โพลล์ชี้ขึ้นค่าแรง300คุณภาพชีวิตเหมือนเดิม

โพลล์ชี้ขึ้นค่าแรง300คุณภาพชีวิตเหมือนเดิม

"แม่โจ้โพลล์"เผยแรงงาน 8 จังหวัด ระบุปรับค่าแรง 300 บาท คุณภาพชีวิตยังเหมือนเดิม 49.2% ขณะที่ 83.7% บอกค่าใช้จ่ายพุ่ง เหตุสินค้าขึ้นราคา

ผศ.ดร.สุรชัย กังวล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า สำรวจความคิดเห็นของแรงงานในพื้นที่เขตจังหวัดอุตสาหกรรม ประกอบด้วย จ.ลำพูน ชลบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สมุทรสาครและระยอง ถึง"เสียงสะท้อนแรงงานไทยกับค่าแรง 300 บาท" พบว่าร้อยละ 49.2 คุณภาพชีวิตของแรงงานไทยหลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท มีคุณภาพชีวิตเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 39.1 เห็นว่า มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมีเพียงร้อยละ 11.7 ที่เห็นว่าคุณภาพชีวิตแย่ลงจากเดิม

นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 78.1 เห็นว่านโยบายค่าแรง 300 บาท ทำให้มีรายรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.2 ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม ร้อยละ 16.0 เห็นว่าทำให้แรงงานที่มีฝีมือได้รับการสนับสนุน ขณะที่ด้านผลเสีย ร้อยละ 83.7 เห็นว่าทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้ามีการปรับราคาขึ้นตามไปด้วย ร้อยละ 57.5 เห็นว่าทำให้ถูกลด โอที และสวัสดิการ ร้อยละ 50.2 เห็นว่าทำให้เสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง ร้อยละ 43.2 เห็นว่าทำให้มีปริมาณงานที่ทำ/รับผิดชอบมากขึ้น และอันดับที่ 5 ร้อยละ 35.7 เห็นว่าทำให้มีความเครียดจากการทำงานมากขึ้น
ผศ.ดร.สุรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่าแรงงาน ร้อยละ 70.3 เห็นว่าการปรับค่าแรง 300 บาท มีผลกระทบต่อองค์กรบริษัท เนื่องจากบริษัทจะต้องมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น บริษัทจะมีรายได้ลดลงและเสี่ยงต่อการขาดทุน มีเพียงร้อยละ 29.7 เท่านั้น ที่เห็นว่าไม่ส่งผลต่อองค์กร/บริษัท เนื่องจากบริษัทมีรายได้และทำผลกำไรมากอยู่แล้ว รวมทั้งบริษัททำการลดเงินค่าล่วงเวลาและให้พนักงานทำงานมากขึ้นเพื่อชดเชยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ขณะเดียวกันได้มีการสอบถามความพึงพอใจ โดยรวมต่อนโยบายค่าแรง 300 บาท พบว่า มีคะแนนความพึงพอใจอยู่ที่ 3.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบาย 300 บาท/วัน จะเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือประชาชนที่เป็นแรงงานในด้านของค่าครองชีพ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับค่าจ้างให้เป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศนั้น ย่อมจะส่งผลต่อบริษัทหรือองค์กรให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันภาครัฐได้มีมาตรการช่วยเหลือทางด้านภาษีให้แก่บริษัท องค์กรธุรกิจ แต่ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าวบริษัทหรือองค์กรอาจจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย แรงงานไทยอาจประสบกับปัญหาภาวการณ์เลิกจ้าง เนื่องจากบริษัทอาจจะขาดทุนและปิดกิจการก็เป็นได้ ดังนั้นอาจจะต้องหามาตรการที่ยั่งยืนเพื่อผลักดันนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ให้เกิดประโยชน์แก่แรงงานไทยอย่างแท้จริง รวมทั้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน