ม.ศิลปากรย่นเวลาข้าวกล้องงอก

ม.ศิลปากรย่นเวลาข้าวกล้องงอก

เผยผลงานวิจัยใหม่ นำเครื่องอัลตราซาวด์คลี่นความถี่สูงปรับปรุงกระบวนการงอกของข้าวกล้องให้เร็วขึ้นจากวิธีการเดิม 50-60%

ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ ม.ศิลปากร เผยผลงานวิจัยใหม่ นำเครื่องอัลตราซาวด์คลี่นความถี่สูงปรับปรุงกระบวนการงอกของข้าวกล้องให้เร็วขึ้นจากวิธีการเดิม 50-60% หวังรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรมอาหารประเภทข้าวกล้องงอกในระยะยาว พร้อมจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรงานวิจัยเรียบร้อยแล้ว

ผศ.ดร.ปราโมทย์ คูวิจิตรจารุ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้คิดค้นและวิจัยเรื่อง “การปรับปรุงกระบวนการงอกของข้าวกล้องด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูง” เปิดเผยที่มาของงานวิจัยว่า เกิดขึ้นมาจากมีครื่องอัลตราซาวด์อยู่แล้ว ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ต่องานวิจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะใช้ในการสกัดในพืชสมุนไพร และพบว่าในต่างประเทศเองก็ใช้คลื่นในการเร่งการงอกของเมล็ดพันธุ์ให้เร็วขึ้น

ผศ.ดร.ปราโมทย์ได้คิดประยุกต์ทดลองนำคลื่นความถี่สูงจากเครื่องอัลตราซาวด์ที่มีอยู่มาใช้กับการวิจัยข้าวกล้องเพื่อให้งอกได้เร็วขึ้น ซึ่งพบว่า กระบวนการทำข้าวกล้องงอกทั่วไปจะต้องแช่น้ำหลายวัน โดยเปลี่ยนน้ำที่แช่ไปเรื่อยๆ แล้วจึงนำขึ้นมาเกลี่ยและคลุมความชื้นให้เกิดการงอก แต่สำหรับงานวิจัยครั้งนี้ เป็นนำเครื่องอัลตราซาวด์ที่มีความถี่สูงปล่อยคลื่นไปพร้อมกับการแช่ข้าวกล้องในน้ำ ซึ่งคล้ายกับเครื่องล้างแว่นตาในน้ำ ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง และเอาไปเพาะอากาศโดยเกลี่ยไว้และใช้ผ้าคลุมให้เกิดความชื้นและการงอกต่ออีก 24 ชั่วโมง เพื่อต้องการช่วยเร่งการงอกให้เร็วขึ้น

ผลที่ได้จากกระบวนการใช้คลื่นอัลตราซาวด์เร่งการงอก เมื่อเทียบกับวิธีการทั่วไป พบว่า การใช้คลื่นอัลตราซาวด์จะทำให้ข้าวกล้องเกิดการงอกเร็วกว่าวิธีทั่วไปเกือบเท่าตัว หรือ สามารถลดระยะเวลาได้ถึง 50-60% ทีเดียว

“ผลที่ได้จากงานวิจัยครั้งนี้ เป็นแค่การย่นระยะเวลาให้งอกเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น โดยเมื่อเทียบกับวิธีการปกติจะเกิดการงอกเพียงแค่มิลลิเมตรเดียว แต่พอใช้คลื่นอัลตราซาวด์จะงอกประมาณ 2 มิลลิเมตรในเวลา 24 ชั่วโมง และไม่ทำให้สารกาบาในข้าวกล้องงอกสูญเสียหรือเพิ่มคุณค่าอาหาร แต่อย่างใด”ผศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าว

สำหรับลักษณะข้าวกล้องงอกที่นำไปบริโภคจะเป็นตุ่มมีความยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร โดยส่วนใหญ่จะทำให้งอกทั้งเปลือกแล้วนำมากะเทาะเปลือกออก ซึ่งจะช่วยเก็บการงอกได้ดีและสารอาหารไม่ละลายไปในน้ำ พองอกแล้วก็หยุดมันด้วยการอบแห้งและนำไปกะเทาะโดยไม่ขัดสี เรียกว่า ข้าวกล้องงอก มักนิยมนำไปทำน้ำข้าวกล้องงอก หรือนำไปเป็นข้าวกล้องอบแห้งบรรจุถุงสุญญากาศ เพื่อไม่ให้เกิดกลิ่นหืน เพราะปกติข้าวกล้องจะมีรำซึ่งมีไขมันอย่างมากทำให้มีกลิ่นหืนได้ง่าย

สำหรับการต่อยอดงานวิจัยในเชิงพาณิชย์นั้น ผศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าวว่า สามารถนำไปใช้ในระดับผู้ประกอบการประเภทอุตสาหกรรมได้ในระยะยาวเพื่อช่วยให้การงอกของข้าวกล้องให้เร็วขึ้น แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการต่อยอด เนื่องจากยังมีจุดที่ต้องศึกษาด้านอื่นเพิ่มเติม หรือ หาวิธีลดเวลาให้ได้มากกว่านี้ ตลอดจนการให้เป็นยอมรับว่ามีประโยชน์ได้จริง ขณะเดียวกันเครื่องอัลตราซาวด์ที่นำมาใช้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง

เป็นที่ทราบกันดีว่าในข้าวกล้องงอกจะมีสารอาหารจำนวนมาก เช่น ใยอาหาร กรดไฟติก วิตามินซี วิตามินอี และสารกาบา ซึ่งช่วยป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน ช่วยคุมน้ำหนักตัว ทั้งนี้ งานวิจัยเรื่องการปรับปรุงกระบวนการงอกของข้าวกล้องด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ความถี่สูง ชิ้นนี้ ได้รับการจดทะเบียนอนุสิทธิบัตร หรือ หนังสือสำคัญที่ออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี 2555