พลิกคัมภีร์ ฟิลิป ค็อตเลอร์ การตลาดเหนือชั้นอย่างยั่งยืน

พลิกคัมภีร์ ฟิลิป ค็อตเลอร์
การตลาดเหนือชั้นอย่างยั่งยืน

เมื่อยอดขายและผลกำไรไม่ใช่ตัววัดสูงสุดของธุรกิจ ภาคต่อคือขายหัวใจ รหัสการตลาด3.0 ของฟิลิป ค็อตเลอร์ กลยุทธ์ครบมิติเอาชนะจิตวิญญาณลูกค้า

แม้จะเป็นท็อปแบรนด์ระดับประเทศ มูลค่าธุรกิจสูงเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ทั้งปตท.,อินทัช,เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) และไทยเบฟเวอเรจ แบรนด์ที่การันตีธุรกิจเติบโตเชิงรายได้และส่วนแบ่งทางการตลาดเบอร์ต้นๆของประเทศ ยังต้องฉุกคิดกางฉบับตำราการตลาดของปรมาจารย์ ฟิลิป ค็อตเลอร์ เจ้าตำรับคัมภีร์ทฤษฎีการตลาด Marketing 3.0 ที่มีมนต์ขลังไม่เสื่อมคลาย

ภาพของกระแสธุรกิจกำลังไปมุ่งไปสู่ยุคการตลาด 3.0 หลังผ่านพ้นยุคการตลาดยุค 1.0 เป็นยุคขายสินค้าเน้นฟังก์ชันการใช้งาน ยุค 2.0 เป็นยุคเอาใจลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Consumer Centric) ยุคต่อไปเคลื่อนสู่ยุคแห่ง "การเอาชนะใจผู้บริโภคให้ผูกกับแบรนด์" ไม่ต่างจากการขายจิตวิญญาณแห่งองค์กร

ก่อนจะพบฟิลิป ค็อตเลอร์ กูรูทางการตลาดตัวจริงที่จะมาเปิดเปลือกเจาะลึกถึงแก่นแท้ทฤษฎีการตลาด 3.0 กลยุทธ์จับใจลูกค้าในวันที่ 6 มีนาคม มาผ่าแนวคิด "ท็อปแบรนด์" ระดับประเทศของไทย ว่าพวกเขาเดินถึงสเต็ปไหนของตำรา Marketing 3.0 กันแล้ว

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นอีกองค์กรใหญ่ที่ระดับซีอีโอ ลงมาขับเคลื่อนทัพทรานสฟอร์มองค์กรให้สอดรับกับวิถีการตลาด 3.0 ทำนองเดียวกันกับที่ค็อตเลอร์กล่าวไว้ คือ การเข้าถึงผู้บริโภคจะยั่งยืนต้องเอาชนะจิตวิญญาณ และสร้างคุณค่าให้กับสังคมและแบรนด์ จนกระทั่ง "ซื้อใจ" เปลี่ยนลูกค้าจาก Consumer เป็น Prosumer ที่คอยค้ำยัน "เป็นปากเป็นเสียง" แทนแบรนด์ให้กับองค์กรธุรกิจได้

“เป็นสิ่งที่ท้าทายมากเพราะเรากำลังเข้าสู่ยุค 3.0 สมัยก่อนขายสินค้า ขายฟังก์ชัน ต่อมาเอาชนะจิตใจผู้บริโภค จนล่าสุดเอาชนะจิตใจขายจิตวิญญาณ ปตท.มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่ความเป็น Regional Top Brand (แบรนด์นำระดับภูมิภาค) ที่ต้องการให้ลูกค้าเห็นเราเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นคนดีลุกมาสร้างสิ่งดีๆให้กับสังคม” เขาเล่า

ไพรินทร์ บอกว่า การจัดกระบวนทัพการตลาด 3.0 ตามแนวทางของปตท.เพื่อก้าวไปสู่การเป็น Regional Top Brand จะเริ่มต้นจากการแปลงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-Corporate Social Responsibility) ไปสู่การสร้างคุณค่าให้กับสังคม ผู้ถือหุ้นและองค์กร (CSV -Creating Shared Value) มีบทบาทเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคม

เขาเปรียบเทียบความต่างระหว่าง CSR กับ CSV ให้ชัดว่า CSR คือการเอาปลาไปให้คนกิน ให้แล้วจบ แต่ CSV คือ "การสอนให้ตกปลา" ช่วยสังคมทุกมิติ ตั้งแต่สร้างคุณค่าทางสังคม เติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับมนุษย์ได้มีความมั่นคงทางจิตใจ

"มนุษย์ต่อไปจะมีความสมบูรณ์ทางปัจจัยมากขึ้น แต่จะขาดความมั่นคงทางจิตใจ หากเราจับจุดตรงนี้ได้ก็ขายของได้ หากจับไม่ได้ก็ถูกโจมตี" เขาบอก

สำหรับองค์กรใหญ่อย่างปตท.จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลุกขึ้นมาทำ CSV พลิกบทบาทขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้สังคมเป็นสุข อย่างละเลยไม่ได้ เพราะผู้บริโภคและสังคมเรียกร้องคุณค่า จากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจบนฐานทรัพยากร โดยเฉพาะปตท.องค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

“ห้ามละเลยการสร้างคุณค่าสังคม เพราะมันจะต่อยอดไปถึงต่อองค์กร“ เขาย้ำ

โครงการที่ปตท.ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น แนวคิดการลดอุบัติเหตุในสังคมไทยให้เป็นศูนย์ ผ่านหนังโฆษณา พร้อมไปกับภาคปฏิบัติโดยปตท.จะเป็นองค์กรที่ไม่เลือกบริษัทมีประวัติอุบัติเหตุทางรถยนต์เข้าร่วมงานในกลุ่มปตท.โดยเฉพาะในส่วนงานด้านโลจิสติกส์

เขามองว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการเข้าหาผู้บริโภคที่นับวันจะไม่ได้เชื่องเป็นลูกค้าชั้นดีคอยเดินตามให้องค์กรชี้นำรสนิยมความคิดเท่านั้น ตรงกันข้ามผู้บริโภคมีการศึกษาฉลาดขึ้นทุกวัน แล้วยังมีเทคโนโลยีช่วยเชื่อมต่อให้เข้าถึงกันหมดในโลกโซเชียลมิเดีย ที่สามารถแชร์ข้อมูลทุกอย่างแพร่กระจายไปรวดเร็ว น่าหวั่นเกรงถึงผลทั้งทางบวกและลบต่อองค์กร

หากเป็นเรื่องดี ก็เกิดลัทธิเอาอย่าง ช่วยกันบอกต่อ ในทางกลับกันมีเรื่องเชิงลบก็พร้อมจะพัดเอาพายุลูกใหญ่สาดเข้าใส่องค์กรได้โดยง่าย

“ต่อให้ฟังก์ชันดีให้ตาย ดีไซน์สุดฤทธิ์ จับใจด้านอารมณ์เกินร้อย แต่ถ้าไม่มีคุณค่าด้านจิตวิญญาณ ก็ไม่สามารถเอาชนะใจผู้บริโภคในยุคหน้าได้”

เมื่อรู้ทันกระแส ผู้นำปตท.จึงลงไปขับเคลื่อนเอง เริ่มจากการทำให้ทุกหน่วยธุรกิจ (Business Unit -BU) ตระหนักถึงการสร้างแบรนด์เครือข่ายแบรนด์รอยัลตี้ผู้ภักดี ให้เป็นเกราะคุ้มภัย

“ผมให้นโยบายไปว่าทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาในปั๊มแล้วมีความสุข” เขาบอกถึงหัวใจของแนวคิด

หากปตท.มุ่งมั่นทำ CSV และ CSR จนเกิดแรงกระเพื่อมต่อสังคม ( Social Impact ) ได้ก็จะมีผลทำให้พันธมิตรทั้งซัพพลายเข้ามาเป็นแนวร่วมของกลุ่มคุณค่านี้

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ยากและท้าทายอนาคตของปตท.คือพันธกิจที่ยิ่งใหญ่ของการแสวงหาพลังงานอนาคตให้กับประเทศ ที่จะต้องสื่อสารให้ภาคประชาชนผู้ใช้พลังงานตระหนักรู้คุณค่าพลังงาน และเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ที่กำลังสร้างภารกิจใหญ่หลวงเพื่อชาติ

“การรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เป็นภารกิจที่ใหญ่หลวง หลายประเทศ ใช้การระดมทุนผ่านกองทุน แต่เมืองไทยมีปตท. เพียงรายเดียวเป็นหัวหอก ที่ต่อให้กำไรปีละแสนล้านบาทก็ไม่เพียง เพราะบ่อก๊าซและน้ำมันบ่อละหลายแสนล้านบาท ซึ่งต้องหาอีกหลายบ่อเพราะคนใช้มากขึ้นทุกวัน"

