องค์กรแห่งความสุข ในอีก 2 ทศวรรษ

องค์กรแห่งความสุข  ในอีก 2 ทศวรรษ

จะเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรและคนทำงานในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า ถ้าเพียง “รู้เท่าทัน” ก็จะพร้อมรับมือ และกลายเป็นองค์กรแฮปปี้ได้ทุกสถานการณ์

“ใครก็ตามที่ไม่มองข้างหน้า คนเหล่านั้นจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

สุภาษิตสเปน ที่ “ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์” ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา นำมากระตุ้นความสนใจของผู้ร่วมสัมมนาวิชาการเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ “Happy Workplace Forum 3.1 ความสุขทุกสถานการณ์” ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีภาครัฐ และเอกชน เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

ก่อนรับหน้าที่จะเปิดประเด็นเรื่อง สุขปัจจุบันและอนาคต ในสถานที่ทำงานในอีก 20 ปี ข้างหน้า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ที่องค์กรและคนทำงานต้องเผชิญอย่างเลี่ยงไม่ได้

ในวันนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาเริ่มชี้ภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ จะอยู่บนฐานของการวิจัยมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของลูกค้า การผลิต และวัตถุดิบ และชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน ขณะที่การทำตลาดสมัยใหม่ ต้องไม่ยัดเยียดผู้บริโภคให้เป็นลูกค้า ทว่าอยู่ที่การจับทางคุณค่า และสิ่งที่อยู่ในความรู้สึกของลูกค้าได้ มาบวกกับคุณค่าซึ่งอยู่ในตัวสินค้า

เวลาเดียวกับการเกิดขึ้นของ “Time sharing worker” โดยเส้นแบ่งระหว่างงาน บางเวลา (พาร์ทไทม์) และเต็มเวลา (ฟูลไทม์) จะยากยิ่งขึ้น งานในอนาคตจะมีความอิสระ และคล่องตัวสูง แนวโน้มแบบโบราณ ที่บอกว่าเป็นคน “ทำงานเต็มเวลา” ก็จะเบาบางลงเรื่อยๆ คนทำงาน จะเป็นที่ต้องการใช้ของหลายองค์กร อาจเป็นจิ๊กซอร์ไปคลิกกับงานในหลายที่พร้อมๆ กัน จึงมีงานหลายงานที่สามารถทำพร้อมกันได้ โดยคนๆ เดียว และในเวลาเดียวกัน โดยที่หน่วยงานก็รับรู้

เรื่องหินจะถูกโยนใส่ฝ่าย HR เมื่อต้องหาวิธีดูแลคนกลุ่มนี้ คำนวณค่าตอบแทนแบบไหนที่เป็นไปตามกลไกของตลาด และสามารถวัดผลิตผลที่เกิดขึ้นได้อย่างแจ่มชัด

“คอนเซ็ปต์ การแบ่งกันใช้ คือประสิทธิภาพในโลกที่การแข่งขันรุนแรง” เขาเน้นย้ำ

นอกจากการทำงาน เราจะเห็น การออกแบบการปฏิบัติงานให้เหมาะกับคนทำงาน

“เวลานี้เราเอางานเป็นศูนย์กลาง แล้วคนก็ทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง ความสนใจคน ทำให้รู้ว่าถ้าคนทำงานอย่างมีความสุข ไม่มีผลกระทบเชิงลบกับคน Productivity ก็จะดี ที่ทำงานในอนาคตจึงเริ่มคำนึงในเรื่องคนมากขึ้น”

ไม่เพียงการดีไซน์สภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อคน แต่อนาคตอาจไปถึงขั้นการดีไซน์อุปกรณ์สำนักงานให้เหมาะกับโครงสร้างของร่างกายในแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ

องค์กรอนาคต คือ ศูนย์รวมของกลุ่มคนที่หลากหลายในที่ทำงานเดียวกัน ต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ต่างความชื่นชอบ องค์กรจึงต้องเข้าใจธรรมชาติของความแตกต่าง และดีไซน์ที่ทำงานให้เหมาะสม เพื่อยึดโยงคนทำงานเอาไว้ให้ได้
อีกเทรนด์ที่น่าสนใจคือ งานสีเขียว (Green Job) งานที่สนใจเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นบรรทัดฐาน ในอีก 20 ปี ข้างหน้า ที่ทำงานไหนต่อต้านสีเขียว จะถูกกากบาทหัวไว้ว่า “ไร้คุณธรรม” บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะถูกวัดด้วยตัวชี้วัดที่เข้มกว่าเดิม ใครมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อมไปเท่าไร สามารถวัดด้วยตัวชี้วัดที่ชัดเจนได้

“คนทำงานรุ่นใหม่ จะถูกใส่จิตสำนึกหนักยิ่งกว่าเด็กอเมริกันในวันนี้ที่สนใจสิ่งแวดล้อม เขาอาจไม่เลือกไปทำงานกับบริษัทที่ไม่สนใจผลกระทบของสังคมด้วยซ้ำ โดยมีความรู้สึกว่าถูกเหยียดหยามจากคนอื่น ถ้าต้องไปสนับสนุนองค์กรที่ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม”

ขณะที่องค์กรอนาคตต้องปรับปรุงระบบปฏิบัติงาน ที่คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของคน การไม่สนใจเรื่องนี้ บนกระแสประชาธิปไตย และ สิทธิมนุษยชน จะจัดการยากยิ่ง ฉะนั้นต้องเปลี่ยนมาตรฐานสิทธิมนุษยชน และคำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ไม่ว่าผลตอบแทน สวัสดิการ ที่มีให้กับพนักงาน

