"WO-MANIS" พลิกชีวิตสาวมุสลิมปลายด้ามขวาน

"WO-MANIS" พลิกชีวิตสาวมุสลิมปลายด้ามขวาน

“วู้-มานิส”ฝีมือของหญิงหม้ายใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องสูญเสียสามีไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบพวกเธอใช้ผืนผ้าส่งเสียงเล็กๆ ไปยังผู้คนในสังคม

ผ้าคลุมผมสตรีมุสลิม (ฮิญาบ) ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้ามัสลินแท้ จากงานปักจักรและปักมือสุดปราณีต ประทับตรา “WO-MANIS” เป็นผลงานจากความร่วมมือของ กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจเพื่อสังคม ดีไซเนอร์จิตอาสา และกลุ่มสตรีหม้ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ต้นคิดเรื่องดีๆ ไม่ใช่คนตัวใหญ่ของบ้านเมือง ทว่าเป็นเพียงเด็กสาวรุ่นใหม่ 3 ชีวิต “อัสมา นาคเสวี” ผู้ก่อตั้ง “นัซนีน นาคเสวี” และ “ภูวิชชา สาเมาะ” ผู้ร่วมก่อตั้ง “วู้-มานิส” (WO-MANIS) กิจการเพื่อสังคมน้องใหม่ ที่ผลกำไรไม่ใช่เพื่อธุรกิจ แต่คือ เรียกรอยยิ้มและความสุขให้กับสตรีหม้ายในดินแดนปลายด้ามขวาน

“เริ่มจากเราเห็นปัญหาของสตรีที่ต้องสูญเสียสามีไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ เลยมาคิดว่าพอจะทำอะไรที่จะช่วยสตรีหม้ายเหล่านี้ได้บ้าง พบว่าสิ่งที่เขาทำได้คือ ผ้าคลุม ฮิญาบ เลยเริ่มจากซื้อผ้าไปให้เขาเย็บ จากนั้นก็เอาไปขายในเฟชบุ้ค ปรากฎว่าขายดี พอเริ่มมีกำไร ก็คิดว่าน่าจะเอากำไรนั้นไปทำประโยชน์ เลยซื้อขนม อุปกรณ์การเรียน ไปแจกเด็กๆ ที่กำพร้า”

“อัสมา นาคเสวี” นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีการจัดการ มหาวิทยาลัย ชินวัตร บอกเล่าความตั้งใจดีที่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา โดยมีแรงขับเคลื่อนคือ “ใจ” และไม่เคยนิยามว่านี่คือ "ธุรกิจ" หรือ "กิจการเพื่อสังคม" เพียงแต่เป็นความตั้งใจของเด็กกลุ่มหนึ่ง ที่อยากมีส่วนเยียวยาปัญหาในบ้านเกิดของพวกเขาเท่านั้น

“แม่บ้านที่เราเข้าไปช่วยเขาไม่มีอาชีพหลัก พอสามีเสียชีวิตไปก็เลยไม่มีอะไรทำ ปกติสตรีหม้ายจะได้รับค่าช่วยเหลือจากทางรัฐอยู่แล้วประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน แต่ไม่เพียงพอต่อครอบครัว เลยต้องหาอาชีพเสริม พอเราเข้าไปอย่างน้อยเขาก็มีความหวังที่จะมีรายได้ที่ยั่งยืนขึ้น เพราะเมื่อเขาทำงานส่งให้เรา เราจ่ายค่าจ้างทันที ไม่ต้องรอว่าจะขายได้หรือไม่ได้ และพอขายได้ก็จะแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้อีกเพื่อเป็นเบี้ยเลี้ยงให้กับเขา”