ข้ามมาที่แบรนด์ผู้นำด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอีกแบรนด์ "สมประสงค์ บุญยะชัย" ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทอินทัช ที่ลงทุนเปลี่ยนคอร์ปอเรทแบรนด์มาจาก บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อให้สอดคล้องกันกับโครงสร้างผู้ถือหุ้น มาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากกลุ่มธุรกิจดำเนินมานานกว่า 20 ปี โดยมีธุรกิจหลักอยู่ที่การสื่อสาร

การเปลี่ยนชื่อของอินทัช สะท้อนไปถึงความต้องการเข้าถึงคนกลุ่มได้ง่ายขึ้น เล็งเป้าหมายไปถึงระดับแมส เป็นแบรนด์ที่เมื่อเอ่ยถึงแล้วคนรู้สึกสบายใจ น่าคบหา ที่สำคัญอาจจะมีนัยสำคัญไปถึงการปลอดจากความวุ่นวายทางการเมือง

“จากการเซอร์เวย์ความรู้สึกของคนที่มีต่อแบรนด์เรา เขารู้สึกว่าแบรนด์เราเป็นคนเก่งที่เข้าถึงยาก เราจึงอยากเป็นคนเก่งที่คนอยากคุยด้วย Easy to deal with ไม่ใช่ Difficult to deal with จึงต้องการได้ชื่อที่ฟังดูเป็นมิตร เป็นธรรมชาติ ง่าย ทันสมัย และเป็นมืออาชีพ” สมประสงค์ เล่า

โดยเขามองว่า การขับเคลื่อนธุรกิจตามเทรนด์การตลาด 3.0 สำหรับอินทัช ที่วางเป้าหมายว่าจะเป็นแบรนด์ "ที่รัก" ที่ลูกค้าขาดไม่ได้

“ลูกค้ามีอำนาจเลือกโดยสมบูรณ์สามารถเปลี่ยนใจได้ แบรนด์จึงต้องสะท้อนให้ได้ว่าเราเป็นประโยชน์ต่อชีวิตเขาอย่างไร ต้องหาวิธีทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่ง สัมผัสได้ ทำให้เหมือนอยู่ใกล้ตัวเขา”

เริ่มจาก Basic Function (รูปแบบสินค้า) ให้ไปสู่ Emotional (อารมณ์) จนถึง Spiritual (จิตวิญญาณ) องค์กรต้องเปลี่ยน Mindset จากที่แค่ "ขายสินค้า" ให้ไปที่การขายประสิทธิภาพ ทำให้ชีวิตลูกค้าสะดวกสบาย ขายความสุข สนุกสนานในชีวิต ผสมกับความรื่นรมย์

“ไม่ใช่หยุดแค่ทำสัญญาณดีไม่มีล่มให้ลูกค้าคุยกับแฟนแล้วสบายใจ แต่จะต้องค้นให้เจอว่าชีวิตเขามีอะไรอีกที่ต้องการ” เขาบอก

เช่นเดียวกับลิปสติกแท่งละพันก็ไม่ได้ขายเพียงขี้ผึ้งใส่สีแต่ขายความหวัง ความน่าเชื่อถือความผูกพัน

ซีอีโออินทัช บอกว่า สำหรับอินทัชแล้วเฉลี่ยความรักไปหา 4 กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ตั้งแต่ 1.ลูกค้า ผู้ใช้บริการต้องได้รับสิ่งที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป 2.ผู้ถือหุ้น ที่ยินยอมมอบเงินมาให้กลุ่มธุรกิจบริหาร 3.พนักงาน ผู้ที่สละเวลาทั้งชีวิตมาทำงานอยู่กับบริษัท ก็ต้องให้ค่าตอบแทนอย่างยุติธรรม และ 4. สังคม ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดี ปฏิบัติตามกฎหมาย เสียภาษีถูกต้อง และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม โดยทำให้ออกมาจากใจ และแสดงถึงความจริงใจ ไม่เสแสร้ง

ขณะที่ วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี องค์กรที่มีอายุขึ้นปีที่ 100 มองกลไกของ Marketing 3.0 ว่ามีทิศทางเดียวกันกับกรอบความคิดของการทำธุรกิจของเอสซีจี ที่มุ่งมั่นทำธุรกิจไปพร้อมกับการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพราะทุกอย่างต้องไปด้วยกันตั้งแต่ แบรนด์ธุรกิจ (Corporate Brand) และแบรนด์สินค้า (Product Brand)

