เชียงของ 1 เมือง 2 แบบ

เชียงของ 1 เมือง 2 แบบ

เมื่อเมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงกำลังถูกกระแส AEC เจาะจงให้เป็น "เมืองเศรษฐกิจ" ชีวิตของผู้คนในเมืองนั้นจะเป็นอย่างไร และ "ใคร" กำหนด

รถยุโรปคันนั้นจอดนิ่งอยู่บนลานจอดรถบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมีรถหรูป้ายทะเบียนภาษาจีนอีกเกือบ 20 คัน จอดไล่เรียงกันไปเต็มพื้นที่ นี่ยังไม่นับรวมที่จอดระเกะระกะอยู่ตามซอกเล็กๆ หน้าอาคารต่างๆ หรือแม้แต่บนช่องทางจราจรที่มีป้าย "ห้ามจอด" ก็ดูเหมือนจะไม่มีความหมายใดๆ เพราะทุกมุมกลายเป็นพื้นที่ "จอดได้" สำหรับรถป้ายทะเบียนจีนไปหมดแล้ว

เมืองเล็กๆ ที่เคยสงบงามอยู่ริมลำโขงอย่าง เชียงของ กำลังถูกรุกรานอย่างหนักจากคาราวานรถยนต์ของจีนที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี โดยเฉพาะปีนี้ (2556) ที่ภาพยนตร์ Lost in Thailand ได้รับความนิยม ทำให้เกิดกระแสท่องเที่ยวตามรอยหนังและมีคาราวานรถยนตร์จากจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศไทยผ่านการใช้ท่าเรือบั๊คเป็นจำนวนมากกว่า 2,000 คันภายในเวลา 2 เดือน

ไม่เพียงเท่านั้น รถบรรทุกคันโตอีกวันละหลายสิบคันก็ใช้ถนนเล็กๆ ภายในตัวเมืองเชียงของเป็นทางผ่านในการขนถ่ายสินค้า เมื่อรถบรรทุกขนาดใหญ่โคจรมาพบกับรถหรูไร้วินัย ปัญหาการจราจรจึงเกิดขึ้นและลุกลามจนเกือบจะกลายเป็นการจราจลให้คนเชียงของต้องปวดหัวไปตามๆ กัน

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กำลังคืบคลานเข้ามาในอีก 2 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) กำลังจะเปิดใช้บริการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ถามว่า ในฐานะจุดเชื่อมต่อที่อยู่ใกล้กับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่อย่างจีน เชียงของเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ใกล้เข้ามานี้หรือยัง เพราะไม่เพียงแค่เรื่องของถนนหนทาง หรือสาธารณูปโภคพื้นฐานเท่านั้นที่จะกลายเป็นปัญหา แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นยังกระทบไปถึงวิถีชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และสังคมของคนเชียงของในทุกๆ ด้านอีกด้วย

เมื่อการพัฒนาเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าเป็นนโยบายระดับชาติที่ไม่อาจทัดทานได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่คนเชียงของจะต้องเตรียมตัวตั้งรับโดยที่ไม่ลืมที่จะรักษา "รากแห่งวัฒนธรรม" และความเป็น "เชียงของ" ที่งดงามไว้ด้วย

เมืองสงบในวันวาน

แม้จะเป็นเมืองในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับเมืองหิรัญนครเงินยาง(เชียงแสน) แต่ก็ดูเหมือนว่า "เชียงของ" เพิ่งจะเป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชนวงกว้างเมื่อราว 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง

ปี 2532-2533 พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ดำเนินนโยบายทางการทูตแนวใหม่ คือ "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" และมีการสำรวจแม่น้ำโขงตั้งแต่ประเทศจีนลงมา กระทั่งถึงเชียงของซึ่งเคยเป็นเมืองค้าขายที่สำคัญในอดีตแต่ถูกปิดตัวลงเพราะปัญหาสงครามและการเมือง บทบาทศูนย์กลางการค้าขายจึงกลับมาสู่เมืองเชียงของอีกครั้ง ในยุคนั้นเริ่มมีผู้คนอพยพเข้ามาทำการค้า และก็มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น นั่นก็คือ การท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวประเภทแบกเป้ไม่มีใครไม่รู้จักเชียงของ เพราะที่นี่เป็นจุดล่องเรือที่จะพาทุกคนไปสู่เมืองมรดกโลก-หลวงพระบางได้อย่างง่ายดายที่สุด แน่นอนว่า สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร แต่ทั้งหลายนั้นก็ยังมี "ขนาดเล็ก" ล้อกันไปกับเมืองเล็กๆ อย่างเชียงของ

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา เล่าว่า เชียงของเริ่มเติบโตอีกครั้งเมื่อมีโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ อันประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ จีน พม่า ลาว และไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองทางการค้า เมื่อมองว่าอนาคตของเชียงของยังไปได้อีกไกลจึงมีคนต่างถิ่นและนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินไว้มาก จากราคาไม่ถึงหนึ่งแสนบาทต่อไร่ก็ขยับมาซื้อขายกันที่ 1 ล้านบาท และตลาดที่ดินก็ถูกปั่นขึ้นไปจนถึง 5-6 ล้านบาท เมื่อมีการประกาศเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย)

"ทุกคนเข้ามาเพราะอ่านเกมได้ว่า นี่คือเมืองหลวงของการค้าขาย แล้วสะพานเชียงของไม่เหมือนสะพานหนองคาย ไม่เหมือนสะพานมุกดาหาร สะพานนี้(เชียงของ-ห้วยทราย)จะเป็นสะพานที่คนใช้มาก อาจจะเรียกว่ามากที่สุดก็ได้ เพราะว่าคนจีนก็เข้ามา คนลาวก็เข้ามา ฉะนั้นเมืองเชียงของจะต้องเปลี่ยนไปมากมายแน่นอน"

แต่ยังไม่ทันที่สะพานมิตรภาพแห่งล่าสุดจะเปิดใช้ คนทั้งอาเซียนก็ได้ทำความรู้จักกับถนนมิตรภาพที่เรียกว่า R3A ถนนสายนี้เป็นถนนที่เชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงไว้ด้วยกัน โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ตัดเข้าสู่ สปป.ลาว ที่เมืองห้วยทรายแขวงบ่อแก้ว แล้วไปจบที่แคว้นสิบสองปันนา มณฑลคุนหมิงในจีน ซึ่งความสำคัญของถนนสายนี้ไม่ใช่แค่การคมนาคมธรรมดาทั่วไป แต่ยังถูกวางให้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้า(โลจิสติกส์) ที่ทั้งสะดวกสบายและย่นระยะเวลาได้มากมายทีเดียว

"จากการใช้เส้นทาง R3A ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เราพบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่า การนำเข้าสินค้าจากเพื่อนบ้านเราไม่ว่าลาวหรือจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากจีนจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ผักผลไม้เมืองหนาว และสินค้าราคาถูกหลายๆ ตัวที่มีความต้องการในประเทศ ผมดูว่ามันเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ส่วนสินค้าบ้านเราผ่านตู้คอนเทนเนอร์ไปก็มีเหมือนกัน ผักผลไม้เมืองร้อนเฉพาะฤดูกาล แต่ในบางช่วงที่เราเข้าไปขายในบ้านเขาปัญหาอุปสรรคที่เราเจอคือ ต้องมีใบรับรอง เชียงของมีสวนผลไม้ในพื้นที่เหมือนกับจันทบุรี แต่เราไปจีนไม่ได้เพราะขาดใบอนุญาตจากภาครัฐ" สงวน ซ้อนกลิ่นสกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย ฝ่ายพัฒนาระบบโลจิสติกส์ พ้อ

นิวัฒน์ เสริมว่า นอกจากจะเป็นต้นทางของถนนสาย R3A หรือจุดเริ่มต้นของการขนส่งสินค้าชายแดนแล้ว เชียงของยังเป็นจุดผ่านของการท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ใช้เส้นทางนี้ผ่านเข้าประเทศไทย แล้วมาแวะใช้บริการหลายๆ อย่างในเมืองเชียงของ จนเกิดภาพแห่งความโกลาหลขึ้น

"ทุกวันนี้รถของจีนเข้ามาเยอะมาก แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะกับคนท้องถิ่น เพราะใช้กฎจราจรไม่เหมือนกัน ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างของวิธีคิดของรัฐไทยด้วยนะ เรื่องการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ถ้าคิดแบบนี้ตายเลย ถ้าเป็นผมท่องเที่ยวแบบนี้ไม่ได้ คนจีนเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้ แต่รถเข้ามาต้องเสียแพงนะ ยกตัวอย่างว่า เสียคันละ1-2 หมื่นถึงจะเข้าได้ แต่ถ้าเข้ามาเที่ยวได้ ผมมีรถให้คุณ มีไกด์ให้ มีคนขับให้ มีเส้นทางท่องเที่ยว แบบนี้คนท้องถิ่นถึงจะอยู่ได้ แต่นี่ปล่อยรถเข้ามาเป็นพันๆ คัน แล้วก็ไปเรื่อยๆ เลย แบบนี้มันเป็นวิธีคิดการจัดการท่องเที่ยวที่ไม่มีกึ๋น...คำว่าเสรี บ้านเรามันปิดเสรี ไม่รู้ว่าเสรีคืออะไร เราเข้าไปเมืองจีนยากมาก แต่ทำไมเขาเข้ามาบ้านเราง่ายมาก เมืองจีนเราเข้าไปเขาวางกินเราไว้ตลอดทาง แต่บ้านเรา...คือวิธีคิดมันคนละอย่างกัน เชียงของขณะนี้อยู่ในช่วงของวิกฤต ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกัน"

มองอนาคตแล้วประธานเครือข่ายฯ มองเห็นแต่ภาพเชียงของในด้านลบ ทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ขีดจำกัด และวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่จะค่อยๆ ถูกกลืนไป นั่นทำให้คนเชียงของเกิดการตื่นตัวครั้งใหญ่ นำมาสู่การระดมความเห็นและวางอนาคตที่ควรจะเป็นให้กับอำเภอเชียงของ

"ที่ผ่านมาคนเชียงของก็ได้พูดคุยกัน เรามีการตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้เมืองเชียงของเจริญเติบโตได้ และอยู่ได้ด้วยตัวของตัวเอง ในเชิงวิถีวัฒนธรรมจะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างไร เรื่องการค้าก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่คิดว่าจะทำยังไงให้สองแบบนี้อยู่ด้วยกันได้ ก็มีการพูดคุยกันถึงเรื่อง 1 เมือง 2 แบบ ขึ้นมา"

ภาพฝันบนการเปลี่ยนแปลง

รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม หัวหน้าคณะผู้วิจัยโครงการภูมิวัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า มองโดยรวมภาคประชาคมของเชียงของถือว่ามีศักยภาพมาก เพราะทุกภาคส่วนสามารถประสานงานกันได้อย่างราบรื่น

"ผมว่ามีศักยภาพในการต่อรองกับรัฐได้ แต่ต้องระมัดระวังให้การวางแผนมันรอบคอบ ผมสนใจที่บอกว่าจะแยกเมืองเป็น 2 แบบ ผมเห็นด้วย จุดเด่นของเชียงของอยู่ที่เมืองโบราณตรงนี้ ซึ่งแม่สายไม่มี ไม่ชัด เชียงแสนไม่ต้องพูดถึง เพราะมันละลายเป็นที่ของเอกชนไปหมด เลอะเทอะ แต่ภาพของผังเมืองเชียงของยังเพอร์เฟกต์ที่สุด มีกำแพงคูน้ำคันดิน แล้วคนที่อยู่ด้วยก็อยู่ด้วยกันได้ รวมทั้งวัดต่างๆ ที่รวมอยู่ มันทำให้เชียงของเป็น Living Historic Cityเพราะฉะนั้นมันจะต้องมองเป็นภาพ Living Historic City แล้วรักษาตรงนี้ไว้ และจะเป็นไฮไลท์สำหรับการพัฒนาเรื่องต่างๆ ผมว่าเชียงของสร้างเมืองประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตได้ดีที่สุด เพราะว่าคนในยังอยู่ ขอให้จัดการให้ได้จะเห็นภาพ และจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่เราไม่แชร์กับใคร ไม่ต้องง้อใครเขา ต้องวางแผนให้ดี"

ด้านประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา อธิบายว่า สาระสำคัญของแนวคิดในการพัฒนาอยู่ที่การจัดแบ่งพื้นที่อำเภอเชียงของจากเอกลักษณ์ที่มีอยู่ ตามบริบททางประวัติศาสตร์และฐานการผลิตเดิม แล้วนำมาต่อยอดให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเชียงของสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ นั่นคือ เขตเมืองเก่าและเขตเมืองใหม่

เขตเมืองเก่า (เวียงเชียงของ) กินพื้นที่เมืองเก่าและพื้นที่โดยรอบที่เป็นฐานการผลิตทางเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยวเดิม รวมถึงวัดในเขตเมืองหลายแห่ง ส่วนเขตเมืองใหม่จะมีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเข้ามารองรับ โดยกำหนดให้อยู่นอกเมืองเก่าออกไปบริเวณโดยรอบเชิงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และพื้นที่ใกล้เคียง

"เมืองเก่าเมืองใหม่เป็นลักษณะการวางรูปธรรมของการพัฒนาที่ไม่ให้สับสน ให้มีความชัดเจนเพื่อตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ที่เราจะเดิน ตอนนี้เป็นขั้นการเตรียมและพูดคุยกัน ภายในเดือนมีนาคม-เมษายน 2556 ยุทธศาสตร์จะต้องเสร็จ ซึ่งเราคิดว่าการทำยุทธศาสตร์ครั้งนี้จะเป็นการทำยุทธศาสตร์ของบ้านเมืองที่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากที่สุด เพราะที่ผ่านมายุทธศาสตร์ของเชียงของถูกจัดการโดยคนบางกลุ่ม หรือไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนโดยแท้จริง ครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 1 หรือครั้งสำคัญ ครั้งเปลี่ยนแปลง พ่อค้า ประชาชน ชาวบ้าน ภาคประชาสังคมทุกส่วนมาร่วมกันทำ"

ด้าน ธวัชชัย ภูเจริญยศ ปลัดอำเภอ หัวหน้ากลุ่มบริหารงานปกครอง อำเภอเชียงของ กล่าวว่า ในฐานะเมืองชายขอบที่เป็นประตูสู่อาเซียน เชียงของจำเป็นต้องออกแบบเมืองให้ชัดเจน

"ผมเคยได้คุยกับท่านเจ้าแขวงหลวงพระบาง ท่านเล่าให้ฟังว่า หลวงพระบางเขาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือเมืองเดิมกับเมืองใหม่ ในประเทศจีนก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน เขาใช้วิธีบังคับได้ แต่บ้านเราทำไม่ได้เพราะว่า จารีต เสรีชน เสรีภาพ มันทำให้ต่างคนต่างคิด ข้าราชการบอกให้คุณย้ายออกไปจากตรงนี้ เดี๋ยวเขาร้องศาลปกครอง มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ยากมาก แต่ถ้าเราค่อยๆ จัดระบบ อาจจะเริ่มจากส่วนราชการตรงนี้ก่อน ผมได้แนวคิดจากครูตี๋(นิวัฒน์ ร้อยแก้ว) ว่าอยากได้ตรงนี้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม หน้าที่ของพวกผมคือต้องออกจากตรงนี้ให้เร็วที่สุด"

ปลัดอำเภอเชียงของหมายถึง การย้ายศูนย์กลางการติดต่อราชการออกไปอยู่ในเขตเมืองใหม่ แล้วยกพื้นที่เดิมนั้นให้เป็น "ศูนย์วัฒนธรรมนิทัศน์อำเภอเชียงของ" เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมืองในการทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมความรู้ทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาด้านต่างๆ ของคนในชุมชนเชียงของ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการพัมนาอย่างยั่งยืน

"หน้าที่ของราชการคือต้องขับเคลื่อนตรงนี้ให้ได้ ที่สำคัญคือต้องนำเสนอให้ถึงรัฐบาล ทำยังไงก็ได้ขอให้เสนอถึงรัฐบาล ให้รัฐบาลให้ความสำคัญและโฟกัสลงมาก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ซึ่งรัฐบาลจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่ใช่เรื่องต้องร้อนรน เพราะถ้าเราให้คนเชียงของเดินได้ และเขาเข้าใจ ผมว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลต้องเอาตาม"

และคำยืนยันสุดท้ายของปลัดหนุ่มแห่งลุ่มน้ำโขง ก็ทำให้ภาพ "ประชาคม" ที่แข็งแรงของชาวเชียงของแจ่มชัดขึ้น