สิ่งที่ทำเริ่มจากใจที่อยากจะช่วยล้วนๆ ไม่ได้มีต้นแบบ ไม่ได้มีตำรา ไม่รู้วิธีการ อาศัยแค่ทำไปตามสัญชาตญาณเท่านั้น จนเมื่อได้เข้าร่วมโครงการ "Young Social Entrepreneur Camp" ของ อโชก้า ประเทศไทย และไปออกค่ายเพื่อเรียนรู้กิจการเพื่อสังคม จึงพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ทำขึ้นมาจนเป็น WO-MANIS อย่างในวันนี้ และพัฒนาปรับปรุงไอเดียจนได้เป็น 1 ใน 11 ทีม ที่ร่วมโครงการ "พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม" (BANPU Champions for Change) ในปีนี้ ในเฟสแรก โดยมีเงินลงทุนมาเดินหน้ากิจการ 5 หมื่นบาท

“จากเดิมเราแค่ซื้อผ้ามาให้เขาทำแล้วขาย ซึ่งพอทำมาระยะหนึ่งก็พบว่าคนทำแบบนี้เยอะมาก ทำให้การเอาตัวรอดในตลาดค่อนข้างลำบาก เลยนำทุนที่ได้จากโครงการบ้านปูฯ ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้มีความโดดเด่นมากขึ้น”

แนวทางที่พัฒนา คือ ไปดึงความร่วมมือจากเหล่าดีไซเนอร์จิตอาสา ที่เป็นทั้งนิสิตในมหาวิทยาลัย และคนที่ทำงานออกแบบ ให้มาช่วยปล่อยพลังไอเดีย ทำให้ผลงานจากชาวบ้านดูสวยงามและโดดเด่นขึ้น ซึ่งดีไซเนอร์บางท่านก็มีเหล่าแฟนคลับติดตามผลงานอยู่แล้ว จึงทำให้สินค้าจาก WO-MANIS ได้อนิสงห์ช่วยขยายฐานคนซื้อที่กว้างขึ้นด้วย

“ที่ผ่านมาเราแค่ทำขายโดยไม่ได้บอกที่มาของสินค้า แต่พอได้ไปเข้าอบรมจากค่าย ก็รู้ว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นการตลาดอย่างหนึ่ง มันขายได้ เลยเริ่มโปรโมทมากขึ้น รวมถึงออกแบบลวดลายให้เป็นเอกลักษณ์สะท้อนวิถีชีวิตของชาว 3 จังหวัด อย่างรูป นกกรงหัวจุก สัตว์เลี้ยงคู่บ้านคนที่นี่ ขนมตูป๊ะ ที่ทำในงานวันสำคัญทางศาสนาของอิสลาม เหล่านี้เป็นต้น”

สินค้ามีเรื่องราว เน้นเรื่องดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมด้วยคุณภาพที่ดี สร้างความแปลกใหม่และเกิด “ยูนีค” ให้กับสินค้า สามารถขยายมาจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงาน ในราคาขายตั้งแต่ 249-700 บาท

“ลูกค้าเรามีสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นวัยรุ่น ที่ต้องการสินค้าราคาไม่แพงมาก แต่ซื้อบ่อย จึงต้องมีลายใหม่ๆ ออกมาขาย ดีไซน์หลากหลายขึ้น กับอีกกลุ่มคือ วัยทำงาน กลุ่มนี้มีเงิน ราคาแพงขึ้นมาหน่อยได้ แต่ต้องเนื้อผ้าดี มีคุณภาพ ลวดลายไม่ฉูดฉาดเพื่อให้สามารถใส่ได้ในทุกโอกาส”

จากความคิดดีๆ ค่อยๆ ก่อประกอบเป็นกิจการเพื่อสังคม ที่สังคมได้ ธุรกิจก็อยู่รอด โดยยังใช้ช่องทางหลักที่ถนัดมือคนรุ่นใหม่ คือผ่านเฟชบุ้ค “WO-MANIS” โดยอนาคตมองที่จะรับผลิตตามสั่ง ให้กับผู้ที่สนใจงานอันเป็นเอกลักษณ์ และพัฒนาไปยังสินค้ากลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น เช่นกระเป๋าผ้า โดยยังเน้นจุดขายคือ “งานปัก” ความถนัดของหญิงหม้ายที่ปลายด้ามขวาน

