40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย

40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย

ย้อนรอย 40 ปี 14 ตุลา...เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย มาถึงวันนี้ ทุกอย่างยังไม่เปลี่ยน "เรียกร้องประชาธิปไตย-ขุดคุ้ยทุจริต คอร์รัปชัน"

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และมูลนิธิ 14 ตุลา จัดราชดำเนินเสวนา เรื่อง “40 ปี 14 ตุลา เส้นทางเสรีภาพสื่อไทย”

น.ส.บัญญัติ ทัศนียะเวช อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พลังมวลชนได้ปลุกเสรีภาพของสื่อมวลชนขึ้นมา เป็นยุคเสรีภาพประชาธิปไตยเบ่งบาน ทำให้เสรีภาพของสื่อมวลชนรุ่งโรจน์มาก แต่ในระยะ 3 ปีต่อมาพวกกลุ่มขวาตกขอบได้สร้างสถานการณ์ขึ้นมา ไม่ว่า กลุ่มกระทิงแดง กลุ่มวิทยุยานเกราะ ทำให้เกิดการปฏิรูปการปกครองสิทธิเสรีภาพของสื่อ ถือเป็นยุคที่มืดมิดที่สุด ตอนนั้นคุณสมัคร สุนทรเวช เป็น รมว.มหาดไทย เป็นประวัติศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทยที่หนังสือพิมพ์ทุกฉบับถูกปิดหมด ส่วนหนังสือพิมพ์ที่เปิดได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขไม่ให้นักข่าวหลายคนที่เคยประจำการถูกไล่ออก ถือเป็นช่วงที่นักข่าวตกงานเป็นจำนวนมาก เป็นประวัติศาสตร์ที่มืดมิดของเรื่องสิทธิเสรีภาพของข่าว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสิทธิเสรีภาพของนักข่าวเป็นเส้นทางเดียวกับระบอบประชาธิปไตยของไทยเรา

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 วิทยุโทรทัศน์ที่เป็นของรัฐบาลจะออกข่าวตรงข้ามกับหนังสือพิมพ์ ทำให้ประชาชนสับสนมาก ส่งผลให้หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดการปฏิรูปการออกข่าวอย่างมากมายนำไปสู่การปฏิวัติ การทำข่าว ในช่วงนี้ มองไม่เห็นลู่ทาง เป็นยุคที่เกิดการแตกแยกในวงการสื่ออย่างมากมาย

แม้เราจะมองไม่เห็นอิทธิพลของทหารในยุคนี้ แต่เรามองเห็นทุนสามานย์ที่ครอบครองทุกวงการ รวมถึงวงการสื่อมวลชน เราแยกเป็น 2 ส่วน ยืนกันคนละข้าง บางฉบับก็รับใช้ไปอย่างโจ่งแจ้ง เหตุการณ์นี้ ยังมองไม่เห็นทางออก ก็ได้แต่หวังพึ่งพลังของประชาชนที่เติบโตแบบเดียวกับ 14 ตุลา ที่ขณะนี้เรียกว่า เครือข่ายประชาชนเติบโตที่ออกมาใช้สิทธิของเขาในการชุมนุมมันเกิดขึ้นมาที่ละหย่อมๆ ถ้ามันสุกงอมขึ้นมาร่วมกันจะเป็นเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา ถึงเวลามันอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการสื่อ ขณะนี้ก็คงต้องรอเวลาบ่มเพาะกำลังเหล่านั้นอยู่ สักวันหนึ่งเครือข่ายเหล่านี้จะมาบรรจบกัน น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

นายสำเริง คำพะอุ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า หลังยุคมืด 14 ตุลาเกิดจากเผด็จการทหาร แต่ทุกวันนี้มันมืดกว่า เผด็จการหนังสือพิมพ์เสนอข่าวไปคนละทิศละทาง ประชาชนไม่รู้จะเอาอย่างไร ตนจึงต้องมานั่งทบทวนตัวเองว่า เราเปลี่ยนไปหรือเปล่าตั้งแต่ 14 ตุลามา

ในยุคมืดมิดหนังสือพิมพ์ถูกปิด มาถึงทุกวันนี้ เราสามารถที่จะเลือกได้เอง ไม่ว่าเลือกที่จะมีเสรีภาพ เป็นเสรีชน หรือเป็นทาส เพราะเสรีภาพหนังสือพิมพ์ก่อนอื่นนั้น อยู่ที่เจ้าของที่จะให้นโยบาย สั่งกองบรรณาธิการทำให้ทิศทางหนังสือพิมพ์เป็นอย่างนั้น ขณะเดียวกันตัวเราที่เป็นคนทำหนังสือพิมพ์รับนโยบายนั้นได้หรือไม่ ถ้ารับไม่ได้ก็เดินออกไปถือว่าจบ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ เรื่องเหล่านี้เห็นได้ชัดเจนว่า ทุกคนเลือกที่จะเป็นได้ จะสมัครเป็นทาสเสรีชน เลือกที่จะทำหน้าที่นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ที่จะรับใช้ตัวเองและประชาชน หรือเลือกไปรับใช้นายทุนที่ขลาดเขลาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวก็ได้

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ประธานมูลนิธิอิศรา อมันตกุล กล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าเปรียบนักหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้นก็เป็นเหมือนอิฐทับหญ้าที่ยกอิฐออกหญ้าก็ขึ้น ถ้าอิฐทับอยู่หญ้าก็ขาวหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ในสมัยนั้นเหมือนถูกอิฐทับเอาไว้ หนังสือพิมพ์ฉบับเล็กมีอาชีวปฏิญาณในวิชาชีพเป็นสื่อ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่องค์กรใหญ่ๆ ที่เอาตัวรอด แม้จะมีเหตุการณ์ 14 ตุลาหรือ 6 ตุลา ก็ยังเอาตัวรอดอยู่

กระทั่งมาถึงสมัย ปว. 17 หรือ ปร. 42 ใช้บังคับมาอยู่ก็ยังมีหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่เป็นโมโนโปลี ผูกขาดอยู่ไม่กี่ฉบับ พอมีเหตุการณ์ก็มาบอกว่า ย้ายโรงพิมพ์ไปพิมพ์ในป่าไม่ได้ ในที่สุดก็มีสื่อเยอะแยะไปหมดจะไปเที่ยวสัมภาษณ์ใครจากดำเป็นขาวหรือขาวเป็นดำก็ได้เป็นลักษณะคอลัมนิสต์เปเปอร์ ไม่ใช่นิวส์เปเปอร์หรอก ถ้าแยกเอาเหล่านี้ออกไปให้หมดต้องมาพูดว่า เสรีภาพของใคร แล้วมาใช้เสรีภาพอันนี้ในนามของประชาชนของสื่อได้ไหม ที่สำคัญสื่อต้องมีอาชีวปฏิญาณในวิชาชีพ

นายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการเครือเนชั่น กล่าวว่า การต่อสู้ของสื่อมวลชนในยุค 14 ตุลาเป็นการต่อสู้โดดเดี่ยวมาก เป็นการต่อสู้ในมุมมืด องค์กรสื่อที่รวมตัวกันสังคมยังไม่รับรู้มาก ยังไม่มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งรูปแบบสมัยก่อนชัดเจนมาก ว่าศัตรูของสื่อคือใคร แต่ทุกวันนี้มันแนบเนียนมากจนเราไม่รู้ว่ามีใครแอบสั่งการมาหรือเปล่า

"ถ้ามองย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับทุกวันนี้ ประเด็นของการต่อสู้ก่อนหรือหลัง 14 ตุลาหรือ ยุคนี้ไม่เปลี่ยนเลยยังเหมือนเดิมทุกอย่าง จากเรื่องของประชาธิปไตย เรื่องของการทุจริต เรื่องของการเล่นพรรคเล่นพวก เหล่านี้เป็นการขุดคุ้ยแล้วคนในสังคมยอมรับไม่ได้ จึงต้องลุกออกมาแสดงออก แต่สภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป แม้เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยก่อน ถ้าเรานำความเข้มข้นไปเทียบกับ 40 ปี 14 ตุลาที่สื่อทำให้ประชาชนรู้เท่าทันระดับหนึ่งของการใช้อำนาจเผด็จการมันไม่ถูกต้อง แล้วสื่อปัจจุบันได้ไปทำหน้าที่ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหนให้สังคมรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารว่า มันควรจะเป็นหรือไม่ ควรแค่ไหน ใครกำลังทำอะไรอยู่เพื่อประโยชน์ของสังคมประชาชนส่วนใหญ่จริงหรือไม่ ดังนั้นจากนี้ไปความพยายามแทรกแซงสื่อก็ยังมีอยู่มากขึ้นต่อไป แน่นอนว่า ตรงนี้จะเป็นจุดหักเหต่อประชาธิปไตยและสังคมไทย"

"คำถามคือ คำว่าเสรีภาพในการรายงานข้อเท็จจริง นั้น จะเชื่อได้หรือไม่ว่าฝ่ายที่มีอำนาจจะไม่เข้ามาแทรกแซงได้ เนื่องจาก โลกของสื่อเปลี่ยนไปมาก เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามีบทบาท หนังสือพิมพ์จึงไม่อยู่ในสายตาของเด็กรุ่นใหม่ ที่เติบโตมาพร้อมกับแท็บเล็ต นี่คือความท้าทาย สื่อที่มีหลักการและมีมืออาชีพจริงๆ จะยืนหยัดได้ยั่งยืนด้วยความแข็งแกร่งมากแค่ไหน หากเราลองนึกภาพทีวีดิจิทัล 24 ช่อง และสื่อใหม่ ที่มีอิทธิพลต่อการเข้าถึงข่าวรุนแรงมากขึ้น การสร้างกระแส การบิดเบือนประเด็น จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ที่พึ่งอย่าง กสทช.จะควบคุมการกำกับการทำหน้าที่ของสื่อทีวีอย่างไร เพราะยิ่งมีสื่อหลายรูปแบบ ย่อมมีคนคอยจ้องหาช่องควบคุมสื่อ"

นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองคณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาศัตรูของเสรีภาพของสื่อไทย คือ อำนาจรัฐ หรืออำนาจเผด็จการทหาร แต่ในระยะหลังสื่อไทย กระโดดเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์มากยิ่งขึ้น ภายหลังวิกฤติฟองสบู่แตก เนื้อหาถูกกำหนดโดยฝ่ายการตลาดมากขึ้น จนทุกวันนี้เราแยกไม่ออกว่าข่าวที่ประชาชนควรรู้ หรือข่าวของการตลาดกันแน่ ทำให้โทนข่าวพลิกเปลี่ยนไป บทบาทของการตรวจสอบของสื่อมวลชนไม่เข้มข้นเหมือนเดิม บทบาทเหล่านี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนลดน้อยลงไปด้วย

นอกจากนี้เมื่อมีทีวีดิจิทัล เงินงบประมาณ เงินสนับสนุน จึงเป็นตัวกำหนดของสื่อไทย เสรีภาพของสื่อไทยก็จะหล่นลงเรื่อยๆ ความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทย ก็จะตกลงเรื่อยๆ สื่อจะไม่เป็นตัวแทนปากเสียงของประชาชนเหมือนเมื่อก่อน และเมื่อถึงวันที่สื่อมวลชนถูกอำนาจเผด็จการที่ใหญ่กว่า ในการจัดระเบียบขึ้นมา สื่อจึงต้องมองตนเองและยอมรับความจริงให้มากขึ้น อะไรที่ควรตรวจสอบต้องทำให้มากขึ้นหรือไม่

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เราสามารถแบ่งยุคเสรีภาพของสื่อ ได้เป็น 3 ภาพ คือ หลัง 14 ตุลา หลัง 6 ตุลา และหลังพฤษภาทมิฬ 35 ยุค 14 ตุลาฯ เหมือนเป็นกาน้ำที่เดือด และพวยพุ่งออกมา เสรีภาพจึงเบ่งบาน และต้องยอมรับว่าสื่อมวลชนใช้เสรีภาพเกินขอบเขต จนกระทั่งนำไปสู่เงื่อนไขการปฏิวัติในเดือนตุลาคม 2519 สื่อมวลชนจึงกลับเข้าสู่ยุคมืดอีกครั้ง

หลังจากนั้น มีการนำเสนอข่าวการเมืองน้อยมากเพื่อหลีกเลี่ยงการแทรกแซงจากรัฐบาล ดังนั้น ถ้าเราถือว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2517 เป็นแม่บทของเสรีภาพสื่อหนังสือพิมพ์ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็เป็นแม่บทของสื่อวิทยุและโทรทัศน์เช่นกัน เพราะภายหลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬนำมาซึ่งการก่อตั้งไอทีวี ทีวีสาธารณะ จากนั้นเมื่อปี 2540 ยุคฟองสบู่แตก ถือเป็นยุคที่ธุรกิจสื่อเริ่มต้น จนถึงขณะนี้ ความเป็นสื่อไม่ได้มุ่งเน้นไปถึงหลักการ แต่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมสื่อ นักข่าวก็เป็นผู้ใช้แรงงาน เพราะทุกวันนี้องค์กรสื่อต้องคำนึงถึงผลประกอบการ

เราต้องยอมรับว่าอิทธิพลของสื่อมีมากขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องยกเว้นสิทธิเสรีภาพสื่อให้กับพื้นที่โฆษณามากขึ้น ทุกวันนี้ เรื่องการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ในนามเผด็จการทหาร หรือผู้มีอำนาจ ยังไม่เปลี่ยนไป แต่กลับมาอยู่ในรูปแบบอำนาจกลุ่มทุนโฆษณาของหน่วยงานรัฐ ถือเป็นการคุกคามรูปแบบใหม่