สเตชั่นวัน VS วัดเล่งเน่ยยี่

สเตชั่นวัน VS วัดเล่งเน่ยยี่

สเตชั่นวัน VS วัดเล่งเน่ยยี่ ผลประโยชน์ กับมนุษย์ธรรม ปมปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี

กลายเป็นปมปัญหาที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี จากกรณีพิพาทระหว่างกรรมการวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กับบริษัท อิมพีเรียลแลนด์ จำกัด เจ้าของโครงการ “สเตชั่นวัน ไชน่าทาวน์” ที่ได้เช่าซื้ออาคารเก่าบนที่ดินของสำนักงานพระคลังข้างที่ ซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัด เพื่อเปลี่ยนเป็น

คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ใจกลางเยาวราช

โครงการดังกล่าวถูกต่อต้านโดยชาวเจริญกรุงมาตั้งแต่ปี 2555 ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการให้พื้นที่ดังกล่าวถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สถานบันเทิง หรือแม้แต่อาคารพักอาศัย อย่างโรงแรม

นายสุธีร์ จินตนานฤมิตร คณะกรรมการวัดเล่งเน่ยยี่ อ้างว่าอาคารนี้ผ่านการต่อเติมผิดแบบ ซึ่งทางการไม่ควรอนุญาตให้ทำต่อ เพราะเกรงว่าจะทำผิดซ้ำสอง ผิดทั้งกฎหมายผังเมืองและเทศบัญญัติ แม้มองว่าผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินสูง และมีความพยายามที่จะเดินหน้าต่อทั้งที่ผิดกฎหมาย

นั่นเป็นเหตุผลให้เกิดความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ขึ้นหลายต่อหลายครั้ง มีการเจรจา 2 ฝ่าย โดยวัดได้เสนอเงิน 30 ล้านบาท ขอให้โอนสัญญาให้กับวัด แต่ทางบริษัทกลับเรียกเงินสูงถึง 280 ล้านบาท จึงได้พยายามคัดค้านไปที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยชี้แจ้งเหตุผลเพื่อไม่ให้อนุญาตให้ซ่อมแซมอาคารและขอให้ระงับการก่อสร้าง ตลอดจนมีการร้องเรียนไปยังศาลปกครองเพื่อหาทางออกให้กับเรื่องดังกล่าว

"วัดพยายามที่จะรักษาโบราณวัตถุ มรดกของเยาวราช เจริญกรุง ศูนย์รวมจิตในของชาวจีน ไม่ปล่อยให้สูญหายไปกับอาคาร ผมเป็นกรรมการวัดก็เป็นห่วงเรื่องนี้อยู่ จึงได้พยายามปกป้องไว้" เขากล่าว และย้ำว่า ทางวัดเองได้พยายามเจรจามาเป็นปีเพราะไม่ต้องการมีปัญหา วันนี้ถือเป็นอีกยกหนึ่งเพื่อไม่ให้เรื่องเงียบหายไป แต่ถ้าไม่ยอมถอยก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของคณะกรรมการวัดเล่งเน่ยยี่ และชาวเยาวราช ทำได้เพียงระงับการก่อสร้างชั่วคราว และดูเหมือนว่าจะยังไม่มีทางออกในเรื่องนี้

สำหรับความคืบหน้าของโครงการสเตชั่นวัน ไชน่าทาวน์ ณ ปัจจุบันอยู่ระหว่างซ่อมแซมโครงสร้างภายในอาคาร โดยบริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะผู้รับเหมาเป็นผู้ดำเนินการ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขให้มีระบบป้องกันอัคคีภัย และปรับปรุงโครงสร้างภายในให้มีความมั่นคงแข็งแรงตามหลักวิศวกรรมโยธา โดยไม่ได้ดัดแปลงอาคารตามที่สำนักงานเขตได้สั่งห้ามดำเนินการ

นายประภัสสร กุหลาบ หัวหน้าฝ่ายโยธาเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย บอกว่า ในกรณีของโครงการสเตชั่นวันฯ เป็นการแก้ไขอาคารที่่มีอันตราย เนื่องจากเป็นอาคารเก่า มีการทุบรื้อบางส่วนออกไปแล้ว ซึ่งอาจกระทบกับโครงสร้างในส่วนอื่น เช่นเดียวกับอาคารที่เกิดเพลิงใหม่ จึงจำเป็นต้องซ่อมแซมและเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงก่อนใช้งาน โดยเฉพาะโครงสร้างหลักคือ เสา และคาน

"ในความเห็นของผมอาคารนี้ยังไม่เข้าข่ายการดัดแปลงตามกฎกระทรวง ที่พ.ร.บ.อาคารบังคับ จึงมีความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ อีกทั้งการระงับไม่ให้ก่อสร้างโดยที่ไม่มีเหตุผล สำนักงานเขตมีความเสี่ยงที่จะโดนฟ้องร้องได้ เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทได้ทำตามกรอบที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเขตได้แจ้งให้แก้ไขอาคารให้แข็งแรงด้วยการซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุด หรือสามารถบังคับให้สร้างบันไดเพิ่มเติมได้เพื่อความปลอดภัย"

ทั้งนี้ อาคารเก่าที่สร้างก่อนกฎกระทรวงบังคับใช้ ยังคงมีกฎหมายบังคับในเรื่องความแข็งแรง และการป้องกันอัคคีภัย เราสามารถบังคับให้สร้างบันไดเพิ่มเติมได้เพื่อความปลอดภัย โดยอาคารเก่าต้องสามารถทดสอบตามหลักวิศวกรรมว่าสามารถรับน้ำหนักได้เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต

