ย้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.ถูกตีตก

ย้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.ถูกตีตก

ส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมร่วมสภามีการเติมมาตราใหม่เข้ามาคือม.116วรรคสอง และเพิ่มการแก้ไขวรรคหนึ่ง ม.241

หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรมนูญ เมื่อวันที่ 20พ.ย.56 ในคดีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของส.ว.ว่าไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 291 วรรคหนึ่งระบุไว้

โดยสาระหลักตามคำวินิจฉัยฯ คือ การนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำขึ้นใหม่ ที่มีหลักการแตกต่างจากร่างฯ ที่เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยนายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยและคณะ มาให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐพิจารณาในวาระรับหลักการ มีผลทำให้การขอแก้ไขพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกระบวนการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรค1

เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.56 หลังจากตัวแทนของส.ว.และ ส.ส. จำนวน 308 คน นำโดย"อุดมเดช รัตนเสถียร"ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อ"สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา" แล้วก็ได้ส่งมอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม ให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเข้าระบบ โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้าระบบ มีหลักการอยู่ว่า"แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา111 มาตรา112 มาตรา115 มาตรา117 มาตรา118มาตรา120 และมาตรา 241 และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114)" แต่พอส่งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กับที่ประชุมร่วมรัฐสภาพบว่ามีการเติมมาตราใหม่เข้ามา คือ มาตรา 116 วรรคสอง และเพิ่มการแก้ไขวรรคหนึ่งของมาตรา 241

โดยสาระสำคัญของ มาตรา 116 วรรคสองที่เพิ่มเข้ามา นั้นเพื่อเปิดช่องให้ส.ว.ที่หมดสมาชิกภาพสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว.ได้ทันที โดยไม่ต้องรอการเว้นวรรคเป็นเวลา 2 ปี อย่างที่รัฐธรรมนูญ2550กำหนด ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 241วรรคหนึ่ง นั้นเป็นบทบัญญัติห้ามไม่ให้มีการจับ คุมขัง หรือหมายเรียก กกต.ไปทำการสอบสวน ซึ่งของใหม่นั้นได้ตัดในประโยคที่ว่า"ประกาศให้มีการสรรหาส.ว." ออก

เมื่อตรวจสอบรายละเอียดของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของส.ว เปรียบเทียบกันร่างฯ ที่เสนอเข้าระบบโดยคณะสส.เพื่อไทยและส.ว.สายรัฐบาล กับ ร่างฯ ที่บรรจุในระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 เม.ย. พบอีก 1 จุดต่าง คือ มาตรา 5 ให้ยกเลิกมาตรา 115 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ว. ในส่วนของ (9) ได้ระบุคุณสมบัติเพื่อเปิดช่องนักการเมืองทุกระดับ อาทิ ส.ว.ชุดปัจจุบัน สมาชิกสภาท้องถิ่น รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันทีที่หมดวาระ จากเดิมที่ห้ามรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พ้นตำแหน่งไปแล้วไม่ถึง 5 ปีและอนุญาตให้เพียงสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นลงสมัคร

ทั้งนี้ในเนื้อหาดังกล่าวยังมีความมึนงง เพราะได้คัดลอกคำ มาผลิตคำซ้ำซึ่งยากต่อการตีความ โดยถ้อยคำใน (9) ของร่างฯที่เสนอเข้ารัฐสภา มีดังต่อไปนี้ "ไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น แต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้วยังไม่เกินห้าปี"

นอกจากนั้นแล้ว หากพิจารณาตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุตอนหนึ่งว่า นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาฯ ได้เบิกความว่าหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขยังสามารถแก้ไขได้ และน่าจะแก้ไขในเรื่องผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น พิมพ์ผิด เทียบเคียงกับกระบวนการของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ฐานะฝ่ายธุรการ พบว่าการแก้ไขร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ส่งเข้าระบบได้นั้น เจ้าหน้าที่รัฐสภาไม่สามารถใช้อำนาจตนเองดำเนินการแก้ไขได้เองโดยลำพัง เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ข้อ 90 ระบุไว้ว่า"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผู้เสนอตามมาตรา291(1) ของรัฐธรรมนูญให้ประธานรัฐสภาทำการตรวจสอบ และหากมีข้กบกพร่องให้ประธานแจ้งผู้เสนอให้ผู้เสนอแก้ไขให้ถูกต้อง"

ความบกพร่องในที่นี้ "ฝ่ายกฎหมายรัฐสภา" อธิบายความว่า อาจหมายถึงถ้อยคำและเนื้อหา

ซึ่งที่ผ่านมาไม่ปรากฎข้อเท็จจริง หรือเอกสารทางราชการว่า"ประธานสมศักดิ์"ได้แจ้งผู้เสนอให้ดำเนินการแก้ไขความบกพร่องก่อนนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาวาระหนึ่ง หรือผู้เสนอได้ยื่นเอกสารให้ฝ่ายธุระการเพื่อขอให้แก้ไขตัวร่าง คล้อยหลังที่คณะผู้เสนอ ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมต่อ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไปเพียง7 วัน "ประธานรัฐสภา"ได้บรรจุเรื่องให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ในวันที่ 1 เม.ย.56 ทันที