“WO-MANIS” ชื่อนี้มีที่มา อัสมา บอกว่า เป็นภาษามาลายู ออกเสียงว่า “วู้-มานิส” โดย “วู้” ก็เป็นคำอุทาน ส่วน “มานิส” แปลว่า ความหวาน อ่อนช้อย เป็นสเน่ห์ของผู้หญิง ขณะเดียวกันยังสามารถออกเสียงในภาษาอังกฤษได้ว่า “วูแมน อีส” อันสะท้อนคำจำกัดความของผู้หญิง เช่น woman is powerful , woman is beautiful เหล่านี้เป็นต้น

ส่วนโลโก้ที่เป็นภาพใบหน้าของหญิงสาว ที่ครึ่งหนึ่งสวมฮิญาบ อีกครึ่งปล่อยผมสลวย ก็ยังซ่อนความหมายไว้ในนั้น

“โลโก้หญิงสาวเป็นตัวแทนของสตรีหม้าย หลายคนอาจจะมองว่าสตรีหม้ายที่อยู่ในภาคใต้นั้น มีเฉพาะมุสลิมเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่ มีทั้งไทยพุทธ และมุสลิม ใบหน้าที่รวมกัน เพื่อที่จะสื่อว่า เราอยู่ด้วยกันได้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสินค้าที่ทำออกมาคุณสามารถใช้เป็นผ้าคลุมผมแบบมุสลิมก็ได้ หรือจะใช้เป็นผ้าพันคอก็ได้เช่นกัน”

เป็นเพียงเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่เลือกลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อสังคม อัสมา บอกความคิดที่ผลักดันเธอมาทำเรื่องนี้

“เราเห็นปัญหาอยู่ทุกวัน และรู้ว่าหลายคนพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่ว่ามันก็ยังไม่เพียงพอ และยังคงเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ก็คงไม่มีใครแก้ได้อยู่ดี ตอนเริ่มต้นมีความรู้สึกแค่ว่า เราเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ สามารถที่จะเข้าถึงโซเชียลมีเดียได้ ก็น่าจะเอาสิ่งนี้มาทำให้เกิดประโยชน์กับสังคม”

เธอบอกความคิดง่ายๆ ที่เริ่มจากสิ่งใกล้ๆ ตัว แล้วค่อยๆ พิสูจน์ตัวเองด้วยความตั้งใจจริง เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านยอมรับและสนับสนุน จนมีโครงการดีๆ เกิดขึ้นมาได้ และเมื่อมีกำไรเข้ามา ก็นำไปเป็นรายได้แก่สตรีหม้าย และสมทบเป็นทุนการศึกษา ให้แก่เด็กกำพร้าในพื้นที่ 3 จังหวัด ต่อยอดความช่วยเหลือออกไปในวงกว้าง ด้วยจุดเริ่มต้นเล็กๆ จุดนี้

“เชื่อว่าวัยรุ่นทุกคนชอบอะไรที่แปลกใหม่และท้าทาย อยากจะบอกว่า ถ้าเกิดเราคิดอยากจะทำอะไร ให้ลงมือทำได้เลย เพราะว่าถ้าเราล้มเหลวตั้งแต่อายุยังน้อย เรายังมีเวลา มีโอกาที่จะพัฒนาจนไปสู่ความฝันสูงสุดของเราได้”

เธอบอกความคิดของตัวเอง และแอบกระซิบความฝันที่อยากเดินทางเพื่อไปค้นหาตัวเอง และหวังจะให้โครงการที่ทำขึ้นมา ในวันหนึ่งกลุ่มแม่หม้ายสามารถนำไปทำเองและอยู่อย่างยั่งยืนได้ด้วยธุรกิจนี้

นั่นก็คงตอบโจทย์ความตั้งใจจริงที่เธอเริ่มมาตั้งแต่ต้นแล้ว