หัวหน้าฝ่ายโยธาเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย อธิบายว่าการจะเอาผิดต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือส่วนการก่อสร้างและการใช้งาน อย่างแรกต้องซ่อมก่อนเพื่อพิสูจน์ว่าแข็งแรงหรือไม่ จากนั้นค่อยมาดูเรื่องการใช้งาน ซึ่งกิจการที่ห้ามอยู่ข้างวัด ถ้าไม่ใช่สถานบริการ เป็นอาคารพาณิชย์ อาคารอยู่อาศัยรวมก็ไม่อยู่ในเกณฑ์ สามารถใช้งานได้

ตราบใดที่ยังเป็นการซ่อมแซมอาคารเก่า ไม่ได้ดัดแปลงอาคาร โครงการย่อมดำเนินการต่อได้ แต่ถ้ารื้ออาคารต้องเป็นไปตามกฎหมายใหม่ ซึ่งทั้ง 2 กรณี ต่างมีกฎหมายรองรับทั้งคู่

ล่าสุดทางโครงการได้แจ้งกับสำนักงานเขตว่า ได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์จากการสร้างศูนย์การค้า หรือคอมเพล็กซ์ 7 ชั้น พื้นที่ 163 ตารางวา เป็นอาคารอพาร์ทเมนต์ สำหรับเช่าอาศัยโดยที่ชั้นล่างเป็นอาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตามหัวหน้าฝ่ายโยธาเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ยอมรับว่า แม้โครงการจะไปได้ แต่ก็จะทุลักทุเล การยกเลิกอาจทำได้หากมีหน่วยงานอื่นมาตรวจสอบเพิ่มและให้ความเห็น

และเพื่อให้กรณีพิพาทนี้มีข้อยุติ กรุงเทพมหานครได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร ชุดที่ 4 ในคณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งลงพื้นที่ก่อสร้างจริงเพื่อประกอบการพิจารณา

นายบำรุง รัตนะ ประธานคณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร บอกว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือหลังจากได้รับร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งภายหลังจากที่ได้ตรวจดูโครงสร้างของอาคาร ตนได้เสนอให้ทางโครงการระงับหรือหยุดการก่อสร้างจนกว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุป ว่าทุกฝ่ายสามารถยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหนถึงจะให้เดินหน้าโครงการต่อ

"เราไม่ได้ให้หยุดถาวร เพียงแต่ให้มาคุยก่อน ปัญหาต่างๆ จะได้ลงเอยกันได้ เพราะถ้าปล่อยให้สร้างโดยไม่มีการพูดคุย ปัญหาก็จะยังคงเกิดขึ้นตลอด" ประธานคณะกรรมการสภากทม. กล่าว และว่า ต้องหาข้อสรุปก่อน หรือว่าจะทำอย่างไรต่อไป ที่ผ่านมา สนง.เขต ได้เข้ามาตรวจสอบตลอดเวลา

นายบำรุง บอกด้วยว่า การจะเดินหน้าต่อหรือไม่วันนี้ไม่ได้ข้อยุติ แต่จากสภาพตึกที่เห็นในภาพรวม ยอมรับว่า มีการดำเนินการไปพอสมควร

ทั้งนี้ หลังจากได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติม จะต้องเชิญทุกฝ่ายมาประชุมอีกครั้งหาข้อสรุปยุติกรณีพิพาท โดยคาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์จะมีการเปิดเวทีเจรจา 5 ฝ่าย ที่สภา กทม. เสาชิงช้า โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานพระคลังข้างที่ ผู้รับสัญญา (บริษัท อิมพีเรียลแลนด์ จำกัด) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วัดเล่งเน่ยยี่ และสภากทม. ร่วมหารือถึงข้อยุติของเรื่องนี้อีกครั้ง โดยมองว่ามีแนวโน้มเจรจาต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาทางสำนักงานเขตยังไม่ได้เจรจากับทางวัด แต่เชื่อว่าถ้าได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายปัญหานี้น่าจะลงเอยได้

พระคณาจารย์จีนธรรมปัญญาจริยาภรณ์ (ท่านเจ้าคุณเย็นเชี้ยว) เจ้าอาวาสวัดเล่งเน่ยยี่ บอกเพียงว่า การพูดคุยต้องเป็นไปตามหลักสัจจะธรรม ความจริง ความถูกต้อง จึงจะเป็นการคุยที่มีประโยชน์ ต้องทราบก่อนว่าอาคารแบบนี้เหมาะสมทำอะไร ทางท้องที่จะให้ทำค้าขายหรือเอาที่มาทำประโยชน์ให้กับสาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนรวม ต้องประเมิน มนุษยธรรมต้องมาก่อนผลประโยชน์มาทีหลัง แต่ถ้าพูดถึงเรื่องผลประโยชน์ก็จบ

ด้าน นายพิสิทธิ์ชนนท์ นิวัฒธนากุล กรรมการวัดเล่งเน่ยยี่ ยังยืนยันว่าอาคารในพื้นที่นี้ควรถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเป็นประโยชน์ทางศาสนา แต่ถ้ายังดันทุรังทำต่อก็จะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งถ้าทำถูกต้องจริงคณะกรรมการคงจะไปคัดค้านอะไรไม่ได้