ชำแหละสื่อฯ สร้างความแตกแยกในสังคม

ชำแหละสื่อฯ สร้างความแตกแยกในสังคม

นิเทศจุฬาฯรายงานแผนงานวิจัย ชำแหละสื่อฯทุกแขนง สร้างความแตกแยกในสังคม ระบุรูปแบบ"Hate speech"เล่าข่าวใส่ความคิดเห็น

ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานเพื่อนำเสนอรายงานผลแผนงานวิจัย เรื่อง "การกำกับดูแลสื่อที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง" โดยมีนางพิรงรอง รามสูต นางชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา และ นางพิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสนองานวิจัย นอกจากนี้ยังมีนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และนายเทพชัย หย่อง บรรณาธิการบริหารเครือเนชั่น ผู้ทรงคุณวุฒิให้ข้อเสนอแนะ และให้ความเห็นในผลการวิจัย

นิเทศจุฬาฯรายงานแผนงานวิจัย ชำแหละสื่อฯทุกแขนง สร้างความแตกแยกในสังคม ระบุสังคมออนไลน์ เป็นพื้นที่รวมตัวกลุ่มสีเสื้อรวมตัวกัน

นางพิรงรอง กล่าวนำเสนองานวิจัย หัวข้อ "การกำกับดูแลสื่ออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง" โดยสรุปว่า ทุกวันนี้สังคมมักไม่ค่อยเข้าใจประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เห็นได้จาก Hate speech หรือการพูดถึงและแสดงออกเกี่ยวกับนาซี ทุกคนจะเข้าใจว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นสิ่งต้องห้าม เป็นสิ่งที่ควรสงวนไว้ ไม่ควรที่จะนำเสนอ ซึ่งผู้ที่กระทำก็จะโดนต่อต้าน หรือการนำเสนอในเรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของสังคมไทย เพราะหากมีการโพสต์อะไรในโลกออนไลน์ ที่สังคมมองว่าเป็นการไม่เคารพสถาบัน เรื่องเหล่านี้จึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และเหตุการณ์ที่โดดเด่นที่สุดในประเทศไทยที่มีความขัดแย้งสูง คือ การเมือง ที่สร้างความแตกแยกให้สังคมไทย มีการแบ่งพวก แบ่งสี ตามอุดมการณ์ของตน

"พื้นที่ของสื่อออนไลน์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มต่างๆ เหล่านี้รวมตัวกันในการขับเคลื่อนทางการเมือง แต่อย่างไรก็ดี หากมีจำกัดสิทธิ์ในการพูดมาก จะทำมุมมองในการพูดหรือแสดงออก ก็จะลดน้อยลง"นางพิรงรอง กล่าว

นางพิรงรอง กล่าวต่อว่า ดังนั้น Hate speech หรือ การสื่อสารหรือการแสดงออกโดยความหมาย ที่เป็นการแสดงออกถึงความเกลียดชัง และนำไปสู่ความรุนแรง อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงถึงความมุ่งหมายที่ชัดเจน เพื่อหวังให้เกิดผลลัพธ์ ที่อาจทำให้สังคมสับสน สามารถแบ่งได้ 3 ระดับ คือ 1.การเกลียดชังที่ไม่มีวัตถุประสงค์ชัดเจน เป็นเพียงการสะท้อนถึงอคติต่อเรื่องนั้นๆ ผ่านมาแล้วผ่านไป น่าจะยังไม่ต้องมีการกำกับดูแลภายใต้กฎหมาย และควรได้รับความคุ้มครองในเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น 2.การโน้มน้าวใจผู้อื่นให้เกลียดชังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งบนฐานของอัตลักษณ์ที่แตกต่าง เช่น เชื้อชาติ ชาติพันธ์ ศาสนา เป็นต้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งหากเป็นการหมิ่นประมาท ก็จะมีกฎหมายรองรับในตัวอยู่แล้ว แต่หากเป็นการสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง อาจเป็นสาเหตุให้นำไปสู่ความรุนแรง ก็ควรมีคนกลางในการกำกับดูแล 3.การโน้มน้าวหรือยุยงให้ผู้อื่นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจเป็นการใช้ความรุนแรงอันเนื่องมากจากความเกลียดชัง ซึ่งถือเป็นการสร้างความเกลียดชังที่ชัดเจนที่สุด เนื่องจากถูกยุยงและมีโอกาสให้กระทำความผิดทางอาญา ดังนั้นเห็นว่า อาจจะมีการตรากฎหมายขึ้นมาเฉพาะ หรืออาจใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการกำกับดูแลก็เป็นได้

"พิชญ์"ถามม.112ทำให้สังคมแตกแยกใช่หรือไม่

ด้านนายพิชญ์ กล่าวเสนอแนะพร้อมให้ความเห็นว่า จุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้คือคำว่า Hate speech แต่สิ่งที่หายไปบนความหมายของ Hate speech ในงานวิจัยชิ้นนี้ คือ Hate speech สามารถผูกพันทางกฎหมาย และมุมมองขององค์กรทางตุลาการอย่างไร เพราะทุกวันนี้สังคมมักมองว่า การใช้คำด่าบุคคลสาธารณะ สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเสรี เช่น การด่าทอพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือการด่าทอนายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็ถือว่าไม่มีความผิด แต่เรามักไม่เคยดูว่าองค์กรตุลาการที่มีความสำคัญ มีบรรทัดฐานในการตัดสินอย่างไร ตนรู้สึกว่าว่าสังคมมีกรอบอยู่แล้วในเรื่องการหมิ่นประมาท ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้ต้องแยกให้ออกว่า Hate speech ต่างกับคำหมิ่นประมาทอย่างไร เพราะส่วนตัวเห็นว่าการหมิ่นประมาทเป็นเรื่องของบุคคล แต่ Hate speech เป็นเรื่องของอคติทางสังคมมากกว่าการหมิ่นประมาท และถ้าหากว่า Hate speech มีฐานมาจากอคติในการหมิ่นประมาทนั้น ก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมได้

"ต้องมองให้ชัดว่า สาเหตุที่แท้จริงของประเทศไทย ในการเกิด Hate speech ขึ้นมานั้น คืออะไร คือ ความเป็นไทย หรือวาทะกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดอคติ และนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทยใช่หรือไม่ หรือคือ ข้อต้องห้ามในประมวลกฎหมายอาญา มารตรา 112 ถือเป็นที่สุดของประเทศ ที่ก่อให้เกิดปัญหาในสังคมไทยทุกวันนี้ใช่หรือไม่ ดังนั้น เราต้องชี้ให้ชัดว่าสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคืออะไร เพราะสุดท้ายเราจะได้รู้ว่า อะไรคือจุดบรรจบของสังคมไทย"นายพิชญ์ กล่าว

อ.นิเทศชี้"สื่อหลัก-สื่อเคเบิ้ล"หยิบยกกลุ่มการเมืองสีเสื้อ เสนอข่าวเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในสังคม แนะ กสทช. เร่งร่างกาศหลักเกณฑ์ควบคุมเนื้อหาออกอากาศอย่างจริงจัง

ขณะที่นางชนัญสรา กล่าวนำเสนองานวิจัยหัวข้อ "การกำกับดูแลสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง" ตอนหนึ่งว่า ภาพรวมการศึกษาเราพบว่ามีการพูดเสียดสี เหยียดเชื้อชาติ ทำให้ผู้อื่นต่ำต้อย ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม จนนำไปสู่ความรุนแรง ซึ่งเราเห็นได้จากเหตุการณ์ทุกมุมโลก ซึ่งสะท้อนมายังประเทศไทย ในวิกฤติการเมืองที่เป็นปมขัดแย้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ซึ่งรูปแบบของ Hate speech จะอยู่ในรูปของการเล่าข่าวที่ใส่ความคิดเห็นลงไป หรือมีภาพประกอบเอ็มวีที่สามารถเป็นเหตุให้สร้างความเข้าใจผิด หรืออคติที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ซึ่งมักพบมากที่สุด ทั้งในสื่อกระแสหลัก และสื่อทางเลือกใหม่ เช่น เคเบิ้ลทีวี และวิทยุชุมชน โดยมักหยิบยกกลุ่มการเมืองต่างๆ เช่น กลุ่มนปช. กลุ่มพธม. รัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กลุ่มรักเจ้า กลุ่มไม่รักเจ้า เป็นต้น ที่มักก่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคมอย่างมาก โดยการใช้วาทกรรมเปรียบเทียบ เช่น การเปรียบเทียบคนเสื้อแดงเป็น"ควายแดง" หรือการเปรียบเทียบพรรคประชาธิปัตย์เป็น"แมลงสาบ" เป็นต้น

นางชนัญสรา กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงอยากเสนอแนะไปยังกสทช. เพื่อเร่งกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการสื่อเข้าสู่กระบวนการกำกับดูแลอย่างเสมอภาค พร้อมกันนี้อยากให้กสทช.เร่งจัดทำ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... เพื่อกำหนดลักษณะเนื้อหารายการออกอากาศ นอกจากนี้อยากเสนอแนะไปยังองค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ ให้เร่งพัฒนามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพภายในองค์กรสื่อ และมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและการบังคับใช้ระหว่างสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างจริงจังอีกด้วย

โวไทยพีบีเอส เป็นต้นแบบสื่อที่เที่ยงตรง

ขณะที่นายสมชัย กล่าวว่า ในสังคมที่เป็นอารยะประชาธิปไตยนั้น จะไม่มีสื่อมวลชนในรูปแบบบลูสกายหรือดีเอ็นเอ็น แน่นอน เพราะต่างประเทศมองว่ามันไม่มีความเป็นมืออาชีพ นอกจากนี้การกำกับดูแลของต่างประเทศ ก็มีความครอบคลุมที่รวมไปถึงการโฆษณา ทั้งในอังกฤษ อเมริกา จะไม่มีสื่อที่สร้างความแตกแยกในสังคมเหมือนประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่มีสื่อมวลชนที่คอยแบ็คอัพกลุ่มการเมือง หรือพรรคการเมืองนั้น ถือเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังนั้น เราต้องพึ่งสื่อมวลชนที่เป็นมืออาชีพ ที่ไว้วางใจได้ แต่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ประเทศเราก็ยังไม่เกิดสื่อมวลชนที่เป็นมืออาชีพ ที่มีอิสระที่แท้จริง แต่พอมีรัฐธรรมนูญ 2550 ก็พยายามที่จะทำให้สื่อมีอิสระ มีความถูกต้องเที่ยงตรงนั้น ก็ทำให้เกิดช่องไทยพีบีเอส ขึ้นมา โดยการนำเสนอข่าวยึดถือความถูกต้องเที่ยงตรง ไม่หลอกลวงประชาชน ต้องตรวจสอบความถูกต้องทั้งข้อมูลและภาษาที่ใช้ด้วย เป็นต้น

"เท่าที่ดูสื่อมวลชนกระแสหลักในปัจจุบัน มักจะไม่เป็นเช่นนี้ อาทิ พิธีกร มักจะทำหน้าที่เกินกว่าที่เป็น เพราะพิธีกรไม่มีอำนาจในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในการสัมภาษณ์ ตรงนี้จึงเป็นความคลาดเคลื่อนในการเข้าใจ และยิ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังรวมปถึงผู้ที่คอยกำกับดูแลอย่างกสทช. ต้องถามว่าการตีความของกสทช. ตามมาตรา 37 มีอำนาจลงโทษได้มากน้อยเพียงใด เพราะความจริงการใช้อำนาจในหน่วยราชการของต่างประเทศ ไม่มีหน้าที่เข้าไปเป็นผู้พิพากษา การพิพากษาหน้าจะเป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมมากกว่า"นายสมชัย กล่าว

ขณะที่นิเทศจุฬาฯ เสนอผลวิจัย"ความเกลียดชังเกิดจากสังคมหวาดกลัว-ไม่รับรู้ข่าวสาร"ระบุ สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง เหตุปชช.เข้าถึงยาก

นางพิจิตรา กล่าวกล่าวนำเสนองานวิจัย หัวข้อ "การกำกับดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ที่เผยแพร่เนื้อหาที่สร้างความเกลียดชัง” โดยสรุป ว่า Hate speech ที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมได้นั้น เกิดจากสังคมตกอยู่ในสภาวะหวาดกลัว เป็นสังคมที่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เป็นสังคมที่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง สังคมที่สร้างภาพการเมืองแบ่งฝักฝ่าย เป็นสังคมที่ไม่ฝึกที่จะเผชิญหน้ากับคนเห็นต่าง ซึ่ง Hate speech ในประเทศไทย แบ่งได้ 4 ข้อ คือ 1.เป็นประเด็นทางการเมือง โดยเน้นไปที่ตัวบุคคลสารธารณะ ที่มีความเชื่อและระบอบทางการเมืองที่ต่างกัน ที่อุปโลกน์วีรบุรุษขึ้นมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของระบอบและอุดมการณ์ของตนเอง 2.Hate speech ทำงานควบคู่ไปกับ Love speech 3.เรื่องชาติพันธ์ มีความละเอียดอ่อนมากในประเทศไทย และ 4.เนื้อหาสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ได้ยกระดับที่ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ เพราะสื่อสิ่งพิมพ์ยากในการเข้าถึง และผลกระทบมีไม่สูงมาก จะเห็นได้จาก การนำเสนอเนื้อหาของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย ในช่วงความขัดแย้งรุนแรงจากสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2553 ส่วนใหญ่พบเนื้อหาที่มีเป้าหมายยกระดับความรุนแรงในระดับต่ำ เนื่องจากสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสื่อที่เข้าถึงยาก และเผยแพร่ในจำนวนที่จำกัดอีกด้วย

เนชั่นเชื่อ"ทีวีดิจิตอล"ลดความเกลียดชัง

ด้านนายเทพชัย กล่าวว่า สังคมไทยทุกวันนี้น่าหดหู่มา เป็นผลพวงมาจาการเมือง เพราะเป็นสังคมที่เลือกข้าง มีฝักมีฝ่ายซึ่ง บรรยากาศการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ เกิดจากความเกลียดชังของคนที่มีอำนาจรัฐในสังคม ที่ส่งผลมายังคนในสังคมเพราะสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำนั้น จะทำให้เกิดความชอบและไม่ชอบของประชาชนได้ ดังนั้น ผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมือง ต้องรับผิดชอบการทำให้สังคมเกลียดชังกันด้วย ดังนั้น เราต้องตั้งคำถามว่า จะมีใครที่ทำให้การเกิด Hate speech ลดน้อยลงในสังคม ไม่ว่าจะเป็น สื่อฯ หรือนักการเมือง เพื่อหาทางออกร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าถ้าสังคมมีทางเลือกของการเสพสื่อมากยิ่งขึ้น บทบาทของความเกลียดชังในสังคมอาจลดน้อยลง เพราะหากมีทีวีดิจิตอล เกิดขึ้นมาแล้วนั้น ก็จะมีบทบาทที่ทำให้สังคมรับรู้ข่าวสารมากยิ่งขึ้นกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะในแง่ของข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอข่าวของฟรีทีวีจะไม่มีการเลือกข้างมาก ต้องการเสนอข่าวบนความเป็นกลาง เพื่อให้คนดูติดตามมากที่สุด เพื่อให้เรตติ้งของช่องสูงยิ่งขึ้น ดังนั้น ทีวีดิจิตอล จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ความเกลียดชัง ลดน้อยลง เพราะคนที่เบื่อหน่ายในการเสพสื่อเลือกข้าง จะหันกลับมาดูสื่อที่เป็นฟรีทีวีมากยิ่งขึ้น เพราะอย่างน้อยสื่อเหล่านี้ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.อย่างจริงจัง