“อายุ 100 ปีที่อยู่มาได้ สร้าง Success Case มากมาย ก็เพราะมีความยืดหยุ่นสูง (Flexible) เปิดใจกว้าง สิ่งที่ทำมามากคือ Customer Centric ตอบโจทย์ลูกค้าและไม่หลงยึดติดกับความสำเร็จ" เธอเล่าและว่า

การวางกลยุทธ์พัฒนาสินค้าสักตัว ยังต้องมาจากแนวคิดคิดครบทุกมิติของค็อตเลอร์ บริหารจัดการทุก Stakeholders อย่างสมดุล ผ่านการระดมสมองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การเปิดตัวสินค้าครั้งแรกก็ได้รับความนิยมเกินความคาดหมาย

แนวคิดนวัตกรรมดูแลสังคมและโลก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่าง SCG Eco Value สินค้าเอสซีจีที่ยังนิยมใช้ในตลาด เพราะผู้บริโภคเห็นคุณค่าที่เกิดขึ้น เท่ากับว่าได้รับการตอบรับด้านจิตวิญญาณ เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าเอสซีจีเป็นองค์กรมีจิตใจใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงคิดค้นสินค้าประเภทรักษ์โลก

นอกจากนี้ เอสซีจียังกำหนดดัชนีการประเมินผลงาน (KPI) ที่มาจากสินค้า Eco Value เป็นบรรทัดฐานประเมินความสำเร็จ ที่ต้องวัดผลในเชิงรายได้ให้กับธุรกิจได้ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ ให้ได้ภายในปี 2558

ด้านชาลอต โทณวณิก ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สะท้อนชัดว่าเธอเป็นผู้หนึ่งที่ใช้ตัวเองสื่อสารสร้างคุณค่ากับองค์กร ล้อไปกับทฤษฎีการตลาด 3.0 ผ่านช่องทางโลกโซเชียลมิเดียที่เธอมีครบมือ ทั้งทวิตเตอร์ เฟสบุค และอินสตราแกรม ฐานะที่เธอเป็นหนึ่งในคนที่ทั่วประเทศรู้จักดี และยังเป็นผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) ในโลกโซเชียลมิเดีย สังคมออนไลน์

ชาลอตเล่าว่า เริ่มใช้สื่อโซเชียลมิเดียตั้งแต่ 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เมื่อครั้งทำหน้าที่เป็นซีอีโอหญิงให้กับมิเดีย ออฟ มิเดียส์

เมื่อข้ามมานั่งดูแลด้านการสื่อสารให้กับไทยเบฟ เธอใช้ช่องทางโซเชียลมิเดียช่องทางเดิม ทว่าปรับแผนเป็นใช้ตัวเองเป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราวจากองค์กรผ่านตัวเธอ คอยพูดคุยตอบโต้ (Interactive) กับคนบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นอีกมุมมองของการถ่ายทอดแนวคิด สะท้อนตัวตนของเธอต่อองค์กร เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวของ ไทยเบฟ ให้คนในโลกออนไลน์ เห็นถึงจิตวิญญาณของบริษัท

เธอบอกว่า เพียงแค่ทำให้คนทั่วไปเปิดกว้างทางความคิดและทัศนคติก็ถือว่าช่วยเสริมความรู้สึกถึงจิตวิญญาณต่อไทยเบฟ เหรียญมีสองด้าน ที่ไม่ใช่เพียงมองไทยเบฟว่าเป็นธุรกิจแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา ก่อให้เกิดสิ่งไม่ดี เช่น อุบัติเหตุในสังคม ในทางกลับกันก็เป็นส่วนหนึ่งของการสังสรรค์ สร้างความสนุกสนานให้สังคมหากดื่มอย่างพอเหมาะ

“ตั้งแต่มาอยู่ไทยเบฟก็ทึ่งว่าเขาก็ทำหลายอย่างเพื่อสังคมมากแต่ไม่ค่อยพูด เราไม่ได้ตั้งใจโปรโมทองค์กรแต่ตำแหน่งเป็นฝ่ายสื่อสาร มีหน้าที่นำเรื่องราวบางเรื่องที่คิดว่าเป็นประโยชน์กับคนตามนำสู่สาธารณะมากขึ้น"