เวลาเดียวกัน การต่อสู้บนโลกนี้ จะเป็นการต่อสู้ของคนที่มี “ทักษะสูง” ที่สั่งสมมาทั้งการเรียนรู้อย่างเป็นทางการ ไม่เป็นทางการและประสบการณ์ที่เกิดขึ้น อนาคตจะเกิดการแย่งชิงคนมีความสามารถ ด้วยวิธีหลอกล่อและแรงจูงใจทุกวิถีทาง เพื่อให้มาอยู่ในที่ทำงานของตน

เพราะการแข่งขันยุคหน้า ต่อสู้กันที่ “คน”

“ดังนั้นทักษะที่สูง ความรู้ความสามารถที่สุดยอด ช่วยให้องค์กรยิ่งใหญ่ได้ แต่ที่ไหนที่รักษาคนไว้ไม่ได้ ปล่อยให้เป็นสมองไหลออกจากองค์กรไปที่อื่นเรื่อยๆ ก็จะเป็นองค์กรที่ซบเซายิ่ง”

ในอนาคตจะมีการใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรมาทดแทนคนมากขึ้น งานจำนวนมากจะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์

“เทคโนโลยีจะเป็นศัตรูแย่งงานคน คนจะรวมตัวกันประท้วงเทคโนโลยี เราจะรู้สึกฉุนกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำไมมาแทนเราได้มากขนาดนี้ แล้วเราจะมีความหมายเหลือมากแค่ไหน ในเมื่อเครื่องจักรมีแต่ทำได้มากขึ้นเรื่อยๆ”

เขาบอกว่า ในยุคหน้า จะเห็นขอบเขตการจ้างงานที่ลดลง คือเหลือแต่งานที่เครื่องจะทำไม่ได้จริงๆ เท่านั้น

สำหรับคุณสมบัติของคนทำงานในยุคหน้า เขาบอกว่า การคัดเลือกคนเข้าทำงานจะอยู่บนฐานของความสามารถในการทำงาน ผลการเรียนไม่สำคัญเท่า Competency base และผลตอบแทนจะไม่ได้วัดจากผลของงานที่ปรากฏออกมา แต่เป็นวิธีวัดจากคุณภาพงานขนานแท้ ที่สำคัญ จะมีการดีไซน์ผลตอบแทนและสวัสดิการแบบแยบยลและละเอียดละออ เหมาะสมกับแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ

สถานที่ทำงานจะระบุความต้องการทักษะภาษาที่ 2 และ 3 ขึ้นไป คนไทยยุคใหม่จึงต้องแบ่งกันรู้ทางภาษา ไม่ใช่เป็นคน “ตกรุ่นทางภาษา” เหมือนอย่างทุกวันนี้

ตลอดจนต้องมี ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญ ที่เฉพาะด้าน ลงลึกและบูรณาการในแนวกว้างได้ด้วย

คนทำงานยุคใหม่ต้องคิดนอกกรอบ และปรับตัวให้เห็นในสิ่งแปลกใหม่ มีทักษะในการทำงานข้ามวัฒนธรรม และสามารถทำงานข้ามสายอาชีพได้ ไม่ใช่การปักหลักในอาชีพใดอาชีพหนึ่ง

ในโลกที่เปลี่ยนแปลง สิ่งหนึ่งที่เบาบางสวนทางกัน คือ “ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล” ที่จะเริ่มลดน้อยลง การสื่อสารแบบเผชิญหน้าน้อยลง ความสัมพันธ์แบบ “เสมือนจริง” (Virtual relationship) จะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีที่ทำทุกอย่างได้เสมือนจริงและนับวันก็จะยิ่งทำได้มากขึ้น

“ความสัมพันธ์ในอนาคตระบบอาวุโสในที่ทำงานจะค่อยๆ จากไป อายุมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นนาย เผลอๆ เด็กอายุ 30 เป็นนายคนอายุ 58 ได้ และคนวัย 58 ก็จะเริ่มทำใจ และยอมรับเด็กที่มีความเหมาะสมมากกว่าได้”

นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคลในที่ทำงาน จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ ในอนาคตความขัดแย้งระหว่างบุคคลจะเกิดจากความมุ่งมั่นผลสัมฤทธิ์ของสิ่งที่ตัวเองได้รับมอบหมาย จึงเกิดความเครียดที่รุนแรง ขณะที่ช่องว่างระหว่างคนจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่ใช่แค่อายุ หรือเพศ เท่านั้น จึงต้องเข้าใจความขัดแย้งแนวใหม่ที่จะเกิดขึ้น

“สถานที่ทำงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ต่อไปต้นทุนจะเกิดเมื่อคนไม่ไว้ใจกัน นี่คือความท้าทายในโลกยุคใหม่ ที่ไม่มีเวลาที่ทำให้เกิดความแข็งตัวของความไว้วางใจ สถานที่ทำงานแต่ละแห่งจึงต้องตัดสินใจเองว่า จะสร้างวัฒนธรรมความไว้วางใจให้เกิดขึ้น บนโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร”

นี่คือความท้าทายขององค์กรและคนทำงานอนาคต ที่ต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างมีสุขทุกสถานการณ์