'ประสาร'มอง14ตุลาฯ ขบวนการไร้เดียงสา

'ประสาร'มอง14ตุลาฯ ขบวนการไร้เดียงสา

"ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ หนึ่งในฐานะผู้นำนักศึกษา และตัวแทนเจรจากับรัฐบาล ผ่ามุมคิด 14 ตุลาฯ "ขบวนการไร้เดียงสา

ได้พูดคุยกับหลายๆ คน ได้อ่านงานสรุปบทเรียน 14 ตุลาคม 2516 ก็หลายชิ้น และผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ล่าสุด ทำให้ตั้งข้อสังเกตเล่นๆ อย่างหนึ่งขึ้นมาได้ว่า หากเมื่อ 40 ปีที่แล้วมี Twitter, Line, Facebook หรือแม้กระทั้งมือถือธรรมดาๆ เหตุการณ์ชุมนุมใหญ่เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 "อาจไม่เกิดขึ้น?"

เพราะการสื่อสารระหว่าง ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ซึ่งตอนนั้นดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ หนึ่งในฐานะผู้นำนักศึกษา และเป็นตัวแทนเจรจากับรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน และก็ได้ผล!

เมื่อรัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้ต้องขังทันที โดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมทั้งยืนยันว่า จะมีการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2517!

แต่ข่าวสารจากบทสรุปในวงเจรจาจากทีม ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในวันนั้น กับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ดูแลมวลชน ไม่ชัดเจน ผู้ชุมนุม แกนนำหลายคนที่ดูแลมวลชน ไม่ได้รับรู้ผลการเจรจา บวกกับมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่...จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ จอมพลถนอม กิตติขจร และพวก จำต้องหนีออกนอกประเทศ

ประวัติศาสตร์การชุมนุมอันยิ่งใหญ่ จึงถูกบันทึกไว้ตั้งแต่วันนั้น!

ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ยอมรับว่าแม้ประวัติศาตร์วันนั้นจะ 'ยิ่งใหญ่' นักศึกษาประชาชน ชุมนุมนับแสนๆ ยังไม่มีการชุมนุมในประวัติศาสตร์การเมืองไทยใด มาล้มล้างได้ แต่ในความ 'สำเร็จ' สามารถ 'โค่นเผด็จการทหาร' ได้นั้น แฝงด้วย 'ความบริสุทธิ์ หรือไร้เดียงสาของขบวนการ'

แน่นอน หลายคนรู้จักเขาในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาติ ผู้กุมชะตากรรมเศรษฐกิจ การเงินของประเทศ แต่น้อยคนจะรู้จัก 'ประสาร ไตรรัตน์วรกุล' ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

"เราไม่ได้กล้าหาญ ในวัย 20-21 ปีคิดแบบหนึ่ง และตัวเองไม่ได้มีความรู้และกำลังอะไร ในแง่หนึ่งดูเหมือนบริสุทธิ์ แต่อีกแง่หนึ่ง คือ Naive ไร้เดียงสา...ตอนนั้นอ้างอยู่แค่เราไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเลือกตั้ง เพราะตอนนั้นเชื่อว่าหากมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไข ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่... 40 ปีให้หลังเราไร้เดียงสามาก เพราะมีรัฐธรรมนูญแล้ว มี ส.ส. เรามีประชาธิปไตยเลือกตั้ง แต่ปัญหาไม่ได้น้อยลง กลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ ซับซ้อนกว่าที่เราคิดบางด้านได้ แต่บางด้านที่เราได้มาพร้อมกับปัญหา"

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า "เราไร้เดียงสา ไม่ได้เลวร้าย เพราะตอนนั้นหากเราคิดมากเกินไป คงไม่กล้าทำอะไร ที่ทำไปก็ได้อะไรมาบ้าง แต่ขณะเดียวกันเห็นปัญหาต่างๆ ที่ทับถม ซับซ้อน ที่ต้องอาศัยนึกคิด สติปัญญามากกว่าครั้งก่อน"

เขาสรุปบทเรียนไว้น่าสนใจ ถึงความอ่อนด้อยของกระบวนการนักศึกษา ความอ่อนด้อย บนพื้นฐานของการเมืองในยุคเผด็จการทหาร จึงไม่แปลกที่การเคลื่อนไหวของนักศึกษา ประชาชน จะเรียกร้องให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง

อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ ก็พยายามอธิบายถึงคำว่า 'ไร้เดียงสา' ส่วนหนึ่งเพราะจาก 14 ตุลาคม 2516 ถึงปัจจุบัน เป็นเวลายาวนาน ประเทศไทย ผ่านหลายเรื่องราวมามาก ตอนนั้นฝ่ายอำนาจรัฐ ทหารยึดอำนาจ เห็นได้ชัดเจน

ข้อเรียกร้องจึงชูประเด็น 'ต้องการประชาธิปไตย ต้องการรัฐธรรมนูญ ต้องการเลือกตั้ง'

"เวลาให้หลังผ่านมา 40 ปี ความเป็นจริงของคำว่าเผด็จการ กับประชาธิปไตย ซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน เผด็จการมาด้วยหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะทหารอย่างเดียว มาในรูปแบบแยบยลกว่า อำนาจที่มาก ในเชิงเศรษฐกิจ หรือว่าความได้เปรียบทางสังคมหรือประชาธิปไตย... การมีส่วนร่วมไม่ใช่เชิงปริมาณอย่างเดียว ต้องเชิงคุณภาพด้วย สังคมและการเมืองปัจจุบันจึงซับซ้อนกว่า 40 ปีค่อนข้างมาก"

