กฟผ.ชงรัฐดันโรงไฟฟ้าถ่านหินวาระแห่งชาติ

กฟผ.ชงรัฐดันโรงไฟฟ้าถ่านหินวาระแห่งชาติ

กฟผ. เตรียมเสนอกระทรวงพลังงานดันโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นวาระแห่งชาติ หนุนหน่วยงานราชการ ปรับวิธีสื่อสาร สร้างความเข้าใจประชาชน

นายพงษ์ดิษฐ์ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดกระบี่ ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะต้องเข้าสู่ระบบในปี 2562 นั้น พบว่า ยังมีข้อจำกัดในการทำงานอยู่มาก และเกินกำลังของ กฟผ.ที่จะดำเนินการแก้ไขแต่เพียงหน่วยงานเดียว เนื่องจากมีหลายเรื่องจำเป็นต้องประสานขอความร่วมมือกับส่วนราชการอื่นๆ

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายที่สนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันใช้มากถึง 67% โดยไม่ให้มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าของประชาชน จึงควรที่จะยกระดับให้เรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานส่วนราชการอื่นๆ มีภารกิจเดียวกันกับ กฟผ.ที่จะทำความเข้าใจกับประชาชน ให้เข้าถึงมากยิ่งขึ้น

"การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเก่าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์ ยังได้รับการต่อต้านจากประชาชนบางกลุ่ม ที่ยังขาดความเข้าใจว่าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดนั้นมีการพัฒนาเป็นลำดับ จนสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ตามมาตรฐาน หากเรื่องของถ่านหินถูกยกระดับขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ ก็จะทำให้การทำงานเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งในพื้นที่และประชาชนโดยรวมสามารถที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ กฟผ. ยังเตรียมปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการในการสื่อสารกับประชาชนใหม่ ต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ กฟผ. ต้องรับผิดชอบดำเนินการ จำนวน 4,400 เมกะวัตต์ ซึ่งหากนโยบายของรัฐบาล ต้องการเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เพิ่มขึ้นเป็น10,000 เมกะวัตต์ กฟผ. ก็พร้อมที่จะให้ผู้ประกอบการเอกชน เข้ามาร่วมลงทุน ในครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ช่วยกันผลักดันเชื้อเพลิงถ่านหินให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่ง กฟผ.ยังมีแผนที่จะนำคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ประเทศเกาหลี ในเร็วๆนี้ด้วย

ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวด้วยว่า จะมีการผลักดันเรื่องของถ่านหินขึ้นเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่นั้น ยังไม่น่าจะรีบดำเนินการในขณะนี้ ต้องการให้ กฟผ. ในฐานะผู้รับผิดชอบการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น ดำเนินการสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนที่ยังคัดค้านให้เต็มที่เสียก่อน

"มองว่าถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงที่จะมาทดแทนการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยที่ไม่กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้า ซึ่งหากประชาชนคัดค้านจนไม่สามารถที่จะสร้างในประเทศได้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและกัมพูชา ก็พร้อมที่จะลงทุน สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและขายไฟฟ้ากลับมายังประเทศไทย" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว