รื้อเกมรบเอสเอ็มอี ต้อง“เข้าใจโจทย์-รู้วิธี-มีเครือข่าย"

รื้อเกมรบเอสเอ็มอี ต้อง“เข้าใจโจทย์-รู้วิธี-มีเครือข่าย"

ดูท่าการสู้รบแบบเดิมๆ ของเอสเอ็มอี ชักจะใช้ไม่ได้ผลเสียแล้ว ได้เวลาผู้ประกอบการพันธุ์เล็กต้องปรับกระบวนทัพใหม่ เพื่อเกมรบที่ทันยุค

โจทย์หนักๆ ถาโถมเข้าใส่เอสเอ็มอีตลอดหลายปีที่ผ่านมา จากที่เคยอยู่ดีกินดี มาเป็นพออยู่ได้ จนถึงเริ่มกระสับกระส่าย หลายรายยกธงขาวยอมแพ้ !

“ถึงเวลาแล้วที่เอสเอ็มอีต้องคิดเรื่องก้าวต่อไป โดยคิดใน 3 เรื่อง คือ เข้าใจโจทย์ รู้วิธี และมีเครือข่าย นี่เป็นวิธี
ที่จะเสริมสร้างให้องค์กรเข้มแข็งและยั่งยืน”

“โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กระตุกต่อมคิดเอสเอ็มอี ในงานสัมมนา “ก้าวต่อไปของเอสเอ็มอีไทย” ที่จัดโดยชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารกรุงเทพ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จะให้เอสเอ็มอีสู้รบด้วยวิธีเดิมๆ ได้อย่างไร ในเมื่อโจทย์ ณ วันนี้แตกต่างจากไม่กี่ปีก่อนลิบลับ มีแต่จะยากและหนักขึ้นเรื่อยๆ

เรียกว่า ยาดีที่เคยใช้ อย่างในยุคแรกๆ ก็ต้อง มีความถนัด มีวินัยทางการเงิน ยุคต่อมาก็ไล่บี้กันด้วย ต้นทุน คุณภาพ และบริการ แต่ยุคนี้อาวุธแค่นั้นแทบจะปลดระวางได้หมดแล้ว

“เราไม่ได้เป็นประเทศที่มีต้นทุนต่ำอีกต่อไปแล้ว และที่สำคัญเราไม่ได้มีทรัพยากรมากมาย ยังพึ่งพาทรัพยากรจากเพื่อนบ้านอย่างมาก ไทยไม่ใช่ประเทศที่จะสามารถไว้วางใจได้ว่าเรามีทรัพยากรที่เพียงพอ..เรามีไม่พอ บ้านเราเปลี่ยนแปลงไปมาก เราไม่มีแรงงานราคาถูก ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ ไม่มีวัตถุดิบพอ และไม่มีผู้บริโภคมากพอที่จะทำให้ตลาดสามารถขยายได้เหมือนเดิมอีกแล้ว”

เรื่องจริงแสนเจ็บปวด ที่กูรูเอสเอ็มอีบอกกับเรา คงทำให้ผู้ประกอบการไทยเลิกชะล่าใจในการทำธุรกิจได้เสียที และกลับมาตั้งหน้าตั้งตาปรับเปลี่ยนตัวเองและคิดถึงอนาคตของตัวเองให้มากขึ้น..นับจากนี้

เริ่มต้นจากเปลี่ยนคู่มือรบเป็น “เข้าใจโจทย์-รู้วิธี-มีเครือข่าย”

เหตุผลที่ “ธุรกิจต้องเข้าใจโจทย์” เขาบอกว่า วันนี้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว โจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องทำงานไม่เหมือนเดิม และนับวันโจทย์เหล่านี้ก็มีแต่จะ “ยากและซับซ้อน” ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการต้องกลับมาทบทวนในทุกๆ เรื่องที่ทำ และไม่ติดอยู่กับความคิดที่ว่า “ฉันต้องทำเองคนเดียวทั้งหมด” แต่มาคิดใหม่ทำใหม่

จุดไหนบ้างที่อาจต้อง “เลิกทำ” เพื่อที่จะใช้วิธีใหม่ อย่าง ไปซื้อ ไปเช่า จ้างทำ หรือนำเข้า เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไวปานจรวดอย่างทุกวันนี้

ต่อมาก็ต้อง “รู้วิธี” (Know-how) ซึ่งก็คือ ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ เขาบอกว่า การแข่งขันในวันนี้ แพ้ชนะกันที่ Know-how เราต่อสู้กันตรงนี้

“ทุกคนต้องรู้วิธีทำในเรื่องที่ตลาดต้องการ ซึ่งถ้าวิธีนั้นมีคนรู้มาก การแข่งขันก็สูง ทำไปแบบเลือดตาแทบกระเด็น ถ้าทุกคนรู้ก็ไม่มีกำไร แต่ถ้ามีคนรู้น้อย การแข่งขันก็ลดลง และถ้าเรารู้อยู่คนเดียว นั่นเรียกว่า นวัตกรรม”

โฆสิตบอกว่า เมื่อมี Know-how ก็ต้องหาทางใช้ แต่สิ่งสำคัญไปกว่านั้น คือ ต้องต่อยอดความรู้นั้นให้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และหาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งนั่นก็คือการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งผลลัพธ์ที่จะได้ก็คือ “ผลิตภัณฑ์ใหม่”

“ถ้าเราไม่ต่อยอดเราก็ไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ และถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็จะไม่มีอะไรที่แตกต่างจากตัวเราเอง”

อะไรคือ การไม่แตกต่างจากตัวเอง เขาอธิบายว่า ก็คือความสามารถในการแข่งขันที่เท่าเดิม ตรงกันข้ามถ้าทำให้แตกต่างได้ เราก็จะมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ แต้มต่อของเอสเอ็มอีที่จะเพิ่มกำลังขึ้นเท่าทวี

ปิดท้ายกับต้อง “มีเครือข่าย” เขาบอกว่า เอสเอ็มอีต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับตัวเอง และมีพละกำลังที่เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยการเติมพลังนั้นสามารถทำได้หลายวิธี อย่างเช่น การมีพันธมิตร หรือไปเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนที่เข้มแข็ง เอสเอ็มอีจึงต้องมีเครือข่าย และอยู่ในเครือข่ายที่เข้มแข็งด้วย

เหล่านี้คือ สูตรเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนแบบฉบับเอสเอ็มอี แต่เข้มแข็งอย่างเดียวไม่พอ ต้องไม่พลาด
โอกาสในการเติบใหญ่ด้วย เมื่อในบ้านมีอุปสรรคนัก ก็หาทางใช้ศักยภาพของเพื่อนบ้าน มาเติมเต็มจุดแข็งให้

"สุรชัย ชัยตระกูลทอง” ประธานบริหาร บริษัท RCKรุ่งเจริญกรุ๊ป จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการที่เลือกไปแสวงหาอนาคตให้ธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเข้าไปลงทุนในเวียดนามเมื่อปีพ.ศ. 2549 ด้วยเหตุผลที่ว่า..

“ผมเป็นคนไม่หยุดนิ่ง คิดตลอด เหมือนนักมวยก็ต้องฟุตเวิร์คตลอด จะปล่อยให้โดนน๊อคไม่ได้”

คนไม่อยากถูกน๊อค ทำธุรกิจผลิตรถเทรลเลอร์รายใหญ่ของไทย ตัดสินใจขยายโรงงานไปที่เวียดนามเพื่อผลิตชิ้นส่วน ส่งให้กับบริษัทแม่ในประเทศไทย โดยเรียนรู้โมเดลแบบนี้มาจากประเทศญี่ปุ่น

“ทุกวันนี้หาคนงานยากขึ้นทุกวัน มีสัญญาณมานานแล้ว และเวียดนามประชากรก็ใกล้เคียงกับไทย รวมถึงการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งทางถนนในอนาคตต้องเกิดขึ้นแน่ ฉะนั้นดูหลายๆ อย่างเป็นโอกาส จึงไปตั้งโรงงานที่เวียดนาม”

