เกษมสันต์ วีระกุล อาสาคุยเรื่อง AEC

เกษมสันต์ วีระกุล อาสาคุยเรื่อง AEC

นักวิชาการอิสระที่ผ่านงานมาอย่างหลากหลาย ล่าสุด เขาปวารณาตัวกับการวิเคราะห์ความเป็นไปของ AEC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อายุไม่มากนัก แต่ผ่านประสบการณ์มาไม่น้อย จากอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย , หนุ่มพีอาร์ค่าตัวสูง , คนทำงานสื่อ ผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ "เหตุบ้านการเมือง" ทางช่อง 3 ก่อนที่คนเล่าข่าวหลายๆ คนจะแจ้งเกิดด้วยซ้ำ เรื่อยไปจนถึงงานการเมือง กับการทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคการเมืองแห่งหนึ่ง และอีกหลากหลายบทบาทด้วยกัน ฯ

ผ่านมา 11 ปี จู่ๆ เกษมสันต์ วีระกุล กลับคืนสู่หน้าจอทีวีอีกครั้ง ทางช่อง TNN กับรายการที่มีเนื้อหาเจาะลึก ในเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยเฉพาะ โดยอาศัยฐานะนักวิชาการอิสระเป็นจุดแข็งในการทำงาน พร้อมสลัดคราบนักการเมืองออกไปอย่างเด็ดขาด

ระหว่างการนั่งสนทนากับเขา แว่วเสียงบางคนออกปากเรียกเขาว่า "Mister AEC"

  • ที่ผ่านมา คุณเน้นถึงยุทธศาสตร์ของประเทศ กับ AEC มาโดยตลอด ?

ผมพูดตั้งแต่ตอนหาเสียงใหญ่ ตอนนั้นคนยังนึกไม่ออก ถ้าจำได้ ป้ายผมที่อยู่กลางเมือง หนึ่ง - ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ สอง - ไทยต้องเตรียมตัวเข้า AEC สาม - ต้องปฏิรูปภาษีให้เป็นธรรม และข้อที่สี่คือ - ต้องปราบคอร์รัปชั่น ผมพูดอยู่ 4 เรื่อง ตอนนั้นคนก็ไม่ get อะไรคืออะไร แต่ผมเน้น 4 เรื่องนี้ เพราะเห็นว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

อย่างเรื่องภาษี ปัญหาคือวิธีคิดภาพรวม ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมวิธีคิดภาษี เราจะขึ้นจะลดภาษีไม่เกี่ยวกับใคร รัฐบาลมองว่าต้องใช้เงินเท่านี้ ภาษีอะไรขึ้นได้ อะไรลดได้ ก็ยึกยักๆ ไม่ต้องคิดถึงภาพรวม แต่พอเป็น AEC วิธีคิด มันเปลี่ยนไปแล้ว พอเป็น AEC คุณอยากให้บริษัทต่างชาติมาตั้งในไทย แข่งกับสิงคโปร์ แต่เดิมอยู่เมืองไทยเสียภาษี 30 เปอร์เซ็นต์ ใครจะไปอยู่กับเรา มันก็ไม่อยู่ วิธีคิดต้องเปลี่ยนไป ภาษีต้องลดแน่

แต่อีกมุมหนึ่ง เราต้องใช้เงินเยอะขึ้น infrastructure ทุกอย่างเราด้อยกว่าเขาหมด คำถามคือรัฐบาลบาลานซ์อย่างไร ภาษีก็ต้องลด อีกอันหนึ่งก็ต้องสร้าง ถ้าไม่คิดเป็นระบบ เอาไม่อยู่ ภาษีมี 3 ตัว นิติบุคคลเราแพง บุคคลเวลาเราแพง VAT เราถูก ประสิทธิภาพการจัดเก็บเราต่ำ หายไปปีละ 5 แสนล้าน(บาท) นี่คือสิ่งที่กรมสรรพากรไม่เคยพูดเลย เวิลด์แบงก์มาศึกษา บอกว่าเราควรจะเก็บได้ 21 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ตอนนี้เราเก็บได้ 16 เปอร์เซ็นต์ อีก 5 เปอร์เซ็นต์ของ GDP คือปีละห้าแสนล้าน ไม่เคยพูดถึง

คนเราทำงาน 38 ล้านคน อยู่ในระบบภาษี 9 ล้านคน อีก 29 ล้านคนอยู่ตรงไหน บริษัทมีอยู่ 3.2 แสนกว่าบริษัท เสียภาษี 1.5 แสน อีก 1. 7 แสนไม่เสียภาษี เฮ้ย ! เกิดอะไรขึ้น พวกนี้ไม่เคยพูดเลย เพราะฉะนั้น มันอยู่ที่วิธีคิด อยู่ที่กรอบใหญ่ ซึ่งสรรพากรคิดเองไม่ได้ กระทรวงการคลังต้องคิดร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างลดภาษีต้องไปโยง BOI วันนี้พอภาษีลด เราเอาอะไรเป็นตัวดึงดูด มันต้องคิดหมด

  • ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน?

ไม่มีอะไรที่ชัดเจนเลย สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ กรกฎาคมปีที่แล้ว รัฐบาลเริ่มทำเวิร์คชอปเรื่องเข้า AEC สภาพัฒน์มี AEC อยู่ 2 ย่อหน้า แล้ววันนี้เขาบอกว่าเรามียุทธศาสตร์ เขาเขียนอย่างไรรู้ไหม ประเทศไทยต้องเป็นประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคและเป็นธรรม อย่างนี้ มันไม่ใช่ positinig มันกว้างจนเกินเหตุ แล้วพอเขียนแบบนี้ปั๊บ ยุทธศาสตร์หนึ่งยกขีดความสามารถในการแข่งขัน หนึ่งในข้อนั้นคือ พัฒนา SME ด้วยวิธียกระดับ SME แล้วฟุลสต็อป เขียนแบบนี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นรู้ไหมครับ ที่ผมกังวลคือ คนไม่รู้ต้องทำอย่างไร ถ้าเขียนแบบนี้ทำได้ทำไปนานแล้ว นอกจากไม่รู้ต้องทำอย่างไร มันเกิดสิ่งที่ทุกคนอ้างได้หมดว่า นี่ผมกำลังทำตามยุทธศาสตร์เพื่อเข้าสู่ AEC งบบ้า งบบอ เป็นอย่างนั้นหมด ไปถามทุกคน คิดอย่างนั้นหมด พองบบ้า งบบอ เงินยิ่งมีอยู่น้อย และไม่มีประสิทธิภาพ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

  • ทำไมคุณถึงสนใจเรื่อง AEC เป็นพิเศษ

ผมเป็นนักเศรษฐศาสตร์ อีกหมวกหนึ่ง ผมมีความเป็นสื่อ ผมก็กังวล ไปเป็นนักการเมืองก็กังวลไปอีกแบบ แต่วันนี้มันเห็นว่า ไม่ได้แล้ว วันนี้ AEC คือจุดเปลี่ยนประเทศไทยในมุมผม โอกาสทองอยู่ตรงนี้ เรามีครบทุกอย่าง ทรัพยากร มีคน ดีหมด แต่ถ้าเรายังคอร์รัปชั่น เราไม่มียุทธศาสตร์ เราไปไม่ได้ ผมอ่าน strategy ของบริษัท ขององค์กรไหนก็ตาม mission ๆ เขียนลอยๆ หมด จนกระทั่งผมไม่เข้าใจว่า มันคืออะไร แล้วผมก็ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับ strategy มากขึ้น แล้วผมก็ไปพบหนังสือของโปรเฟสเซอร์ Richard Rumelt เป็นคนที่สอนเรื่องนี้มากว่า 30 ปี และเขียนหนังสือเกี่ยวกับ Good - Bad strategy แล้วผมถึงอ๋อ นี่คือ strategy ที่เราอ่านๆ มา ผมว่าไม่ใช่

  • แล้วมันต่างกันอย่างไร

strategy ที่ดี ในความหมายใหม่ คือ แต่เดิมเราเห็นว่านี่ vision strategy มันทำไม่ได้ strategy ที่ดีต้อง หนึ่ง - คุณต้องวิเคราะห์สถานการณ์ก่อนว่า จากนี้ไป 10 ปี 15 ปี จะเกิดอะไรขึ้นกับโลก ต้องเห็นภาพก่อน พลวัตเป็นอย่างไร จีนจะมาใหญ่ อเมริกาจะมาแย่ง AEC ต้องเห็นให้ชัด ถ้าไม่ชัดมันวิเคราะห์ไม่ได้ว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร อันที่สอง - ต้องทำ swot analysis ของประเทศ ทำ swot ทุกคนทำหมด แต่ในที่นี้ คือทำเพื่อหาจุดเพื่อเปรียบเทียบ หาให้เจอว่าประเทศไทยเรา ตำแหน่งคืออะไร ไม่ใช่อย่างที่รัฐบาลเขียน ประเทศมีความสามารถ คนอยู่ดี ไม่ใช่ มันต้องบอกว่าประเทศไทยวันนี้เก่งกว่าคนอื่นเรื่องอะไร และเราจะรักษาความเก่งกว่านั้นได้อย่างไรในระยะยาว เพราะทุกคนมาแข่งกับเราหมด

สาม - ทำเป็น guilding policy เพื่อให้เราเก่งต่อเนื่องยาวนาน ใครต้องทำอะไร ก่อนหน้าและหลัง จะได้เสริมกัน กระทรวงการคลังต้องทำอะไร สภาพัฒน์ต้องทำอะไร ทั้งหมดถึงเรียกว่า strategy ถึงเรียกว่ายุทธศาสตร์ วันนี้ประเทศไทย ปัญหาคือเราต้องพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย หนึ่ง - ยกคุณภาพ SME ด้วยวิธีการพัฒนา SME มันไม่ใช่ ถ้าเราจะให้ SME เป็นตัวหลัก กระทรวงการคลังต้องใช้ภาษีมาเสริมเรื่องนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องตั้งสถาบันแบบนี้ มันต้องมี sequence ใครทำอะไรก่อนหน้าหลังและเสริมกันอย่างไร วันนี้มันไม่มี

  • เหมือนเสียงร้องเซ็งแซ่ออกไป คนละทิศละทาง ฟังแล้วไม่เป็นเพลง?

ไม่เป็นเลย แล้วผมบอกได้เลยว่า มันจะยิ่งเลอะเทอะกว่าปกติ มันจะยิ่งคอร์รัปท์กว่าปกติ เพราะทุกคนอ้างหมด แต่รู้กันหรือยังว่า AEC คืออะไร ประเทศไทยไปไหน รู้กันหรือยัง เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เอกชนจัดสัมมนาเยอะๆ ถามว่ารู้กันแล้วหรือว่าประเทศไทยจะขึ้นเหนือหรือลงใต้ ผมตอบไม่ถูกนะ วันนี้ถ้าถามผมว่ารัฐบาลจะพาประเทศไปทางไหน ผมตอบไม่ถูกนะ รัฐบาลบอกว่าโลเคชั่นเราดีเลิศ เราควรจะเป็นศูนย์กลาง ผมบอกว่าใช่ แต่ว่าตั้งแต่ผมจำความได้ ประเทศไทยอยู่อย่างนี้มา 100 ปีแล้วนะ โลเคชั่นก็ดีเลิศมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ทำไมไม่เป็นศูนย์กลาง ทำไมไปเป็นสิงคโปร์... ทำไมทุกคนขายผ่านสิงคโปร์ ยกตัวอย่างซัมซุงในเวียดนาม ตอนนี้เป็นบริษัทอันดับหนึ่ง มีเป็น 540 ล้านเครื่องที่ซัมซุงจะขาย กว่าครึ่งผลิตในเวียดนาม เราสู้เขาไม่ได้ เราไม่เตรียมตัวเลย

  • เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่เตรียมความพร้อมเข้า AEC เราแตกต่างกับเขาอย่างไร

ผมไปดูสิงคโปร์มา เขาก้าวข้ามความเป็น AEC ไปแล้ว เขาเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว เขาบอกว่าพอเป็น AEC เขาจะหาประโยชน์จาก AEC ได้อย่างไร แต่เดิมเขาใช้คนที่มีคุณภาพ ใช้ความง่ายในเชิงธุรกิจ ใช้เมืองที่ปลอดคอร์รัปชั่นเป็นจุดดึงดูด วันนี้เขาบอกว่าไม่พอแล้ว เขาทำตัวเองให้เป็นศูนย์กลางการเจรจาการค้าเสรีของโลก ไปอีกสเต็ปหนึ่งแล้ว

วันนี้มีเจรจาการค้าเสรีที่ไหน สิงคโปร์กระโดดเข้าไปก่อน เพราะสิงคโปร์บอกว่า นี่คือสิ่งที่ฉันพอจะเป็นศูนย์กลางได้ แล้วสิงคโปร์มียุทธศาสตร์การสร้างเมืองเพื่อรองรับตรงนี้หมด สิงคโปร์ไม่เคยมองไทย เขามองแข่งกับฮ่องกง แล้ววันนี้ธุรกิจต่างชาติของสิงคโปร์เริ่มทรงดีกว่าฮ่องกงแล้ว เรื่องภาษา การศึกษา ผมไปเวียดนามกว่า 10 ปีที่แล้วห่างเราไม่ติดฝุ่น วันนี้ไปมาใหม่ เพิ่งกลับมา โห ! หายใจรดต้นคอ ทั้งหมดนี้ ใช้โมเดลของสิงคโปร์มาจับ สิงคโปร์มีศูนย์กลางการเงินโลก ฉันก็จะมี มีน้ำอยู่ข้างหน้าเหมือน มารินา เบย์ สิงคโปร์มีเมืองใหม่ ฉันก็จะมี กระทั่งการแต่งตัว นักธุรกิจสิงคโปร์บอกว่า ไม่ต้องใส่สูท ไม่ต้องผูกเนคไท ใส่เสื้อเชิ้ตตัวเดียว เวียดนามก็เหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว

และเรื่องคอร์รัปชั่น ที่เราบอกว่าเราอันดับดีกว่าเวียดนาม ไม่จริงแล้ว ผมคุยกับสิบคน ทุกคนบอกตรงกันหมดว่า เรื่องกินเล็กกินน้อยกินตามน้ำ ยัดใต้โต๊ะเวียดนามเยอะมาก แต่เรื่องกินใหญ่ๆ เวียดนามไม่มี ไม่กล้าทำ และที่สำคัญกว่านั้น คนเวียดนามบอกว่า ผู้นำประเทศผมจะกินบ้าง แต่เขารักประเทศ ทำเพื่อประเทศ และทำจริง ผมไปมา 2 ประเทศ ได้เห็นมาเลเซีย เห็นแผนเขาชัดเจน เพราะฉะนั้น 3 ประเทศนี้ผมว่าเราสู้เขาไม่ได้ ส่วนที่ผมชวนมองมากกว่า AEC ผมชวนมองฮ่องกงด้วยซ้ำไป ประเทศกระปิ๋วเดียว เกาะกระปิ๋วเดียว เป็นศูนย์กลางของเอเชีย เราต้องมองอย่างนั้น

ผมคิดว่าเราไม่ได้เตรียมตัว เวิร์คชอปเพิ่งเริ่มเมื่อกรกฎา 2555 แผนเพิ่งออก แล้วบอกเมืองไทยเตรียมตัว เตรียมอย่างไร แผนสภาพัฒน์เขียนอยู่ 2 พารากราฟ เตรียมตัวอย่างไร ไม่มี

คำถามแรกคือ เราเห็นภาพ AEC ตรงกันไหม เคยได้ยินรัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลที่แล้วพูดชัดๆ ไหมว่า เมื่อ AEC เกิด จะเกิดอะไรขึ้น พูดกันแต่ภาพเบลอร์ๆ ผมบอกเลยว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ตรงกับที่รัฐบาลพูด หนึ่ง - เราจะไม่ค้าขายกันมากขึ้นนะ เพราะภาษีระหว่างกันเราเต็มที่อยู่แล้ว สอง - แรงงานมีฝีมือ 7 อาชีพ จะไม่มีการเคลื่อนย้ายเสรีอย่างที่พูดกัน เพราะทุกประเทศกันหมด สาม - การลงทุนระหว่างกัน หรือการจดทะเบียนบริษัทเต็มที่ที่เปิดช่องมากขึ้นจะไม่เกิดขึ้น เพราะแต่ละประเทศไม่เปิดช่องให้ประเทศอื่นมาจดทะเบียนเป็นบริษัท ส่วนมากที่บอกว่า จะเกิดขึ้น ไม่เกิดเลย แต่ความเนื้อหอมของ AEC คือ คุณเป็น 10 ประเทศไปคุยกับอีก 6 ประเทศ พวกนี้ต่างหาก ครึ่งโลกอยู่กับเรา ความเนื้อหอมไม่ได้อยู่ระหว่างกัน ความเนื้อหอมอยู่ที่อื่นที่จะมาลงที่เรา แล้วใช้เราเป็นฐาน

  • ทำไมถึงเปรียบเทียบว่า AEC เป็น "สึนามิทางเศรษฐกิจ"

เพราะมันจะพลิกทุกอย่างของประเทศ วันนี้ให้คนยุโรปนึก ก็นึกไม่ออกว่า ทำไมประเทศฉันล้มละลาย หลังจากรวมตัวเป็น EU คนสเปนถึงบอกว่า ทำไมอยู่ๆ ประเทศกูเจ๊ง คนกรีซคนโปรตุเกสนึกไม่ออกว่า ทำไมประเทศเป็นอย่างนี้ นี่มันคือสึนามิ เหมือนก่อนมีสึนามิ เรานึกไม่ออกใช่ไหมว่าคลื่นท่วมหัวมีด้วยเหรอ ซัดคนตายเป็นแสน เราไม่เคยเห็น วันนี้เราเห็น เราถึงรู้ นี่ก็เหมือนกัน นึกเหรอบริษัทไหนลงทุน 5 แสนล้านในเวียดนาม เราไม่เตรียมพร้อม เราจะเสียโอกาสตรงนี้ ผมถึงบอกว่านี่คือจุดเปลี่ยน ผมยังเชื่อมั่นประเทศไทย ผมยังรู้สึกดีกับประเทศ ยังเชื่อมั่นว่าประเทศไทยทำได้ แต่ต้องเริ่มทำ ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้ว

  • ในสึนามิ มีทั้ง gain และ loss ในเวลาเดียวกัน?

ถ้าทำดี เรา gain ถ้าทำไม่ดี เราไม่ได้ loss หรอก เรา gain นิดเดียว ขณะที่เพื่อนบ้านเขา gain เยอะ

ในมุมผม ไทยไม่ต่ำไปกว่านี้แล้ว ไม่มีช่วงไหนเรื่องเศรษฐกิจเลวร้ายเท่าที่ผ่านมา ผมว่า 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้ พูดถึงองค์รวมเลย ผมว่าไม่มีแย่ไปกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งในเชิงวางแผน ยุทธศาสตร์ การจัดการ การคอร์รัปชั่น

  • พูดถึงคอร์รัปชั่น หลายวงการระบุว่า ตอนนี้ตัวเลขว่ากันถึง 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ?

นั่นทุกคนเห็นหมด และมันหนักหนาสาหัส คอร์รัปชั่นของไทย ถ้าเขาวัดระดับคอร์รัปชั่น อาจเหมือนอยู่กลางๆ แต่คะแนนต่ำกว่า 5 อันดับหนึ่งมี 3 ประเทศ ไทยอยู่อันดับ 88 มันห่างกัน โกงกันทุกกระเบียดนิ้ว สมัยที่สิงคโปร์สร้างชาติ โกงไม่ต่างจากเรา คนไปโรงพยาบาลจะกินน้ำร้อนแก้วนึง ยังต้องยัดเงิน เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ฮ่องกงโกงไม่ต่างจากเรา ไทยเราเท่าๆ กับ 2 ประเทศนี้ วันนี้ 2 ประเทศนี้ติดอันดับโลกไปแล้ว สิงคโปร์อันดับ 5 ฮ่องกงอันดับ 15 คะแนนสูงลิบ ไทยยังอยู่ที่เดิม เลวลงด้วย ผมว่านี่เป็นเรื่องสาหัสมาก

ผมเดินไปอาสาตัวกับ ปปช. ขอไปร่างยุทธศาสตร์ ผมบอก ปปช.ว่าท่านครับ ยุทธศาสตร์ปราบปรามคอร์รัปชั่นระดับชาติ ใช้ปี 51-55 อันใหม่ 56-60 อันที่หนึ่งผ่านไปแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติของปปช. ไม่มีใครรู้ว่ามี อย่าถามว่า ได้ผลหรือเปล่า ไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่า มียุทธศาสตร์ชาติของปปช. แล้ววันนี้ช้าขนาดที่ว่า 56 จะหมดปีแล้ว ยังไม่เสร็จเลย ผมเข้าไปบอกว่า ถ้ายุทธศาสตร์ไม่แก้ไข ปราบคอร์รัปชั่นเหมือนเดิม ช่วยไม่ได้ แต่พบว่าวิธีคิดยุทธศาสตร์ พอคิดไม่ชัด ปปช.บอกว่า หนึ่ง - สร้างความมีส่วนร่วมเยอะๆ ให้ทั้งสื่อมวลชน โรงเรียนศาสนา พูดเหมือนยุทธศาสตร์ที่แต่ก่อนเราว่ามัน fail นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

  • แล้วการรวมตัวของภาคเอกชนในแคมเปญต่างๆ มองว่าหวานแหววไปไหม?

ไม่เกิด ผมเชื่อว่าการปราบปรามคอร์รัปชั่น ต้องเริ่มด้วยการปราบ บทเรียนที่เราเห็น สิงคโปร์ ฮ่องกง จับคนโกงเข้าคุก ตราบใดที่คนโกงยังลอยนวลอยู่ได้ เด็กรุ่นใหม่ยังเห็นคนโกงยังรวย ไม่มีทางทำได้ วันที่ฮ่องกงปราบสำเร็จ คือจับแหลก ไม่เอาตำรวจไปเกี่ยวข้อง จับ ใหญ่แค่ไหนก็จับหมด สิงคโปร์ก็เหมือนกัน เป็นรัฐมนตรีจับติดคุก เมืองไทยมีจับให้เห็นไหม

(เรื่องสอนเด็กโตไปไม่โกง) ไม่ได้ผล รณรงค์เชิงป้องกันไม่ได้ ต้องปราบ ต้องจับก่อน จับเพื่อสร้างศรัทธา หลักการผม ดูของสิงคโปร์ ฮ่องกง จับและปราบจริง เพื่อให้คนมามีส่วนร่วมด้วย เพราะถ้าคุณรณรงค์โตไปไม่โกง ก็เห็นมีคนโกงอยู่เต็มเมือง ทำไมเขาถึงเห็นชอบด้วย และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ และเบอร์หนึ่งต้องไม่โกง ถ้าฮ่องกงคือข้าหลวงใหญ่ไม่โกง สิงคโปร์คือนายกฯ ไม่โกง มากไปกว่านั้น วิธีสร้างจิตสำนึก ต้องสร้างแบบแรง ผมชอบสิงคโปร์มาก จับรัฐมนตรีไป 2 คน มีบางคนฆ่าตัวตายระหว่างถูกสอบสวนเพราะอาย เขาสร้างพิพิธภัณฑ์เอาประวัติคนพวกนี้แฉ แล้วพาเด็กไปดูว่า คนโกงต้องโดนแบบนี้ ต้องเริ่มจากการปราบ และนี่คือยุทธศาสตร์

  • คุณทิ้งทีวีไปนาน กลับมามี Deja Vu บ้างไหม

โห เท่าๆ กับสรยุทธ์ (สุทัศนะจินดา) ผมออกแล้วสรยุทธ์ก็มา 11 ปีแล้วนะ

ผมมี 2 อาชีพที่รัก หนึ่ง - คือรักเป็นอาจารย์ สอง - รักการทำสื่อ ก่อนกลับมาทำทีวี ก็เริ่มมาเขียนหนังสือพิมพ์ ผมว่าเป็นอาชีพซึ่งไม่ต้องกลัวใคร เป็นอาชีพซึ่งได้แสดงความเห็นในตัวตน จะไปเป็นที่ปรึกษาใครต่อใครยังลำบาก ผมรักที่จะทำสื่อ แต่ที่ผ่านมา ต้องทิ้งไปเพราะ หนึ่ง - ดันกระโดดไปทำธุรกิจ และดันกระโดดไปทำการเมือง ไม่อยากให้กลิ่นอายมันเข้ามา ก็เลยทิ้งไป แต่อย่างไรก็คือ ชอบ มีความสุขกับมันมาก

ตอนนี้ผมอยากโฟกัสเรื่องเศรษฐกิจกับ AEC ผมอาจโชคดีกว่าผู้อำนวยการคนอื่นๆ หน่อย ตรงที่ผมมีโอกาสเห็นข้อมูล และผมเห็นภาพในมุมที่คนข้างนอกไม่เคยเห็น ในวงใน เคยนั่งประชุมในระดับใหญ่ๆ ของประเทศ เรารู้ว่าข้อมูลอยู่ตรงไหน เราเลยรู้ว่า เขาคิดอะไรในหัว เราก็ไปกระตุ้นให้คนทั่วไปตามทัน อย่างเรื่องภาษี คนทั่วไปก็ไม่รู้ ขอโทษแผนที่ว่า มีวางรออยู่แล้วที่กระทรวง แต่ทำไมรัฐบาลไม่ยอมหยิบมาใช้ ผมคิดให้หมดแล้ว

  • จากประสบการณ์การทำงานการเมืองของคุณ ได้เห็นช่องว่างของสิ่งที่คิดที่นำเสนอ กับการตัดสินใจของผู้อำนาจ?

ยิ่งเสียดายไง ยิ่งทำให้ผมกังวล เศร้าใจว่า ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะคุณไม่ได้คิดแผนนี้ เลยไม่ทำ วันนี้ตัวเลขเศรษฐกิจมันสะท้อนว่า คิดอย่างนี้ไม่ได้แล้ว แต่นักการเมืองพวกนี้ มาแล้วก็ไป แล้วเราต้องอยู่กับมัน

(เรื่องจะถึงทางตันไหม) มันก็จะไปออกที่อะไรที่เราไม่อยากเห็น ไม่รัฐประหารก็ปฏิวัติ ผมมองว่าวันนี้การเมืองเรา ทะเลาะแตกแยกจนไม่มีดีแล้ว ถ้าเศรษฐกิจตกไปอีกอย่าง ไม่มีใครทนได้ นี่คือต่ำสุด ถ้าไปถึงจุดต่ำสุด คนจะถามว่าถ้าไม่แก้ไข จะทำอย่างไร ถ้ารัฐบาลไม่เปลี่ยนวิธีคิดเรื่องเศรษฐกิจก็ไปไม่ได้ ถ้าถามผม ผมไม่ชอบ(ปฏิวัติรัฐประหาร) ไม่ดีก็เลือกกันใหม่ แต่เมื่อไรจะเปลี่ยน แล้วมันจะทันไหม

  • ยังสวมหมวกการเมือง?

ทุกวันนี้ ไม่มีเรื่องการเมืองเลย ทิ้งเด็ดขาด ตั้งแต่เลือกตั้งเสร็จไม่กี่เดือน ผมก็ลาออกจากพรรคที่เคยอยู่ และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเขาอีกเลย นอกจากกินข้าวกันกับพรรคพวกที่รู้จักกัน ผมไม่เอาการเมืองเลย แต่ถ้าใครขอมาคุยในเชิงวิชาการ ยินดีคุยหมด ในเชิงธุรกิจเป็นที่ปรึกษาทั่วไป ใครเข้ามาชวนคุย ชี้แนะเรื่อง AEC เรื่องอะไรที่เราทำอยู่ ก็ช่วยเขา เวลาเกือบทั้งหมด โฟกัส AEC

  • ถือเป็นของเล่นชิ้นใหม่?

ถือเป็นความท้าทายชิ้นใหม่ เพราะผมถือว่าตรงนี้เรากำลังทำสิ่งที่ยากมาก คนไม่ค่อยเข้าใจ และเรื่อง AEC ยังไม่เกิด ก็อธิบายยากอีก ทำอย่างไรให้อธิบายคนว่า เมืองไทยไม่มียุทธศาสตร์ เมืองไทยจะเสียโอกาส ให้คนทุกคนเข้าใจได้ รัฐบาลไม่ฟังอยู่แล้ว เพราะเขามีวิธีของเขา แต่ภาคธุรกิจภาคประชาชนที่ดูรายการของผม ลุกขึ้นมาตื่นตัวชี้ให้รัฐบาลเปลี่ยน ผมว่าเป็นความท้าทายใหม่

  • คงต้องหาข้อมูลหนักมาก เพราะเรารู้จักเพื่อนบ้านเราน้อย?

ผมบอกกับทีมงานว่า นอกจากเรารู้จักเขาน้อย ระบบการปลูกฝังในระบบการศึกษาไทย ทำให้เราเกลียดเพื่อนบ้าน ผมมานั่งนึกย้อนดูว่า ผมเรียนหนังสือจนโตมา ไม่เคยไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่พอเรียนจบก็รู้สึกว่าประเทศเพื่อนบ้านรังแกเราตลอดเลย เราไม่ค่อยรักเพื่อนบ้าน ขณะที่เราไปประเทศเพื่อนบ้านมา คนพวกนั้น เขากลับรักเรา เขากลับรู้สึกดีกับเรา แต่เรารู้สึกว่า ประเทศพวกนี้แย่กว่าเรา เป็นพวกโกงเรา เคยมารบกับเรา แล้วอย่างนี้ เราจะเป็นมิตรกับเขาได้ไหม ไม่ใช่รู้จักเขาน้อย คิดด้านลบกับเขาด้วยซ้ำไป ไม่รู้จักเขาก็แย่แล้ว พอมีอคติก็คุยกันไม่ได้

ผมได้คุยกับคนไทยที่เคยอยู่ในเวียดนาม ทุกคนประทับใจคนเวียดนามหมด ไม่ใช่อย่างที่เราคิด แปลว่าระบบการศึกษาเรา สอนให้เราไม่รักเพื่อนบ้านนะ ผมเห็นอันตรายนะ ทำไมเราไม่รักคนพม่า ทำไมเราไปรักคนยุโรป คนอเมริกา ถ้าเรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักคนไทยด้วยกัน เรารักเขาถึงอยากรู้ว่าเขาทำอะไร แต่วันนี้เราไม่รักเขา แล้วอยากเป็นศูนย์กลาง ไม่มีทาง

  • นอกจากมิติทางเศรษฐกิจ มองมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างไร

ผมว่าในความเป็นเอเชีย ในความเป็นอาเซียน วิธีคิดไม่ค่อยต่างกัน เพราะฉะนั้น การเชื่อมโยงง่ายๆ วันนี้ ถ้าเราปลูกฝังให้รักประเทศเพื่อนบ้าน วิธีคิดจะเปลี่ยนไป ทุกเรื่องน่าจะคุยกันได้ ทั้งเรื่องพระวิหาร เรื่องเขตแดน มันจะจบลงง่าย แต่วันนี้เราปลูกฝังไม่ค่อยดี ผมว่าเราเป็นศูนย์กลางไม่ได้หรอก ถ้าเรามีอคติกับคนประเทศเพื่อนบ้าน

  • ในส่วนของการค้าระหว่างประเทศ ?

ผมว่าเต็มที่แล้ว มันจะไม่โตไปกว่านี้ แต่ถ้าเราเป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเวียดนาม 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ทั้งคู่ แข่งกันตัดราคา ทำไมไม่จับมือกัน ข้าวเวียดนามก็มีเอกลักษณ์แบบข้าวเวียดนาม ข้าวไทยก็มีเอกลักษณ์แบบข้าวไทย ทำไมไม่จับมือกกันแล้วผูกขาดตลาดโลก

OPEC ประเทศผลิตน้ำมันเยอะกว่าเรา ยังรวมกันได้ นี่มี 2 ประเทศอยู่ติดกัน ทำไมล่ะ เพราะเราไม่จริงใจ หรือเขาไม่จริงใจ หรือเพราะทั้งคู่ไม่จริงใจ ผมเชื่อว่าถ้าทั้งคู่จับมือกัน มีโอกาสอีกเยอะ ทรัพยากรธรรมชาติ กุ้ง หอย ปู ปลา เกษตรเยอะแยะ เราต่อยอดจากเขาสิ และเขาก็มีความรู้สึกดีกับเรา ว่าของเราพรีเมียม ทำไมต้องมาแข่งกันตัดราคากัน แล้วไม่ใช่เราชนะ อย่างข้าว วันนี้เราแพ้โดยสิ้นเชิง คุณภาพข้าววันนี้ อย่าคิดว่าด้อยกว่าเรานะครับ คนไทยที่กินข้าวหอมมะลิตลอดชีวิต ไปเวียดนามกินข้าวออร์แกนิกพันธุ์ดีของเวียดนาม อร่อยกว่าข้าวไทย

  • การที่คนไทยไปลงทุนในเวียดนาม ถือเป็นการปรับตัวอย่างหนึ่ง?

แต่นั่นเป็นเอกชนไง ผมรู้จักโรงงานปลากระป๋องแห่งหนึ่ง ตราสามแม่ครัว ปลาไทยไม่มี ปลาอยู่ที่นู่น แรงงานไทยไม่มี ก็ไปหาที่นู่น ตลาดก็ใหญ่กว่า ทุกอย่างถูกกว่าหมด ที่สำคัญการส่งเสริมการลงทุน เขาทำโดยผู้ว่า CEO เป็นระบบกว่าเรา ให้สิทธิประโยชน์กว่าเรา วินเลย ซีพีวันนี้ให้เวียดนามเป็นบ้านที่ 2 รองจากไทย การลงทุนเผลอๆ จะเยอะกว่าไทยในระยะอันสั้น แต่นั่นเป็นการดิ้นของภาคเอกชนเอง ผมอยากเห็นรัฐบาลไทยคุยกับรัฐบาลเวียดนามว่า เราจะโตไปด้วยกันอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม

ถ้าผมเป็นรัฐบาล แล้วอยากจะเป็นศูนย์กลาง ศูนย์กลางไม่ใช่เกิดเพราะผมสร้างถนนหรือรางรถไฟเชื่อม ความเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน น่าจะเกิดจากความคิดร่วมกันว่า จะโตร่วมกัน ความรักระหว่างเราที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน และถ้ารัฐบาลไม่เชื่อม เอกชนเขาเก่ง เอกชนจะดิ้นหาจนเจอ แต่ถ้ารัฐบาลเชื่อม เอกชนจะไปเยอะกว่านี้ จะมีโอกาสเยอะกว่านี้ ในเมื่อ ซัมซุง อินเทล โซนี่ เลือกเวียดนาม เราจะต่อยอดเขาอย่างไร รัฐบาลต้องเดินหน้า แต่นี่ไม่คิด ชวนทะเลาะด้วยซ้ำไป

  • คุณคิดว่าทุกวันนี้ หน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ AEC มากพอหรือยัง

ผมว่าทุกคนพยายามกันอยู่ ปัญหาคือทุกคนไม่เห็นข้อมูล ผมเคยเป็นอาจารย์มาก่อน ผมรู้ว่าความยากของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย คือไม่มีข้อมูลที่สมบูรณ์ ข้อมูลส่วนมากอยู่ในหน่วยงานของรัฐซึ่งเก็บใส่ล็อคไว้ ถ้าเราไม่ได้เป็นที่ปรึกษา เราไม่เห็น สอง - งบประมาณของสถาบันการศึกษาที่จะทำวิจัยไม่มี สาม - โดยระบบการศึกษาวันนี้ ยังไม่เปิดช่องให้อาจารย์ดีๆ ทำงานเป็นนักวิจัย เวลาส่วนมากจะยุ่งอยู่กับงานการสอน จึงไม่มีเวลาทุ่มเททำงานวิจัยดี ๆ สังเกตดู มีงานวิจัยดีๆ เกี่ยวกับ AEC กี่งาน น้อยมาก.