ข้อความใหม่ในใบกำกับภาษี (3)

ข้อความใหม่ในใบกำกับภาษี (3)

ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 196)

ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 แก้ไขเพิ่มเติมประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2535 กำหนดข้อความอื่นเพิ่มเติมในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงขอนำประเด็นปุจฉา – วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้
ปุจฉา ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ต้องออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 ต้องมีรูปแบบอย่างไร
วิสัชนา ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปต้องมีรายการโดยครบถ้วนสมบูรณ์ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเฉพาะที่ต้องออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 มีดังต่อไปนี้
1. คำว่า “ใบกำกับภาษี”โดยจะแสดงไว้ที่ส่วนใดของใบกำกับภาษีก็ได้
รายการคำว่า “ใบกำกับภาษี” นี้ต้องจัดทำขึ้นโดยการตีพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กรณีที่ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปนั้นจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ มิฉะนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะนำไปใช้เป็นภาษีซื้อไม่ได้ ต้องให้ยกเลิกแล้วออกใหม่แทนฉบับเดิมเท่านั้น
2. ข้อความ “ชื่อ” “ที่อยู่”และ “เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร”ของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ
(1) เกี่ยวกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรนั้น นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา ได้มีข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก ดังนี้
- สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยโดยได้จดแจ้งการประกอบกิจการในราชอาณาจักรต่อเจ้าพนักงานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลักตามหนังสือรับรองฯที่ออกให้โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร
- กรณีอื่น ให้ผู้ต้องเสียภาษีอากรหรือผู้นำส่งภาษีอากร อาทิ ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่ติบุคคล นิติบุคคลอื่น รวมทั้งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และประกอบกิจการในประเทศไทยผ่านตัวแทน ให้ขอมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก ที่กรมสรรพากรออกให้
(2) รายการ “ชื่อ” “ที่อยู่”และ “เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร”นี้ต้องจัดทำขึ้นโดยการตีพิมพ์มาจากโรงพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ กรณีที่ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปนั้นจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ มิฉะนั้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการจะนำไปใช้เป็นภาษีซื้อไม่ได้ ต้องให้ยกเลิกแล้วออกใหม่แทนฉบับเดิมเท่านั้น
อนึ่ง กรมสรรพากรได้กำหนดให้เพิ่มเติมข้อความใหม่ในใบกำกับภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป ซึ่งได้แก่ ข้อความว่า “สำนักงานใหญ่”หรือ “สาขาที่ ...”ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ซึ่งข้อความดังกล่าว โดยจะจัดทำให้มีขึ้นโดยการตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

อ่านต่อฉบับหน้าครับ