"PERB"ธุรกิจ "รสแซ่บ"ของคนนิวเจน

"PERB"ธุรกิจ "รสแซ่บ"ของคนนิวเจน

แพคเก็จจิ้งเรียบหรูและดูดีประทับแบรนด์“PERB” คือน้ำพริกไฮคลาสของเอสเอ็มอีเลือดใหม่วัยเพียง25 ปี ผู้ขอคิดใหม่เพื่อแจ้งเกิดเหนือน่านน้ำสีเลือด

“ตลาดน้ำพริก เป็น Red Ocean มีคู่แข่งเยอะมาก ทั้งที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ขายในตลาดสด หรือขึ้นห้าง เราเลยต้องพยายามหา Blue Ocean ให้เจอ เลยเป็นที่มาของน้ำพริกพรีเมี่ยมแบรนด์ ‘PERB’ จับกลุ่มลูกค้าระดับ B ถึง A

“พราวด์-ฐัญวลัย เรียบร้อยเจริญ” หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง น้ำพริกไฮโซ แบรนด์ “PERB” (เปิบ) บริษัท พราวด์ทูยู จำกัด บอกที่มาของธุรกิจใหม่ ที่ร่วมหุ้นกับเพื่อนสนิทวัยเดียวกันอีกสองชีวิต คือ “เป้ง-วัชระ ธรรมจักร” ทายาทสูตรน้ำพริกรสเด็ดแห่งเมืองสุพรรณ และ “ติ๊ก-จินตนา ภัทรโพธิวงศ์” ที่เรียนจบสายโฆษณามาร่วมแจ้งเกิดธุรกิจใหม่

ก็คนที่ใช้ Kipling ยังมีอารมณ์อยากใช้หลุยส์ เช่นเดียวกับคนที่ใช้โนเกียอยู่ แล้วรู้สึกไม่ล้ำพอ จนมาเจอ iPhone เลยรู้สึกว่า มันใช่ มันโดน มัน “ตอบโจทย์” กว่ามากๆ ไม่ต่างจากตลาด “น้ำพริก” ก็คงมีนะลูกค้าที่อยากยกระดับมาทานของดี แต่ก็ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดตอบสนอง พวกเขามองว่าอย่างนั้น

จนวันที่หนึ่งผู้ร่วมหุ้นอย่าง เป้ง-วัชระ กลับบ้านเกิดที่สุพรรณบุรี แล้วหอบหิ้วเอาน้ำพริกสูตรอาม่า ซึ่งทำและขายกันมาตั้งแต่ปี 1980 มาเป็นของฝากคนกรุง พอได้ลองทานก็รู้สึกโดนใจ จนจุดประกายความคิดว่าน่าจะต่อยอดเป็นธุรกิจได้

หลายคนอาจคิดว่า จะทำของเก่าให้ดูใหม่และขายแพง ก็คงแค่เอามาใส่แพคเก็จจิ้งสวยๆ ให้ถูกใจคนรุ่นใหม่ แต่กับนักปั้นแบรนด์เปิบ พวกเขามองต่างไปกว่านั้น

“การจะเอาของเดิมที่มีอยู่ มาใส่ในรูปลักษณ์ที่สวยขึ้น แล้วคิดว่าจะตีตลาดได้ มันคงไม่ใช่ แค่ของเดิมมามีแพคเก็จจิ้งใหม่ มันไม่พอ แต่ทุกอย่างที่เป็นเปิบ ล้วนผ่านการคิดขึ้นใหม่ ในทิศทางที่ถูกต้องและลงตัว”

พวกเขาอธิบายกันตั้งแต่ การคงสูตรความอร่อยเดิม แต่วัตถุดิบที่นำมาปรุงเป็นของอร่อย ก็ต้องถูกคัดกรองมากขึ้น เช่น ต้องมาจากแหล่งผลิตที่ดี อยู่ไกลแค่ไหนก็ต้องดั้นด้นไปหา พยายามให้ปลอดสารเคมีให้มากที่สุด กระบวนการผลิตก็ต้องให้ได้มาตรฐาน เรียกว่า อร่อยตำรับเก่า ชนิดรสจัด โดนใจ ไม่เบามือ แต่คุณภาพและความปลอดภัยก็ต้องเป็นที่หนึ่ง

