการชุมนุมแล้ว ยังระบุด้วยว่า ประกาศและข้อกำหนดอื่นๆ ให้จำเลยทั้ง3กระทำการไปโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามประกาศและข้อกำหนดนั้น

ซึ่งหลังจากที่ศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว ในการพิจารณาเนื้อหาว่านายก ฯ กับพวกออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น ศาลได้สืบพยานโจทก์ 4 ปาก ประกอบด้วย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ , นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เบิกความเกี่ยวกับประเด็นที่รัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่มีเหตุจำเป็นตามที่รัฐบาลกล่าวอ้างและพยานฝ่ายจำเลย รวม 11 ปาก ประกอบด้วย พล.ต.ต.วิชาญญ์วัชร์ บริรักษ์กุล ผบก.น.1 และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรอง ผบก.น พื้นที่ต่างๆ รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยราชการที่ถูกปิดสถานที่ เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมแต่ละช่วง และความเสียหายจากการบุกปิดสถานที่ราชการต่างๆ 70 แห่ง และเหตุการณ์ที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต การปิดล้อมศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่นดินแดง สถานที่รับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.56 โดยศาลใช้เวลาสืบพยานโจทก์ - จำเลยทั้งสิ้น 2 วัน ก่อนที่จะนัดฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ ( 19 ก.พ.) เวลา 15.00 น.