การปรับตัวที่รวดเร็ว ทำให้ในวันที่ค่าแรงแพง คนงานหายาก พวกเขาก็ยังสามารถเดินหน้าธุรกิจไปได้ และมีกำไร พร้อมๆ กับเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับโจทย์ใหม่ๆ ที่เผชิญหน้า

สุรชัยฝากข้อแนะนำสำหรับเอสเอ็มอี ว่า จะใหญ่ได้ต้องคิดว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ไม่ใช่องค์กรเป็นส่วนหนึ่งของเรา วิสัยทัศน์จะพุ่งพรวดก็ต้องหลุดจากความคิดของตัวเองให้ได้

ทำธุรกิจ ต้องมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งความมั่นคง ก็คือ การมีกำไร ส่วนยั่งยืน ก็คือการมีนวัตกรรมในสินค้าและบริการ เขาเน้นย้ำการทำธุรกิจต้องมีกำไร เพราะไม่กำไรเอสเอ็มอีก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งกำไรจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร

“ทำไมญี่ปุ่นจากบริษัทเล็กๆ เขาถึงโตและมีขนาดใหญ่ได้ เพราะเวลาเขาทำธุรกิจจะทำจากเล็ก แล้วกำไรทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็เติมกลับไปในธุรกิจ ไม่ใช่เอาออกไป หรือไปลงทุนในตัวอื่น แต่เอากำไรย้อนกลับมาพัฒนาตัวมันเอง”

ปิดท้ายกับ ต้องรักษาทีมไว้ให้ได้ เขาบอกว่า เอสเอ็มอีต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทีมงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องรู้จักแบ่งปัน ต้องรู้จักแบ่งกำไรให้ลูกน้อง เขาบอกจากประสบการณ์ว่า ผลกำไรจะเพิ่มขึ้นได้อีกจากแนวคิดนี้

ด้าน “โกศิลป์ ภัทรธีรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอ็ดวานซ์ สแตนเลส จำกัด ที่กลายเป็นผู้นำตลาด แท้งค์น้ำสแตนเลสในลาว จากจุดเริ่มต้นแค่ส่งผลิตภัณฑ์ไปขายที่ลาวแต่ต้องแทบกระอักเพราะเจอกับสินค้าลอกเลียนแบบจากเมืองจีน จึงตั้งสินใจไปสร้างโรงงานและสร้างการรับรู้ของตลาดใหม่ จนสุดท้ายก็ตีสินค้าเลียนแบบเสียแตกกระจุย สามารถเรียกตำแหน่งผู้นำตลาดกลับคืนมาได้ และกำลังจะขยายโรงงานไปพม่าเร็วๆ นี้

เขาบอกว่า ทั้งสองประเทศได้เปรียบเรื่องค่าแรงถูก และถ้าเข้าไปแบบรู้วิธี ต้นทุนก็จะถูกลง อย่าง ไปแบบเล็ก มีพาร์ทเนอร์ที่ดี เข้าถึงความชอบและรู้ใจคนในประเทศนั้น ทำในสเกลไม่ใหญ่ มองเป็นหนึ่งจังหวัดใหญ่ๆ ของไทย ค่อยๆ เรียนรู้ไป ก็ทำกำไรได้ ตลาดเกิดก็ค่อยเริ่มการขายที่เข้มข้น และขยายสินค้าที่มีโอกาสต่อไป เท่านี้ก็เติบใหญ่ในต่างบ้านได้

และนี่ก็คือ หมากรบกระดานใหม่ของเอสเอ็มอีไทย ที่จะใช้ต่อกรกับสิ่งที่เรียกว่า..อนาคต

.................................................................
Key to success
หมากรบสู่อนาคตของเอสเอ็มอี
๐ เข้าใจโจทย์ธุรกิจ ปรับตัวให้สอดคล้อง
๐ รู้วิธี มี Know-how ต่อยอดความรู้เพิ่มขึ้น
๐ สร้างเครือข่าย เพิ่มความเข้มแข็งธุรกิจ
๐ เรียนรู้และใช้ศักยภาพประเทศเพื่อนบ้าน
๐ มีกำไรต้องย้อนกลับมาพัฒนาตัวเอง