'บิ๊กธุรกิจ'แห่นั่งคุม เคาะประมูลทีวีดิจิทัล

'บิ๊กธุรกิจ'แห่นั่งคุม เคาะประมูลทีวีดิจิทัล

จับตาบิ๊กธุรกิจร่วมวงนั่งกำกับเคาะประมูลทีวีดิจิทัล 26-27 ธ.ค. ชี้จุดเปลี่ยนยุคทีวีดิจิทัล ออนแอร์ปี"57 ดันธุรกิจคอนเทนท์สะพัด 3 หมื่นล้าน

การจัดสรรคลื่นความถี่โทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) ประเภทธุรกิจ 24 ช่อง ประกอบด้วยช่องทั่วไปความคมชัดสูง (เอชดี) 7 ช่อง, ช่องทั่วไปความคมชัดมาตรฐาน (วาไรตี้ เอสดี) 7 ช่อง, ช่องข่าว 7 ช่อง และช่องเด็ก 3 ช่อง ภายใต้ระบบใบอนุญาต 15 ปี ที่ดำเนินการโดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดให้มีการจัดประมูลในวันที่ 26-27 ธ.ค. 2556 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรคลื่นความถี่ภายใต้ระบบใบอนุญาต โดยองค์กรกำกับดูแลครั้งแรกของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ไทยในรอบ 58 ปี

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่าหลังจากสำนักงาน กสทช. จัดให้มีผู้สิทธิประมูลทีวีดิจิทัลทดลองใช้ระบบประมูล 2 ครั้ง รวม 4 วัน คือในวันที่ 12-13 ธ.ค. และ 19-20 ธ.ค. 2556 ที่ผ่านมา ขณะนี้ระบบเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการประมูลมีความพร้อม 100% เพื่อเตรียมพร้อมประมูลในวันที่ 26-27 ธ.ค. นี้ ที่อาคาร กสท โทรคมนาคม บางรัก

พร้อมกันนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ระบบประมูล ได้เพิ่มเติมมาตรการดูแลระบบ ประกอบด้วย 1.ให้มีการกำหนดรหัสผ่าน (password) ระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการประมูล โดยสำนักงาน กสทช. และ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยมีหน้าที่ดำเนินการและเก็บรักษารหัสผ่านร่วมกัน

2.ให้มีการกำหนดรหัสผ่าน โปรแกรมระบบประมูลของผู้ประมูล โดยให้สำนักงาน กสทช. โดยรักษาการ รองเลขาธิการภารกิจกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และผู้อำนวยการสำนักเปลี่ยนผ่านระบบ กสทช. เก็บรักษาร่วมกัน

3.ให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม จัดให้มีกล้องวงจรปิด เพื่อเฝ้าระวังเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายและอุปกรณ์เครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการประมูลและแสดงต่อสาธารณะตลอดเวลาการประมูล และ 4.กำหนดให้มีการเก็บข้อมูลประวัติการเสนอราคา (bid log) ของผู้เข้าประมูล ตลอดระยะเวลาการประมูลโดยให้เปิดเผยภายหลังสิ้นสุดเวลาการประมูลในหมวดสุดท้าย คือ การประมูลช่องเด็ก วันที่ 27 ธ.ค. 2556 ทั้งนี้ กำหนดให้ผู้เข้าประมูลที่สนใจสามารถส่งผู้แทนเข้าร่วมการตรวจสอบหมวดหมู่ที่ตนเองเข้าร่วมประมูล เพื่อดูข้อมูลการเสนอราคาได้รายละไม่เกิน 2 คน

รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ดูแลการประมูลทั้งจาก สำนักงาน กสทช. และ บมจ. กสท โทรคมนาคม อีก 60 คน จากเดิมกำหนดไว้จำนวน 175 คน รวมเป็น 235 คน เพื่อดูแลทั้งระบบและพื้นที่การประมูลอย่างทั่วถึง และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการประมูลทุกขั้นตอน หลังจากประมูลในวันที่ 26-27 ธ.ค. นี้ กสทช.จะรับรองผู้ชนะการประมูลภายใน 15 วัน มอบใบอนุญาตในเดือนม.ค. 2557 และกำหนดออกอากาศทีวีดิจิทัลเดือนก.พ. 2557

บิ๊กธุรกิจแห่นั่งกำกับเคาะประมูลเอง

สำหรับการทดลองประมูลทีวีดิจิทัลครั้งสุดท้ายในวันที่ 19-20 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นขั้นตอนการทดลองประมูลแบบเสมือนจริง พบว่ามีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่เข้าร่วมประมูลมาทดลองระบบประมูลจำนวนมาก คาดว่าจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่เข้าร่วมประมูลจริงในวันที่ 26-27 ธ.ค. นี้ อาทิ นายประสาร มาลีนนท์ รองประธานกรรมการ บมจ.บีอีซี เวิลด์ ผู้บริหารช่อง 3 ร่วมประมูล 3 ช่อง คือ เอชดี, วาไรตี้ เอสดี และช่องเด็ก, นายศรัณย์ วิรุตมวงศ์ กรรมการ และ นายพลากร สมสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้บริหารช่อง 7 ร่วมประมูล 2 ช่อง คือเอชดีและวาไรตี้ นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ร่วมประมูล 3 ช่อง คือ เอชดี, วาไรตี้ และ ช่องเด็ก

ส่วนคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ เช่น นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อาร์เอส, นายปัญญา นิรันดร์กุล ประธานกรรมการ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์

ผู้บริหารกลุ่มสื่อ เช่น นายวัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ผู้บริหารไทยรัฐทีวี, นายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการ บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง ผู้บริหารอมรินทร์ทีวี, นายสุทธิชัย หยุ่น ประธานกรรมการ และ นายเสริมสิน สมะลาภา รองประธานกรรมการ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป, นายทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท วอยซ์ทีวี จำกัด เป็นต้น กลุ่มโทรคมนาคม นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มอินทัช

