กทค.เล็งทุ่มงบ60ล้านจัดประมูล4จี

กทค.เล็งทุ่มงบ60ล้านจัดประมูล4จี

กทค.เล็งฟังธงร่างเยียวยาลูกค้าคลื่น1800 วันที่ 9 ส.ค.นี้ ก่อนส่งไปประกาศในราชกิจจาฯ พร้อมจัดสรรงบ 63 ล้านบาท เดินหน้าประมูล 4จี คลื่น1800

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กทค.วานนี้ (7 ส.ค.) ที่ประชุมมีมติรับทราบ และดำเนินการ การรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีสิ้นสุดการอนุญาต หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...กรณีบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ที่เปิดประชาพิจารณ์ไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา

การรับฟังความเห็นสาธารณะนั้น มีผู้เสนอความเห็นมา 2,728 ความคิดเห็น คิดเป็นสัดส่วนการเห็นด้วยในแง่เนื้อหา 96.3% ความเห็นด้วยด้านกฎหมาย 95% และความเห็นด้านกรอบเวลาในการเยียวยาไม่เกิน 1 ปี เห็นด้วย 93.8% โดยหลังจากนี้ จะนำการรายงานผลของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะดังกล่าว เข้าสู่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อวิเคราะห์และสรุปผลทั้งหมด พร้อมนำเข้าบอร์ดกทค.วันที่ 9 ส.ค.นี้ หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช.วันที่ 14 ส.ค.นี้ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไป และพร้อมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

อย่างไรก็ตาม ผลการรายงานของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ได้สรุปผลรายงาน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.ฐานอำนาจตามกฎหมาย 2.เนื้อหาความคุ้มครอง 3.ค่าธรรมเนียมย้ายบริการโดยคงสิทธิเลขหมาย 4.ผู้มีหน้าที่ให้คุ้มครอง 5.ระยะเวลาคุ้มครอง 6.การหยุดให้บริการ 7.ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในระหว่างเยียวยา โดยคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะได้เสนอให้มีผู้ทำหน้าที่ให้ความคุ้มครอง โดยได้เสนอ 2 แนวทาง คือ 1.ให้ผู้ให้สัมปทาน (รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งเป็นผู้มีใบอนุญาตจะเป็นผู้ให้บริการต่อไป 2. ผู้ให้บริการรายเดิม (ผู้รับสัมปทาน) เป็นผู้ให้บริการเช่นเดิม ขณะเดียวกันระยะเวลาการคุ้มครองซึ่งจะเป็น 1 หรือ 2 ปี หรือสั้นกว่านั้น

ทั้งนี้ กสทช.เองจะเร่งประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสิ้นสุดอายุสัมปทานของผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ที่ปัจจุบันมีลูกค้าค้างในระบบรวมกัน 17 ล้านราย โดยในระบบ 2จี ของทรูมูฟตามที่มีการรายงานมายังกสทช.พบว่า โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่รองรับจะมีเพียงคลื่นย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) และคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งระบบ 2จีเดิมส่วนใหญ่จะมีคลื่นที่รองรับเท่านี้ แต่หากลูกค้าจะโอนย้ายไปยังทรูมูฟ เอชระบบ 3จี 850 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 3จี 2.1 กิกะเฮิรตซ์ของผู้ประกอบการรายอื่นอาจต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่

"ขณะเดียวกัน การจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตระหว่างการเยียวยานั้น ผู้ที่ดูแลลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทานช่วง 1 ปี จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใดๆ ให้กับ กสทช.โดยผู้ให้บริการต้องหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด แบ่งเป็นรายจ่ายค่าเช่าเสาอุปกรณ์ให้แก่ กสท และค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการให้พนักงาน สำหรับบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น และนำรายได้ที่หักค่าใช้จ่ายส่งเข้ากระทรวงการคลัง"

เขา กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดกทค.ยังมีมติเห็นชอบกรอบการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการศึกษาเพื่อกำหนดรูปแบบและหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ในย่านสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะสิ้นสุดลง ซึ่งเกี่ยวกับกรอบการจัดการประมูลคลื่นย่าน 1800 เพื่อเปิดให้บริการ 4จีต่อไป ในวงเงินงบประมาณ 63 ล้านบาท รวมค่าจ้างสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) สำหรับเป็นที่ปรึกษาจัดการประมูล การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ โดยจะนำเสนอต่อสำนักงาน กสทช.ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันนี้ (8 ส.ค.) จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 โดยมีวาระที่จะพิจารณา ได้แก่ 1.เรื่องการพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับความเห็นที่ได้รับจากการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ประชาพิจารณ์) ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ....

2. การพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้บริการภายหลังสิ้นสุดสัญญาให้ดำเนินการ การให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ดิจิทัล พีซีเอ็น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ ของ กสท โทรคมนาคม ทรูมูฟ และดีพีซี