ปลุกไฟธุรกิจพันธุ์เล็ก มาเป็นเอสเอ็มอี “แฮปปี้” สุดๆ

ปลุกไฟธุรกิจพันธุ์เล็ก มาเป็นเอสเอ็มอี “แฮปปี้” สุดๆ

เป็นเจ้าของกิจการไม่ใช่งานง่าย เอาแค่ให้อยู่รอดไม่ต้องปิดตัวเองตายก็ทำได้ยากสุดๆ แล้ว หนึ่งทางรุ่งของกิจการพันธุ์เล็ก คือโมเดล “Happy SMEs”

รักษาคนไว้ไม่ได้ อายุไขสั้น ความสามารถในการแข่งขันต่ำ แถมยังปรับตัวยาก ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เปิดมา 100 กิจการ อยู่รอดสัก 10 ก็นับว่าเจ๋งสุดๆ แล้ว

นี่คือสถานการณ์จริงของเอสเอ็มอีไทย ที่มีอยู่กว่า 3 ล้านกิจการ หรือคิดเป็น 97% ของวิสาหกิจทั้งประเทศ ที่ “ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล” คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.หอการค้าไทย บอกกับเรา

จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ม.หอการค้าไทย ที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน (Happy SMEs) เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมแนวคิด และวิธีการบริหารทรัพยากรบุคคลจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จ คนในองค์กร “มีความสุข” ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในการแข่งขัน และก้าวหน้าได้ จนมีเอสเอ็มอีต้นแบบ 10 องค์กร ก่อนขยายผลเป็น 100 องค์กร ในปี 2558 นี้ รับการมาถึงของเออีซี อย่างเต็มวงล้อ

นี่ไม่ใช่แค่ความคิดแบบ “โลกสวย” แต่ ผศ.ดร.เอกชัย ยืนยันว่า ธุรกิจแฮปปี้นั้นมีอยู่จริง และพร้อมเป็นต้นแบบให้กับเอสเอ็มอีไทยได้เรียนรู้

“คนกลุ่มนี้มีอยู่จริง เพียงแต่ไม่เคยถูกดึงขึ้นมาเป็นกรณีทางธุรกิจ เพราะว่าความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้ยิ่งใหญ่ในเชิงธุรกิจ แต่เป็นความสำเร็จจากข้างใน เราไม่ได้ต้องการคนที่ทำกำไรได้มากที่สุด มีการเติบโตสูงที่สุด หรือเป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรมล้ำที่สุด แต่เป็นธุรกิจที่คนในองค์กรมีความสุข แล้วธุรกิจก็เติบโตและประสบความสำเร็จได้ด้วย”

โมเดลเอสเอ็มอีมีสุข จะดำเนินงานตามหลัก Triple Bottom Line (3Ps) คือ 1.คน (People) ที่ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข 2.ผลประกอบการทางธุรกิจ (Profit) ที่ดีมีความมั่นคง ปิดท้ายกับ 3.สภาพแวดล้อม (Planet) ที่ต้องมีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม

ขณะที่เอสเอ็มอีไทยหมู่มาก ยังทำธุรกิจด้วยวิถีเก่าๆ ทำเหมือนๆ กัน และหาจุดยืนของตัวเองไม่ได้ ทั้งที่ทรัพยากรก็มีไม่เท่ากัน ซ้ำเป้าหมายในการทำธุรกิจก็แตกต่าง ถ้ายังเดินตามรอยคนอื่น ก็ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้

แต่กับเอสเอ็มอีผู้มีความสุข พวกเขาไม่ต้องตามใคร แต่ก็สามารถประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในระดับโลกได้ เขายกตัวอย่าง แบรนด์ “ไวเบรโต” (Vibrato) แซกโซโฟนโพลิเมอร์ตัวแรกของโลก ฝีมือของคนไทยแท้ที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลก เริ่มจากคนที่รักในสิ่งที่ทำ ยอมลาออกจากงานมาทำวิจัยในสิ่งที่รักเป็นเวลาถึง 6 ปี กู้เงินมานับ 10 ล้านบาท แต่เมื่อวิจัยได้สำเร็จ ภายในปีเดียวก็สามารถคืนทุนได้และขยับขึ้นแท่นธุรกิจระดับโลกไปได้แบบสบายฉิว

“นี่ก็เป็นวิถีทางของคนที่เป็นเอสเอ็มอี ถามว่าเขาอยู่ได้อย่างไร แล้วทำไมถึงกล้าเสี่ยงขนาดนั้น ก็เพราะเขามีความสุข เขาชอบในสิ่งที่เขาทำ และองค์กรของเขามีความสุข พอสุข ก็เหมือนเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน เขามีคนแค่ไม่กี่คน แต่ก็ช่วยกันทำงาน ทำให้เขามีความอดทนพอที่จะฝ่าฟันสิ่งที่เป็นความยากลำบากต่อไปได้”

แฮปปี้เอสเอ็มอี มีความอดทนต่อความยากลำบาก และฝ่าฝันปัญหายากๆ ไปได้แบบ “ง่ายๆ” พนักงานทุ่มเทกับการทำงาน เพราะมีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร รักและผูกพันกับองค์กร มีความสุขกับงานที่ตัวเองทำ ไม่เบื่อวันจันทร์ ไม่ถวิลหาแต่วันศุกร์ แน่นอนว่าประสิทธิภาพในการทำงาน ตลอดจนคุณภาพของสินค้า และบริการ ก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วย

ขณะที่หลายองค์กรกำลังปวดหัวกับคน “เจนวาย” ที่เปลี่ยนงานง่าย เพราะเชื่อว่าตัวเองไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่พอใจก็ลาออก ไม่มีความรักและผูกพันกับองค์กร แต่คนเสนอโมเดล Happy SMEs ยืนยันกับเราว่า องค์กรแฮปปี้สามารถดึงคนเจนวายให้อยู่กับองค์กรได้มากขึ้น และหลายองค์กรที่สะท้อนชัดเจนว่า มีสัดส่วนเทิร์นโอเวอร์ของเด็กกลุ่มนี้เท่ากับ “ศูนย์”

“อย่างบริษัทโอเพ่นดรีม ที่ปรึกษาทางเทคโนโลยี และให้บริการและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ คนในองค์กรเป็นเจนวายทั้งหมด ที่นี่ไม่มีเวลาเข้า-ออก ยามว่างก็เล่นดนตรี หรือกีฬาได้ คนเจนวายอยู่ด้วยกัน และอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เขาพอใจ และเขาสามารถทำงานภายใต้ความรับผิดชอบได้ดีด้วย”

ผศ.ดร.เอกชัย บอกว่า ที่โอเพ่นดรีม ใครเป็นทีมงานในโปรเจคใด ก็จะสามารถตัดสินใจได้เองว่าจะรับงานจากลูกค้าหรือไม่ ไม่ใช่เจ้าของหรือฝ่ายการตลาดเป็นผู้ตัดสินใจ โดยใช้ตารางในการประเมินงาน ที่พิจารณาทั้งมิติด้านการเงิน และไม่ใช่เงิน ว่า “คุ้มหรือไม่คุ้ม”

“เช่น ธุรกิจที่ไม่ได้ส่งเสริมความดีงามของประเทศหรือสังคมเท่าไร แม้ว่าจะได้เงินเยอะ แต่ทีมงานเห็นแล้วว่าไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น เขาไม่อยากทำ ก็สามารถปฏิเสธได้ คนเจนวายรู้สึกว่าองค์กรแบบนี้ คือ องค์กรของเขา”

หลายองค์กรมีปัญหาเรื่องแรงงาน หาคนมาทำงานไม่ได้ แต่กับองค์กรเหล่านี้ มีแต่คนต่อคิวขอเข้าทำงาน และนั่นคือแต้มต่อที่เหนือชั้นของ “Happy SMEs”

ขณะที่เจ้าของกิจการส่วนใหญ่ หายใจเข้า-ออก มีแต่งานกับงาน จนไม่มีเวลาแม้แต่จะหาความสุขให้ตัวเอง เรียกว่ามีเงินก็แทบจะไม่ได้ใช้ แต่กับบางองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยดัชนีความสุข พวกเขามีวันพักร้อนมากถึง 6 เดือน ต่อปี บางองค์กรใน 365 วัน มีถึง 300 วัน ที่ไม่ได้อยู่บริษัท ไม่ได้บริหารงาน แต่ธุรกิจก็ยังอยู่ได้และเติบโตได้

เช่น บริษัท มีฟาร์มสุข (ไม่) จำกัด ที่เจ้าของกิจการอย่าง “กานต์ ไตรทอง” บอกเราว่า บริษัทของพวกเขา สร้างได้ และเลือกได้ ในเมื่อเป้าหมายของธุรกิจไม่ใช่ตัวเลขการเติบโตที่สูงขึ้นในทุกๆ ปี เมื่อโตถึงจุดๆ หนึ่ง ได้ยอดขายที่พอใจ พวกเขาจะหยุดโต แล้วเอาเวลาไปใช้ชีวิตให้มีความสุข ขนาดที่สามารถลาพักร้อนได้ถึง 6 เดือน!

เวลาเดียวกัน ก็ยังแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่นด้วย ตั้งแต่คิดผลิตภัณฑ์ที่ดี เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีสุขภาพที่ดี และนึกถึงคนที่รัก ด้วยการส่งต่อผลิตภัณฑ์ดีๆ ไปให้คนเหล่านั้น พร้อมๆ กับสร้างเครือข่ายธุรกิจขึ้นมา โดยเอาความรู้ในการทำนาปลอดสารพิษไปให้กับชาวนา เพื่อให้ชาวนาไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนแบ่งปันความสุขไปยังชุมชนรอบข้าง สร้างวงจรแห่งความสุขให้เกิดขึ้น ด้วยจุดเริ่มต้นจากสองมือเล็กๆ ของพวกเขา

นี่คือตัวอย่างของผู้ประกอบการพันธุ์สุข ดอกผลจากโครงการ “Happy SMEs” ซึ่งผู้ขับเคลื่อนบอกเราว่า 100 องค์กร ก็ 100 โมเดล แตกต่างกัน แต่มีจุดร่วมในความสำเร็จ นั่นคือ การมีเป้าหมายในธุรกิจและชีวิตที่ดี ต้องมีความเป็นตัวตน มีหนทางของตัวเอง การลอกเลียนความสำเร็จของคนอื่น ยึดโมเดล หรือวิถีทางของคนอื่น อาจทำให้ล้มเหลวได้ง่าย ขณะที่เอสเอ็มอีจะสำเร็จได้ด้วยสินค้า บริการ หรือรูปแบบการทำธุรกิจที่เป็นนวัตกรรม และเป็นนวัตกรรมที่ใช้ปัญญา มากกว่า ใช้เงิน สุดท้าย “คน”เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่แนวคิด แต่คือคำตอบขององค์กรเข้มแข็งและมีอนาคต

“เอสเอ็มอีของเราส่วนใหญ่ ไม่มีความสุขหรอก ดิ้นรนอยู่กับสภาพการแข่งขัน อยู่กับการขาดแคลนทรัพยากร เงินทุน และคน แต่ก็หวังว่าโพรเจคเล็กๆ ของเรา จะทำให้พวกเขามองเห็นทางเลือก และลุกมาเป็น Happy SMEs ให้ได้”

เขาฝากความหวัง ในการปลุกไฟธุรกิจพันธุ์เล็ก มาเป็นเอสเอ็มอีที่ “แฮปปี้” สุดๆ