เดินเครื่อง TPM นำ PJW สู่เวิลด์คลาส

เดินเครื่อง TPM นำ PJW สู่เวิลด์คลาส

การปลูกพืชต้องปลูกด้วยเมล็ด ต้องไม่ปลูกด้วยการปักชำ การปลูกด้วยเมล็ดจะทำให้ต้นไม้มีรากแก้ว ซึ่งเป็นรากที่หยั่งลึก แต่มันต้องใช้เวลา

PJW หรือ บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) กำหนดตำแหน่งตัวเองว่าจะก้าวสู่ระดับ "เวิล์ดคลาส" ในอนาคตอันใกล้


วิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร PJW บอกว่าคำที่จะสามารถสื่อได้อย่างมีความหมายและได้ใจความที่สุดสำหรับเป้าหมายนี้ ก็คือ World Class Manufacturing plus Innovation


และต้องบอกว่านี่คือฝันใหญ่ ซึ่งในอดีตฝันนี้อาจไกลเกินและไม่มีวันเป็นความจริง


เหตุผลก็คือ วันนี้ PJW มีความพร้อม


วิวรรธน์บอกว่า ธุรกิจที่กำลังจะเติบโตมักพบเจอปัญหาอยู่ 3 เรื่องหลักๆ นั่นก็คือ เงินทุน คน และ ระบบงาน


เรื่องของเงินทุนซึ่งเคยเป็นปัญหาที่หนักและเหนื่อยของ PJW ในวันนี้ก็คลี่คลาย จากการนำบริษัทตีตราเป็น "มหาชน" และผลพวงในเรื่องนี้ยังช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการของ PJW ให้มีความเป็นมาตรฐาน


แต่ที่ถือว่าพลิกชะตาไปเลยก็คือ ระบบ Total productive maintenance (TPM)


"เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 บริษัทของเราชะงักและหยุดไปถึง 4-5 ปี แต่เป็นเพราะวิกฤติก็ทำให้ค่าเงินบาทถูกลง ประเทศไทยกลายเป็นของถูก ทำให้ฝรั่งก็เข้ามา ญี่ปุ่นก็เข้ามาลงทุน เกิดการลงทุนกันอย่างมากมาย เราจับตามองก็เห็นโอกาส และคิดว่าจะเดินต่ออย่างไรดี ในเวลานั้นก็คิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องปรับปรุงตัวเอง "


ทำไมเลือกระบบ TPM ในเมื่อมีระบบคุณภาพอื่นๆ ให้เลือกอีกเยอะ วิวรรธน์ให้เหตุผลว่า เมื่อได้ศึกษาระบบคุณภาพทั้งหมดแล้ว TPM ตอบโจทย์ PJW ได้มากกว่า


"เพราะเราวางตำแหน่งตัวเองว่าเป็น Manufacturing Company เราเป็น Supporting Industry และเราเป็น B2B นี่คือสามคุณลักษณะที่บ่งชี้ถึงตัวเรา"


ซึ่งระบบ TPM นั้นมุ่งเน้นในเรื่องของเครื่องจักร อีกทั้งยังมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานทุกคนในองค์กรตั้งแต่ระดับผู้บริหารกระทั่งพนักงานตัวเล็กๆ


"ที่จริงเราทำมาแล้วหลายระบบ และมองว่าแต่ละระบบเป็นเพียงแค่จิ๊กซอว์ๆ มาเชื่อมต่อกัน เหมือนหมากในกระดานที่เป็นการวางเบี้ยทีละตัวๆ ต่างจาก TPM ที่จะวางทั้งกระดาน แต่เป็นการค่อยๆ วาง"


อย่างไรก็ดี TPM ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทน


ยิ่งในช่วงสองสามปีแรกนั้น วิวรรธน์ บอกว่ามีแต่การใช้เงิน แต่เมื่อถามว่าเคยท้อหรือถอดใจหรือไม่ เขาบอกว่า เรื่องนี้เป็น Commitment เมื่อคิดจะทำก็ต้องทำจนสำเร็จ


"PJW เป็นโรงงานพลาสติกระดับเอสเอ็มอีของประเทศไทยที่ทำและได้รับ ISO 9002 เป็นแห่งแรกก่อนใคร ซึ่งเราใช้เวลาอยู่สองสามปี และเปลี่ยนผู้จัดการฝ่ายคุณภาพถึง 4-5 คน เราชัดเจนในเรื่องของคุณภาพ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การทำระบบคุณภาพถือเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรที่ดี มันทำให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงและสามารถสร้างความแตกต่าง ถามว่าทำไมลูกค้าถึงต้องซื้อของเรา ก็เพราะเราโดดเด่นตรงนี้"


แม้จะใช้เวลายาวนานร่วม 7-8 ปีที่สุด ความพยายามก็ออกดอกออกผล


ถามว่า TPM หมายถึงเรื่องเงินหรือยอดขายหรือไม่


"ระบบนี้ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของเราให้มากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างว่า บริษัทเราไม่เคยปรับราคาสินค้าเลยมาเป็นเวลา 6 ปี ขณะที่ค่าแรงนั้นเพิ่มขึ้นตลอดเวลาและเป็น 300 บาท ในวันนี้ แต่เพราะ TPM ที่ทำให้ระบบการผลิตของเรามีประสิทธิภาพ และทำให้เราสู้กับค่าแรงได้โดยไม่ได้ขึ้นราคาสินค้า"


อย่างไรก็ดี PJW ยังเป็นบริษัทที่สามารถคว้ารางวัล TPM Excellence Award 2012 จากสถาบัน Japan Institute of Plant Maintenance (JIPM)


แสดงให้เห็นว่าบริษัทแห่งนี้เอาจริงจังกับระบบ TPM เพียงใด


วิวรรธน์ บอกว่า ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีความต่าง ดังนั้นสิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ ต้องมุ่งในเรื่องของมาตรฐานเพื่อสร้างความต่าง


"อะไรคือสิ่งที่เราต้องมี ก็คือโจทย์ของเรา และพบว่าเราต้องมีอยู่สามเรื่อง ได้แก่ หนึ่ง มาตรฐาน หมายถึง เรื่องคุณภาพ ซึ่งเราต้องการไปสู่ระดับเวิล์ดคลาส สอง นวัตกรรม และสาม ผลิตภาพ "


แน่นอน ระบบ TPM คือเครื่องมือที่นำไปสู่ความสำเร็จ


และแน่นอนอีกว่า แม้จะทุ่มแรงเพื่อสร้างความแตกต่างแบบสุดๆ แต่บทสรุปก็คือ ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทน
"ลูกค้าก็จะยังไม่เห็นมันจนกว่าจะใช้ไปสักพักถึงจะรู้สึกได้ถึงความต่าง เหมือนการขับรถ ปีสองปีแรกเราจะไม่รู้ว่ารถจากค่ายยุโรป ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ต่างกันอย่างไร แต่เมื่อใช้ไปสักสี่หรือห้าปีก็จะเห็นว่าที่แท้คุณภาพของรถไม่เหมือนกัน"


มุมมองของวิวรรธน์ในเรื่องนี้ก็คือ การปลูกพืชต้องปลูกด้วยเมล็ด ต้องไม่ปลูกด้วยการปักชำ


"ปลูกด้วยเมล็ดจะทำให้ต้นไม้มีรากแก้ว ซึ่งเป็นรากที่หยั่งลึก และมันต้องใช้เวลา "


เขายอมรับว่า แท้จริงแม้จะนำระบบ TPM เข้ามาเพราะมุ่งดูแลเครื่องจักร หากแต่ความสำเร็จขององค์กรและการทำ TPM นั้นเกิดจากน้ำมือคน


ดังนั้นคนจึงเป็นความท้าทายที่เขากำลังหาทางออก


"เครื่องจักรนั้นใช้เงินซื้อได้ แต่คนเป็นอะไรที่เงินซื้อไม่ได้ และเราเองไม่ได้เป็นองค์กรใหญ่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ที่สามารถว่าจ้างคนที่เก่งและดี แบบแพงๆ ได้ เราเป็นเอสเอ็มอีเล็กๆ เราก็ต้องค่อยๆ ทำ ยอมเสียเวลาเพื่อรอคอยผลระยะยาว"


วาดภาพอนาคตไว้อย่างไร?


" PJW จะต้องเป็นบริษัทระดับโลกมากขึ้น เราจะต้องเติบโตตาม Demand โลก ไม่ใช่ประเทศไทย"


เขาบอกว่า เห็นโอกาสอยู่มากมาย และในเร็ววันนี้ก็คือ การรวมกันเป็นหนึ่งของประชาคมอาเซียน ประการสำคัญ เมื่อเห็นโอกาสก็ต้องคว้าโอกาสนั้นมาให้ได้


"ต่อไปนี้เราจะทำการตลาดเชิงรุก โดยการเดินหน้าไปค้นหาความต้องการของตลาดอาเซียน และในอีก 5 ปีข้างหน้าเราจะก้าวต่อถึงตลาดโลก ซึ่งในเวลานั้นโลกน่าจะวนกลับไปยังซีกตะวันตก เพราะตลาดอาเซียนคงเริ่มอิ่มตัว มันเป็นไปตามวัฏจักร"


สิ่งสำคัญยิ่งของทุกธุรกิจก็คือ เงินทุน คน และระบบ ต้องพร้อม และเข้มแข็ง


"สำหรับผมเรื่องสำคัญที่สุดก็คือ ผู้บริหารต้อง Dynamic พอ ต้องติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา มองหาโอกาส และแปลงข้อมูลที่ได้รับสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม"


เพราะหากจะมองเพียงว่าเออีซีเป็นโอกาสที่ดี เขาบอกอย่างนี้เป็นได้เพียงแค่ "ความฝัน" ผู้บริหารต้องแปลงโอกาสดังกล่าวออกมาให้ได้ว่า ต้องเป็นธุรกิจใด อยู่ในประเทศใด คู่แข่งเป็นอย่างไร ฯลฯ เป็นต้น