เมดิเทคฯเจ๋ง ส่ง 'เซนส์' เจาะตลาดสูงวัยอาเซียน

เมดิเทคฯเจ๋ง ส่ง 'เซนส์' เจาะตลาดสูงวัยอาเซียน

คนไทยเจ๋ง คิดค้นซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ช่วยสื่อสารทางสายตา "เซนส์" ช่วยผู้ป่วยอัมพาตและผู้สูงอายุ รายแรกของเอเชีย

เอกชนไทยคิดค้นซอฟต์แวร์ช่วยผู้ป่วยอัมพาตและผู้สูงอายุสื่อสารกับแพทย์และผู้ดูแล เพียงกะพริบตาเลือกข้อความบนจอคอมพิวเตอร์ เพิ่มโปรแกรมภาษาต่างๆ ในอาเซียน เตรียมส่งสินค้าเข้าทำตลาดภายใน 2 ปี พร้อมเล็งใช้สิงคโปร์เป็นฐานการลงทุนสู่ตลาดโลก

นายปิยะศักดิ์ บุญคมรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เมดิเทค โซลูชั่น จำกัด ผู้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ช่วยสื่อสารทางสายตาในชื่อ "เซนส์" (SenzE) รายแรกของเอเชีย และเครื่องที่ 3 ของโลก เปิดเผยว่า มูลค่าทางการตลาดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการและผู้สูงอายุในประเทศไทยมีประมาณ 1,400 ล้านบาท และเพิ่มเป็นกว่า 6,000 ล้านบาทหากตลาดอาเซียนเปิดอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีข้างหน้า นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุน

"เซนส์" เป็นอุปกรณ์ช่วยสื่อสารสำหรับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตและกล้ามเนื้ออ่อนแรง (โรคเอแอลเอส) อาศัยกล้องความละเอียดสูงตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตาผู้ป่วย และใช้การกะพริบตา 2 ครั้งแทนการออกคำสั่งเสมือนการกด enter เลือกเมนูคำสั่งหรือประโยคข้อความบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้โดยง่าย ทำให้มีกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"อุปกรณ์เพิ่งพัฒนาแล้วเสร็จและผ่านการทดสอบใช้งานในสถานพยาบาลจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นจดสิทธิบัตรในไทย คาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ภายในปีนี้ ขณะเดียวกันก็ยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศที่ต้องการไปทำตลาดในอนาคตด้วย" นายปิยะศักดิ์กล่าว

ในส่วนของอาเซียน แม้จะยังไม่ได้ศึกษาตัวเลขกลุ่มเป้าหมายเพื่อคิดเป็นมูลค่าทางการตลาดที่ชัดเจน แต่มีแผนจะเข้าประชาคมอาเซียนภายใน 2 ปี จึงตั้งเป้าพัฒนาคีย์บอร์ดรองรับภาษาต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน นอกเหนือจากคีย์บอร์ดภาษาไทยและอังกฤษที่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ทั้งยังมีแผนพัฒนาฟังก์ชันการใช้งานใหม่ๆ เช่น การเป็นโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ เพื่อให้ความบันเทองแก่ผู้ป่วย รวมถึงการเพิ่มระบบแจ้งเตือนเพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของญาติหรือผู้ดูแล

นายปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาหาผู้ร่วมทุนในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่เหมาะกับการลงทุนเรื่องอุปกรณ์การแพทย์ โดยมีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย มาตรฐานที่รองรับการผลิต กลไกภาษีที่เอื้อให้เกิดการลงทุน รวมถึงมีศูนย์การแพทย์ที่ได้รับการยอมรับอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นฐานในการขยายอุปกรณ์เซนส์สู่กลุ่มผู้ใช้งานในอาเซียนรวมถึงตลาดโลก

นอกจากนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศเป้าหมายต่อไปที่จะเปิดตลาดด้วย เนื่องจากมีความหลากหลายเรื่องการนำเทคโนโลยีต่างชาติเข้าไปประยุกต์ใช้ในการดูแลรักษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย

"ประเทศที่ผมจัดความสำคัญเป็นลำดับสุดท้ายคือ จีน แม้จะมีประชากรสูงอายุและคนป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จำนวนมากก็ตาม เพราะเสี่ยงที่จะถูกละเมิดลิขสิทธิ์หรือการลอกเลียนแบบให้เป็นสินค้าที่มีลักษณะคล้ายๆ กันได้ง่าย และเชื่อว่าประเทศเขาเองก็น่าจะมีการนำเข้าอุปกรณ์ลักษณะเดียวกันเพื่อการใช้งานอยู่บ้างแล้ว" นายปิยะศักดิ์ กล่าว