จากนั้นก็สื่อสารออกมาในรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ดูเป็น “น้ำพริกไฮโซ” ที่คนรุ่นใหม่อยากได้ อยากลองลิ้ม

ใช้ชื่อแบรนด์ ‘PERB’ ดูตัวอักษรภาษาอังกฤษก็ว่าอินเตอร์เอามากๆ แต่พอบอกว่ามาจากคำว่า ‘เปิบ’ ซึ่งเป็นภาษาไทย อีสาน สะท้อนลักษณะการทานของคนสมัยก่อน ก็เล่นเอาสะดุดหู และดูขัดแย้งกับลุ้คที่เห็น พวกเขาบอกว่านี่สะท้อนความเป็นไทยดั้งเดิม ที่ผสมผสานกับรูปลักษณ์ซึ่งเป็นสากล จนกลายเป็นแบรนด์เปิบ ความอร่อยแบบไทยๆ ที่ดูทันสมัยไม่เฉิ่มเชย ขายในราคากระปุกละ 89 บาท ทุกขนาดทุกรสชาติ เจาะกลุ่มลูกค้าระดับ B ถึง A

เป็นคนรุ่นใหม่ วัยเบญจเพสพร้อมกันทั้ง 3 คน พวกเขาบอกว่า กลุ่มเป้าหมายก็ใกล้ๆ ตัว คือ “คนรุ่นใหม่” อย่างสาวออฟฟิศ วัยทำงาน ที่รักสุขภาพและอยากทานของดี สะอาด ปลอดภัย ที่สำคัญต้องไม่ตกขาดเรื่องความอร่อย เลยใช้ช่องทางจำหน่ายเริ่มต้นคือ “โซเชียลมีเดีย” เปิดตลาดออนไลน์ กระจายสินค้าใหม่ไปถึงมือผู้บริโภค

“เนื่องจากเราสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นลูกค้าก็จะเป็นกลุ่มคนเล่นโซเชียลนี่แหล่ะ ทั้งพนักงานออฟฟิศ ผู้หญิงทำงาน คนที่ที่บ้านมีผู้ใหญ่ก็เริ่มซื้อไปเป็นของฝาก ใครซื้อไปทานแล้วอร่อยก็บอกต่อ บางคนเห็นขวดสวยก็ถ่ายรูปแล้วแชร์ขึ้นเฟชบุ้ค ก็ยิ่งทำให้เปิบค่อยๆ เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น”

ใครจะคิดว่าธุรกิจที่เริ่มด้วยคนเพียง 3 คน มีเงินเริ่มต้นแค่ 1 หมื่นบาท ทำกับแบบไม่มีหน้าร้าน ขายผ่านแค่ช่องทางออนไลน์ แถมโรงงานก็ยังใช้จ้างผลิตให้อยู่ แต่ธุรกิจกลับประสบความสำเร็จในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ชนิดยอดขายช่วงพีคสุดตกเดือนละนับแสนบาท จนธุรกิจที่เปิดมาได้แค่ 6-7 เดือน สามารถตั้งโรงงานของตัวเองที่กรุงเทพได้สำเร็จด้วยเงินลงทุน 1.5 ล้านบาท ขยับกำลังการผลิตเป็น 5 พัน-1 หมื่นขวด ต่อเดือน พร้อมขยายไปสู่งานรับจ้างผลิตด้วยในอนาคต รวมถึงการขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด และตลาดส่งออกเร็วๆ นี้

พวกเขาเชื่อว่าหัวใจของความสำเร็จก็คือ “ตัวสินค้า” ที่ไปตอบช่องว่างความต้องการในตลาดได้ ขณะที่สื่อโซเชียลก็ช่วยส่งพลังความอร่อยแล้วบอกต่อ ให้เป็นที่รู้จักได้รวดเร็วขึ้น นางเอกที่ปั้นมากับมือ เลยเฉิดฉายเอามากๆ ในวันนี้

