บีบรสก.โยกเงินฝากธ.ก.ส.โปะจำนำข้าว

บีบรสก.โยกเงินฝากธ.ก.ส.โปะจำนำข้าว

รัฐบาลดิ้นหาเงินจ่ายชาวนาจำนำข้าว สั่งรัฐวิสาหกิจโยกเงินฝากไว้กับธ.ก.ส.กว่าหมื่นล้าน หวังหมุนใช้ก่อน รมต.รุมอัด สบน.-ธ.ก.ส.ไม่ช่วยหาเงินกู้

แผนหาเงินจ่ายโครงการจำนำข้าวยังไร้ทางออก หลังจากการกู้เงินส่อมีปัญหา โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะยอมรับว่าแผนกู้เงินสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) กรณีการก่อหนี้เป็นภาระผูกพันรัฐบาลใหม่ ขณะที่การใช้เงินสภาพคล่อง ธ.ก.ส. 7 หมื่นล้านบาท ต้องให้ รมว.คลังเซ็นอนุมัติ แต่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่กล้าลงนามในคำสั่งดังกล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมาได้พิจารณาถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2556/2557 จำนวน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อนำมาเคลียร์เงินค้างจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าโครงการรับจำนำตามใบประทวนของ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) จำนวน 1.1 แสนล้านบาท แต่เนื่องจากมีปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะประเด็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (3) และต้องส่งเรื่องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาด้วยนั้น ทำให้ที่ประชุมต้องพิจารณาหาแหล่งเงินจากที่อื่นมาใช้ไปพลางก่อน

รัฐบาลรับปากกับเกษตรกรไว้ว่า จะจ่ายเงินจากโครงการจำนำข้าวที่ค้างไว้กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งที่ประชุมมีมติให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งโยกเงินฝากจากสถาบันการเงินอื่นมาฝากไว้กับธ.ก.ส. อาทิ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น วงเงิน 1 หมื่นล้านบาทเพื่อแก้ให้ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องมาใช้ในโครงการจำนำข้าวได้ นอกเหนือจากเงินของธ.ก.ส.ที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

"กระทรวงการคลังได้สั่งให้รัฐวิสาหกิจบางแห่ง โยกเงินฝากจากสถาบันการเงินอื่น ให้มาฝากไว้กับธ.ก.ส.แทน โดย 2 วันที่ผ่านมามีเงินฝากเข้ามาที่ธ.ก.ส.ราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้ในโครงการรับจำนำไปก่อน ระหว่างหาเงินจากแหล่งอื่น" แหล่งข่าวระบุ

สำหรับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2556/57 นั้น ขณะนี้ มีปริมาณข้าวเข้าโครงการ ตามใบประทวนทั้งสิ้น 9.8 ล้านตัน วงเงิน 1.6 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีปริมาณข้าวเข้าโครงการไม่เกิน 11 ล้านตัน ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินตามใบประทวนไปแล้ว จำนวน 2 ล้านตัน วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท โดย ธ.ก.ส.เลือกจ่ายเงินตามให้เกษตรกร ที่มีใบประทวนก่อนรัฐบาลประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา

รุมยำธ.ก.ส.-สบน.ไม่หาเงินจำนำข้าวให้

แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า ในที่ประชุมครม. นั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรฯ นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง และ นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ได้ตำหนิการทำงานของ ผู้บริหารสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) และ ธ.ก.ส. อย่างรุนแรง เนื่องจากไม่พอใจที่ไม่สามารถจัดหาเงินทุนมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวได้ตามนโยบาย โดยเฉพาะการกู้เงินเพิ่มอีก 1.3 แสนล้านบาท เพื่อมาจ่ายให้แก่เกษตรกรภายในวันที่ 15 ม.ค. นี้ ตามที่สัญญาไว้

"มีรัฐมนตรีบางคนถึงกับพูดกับข้าราชการจาก สบน.และ ธ.ก.ส. ว่า พวกคุณไม่คิดเหรอว่าพวกเราจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีก ทำไมแค่นี้ช่วยไม่ได้เหรอ "

ชี้กู้ 1.3 แสนล้านเสี่ยงขัดรธน.

รายงานข่าวจาก สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า การกู้เงินใหม่ 1.3 แสนล้านบาทนั้น หากไม่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับ และ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่เห็นชอบ ก็คงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลเอง ก็ประเมินแล้วว่า มีความเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หากมีการก่อหนี้เป็นภาระผูกพันไว้ให้รัฐบาลใหม่ โดยหลังจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงต้องมาหารือกันอีกครั้งว่าจะใช้เงินจากส่วนใด ซึ่งในส่วนของการกู้เงินนั้น สบน. ยังมีแผนจะออกพันธบัตรธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. (GGLB) เพื่อทดแทนเงินกู้ที่ครบอายุอีก 3.8 หมื่นล้านบาท ภายในเดือนม.ค. และเดือนก.พ. นี้ ซึ่งเป็นส่วนที่ขายไม่หมดจากครั้งแรก ที่ขายได้เพียง 3.7 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การบริหารเงินกู้ก็จะทำภายใต้กรอบวงเงินเดิม 4.1 แสนล้านบาท

กิตติรัตน์ผวาเซ็นใช้สภาพคล่อง ธ.ก.ส.

สำหรับทางออกในการหาเงินมาใช้บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่ยังไม่ได้รับเงินจากการจำนำข้าวและถือใบประทวนไว้ ซึ่งมีอีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาทนั้น คงต้องให้ ธ.ก.ส.สำรองสภาพคล่องของตัวเองออกไปก่อน เหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่ง ธ.ก.ส.ไม่ได้มีปัญหาสภาพคล่อง แต่สาเหตุที่ไม่กล้าดำเนินการ เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานที่เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับธนาคาร หรือมีมติ ครม.รองรับ ซึ่งแม้แต่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกและรมว.คลังยังไม่กล้าเซ็นชื่อรองรับด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ ตามแผนการแก้ปัญหาการจำนำข้าวรอบใหม่วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมจะให้ใช้เงินของธ.ก.ส.เดิม 9 หมื่นล้านบาท รวมกับของใหม่ 5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.4 แสนล้านบาท และเงินจากการกู้อีก 1.3 แสนล้านบาท ระหว่างที่รอเงินจากการระบายข้าว หาก กกต.ไม่เห็นชอบให้มีการขายข้าวเพิ่มเติม แต่เมื่อไม่สามารถกู้เงินใหม่ได้ เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องมาปรับแผนกันใหม่ในเร็วๆ นี้

รายงานข่าวจากธ.ก.ส.ระบุว่า หลังจากที่มีกระแสข่าวออกไปว่า จะใช้สภาพคล่องของธนาคารในการจ่ายเงินค้างจำนำข้าวให้ชาวนา ทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความกังวลใจว่า จะมีผลกระทบต่อธนาคารและโทรศัพท์สอบถามเข้ามาที่สาขาของธนาคารอย่างมาก ทางธนาคารได้ชี้แจงว่า การนำสภาพคล่องมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนั้น ส่วนของเงินฝาก จะมาจากเงินฝากของหน่วยงานต่างๆ เช่น ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จะไม่ใช่เงินฝากของรายย่อยอย่างแน่นอน นอกจากนั้นก็ใช้เงินงบประมาณและเงินจากการขายข้าวเป็นส่วนใหญ่

กกต.ไฟเขียวพาณิชย์ขายข้าวได้

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำหนังสือสอบถามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เกี่ยวกับการดำเนินการระบายข้าวหลังการยุบสภานั้น เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2557 กกต.ได้พิจารณาเห็นชอบให้รัฐบาลสามารถระบายข้าวได้แล้ว ซึ่งจะสามารถขายข้าวได้ ทั้งในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) รวมถึงขายข้าวให้ภาคเอกชนผ่านการเปิดประมูล

ทำให้หลังจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเดินหน้าระบายข้าวผ่านจีทูจี ให้รัฐบาลจีนปริมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นการทำสัญญาตามที่ได้ผูกพันไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรีจีนเดินทางเยือนไทย โดยล่าสุดจะได้เร่งสรุปราคาซื้อขายให้สมบูรณ์ก่อนการทำการเซ็นสัญญาและส่งมอบต่อไป ในส่วนของภาคเอกชนมีผู้ที่สนใจเสนอซื้อข้าวจากรัฐบาลผ่านการนำคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากต่างประเทศมาประกอบอีกหลายราย ซึ่งมีปริมาณรวมหลายแสนตัน ซึ่งได้มีการเสนอซื้อก่อนหน้านี้ในราคาตลาด เมื่อทราบความชัดเจนจากกกต. ก็สามารถอนุมัติขายได้ทันที

ขณะที่แผนการจ่ายเงินให้กับชาวนานั้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท และขณะนี้รัฐบาลมีเงินอยู่ 7.7 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่ได้จากการขายข้าว โดยจะสามารถเร่งจ่ายเงินคืนให้ได้ภายใน 15 วัน ไม่เกินวันที่ 25 ม.ค. 2557 และธ.ก.ส.มีศักยภาพในการจ่ายเงินได้วันละ 3,000 -4,000 ล้านบาท

นิวัฒน์ธำรงเร่งขายข้าวคืนเงินชาวนา

สำหรับการรับจำนำข้าวในปี 2557 คาดว่าจะมีข้าวเข้าโครงการไม่เกิน 10 ล้านตัน วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลมีเงินอยู่แล้ว 1 แสนล้านบาท ยังขาดเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการกู้เงินถึง 1.3 แสนล้านบาทนั้น เป็นไปตามกรอบที่กำหนดให้มีการกู้เงินสำหรับโครงการรับจำนำที่ได้กำหนดไว้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจไม่ถึงจำนวนดังกล่าวก็ได้ แต่การกู้นี้จะดำเนินการได้หรือไม่ ต้องรอความชัดเจนจากกกต.

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่มีการอนุมัติให้กู้เงิน แต่ก็มั่นใจว่าสามารถจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาได้ ตามกำหนดอย่างแน่นอน เพราะมีเงินจากส่วนอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น เงินงบประมาณ และเงินจากการขายข้าวของรัฐบาลที่กำลังทยอยส่งคืนอย่างต่อเนื่อง

“หลังจากการประชุมครม.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ประชุมจะเร่งทำหนังสือส่งไปยังกกต. เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการกู้เงิน และส่งให้ กกต. ภายใน 2-3 วัน โดยหลังจากที่ทำเรื่องไปยัง กกต. เชื่อว่า กกต.น่าจะอนุมัติให้กู้เพิ่ม ส่วนการระบายข้าวเรามีเป้าหมายจะระบายข้าวไปจนถึงวันสุดท้ายที่เขาไม่ให้ทำงาน โดยสรุปการคืนเงินจากระบายข้าวรวมตั้งแต่ปี 2554-2556 มียอดเงินสะสมรวม 1.8 แสนล้านบาท” นายนิวัฒน์ธำรง กล่าว

เร่ขายราคาถูก-เร่งโหลดข้าวผิดปกติ

แหล่งข่าวผู้ค้าข้าว กล่าวว่า จากปัญหาการจ่ายเงินโครงการจำนำข้าวนั้นทำให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการทุกวิถีทาง ในการระบายข้าวเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนจ่ายค่าข้าวให้กับชาวนา แต่ไม่ปรากฏว่าบริษัทที่ได้ประมูลข้าวรัฐดำเนินการ กลับปรากฏบริษัทสยามอินดิก้า เร่งโหลดข้าวลงเรือ ทั้งที่ไม่เคยปรากฏว่าประมูลข้าวจากสต็อกรัฐได้ และไม่มีความเคลื่อนไหวของการหาซื้อข้าวในตลาด

"น่าแปลกใจที่มีบริษัทนี้เร่งขนข้าวอยู่รายเดียว ไม่มีความเคลื่อนไหวในตลาด และข้าวส่วนใหญ่อยู่ในสต็อกรัฐ แต่ไปเบิกข้าว ขนข้าวมาได้อย่างไร ทั้งที่ไม่ได้ประมูล อย่าง 2-3 วันนี้โหลดลงเรือไปขายที่ประเทศแคเมอรูน แถมตกลงขายข้าวคุณภาพดีตีเกรดข้าวเป็นข้าว 5 % ได้ แต่กลับไปขายเป็นข้าว 25 % ราคาถูกมาก 333 ดอลลาร์ต่อตัน ผู้ส่งออกรายอื่นนั่งมองตาปริบๆ ขายถูกขนาดนั้นได้อย่างไร "

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยโค้ดราคาส่งออกเอฟโอบี เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ข้าว 25% ราคา 371 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวขาว 5% อยู่ที่ราคา 438 ดอลลาร์ต่อตัน เป็นราคาล่าสุดที่ปรับลดลงจากสัปดาห์ก่อน ข้าวขาว 5% โค้ดที่ 450 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวขาว 25% โค้ดราคาที่ 398 ดอลลาร์ต่อตัน

"หากพิจารณาจากราคาล่าสุด ที่ผู้ส่งออกขายกัน ก็พบว่าไปขายตัดราคากันร่วม 40 ดอลลาร์ต่อตัน ไม่ทราบว่าค้ากันได้อย่างไร"