73องค์กรร่วมเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป

73องค์กรร่วมเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป

73องค์กรร่วมเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป ด้าน"ชัยวัฒน์ สถาอานันท์"ชี้ทางออกตอนนี้คือการไม่ใช้ความรุนแรง

ที่โรงแรม เดอะ สุโกศล 73องค์กรภาคประชาชน, สื่อมวลชน, ภาคธุรกิจ-วิชาชีพ, องค์กรภาควิชาการ ร่วมเปิดตัวเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนกระบวนการปฏิรูปประเทศบนวิถีทางประชาธิปไตยให้เกิดความสำเร็จ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย เรื่อง หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายแสดงเจตจำนงเพื่อร่วมกันแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งเพื่อให้สังคมไทยเดินหน้า โดย 1.หยุดความรุนแรง การยั่วยุ ลดการเผชิญหน้า และยุติการส่งเสริมให้เกิดความเกลียดชังระหว่างประชาชนและผู้ที่เห็นต่าง ด้วยการเคารพเจตนารมย์ของประชาชน ทั้งกลุ่มที่อยากให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และกลุ่มที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งก่แนการปฏิรูป, 2.เริ่มต้นเจรจาเพื่อหาทางออกประเทศ ด้วยการให้คู่ขัดแย้งและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมเจรจาในประเด็นการปฏิรูป ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ และ 3.ต้องเดินหน้าปฏิรูปทันที เบื้องน้นจะมีอาสาร่วมสร้างเวทีกลาง และพื้นที่การมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกฝ่ายนำเสนอและแลกเปลี่ยนความเห็นกับการปฏิรูป

นายบัณฑูร กล่าวด้วยว่าประเด็นของการปฏิรูปที่เครือข่ายหารือและตกผลึกร่วมกันระดับหนึ่ง มี 3 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปการเมือง ทั้งการเข้าสู่อำนายและการใช้อำนาจ, 2.การกระจายอำนาจ และ 3.การต่อต้านการคอรัปชั่น เบื้องต้นคาดว่าภายใน 1เดือนนับจากนี้จะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังข้อเสนอของการปฏิรูปทั้ง 3 เรื่อง

ด้านนายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า เครือข่ายอาจจะไม่ได้เป็นเวทีกลาง แต่จะเป็นสิ่งที่ช่วยค้นหาทางออกเพื่อไม่ให้สังคมเดินหน้าไปสู่ความเกลียดชัง และความรุนแรง

ขณะที่นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากลุ่มที่คิดว่าควรมีการเลือกตั้งก่อนการปฏิรูป และกลุ่มที่คิดว่าควรมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ถือเป็นความคิดที่ชอบธรรม แต่สิ่งที่จะเป็นทางออกตอนนี้คือการไม่ใช้ความรุนแรง

สำหรับรายชื่อ 73 องค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วม อาทิ FTA Watch, Human Right Watch, Nation Group, Sasin Institute for Global Affairs (SIGA), เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย, เครือข่ายกะเหรี่ยงแห่งประเทศไทย, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง, สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ, กลุ่มจับตาความรุนแรง, บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด,คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), ธนาคารกรุงเทพ, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ประชาคมพรรคการเมืองเอเชีย/ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สำนักข่าวอิศรา, องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น

ทั้งนี้ก่อนหน้านั้นได้นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทศ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทศ หรือน้องเฌอ ผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง ปี 2553 ได้กล่าวบนเวทีเปิดตัวโดยเรียกร้องไปยังผู้ชุมนุม กปปส. ให้ออกไปใช้สิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. และให้ลงคะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (Vote No) เพื่อยุติความสูญเสียของประชาชน ส่วนประเด็นการปฏิรูปนั้นตนอยากให้มีการปฏิรูปกองทัพเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพราะการรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย.2549 และมีการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาซ่ึงเป็นสิ่งไม่บังควร