สติกลิตซ์เชื่อไทย-จีนเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

สติกลิตซ์เชื่อไทย-จีนเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง

"สติกลิตซ์" นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เชื่อเศรษฐกิจจีน อาเซียนรวมไทย จะเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติในยุโรป-ความอ่อนแอของสหรัฐฯ

นายโจเซฟ อี สติกลิตซ์ นักเศรษศาสตร์รางวัลโนเบล อดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีบิล คลินตัน เปิดเผยว่า ท่ามกลางข่าวร้ายเรื่องเศรษฐกิจทั่วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ยังมีแหล่งเศรษฐกิจที่มีข่าวดีอยู่คือภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน โดยประเทศในกลุ่มเอเชียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีตั้งแต่ช่วงปี 2551 ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจต่างประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยผลักดันเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ได้แก่ การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกันทั้งภูมิภาค

การเติบโตของประเทศจีนเริ่มมีสัญญาณน่าเป็นห่วง หลังจากเศรษฐกิจมีการเติบโตมาก โดยเฉพาะเริ่มมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน และการบริโภคมากเกินไปเกิดขึ้น ขณะที่จีนเริ่มมีท่าทีจะเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจมาเป็นแบบเติบโตปานกลาง แทนการโตอย่างร้อนแรงเหมือนที่ผ่านมา

"ปัจจุบันจีนกำลังเป็นที่จับตาว่า เริ่มแยกเศรษฐกิจออกจากสหรัฐอเมริกา และลดภาวะการพึ่งพิงจากประเทศสหรัฐอเมริกาชัดเจน และถูกมองว่าในอีก 5-15 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนจะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก" เขากล่าว ปาฐกถาเรื่องเศรษฐกิจโลก จัดโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์วานนี้

สติกลิตซ์ มองว่า ประเทศจีนต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ลดพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป และจีนไม่ควรสร้างระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคนิยมแบบสหรัฐอเมริกา เพราะอาจพบกับจุดจบที่น่าผิดหวัง ดังเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาที่การบริโภควัตถุมากๆ พิสูจน์แล้วว่าทำให้ประเทศไปไม่รอด จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ การบริโภคสูงอาจทำให้เกิดปัญหาด้านแหล่งอาหาร และทรัพยากร ปัญหาความเท่าเทียมในสังคม และนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจในที่สุด

"มองว่าจีนควรเปลี่ยนนโยบายการเติบโตมาเป็นแบบยั่งยืน และไม่ใช้ตัวเลขจีดีพี (GDP) วัดคุณภาพเศรษฐกิจ และต้องให้ความห่วงใยดูแลทรัพยากรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน และมีสภาพแวดล้อมที่ดีรองรับ ปรับปรุงคุณภาพชีวิตทุกคนให้ดีขึ้น"

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนี้ ถือว่ามีภาวะเศรษฐกิจที่ดี สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศได้ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้จะยังมีการส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ก็ตาม แต่ก็ไม่สำคัญกว่าการบริโภคภายใน

เชื่อสหรัฐไม่เกิดภาวะล้มละลาย

เขากล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าจะไม่เกิดภาวะล้มละลาย เพราะสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ได้ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ยังยินดีให้สหรัฐกู้ทั้งที่ได้รับผลตอบแทนติดลบ เช่นพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีของสหรัฐขณะนี้ให้ผลตอบแทนที่แท้จริงติดลบ 2 % แต่ก็ยังมีนักลงทุนต่างชาติยอมให้สหรัฐกู้เงิน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่สหรัฐสามารถเอาเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข การศึกษา เทคโนโลยี และนวัตกรรมสีเขียว

ดังนั้นเขาจึงอยากแนะนำว่า ให้ทุกประเทศรู้จักการลงทุนให้เป็น เพื่อให้อนาคตของแต่ละประเทศดีขึ้น โดยให้คำนึงถึงผลดี ผลเสีย ความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และเมื่อลงทุนแล้วคนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่รัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลที่ดี ไม่คอร์รัปชัน เพราะเป็นบ่อเกิดของปัญหาเศรษฐกิจและสังคม

เขายังแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายตัดรายจ่ายของรัฐบาลในประเทศตะวันตก

"ผมไม่เห็นด้วยกับนโยบายการรัดเข็มขัด เพราะเปรียบเสมือนยาพิษ ทำลายเศรษฐกิจในวันนี้และอนาคต ไม่ส่งเสริมการออม เพราะคนไม่มีงานทำ จึงออมไม่ได้ นโยบายใช้จ่ายเพื่อลงทุนให้ประเทศดีขึ้นในอนาคตเป็นคำตอบสำหรับทุกประเทศ ซึ่งแตกต่างจากนโยบายประชานิยม ซึ่งสัญญาในสิ่งที่ทำให้ไม่ได้หรือทำให้ได้ในปัจจุบัน แต่เป็นต้นทุนในอนาคตข้างหน้า"

เขากล่าวถึงกรณีที่ไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น ไม่ควรใช้เงินสกุลเดียวกัน เพราะจะทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ในยามที่เศรษฐกิจมีปัญหา อย่างเช่นที่ประเทศในยุโรปที่ใช้เงินสกุลเดียวกันกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ชี้10ปีศก.สหรัฐยังไม่ฟื้นเต็มตัว

อดีตที่ปรึกษาทางเศรษฐศาสตร์ของประธานาธิบดีบิล คลินตัน กล่าวอีกว่า ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวอย่างแข็งแรงเร็วๆ นี้ คงเป็นไปได้ยาก ส่วนตัวเชื่อว่าในระยะ 10 ปีนี้ จะไม่ได้เห็นเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกากลับไปดีเหมือนเดิม ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า จะเห็นอัตราการเติบโตของประเทศสหรัฐอยู่ในอัตราไม่เกิน 3% เป็นอัตราที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่ภายในประเทศได้

สาเหตุที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จะยังคงอยู่ในสภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจฝืดเคืองต่อ เป็นเพราะการดำเนินนโยบายผิด โดยเฉพาะนโยบายรัดเข็มขัดที่ถูกนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีหลักฐานยืนยันในอดีตตลอดมาว่า เป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด รวมทั้งหลักฐานจากการที่ไอเอ็มเอฟนำนโยบายรัดเข็มขัดมาใช้ในประเทศไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ในช่วงที่ประเทศเหล่านี้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แม้จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ แต่ทำให้อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นกัน

จากการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ภาคเอกชนถูกปิดกั้นจากแหล่งเงินทุนสำคัญคือธนาคารพาณิชย์ ทำให้เกิดปัญหาแรงงานเดิมว่างงาน แรงงานใหม่ไร้งาน ทั้งยังทำให้งานที่เกิดจากการจ้างงานของรัฐบาลเองลดลง 7 แสนงาน จากปกติที่จะมีการจ้างงานราว 1.8 ล้านงาน และงานที่ออกมาก็เป็นงานค่าจ้างต่ำ นอกจากนี้ การไร้พัฒนาการด้านเทคโนโลยี ไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย

อีกความผิดพลาดที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาประสบปัญหา ก็คือ การคอร์รัปชันทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่บิดเบือนผลประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นของตน โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง เกิดการคอร์รัปชันมาก เพราะแต่ละพรรคใช้เงินหาเสียงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเม็ดเงินเหล่านั้นล้วนมาจากชนชั้นที่มีเงินทั้งสิ้น และในการบริจาคทางการเมืองก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการกุศล แต่ล้วนเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น

"การคอร์รัปชันแบบอเมริกันสไตล์ดังกล่าว กำลังเป็นรูปแบบหนึ่งของการคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก และสร้างปัญหาไปทั่วทุกประเทศที่ใช้ระบบประชาธิปไตย และเชื่อมั่นว่าความตระหนักรู้ในความเสียหายที่เกิดจากการคอร์รัปชันจะทำให้เกิดการปฏิรูปทางโครงสร้าง "

สติกลิตซ์ กล่าวว่า สรุปสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาจะไม่ฟื้นตัวในเร็วๆ นี้ หรือไม่สวยหรูเหมือนเดิมได้ 3 ประการคือ 1.เป็นเรื่องที่ยากเกินไป 2.ไร้การพึ่งพิงการบริโภคภายในประเทศซึ่งจะเป็นแนวทางที่ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น แต่สหรัฐอเมริกาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะระดับการออมเท่ากับ 0% แต่ข่าวดีคือปัจจุบันนี้ระดับการออมของประชากรสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นมาเป็น 4.5-5% และ 3.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผิดพลาดดังที่กล่าวข้างต้น และแม้จะมีความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยที่ธนาคารสหรัฐเพิ่มปริมาณเงิน (คิวอี 2 และ 3) ก็ไม่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้น แต่อาจทำให้เกิดปัญหาทั่วโลกไปด้วย ทั้งนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาควรทำ และประชาชนยินดีให้ทำก็คือการใช้นโยบายการคลัง

เขากล่าวเพิ่มว่า แม้ภาพเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาจะย่ำแย่ แต่เมื่อมองไปดูเศรษฐกิจฝั่งยุโรปแล้วจะรู้สึกดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจฝั่งยุโรปกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก สาเหตุหลักมาจาก 2 ประการคือ การใช้เงินสกุลเดียวกัน และการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด การใช้เงินยูโรร่วมกันในเวลาที่เร็วเกินไป ก็กลายเป็นสาเหตุแห่งปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยทำให้ประเทศสมาชิกไม่มีประสิทธิภาพในการชำระหนี้

ทั้งยังส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อ่อนแอ ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ ก็มีรัฐบาลของแต่ละประเทศให้การสนับสนุนเป็นส่วนมาก เมื่อรัฐบาลอ่อนแอ ธนาคารก็อ่อนแอ

"ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เอง ยังเลือกใช้นโยบายรัดเข็มขัดมาใช้แก้ปัญหา มองว่ากลุ่มยุโรปก็ไม่มีทางหนีแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ตราบใดที่ไม่เปลี่ยนนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายใช้สกุลเดียวกัน และตอนนี้ผู้เฝ้าสังเกตการณ์เริ่มคิดว่าปล่อยให้สหภาพยุโรปล่มสลายไปดีกว่าหรือไม่ หรือไม่ก็ให้ประเทศเยอรมันออกจากสหภาพยุโรปเสีย เรียกว่าทิ้งยูโร เพื่อกู้ยุโรป"

เตือนไทยอย่าเข้าร่วมเขตการค้าเสรีกับสหรัฐ

ในระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษโดย สุทธิชัย หยุ่น ประธานบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป สติกลิตซ์ เตือนว่า ประเทศไทยไม่ควรเข้าทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีในกรอบเอเชีย-แปซิฟิก หรือTrans-Pacific Partnership (TPP) กับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากจะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เพราะการเจรจาต่อรองทำเป็นความลับ ทำให้ภาคประชาสังคมไม่มีโอกาสรับรู้กับการต่อรองแลกผลประโยชน์กัน และบริษัทใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตยาจะมีอิทธิพลอย่างมากในการต่อรองของสหรัฐ ทำให้ประเทศไทยอาจต้องซื้อยาในราคาที่แพงขึ้น

ต่อคำถามที่ว่า หากประธานาธิบดีบารัก โอบามา ยื่นคำขาดให้ไทยเข้าร่วมวงการค้าเสรีนี้ ประเทศไทยจะทำให้อย่างไร เขาตอบว่า "ควรจะให้ประชาชนออกมาประท้วง"