"ไพบูลย์"ยันพร้อมร่วมวงประมูลพรุ่งนี้

นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ได้เข้าร่วมทดลองระบบประมูลทีวีดิจิทัลที่จัดทดลองทั้ง 2 ครั้ง และจะเข้าไปร่วมประมูลจริงวันที่ 26 ธ.ค. นี้ด้วย ซึ่งแกรมมี่ประมูล 2 ประเภท คือ เอชดี และวาไรตี้ เอสดี การเข้าร่วมทดลองระบบประมูลดังกล่าวเพื่อต้องการดูระบบและทุกขั้นตอนการประมูล และเพื่อให้ผู้ที่ทำหน้าที่เคาะประมูลมีความคุ้นเคยกับระบบและแม่นยำในการเสนอราคาประมูล

การประมูลครั้งนี้ เป็นแผนการลงทุนที่มีความสำคัญกับทุกบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ดังนั้นเชื่อว่าผู้บริหารระดับสูงสุดทุกบริษัท ต้องเข้าไปกำกับการประมูลด้วยตัวเอง โดยเฉพาะในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินใจทางธุรกิจ

คอนเทนท์สะพัด3หมื่นล้าน

ภายหลังการประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการแข่งขันของสื่อทีวีในยุคทีวีดิจิทัลจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะมีฟรีทีวีช่องบริการธุรกิจเพิ่มเป็น 24 ช่อง จากเดิม 6 ช่องฟรีทีวีอนาล็อก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่อาจเป็นผู้ให้บริการช่องรายการเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมเดิม ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ หรือผู้ประกอบการธุรกิจสื่ออื่นๆ ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมสื่อฟรีทีวีดิจิทัล ยังเป็นสื่อที่ครองฐานคนดูมากที่สุด ทำให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพรายการโทรทัศน์

การเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัลเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสื่อโทรทัศน์ไทย ทำให้ธุรกิจการให้บริการด้านบรอดแคสต์ ตั้งแต่ธุรกิจให้บริการโครงข่ายและการวางโครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล (Mux) ธุรกิจให้บริการช่องรายการ ตลอดถึงธุรกิจให้บริการผลิตรายการโทรทัศน์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการเกิดทีวีดิจิทัล

ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มธุรกิจให้บริการโครงข่ายและวางโครงข่ายทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาต 4 ราย มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 7,400 ล้านบาท

ขณะที่การจัดสรรฟรีทีวีดิจิทัลใหม่ 24 ช่อง ทำให้ธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ (Content Provider) เติบโตสูงจากความต้องการรายการทีวี เพื่อป้อนเข้าสู่ช่องฟรีทีวีดิจิทัล ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตรายการทีวี ทั้งกลุ่มคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ธุรกิจให้เช่าสตูดิโอ อุปกรณ์การถ่ายทำ เสื้อผ้านักแสดง และธุรกิจการให้บริการเทคนิคพิเศษ คาดว่าตลาดผลิตรายการทีวีปี 2557 ภายหลังจากการเกิดทีวีดิจิทัล จะมีมูลค่าสูงถึง 32,690-33,260 ล้านบาท เติบโต 14 -16% จากปี 2556 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 28,780 ล้านบาท

'จอทีวี-กล่อง'ยอดพุ่ง4หมื่นล้าน

ทั้งนี้ การรับชมทีวีระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน ผู้บริโภคจะต้องใช้อุปกรณ์รับสัญญาณดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรับโทรทัศน์ที่มีจูนเนอร์ระบบดิจิทัลแบบ DBV-T2 ในตัว หรือกล่องรับสัญญาณดิจิทัล (Set-Top-Box) นับเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายสามารถผลิตหรือนำเข้าเครื่องรับโทรทัศน์และกล่องรับสัญญาณระบบดิจิทัล เพื่อมารองรับความต้องการของผู้บริโภค ที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัลดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามูลค่าตลาดเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิทัลและกล่องรับสัญญาณดิจิทัลโดยรวมในปี 2557 จะมีมูลค่าประมาณ 40,240-44,470 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2556 มีมูลค่าตลาดอยู่เพียงราว 5,200 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มทยอยจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ดิจิทัลและกล่องรับสัญญาณดิจิทัลในช่วงไตรมาส 4

ดันธุรกิจทีวีโฮมชอปปิงโต

นอกจากนี้ การเกิดทีวีดิจิทัลที่มีช่องบริการธุรกิจในรูปแบบฟรีทีวีเพิ่มขึ้นกว่า 24 ช่อง เป็นโอกาสทางธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจทีวีโฮมชอปปิง ที่ใช้สื่อโทรทัศน์เป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาด เนื่องจากผู้ประกอบการจะมีช่องรายการ สำหรับทำการตลาดผ่านรายการทีวี หรือ สปอต โฆษณา เพื่อเสนอขายสินค้าและบริการบนช่องฟรีทีวีได้มากขึ้น

จากจำนวนช่องฟรีทีวีที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ต้นทุนการทำตลาดผ่านสื่อทีวีถูกลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโฮมชอปปิงขนาดกลางและขนาดเล็กมีโอกาสเข้ามาทำการตลาดผ่านสื่อทีวีได้มากขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหลังจากการที่ทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจ ออกอากาศภายในไตรมาสแรก ปี 2557 จะทำให้มูลค่าตลาดทีวีโฮมชอปปิงปีหน้า มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นกว่า 20-25% มีมูลค่าอยู่ที่ 6,000-6,250 ล้านบาท