“ต่อไปคนทั่วไปจะเห็นเรามากขึ้น ไม่ใช่แค่ช่องทางออนไลน์เท่านั้น เราจะเริ่มโด่งดัง จะเป็น ‘อั้ม พัชราภา’ ที่ทุกคนได้รู้จัก เราจะมีสูตรใหม่ๆ มีซีรีส์ใหม่ๆ ออกมา จะไม่หยุดพัฒนา เหมือนพวกเราเป็นคนเขียนบทละคร เปิบเป็นนางเอก ซีรีส์นี้อาจยังไม่เจอพระเอก แต่ตอนต่อไปก็จะมีตัวละครใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา โดยยังคงเน้นน้ำพริกเป็นหลัก”

พวกเขาบอกเรื่องสนุกของการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ปรากฏโฉมในตลาด รวมถึงการขยายบริการไปสู่การเป็นที่ “ปรึกษา” สำหรับคนอยากมีธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อยากมีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเอง ได้มีช่องทางแจ้งเกิดอย่างพวกเขา

เป็นคนรุ่นใหม่ ทำอย่างไรถึงจะเข้าใกล้คำว่าประสบความสำเร็จ “ติ๊ก-จินตนา” บอกเราว่า เวลาเข้าหาผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ต้องไปด้วยความนอบน้อม เพราะยากนักที่จะทำให้ทุกคนเชื่อว่า คนรุ่นใหม่จะจริงจังกับสิ่งที่ทำแค่ไหน ต้องค่อยๆ พิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนได้เห็น

“บางคนคิด แต่ไม่ทำ ก็ไม่มีประโยชน์ คิดแล้วต้องทำ และต้องขยัน ไม่ขยัน เป็นผู้ประกอบการไม่ได้”

ขณะที่ “พราวด์-ฐัญวลัย” บอกว่า ก่อนเริ่มทำธุรกิจให้คิดว่าตัวเอง “เจ๋ง” แต่พอทำแล้วต้องคิดว่าตัวเอง “ห่วย”

“อย่างแรกเลยต้องคิดว่าตัวเองเจ๋ง คือเอาไอเดียเราพุ่งออกไปก่อน แต่พอทำแล้วต้องคิดว่าตัวเองห่วย เพราะเวลาไอเดียพุ่งออกไปเริ่มมีฟีดแบคกลับเข้ามา เราจะเริ่มถามตัวเองว่า ฉันไม่ได้เจ๋งร้อยเปอร์เซ็นต์นะ แต่ยังต้องพัฒนาต้องปรับปรุงอยู่ และคำว่าห่วย จะทำให้เราพัฒนาตัวเองต่อไปได้”

ปิดท้ายกับหนุ่ม “เป้ง-วัชระ” อดีตนิสิตบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเราว่า เป็นผู้ประกอบการต้องกล้าเปลี่ยนแปลง และจุดไฟในตัวเองให้ลามไปเหมือนไฟลามทุ่ง

“ทำธุรกิจต้องมีความกล้า กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เหมือนเรามีความคิดแล้วจุดไฟในใจตัวเอง จุดให้มันลามไปเหมือนไฟลามทุ่ง ไปให้ไกลได้มากขึ้นๆ อย่าหยุด และต้อง R&D เพราะคงไม่มีโพรดักส์ไหนที่จะอยู่แบบเดิมไปจนตาย มันต้องเปลี่ยนแปลง และอย่าหยุดวิ่ง”

พวกเขาสะท้อนไอเดียของผู้ประกอบการเลือดใหม่ ที่ไม่เก่งแค่ “พูด” หรือ “คิด” แต่เลือก “ลงมือทำ” เพื่อพิสูจน์ตัวเองให้โลกรับรู้

.................................
Key to success
“เปิบ” แจ้งเปิดน้ำพริกในน่านน้ำสีเลือด
๐ สูตรดั้งเดิม อร่อยไม่เปลี่ยน แต่คุณภาพล้นกระปุก
๐ คิดแบบ 360 องศา ไม่ใช่แค่เปลี่ยนแพคเก็จจิ้งให้สวย
๐ ชื่อแบรนด์สะดุดหู ลุ้คดูหรูแต่ได้ใจคนไทย
๐ ลูกค้ามีเงิน ก็อยากกินน้ำพริก ยังมีช่องว่างในตลาด
๐ ช่องทางออนไลน์เริ่มได้ เข้าถึง ใช้เงินน้อย
๐ ขยับสู่ธุกิจรับจ้างผลิตและที่ปรึกษาเถ้าแก่หน้าใหม่
๐ กล้าเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง