อัศจรรย์รักข้ามขอบฟ้า จากมะเมียะถึง ซินเดอเรลล่า

อัศจรรย์รักข้ามขอบฟ้า จากมะเมียะถึง ซินเดอเรลล่า

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 นี้ หากตั้งต้นที่สนามบินอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก (ว่าที่)เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของไทย

เราจะใช้เวลาเพียง 25 นาที ในการบินสู่ เมืองมะละแหม่ง เมืองท่าใหญ่ชายฝั่งทะเลอันดามันของ พม่า แถมยังได้กำไรเวลาอีกครึ่งชั่วโมง กลายเป็นตัวเลขเวลาที่น่าอัศจรรย์ใจ เพราะ “นกแอร์” เที่ยวบิน DD4212 จะออกจากสนามบินแม่สอด 09.45 น. แต่แลนดิ้งสนามบินมะละแหม่ง 09.40 น. ความอัศจรรย์ไม่ได้อยู่ตรงตัวเลขเวลาที่ถอยหลัง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่ามาตรฐานเวลาพม่าช้ากว่าของไทย 30 นาที

แต่อัศจรรย์ตรงที่ในอดีต ยากจะมีใครคิดฝันเปิดเส้นทางบินสายนี้ ด้วยเหตุที่ยังมีการสู้รบตามแนวชายแดน ระหว่างกองกำลังชนชาติส่วนน้อยเผ่าต่างๆ กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ทำให้แผนเชื่อมต่อเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ที่เริ่มจากเมืองท่าดานัง ริมฝั่งทะเลจีนใต้ ผ่านลาวเข้ามุกดาหาร - ขอนแก่น -พิษณุโลก - ตาก - แม่สอด ข้ามลำเมยด้วยสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แล้วมาหยุดอยู่ตรงเมืองเมียวดี (ฝั่งตรงข้ามแม่สอด) ไม่สามารถไปถึงปลายทางฝั่งตะวันตก คือเมืองท่ามะละแหม่ง แห่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียได้

ติดกึกอยู่แค่นั้นนานนับ 2 ทศวรรษ แล้วพลันที่กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยในพม่าเริ่มต้นขึ้น แสงเสรีภาพก็สาดส่องลงมาปลุกสรรพชีวิตให้ฟื้นตื่น ขบวนคาราวานทั้งสินค้าและนักท่องเที่ยวขับเคลื่อนสู่มะละแหม่งและย่างกุ้งทางภาคพื้นดิน ตามมาติดๆ ด้วยเที่ยวบินนกแอร์ ทั้งจากแม่สอดสู่มะละแหม่ง (25 นาที) และแม่สอดสู่ย่างกุ้ง (55 นาที) ทางการพม่าก็เร่งก่อสร้างระบบสาธารณูปโภครองรับการท่องเที่ยวเมืองมะละแหม่ง ซึ่งมีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย ในฐานะบ้านเกิด “มะเมียะ” แม่ค้าขายบุหรี่ขี้โยสาวชาวมอญทรงเสน่ห์ ที่มีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์พม่ายุคอาณานิคม ผู้สร้างตำนานรักกับเจ้าอุตรการโกศล เมื่อครั้งยังทรงเป็น “เจ้าน้อยศุขเกษม ณ เชียงใหม่” ราชบุตรเจ้าแก้วนวรัฐ อุปราชเมืองเชียงใหม่ ราชนิกุลหนุ่มที่ถูกส่งมาเรียนหนังสือ ณ วิทยาลัยเซนต์แพตริค อันทันสมัยในยุคนั้น ด้วยการบริหารจัดการแบบอังกฤษ

แต่ที่เป็นตำนานเพราะเมื่อเรียนจบ เจ้าน้อยให้คนรักปลอมตัวเป็นเพื่อนชาย ติดสอยห้อยตามกลับสู่เวียงพิงค์ด้วย แต่ไม่นานความลับก็แตก จากเพื่อนชายกลายเป็นคนรักสาวสามัญชนชาวมอญ ข้ามเส้นแบ่งทั้งทางชนชั้น ทางชาติพันธุ์ และโดยเฉพาะเส้นแบ่งทางการเมืองระหว่างประเทศ ด้วยสยามยามนั้น ยังหวาดระแวงว่าอังกฤษจะฮุบเชียงใหม่ที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากร จึงจับตามอง “มะเมียะ” ว่าอาจเป็นสายลับอังกฤษปลอมตัวมาในฐานะคนรักของราชนิกุลเชียงใหม่ บีบคั้นให้เจ้าน้อยจำต้องส่งคนรักกลับมะละแหม่ง จนเกิดฉากรักและอาลัยลือลั่นสนั่นเมืองเหนือ ปรากฏเป็นบทเพลงยอดฮิตของ “จรัล มโนเพ็ชร” ราชาโฟล์คซองคำเมือง ท่อนที่ว่า “...มะเมียะตรอมใจ อาลัยขื่นขม ถวายบังคมทูลลา สยายผมลงเช็ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วชาตินี้ เจ้าชายก็ตรอมใจตาย มะเมียะเลยไปบวชชี ความฮักมักเป็นฉะนี้....แลเฮย”

นับจากปีที่เกิดเหตุ พ.ศ.2446 จนถึงบัดนี้ ครบรอบ 110 ปีพอดี แต่ความเคลือบแคลงยังดำรงอยู่ ว่าเจ้าน้อยศุขเกษม ซึ่งต่อมาดำรงยศ “เจ้าอุตรการโกศล” นายตำรวจติดตาม “เจ้าดารารัศมี” พระราชชายาในรัชกาลที่ 5 ติดสุราและตรอมใจตายเพราะความคิดถึงมะเมียะ...จริงหรือ? เจดีย์ไจ้ก์ตะลาน กลางเมืองมะละแหม่งที่มีประวัติว่าสร้างโดยแม่ชีคนหนึ่ง เธอคือมะเมียะที่นำเงินขวัญถุงจากเจ้าน้อย มาทำบุญสร้างเจดีย์ เพื่อชาติหน้าจะได้กลับมาเป็นคนรักกันอีก จริงหรือไม่? จากความเคลือบแคลงสงสัย กลับกลายเป็นเสน่ห์ ให้เกิดคณะทัวร์วัฒนธรรมตามรอยมะเมียะสู่มะละแหม่ง กระทั่งเป็น “ธีม” สำคัญ นอกเหนือจากการดึงดูดนักธุรกิจของ “นกแอร์” ที่จะเปิดเที่ยวบินจากแม่สอดถึงมะละแหม่งเพียงลัดนิ้วมือเดียว

เพราะไม่ว่าจะผ่านกาลเวลามาสักกี่ยุคกี่สมัย ตำนานรักในกรอบ “โรเมโอ - จูเลียต”ที่วิลเลียม เช็กสเปียร์ เขียนไว้เมื่อเกือบ 500 ปีก่อน ก็ยังคง “ต้องจริต” ผู้คนมิสร่างซา เป็นเหตุให้นวัตกรรมสังคมชิ้นเยี่ยมแห่งยุคสมัย อย่าง facebook ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้มหาศาล ยังต้องยอมกด Like ให้บรรดา “คุณชาย” ใน Soap Opera อย่าง “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ”

อย่างไรก็ตาม ใช่จะมีแต่นิยายรักของฝรั่ง ที่ส่งอิทธิพลต่อตำนานรักของทวีปอื่นๆ เท่านั้น ล่าสุด มีการเปิดเผยหลักฐานที่ใครต่อใครคาดคิดไม่ถึง ว่า “ซินเดอเรลล่า” กับ “ปลาบู่ทอง” จะมีเค้าโครงมาจากแหล่งเดียวกัน จากบทความของ คุณทองแถม นาถจำนง นักเขียน กวี และนักแปล เจ้าของนามปากกา “โชติช่วง นาดอน” ที่ระบุว่า... *นิทานเรื่องปลาบู่ทอง เป็นนิทานที่ชาวจ้วง-ลาว-ไท เล่าถ่ายทอดกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ชาวไทยเรียก”ปลาบู่ทอง” ชาวล้านนาและไทใหญ่เรียก “เต่าน้อยอองคำ” หรือ นางยีแสงก่อ หรือนางอุทธรา (นางเอื้อย) ทางลาวเรียก “เต่าคำ” ทางจ้วงเรียก “ตาเจี้ย” (แปลว่านางกำพร้า)”

นิทานเรื่องนี้แพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชาติต่างๆ ในกวางสี เวียดนาม กัมพูชา ลาว สยาม พม่า จีน และจากจีนเผยแพร่ไปถึงยุโรปในยุคราชวงศ์ถัง จนทำให้เกิดเทพนิยาย ซินเดอเรลล่า โดย Fay Beauchamp ศึกษาวิจัยเรื่องต้นกำเนิดของซินเดอเรลล่า แล้วเธอสรุปว่า ซินเดอเรลล่า มีต้นกำเนิดจากทวีปเอเชีย และถิ่นกำเนิดที่มีหลักฐานเป็นข้อเขียนเก่าแก่ที่สุดคือ “นิทานของชาวจ้วง” ในมณฑลกวางสี ถิ่นฐานเก่าแก่ของเครือญาติชาติพันธุ์ไท (Dai/Tai) ที่กลายมาเป็น “ไทย” (Thai) ในวันนี้นั่นเอง

แม้ฉากจบจะต่างกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฉากต้นเรื่องของ “ปลาบู่ทอง” กับ “ซินเดอเรลล่า” วนเวียนอยู่กับชายผู้ลุ่มหลงเมียน้อย แล้วปล่อยให้ลูกเมียหลวงตกระกำลำบาก...เหมือนกัน ข้อเสนอจากการค้นคว้าของคุณทองแถม นาถจำนง จึงเป็น “ความยอกย้อนของกาลเวลา” ที่น่าสนใจยิ่งนัก การรวบรัดตัดใจความเพื่อสรุปประเด็น จึงไม่น่าจะถูกต้องนัก แบบนี้เห็นทีต้องติดตามตอนต่อไปครับ