เขาได้ขยายความซับซ้อนในปัจจุบัน..."ตัวที่สะท้อนความซับซ้อนได้ดีอย่างหนึ่งคือ ตอนนี้คนเดือนตุลาคม มีความคิดแตกต่างกันมาก หลายคนยืนกันคนละกลุ่ม ..ความคิดทางการเมืองแตกต่างกันออกไปชัดเจน สะท้อนว่าปัจจุบันมันไม่ง่ายเหมือนปี 2516"

ผมจึงได้ถามผู้ว่าแบงก์ชาติ ต่อไปว่า เมื่อปัจจุบันสังคมซับซ้อนมากขึ้น 'เผด็จการซ่อนรูป' อย่างที่ตั้งข้อสังเกต ขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จะทำอย่างไรเพื่อให้เท่าทัน และเคลื่อนไหวออกไปโดยไม่ 'ไร้เดียงสา' เช่นบทเรียนในอดีต

คำตอบที่ได้รับ..."ความรู้ ความเข้าใจ และสติปัญญา ต้องก้าวหน้ากว่าเมื่อก่อน และเท่าทัน สมัยก่อนคนที่เอาเปรียบสังคม เป็นกลุ่มเผด็จการทหาร แต่ปัจจุบันรูปแบบหลากหลายมากมาย เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ใช้เฉพาะจำนวนอย่างเดียว ต้องอาศัยสติปัญญาด้วย การขับเคลื่อนสังคมต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ สติปัญญาที่มากและเท่าทันเหตุการณ์ มากกว่าก่อน"

ที่สำคัญไปกว่านั้น ความซับซ้อนที่เป็นอยู่วันนี้ มาจากฝีมือของผลผลิตจากเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ...เพราะการชุมนุมใหญ่ของนักศึกษา ประชาชน เมื่อ 14 ตุลาคม 2516 จนสามารถล้มเผด็จการทหารลงได้ เปิดประตูให้ 'นักธุรกิจใหม่' ได้มีบทบาทมากขึ้น และถือเป็น 'ขั้วอำนาจหลัก' ในวันนี้

"แน่นอน 14 ตุลาคม เปิดโอกาสให้ชนชั้นกลางมีบทบาทมากขึ้น แง่ดีเป็นฐานรองรับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ภาคเอกชนเข้มแข็งขึ้น เติบโตขึ้นมา ชนชั้นกลางเกิดขึ้นมา ผู้ประกอบการเติบโตขึ้นมา และเปิดประตูประเทศรับสิ่งต่างๆ ในการพัฒนา แต่อีกด้าน เป็นสัจจะสังคม ส่วนหนึ่งได้ประโยชน์ แต่อีกด้านมีผลข้างเคียง เกิดการก่อตัวของผู้มีอำนาจ ใช้โอกาสเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ หากเราถ่วงดุลไม่ดีพอ ...จะสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่งได้"

เพราะแม้ว่าเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างในเชิงอุดมคติ สำหรับความต้องการของหลายคน แต่ครั้งนั้นได้เปิดประตูรับ 'ชนชั้นกลางที่มีความคิดประชาธิปไตย' และนักธุรกิจหน้าใหม่ ที่นอกเหนือจาก 'ทุนราชการ(ทหาร)' เช่นอดีต

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้ 'ทหาร' จะมีบทบาทอยู่ แต่ไม่ได้ 'เบ็ดเสร็จ' เช่นก่อนหน้า 'ทุนธนาคาร' ซึ่งอดีตต้องอยู่ใต้เงาทหาร เริ่มที่จะประกาศความเป็นอิสระได้มากกว่าเดิม และเติบโตมากขึ้นต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

กลุ่มอำนาจใหม่...จึงสามารถวางระบบที่ซับซ้อน 'เผด็จการซ่อนรูป' ได้ดีกว่า 'ทหาร'...ความซับซ้อนผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่า "มาในรูปแบบแยบยลกว่า มีอำนาจที่มากในเชิงเศรษฐกิจ"

หลังเหตุการณ์วิปโยคครั้งนั้น ต่อเนื่องมาถึง 6 ตุลาคม 2519 เพื่อนๆ หลายคน เลือกที่จะ 'เข้าป่า' แต่เขาเลือกที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ แน่นอนหากไม่ไปเรียนต่อ วิถีคงเป็นแบบเดียวกัน

"ยอมรับว่าคิดเหมือนกัน ระหว่างอยู่ต่างประเทศในปี 2519 เพื่อนฝูงติดต่อมาบ้าง แต่เพื่อนหลายคนที่เข้าป่า ไม่ได้ชมชอบอุดมการณ์ แต่เพราะอยู่ในเมืองไม่ได้ กลัวเรื่องความปลอดภัย"

บทสัมภาษณ์ทิ้งท้าย ที่น้อยครั้ง 'ประสาร ไตรรัตน์วรกุล' ในฐานะผู้ว่าแบงก์ชาติ จะพูด!