เธอบอกว่า ข้อดีของการถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวเธอ ทำให้คนตามตอบรับและดูไม่ยัดเยียดว่าโฆษณาขายสินค้า เธอจะสกรีนและระมัดระวังไม่ให้เป็นไปในเชิงพูดเพื่อหวังผล แต่เน้นใช้ความจริงใจใส่ใจตอบโต้กันเหมือนเพื่อน เพราะ "คนต้องการคุยกับคน ชอบอะไรที่จับต้องได้"

บางครั้งโซเชียลมิเดียที่ใช้ชื่อองค์กรก็ไม่สามารถทำหน้าที่เข้าถึงจิตวิญญาณ ได้เท่าการสื่อผ่านตัวเอง เพราะคนติดตามเธอในโลกออนไลน์ เขาชอบที่จะรับรู้ว่าสื่อสารกับใครมากกว่าที่บ่นไปกับเฟสบุ๊ค หรือทวิตเตอร์ขององค์กรแล้วไม่รู้ว่าเรากำลังคุยกับใคร นั่นจึงทำให้จำนวนคนตามสนุกในการติดตามเธอ

“ความเป็นองค์กรจับต้องยากเราจึงมีทั้งภาคที่เป็นองค์กรของไทยเบฟให้คนตาม ซึ่งไม่ใช่บุคคล ไม่มีจิตวิญญาณ จึงมีภาคของตัวเราเอง ที่ถ่ายทอดเรื่องราวในองค์กร ผ่านมุมมองจากแนวคิดเราสื่อออกไปในสิ่งดีงามที่องค์กรทำเท่ากับว่าเราเป็นผู้ตามแล้วกลั่นกรองสิ่งนั้นมาเล่า ส่วนโซเชียลมิเดียขององค์กรก็ทำหน้าที่บอกกล่าวเล่าเรื่องโครงการภาพกว้าง”

สิ่งที่ทวิตเตอร์ของชาลอต แตกต่างจากองค์กรไทยเบฟ คือ การอัพเดทแบบเอ็กคลูซีฟ ถึงเรื่องเล่าบางครั้งที่เธอไปฟัง เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัวเบียร์ช้าง (ประธานกรรมการไทยเบฟ) ก็หยิบยกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่า

ชาลอต บอกว่า การติดตามจับกระแสการใช้โลกโซเชียล มิเดีย เป็นช่องทางการสื่อสารที่ค่อนข้างเป็นเฟรนด์ลี่กับทุกเพศทุกวัยและใช้ง่ายเมื่อมีเทคโนโลยี จึงทำให้คนทุกเจนเนเรชั่นกระโดดเข้ามาในโลกโซเชียลมิเดีย ทำให้ตัวเองเธอเข้าใจเทรนด์ กระแส จับจุดทิศทางความนิยมของผู้บริโภคได้จากพื้นที่ตรงนี้ ต่อยอดไปสู่การวางแผนการตลาดเชิงลึกได้เป็นอย่างดี

--------------------------

เปิดห้องเรียน ฟิลิป ค็อตเลอร์

คงเป็นห้องเรียนที่มันหยดเต็มไปด้วยหลากรสชาติมากด้วยคำถาม และหลายคำตอบจากทฤษฎีการตลาด เมื่อจอมตั้งคำถามพบนักหาคำตอบ มาอยู่ในห้องเดียวกัน ระหว่างสุทธิชัย หยุ่น VS ฟิลิป ค็อตเลอร์

กับภารกิจการตีแผ่คัมภีร์การตลาด 3.0 ที่เขียนโดยฟิลิป ค็อตเลอร์ นักวางกลยุทธ์และวางแผนการตลาด ผู้ที่เล่นกับกิเลสสารพัดยุทธวิธีขายแหลกเพื่อกำไรสูงสุด อยู่มาวันหนึ่งท่านปรมาจารย์กลับลุกขึ้นมาบอกว่า การตลาดยุคใหม่ ธุรกิจจะอยู่ยั้งยืนยงในโลกหน้าได้ ต้องเดินมาสู่การถามหา "คุณค่าทางจิตวิญญาณ"

แน่นอนที่สุดตำราของค็อตเลอร์ ไปกันไม่ได้กับวิธีคิดของสตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอแอปเปิล นักประดิษฐ์พลิกโลก ผู้ล่วงลับ กับความเชื่อที่ว่าผู้ผลิตสินค้าจะต้องคิดแทนให้กับผู้บริโภค อย่างที่จ็อบส์เคยพูดไว้ว่า "ไม่ใช่หน้าที่ของลูกค้าที่ต้องรับรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร" (It is not the customer's job to know what they want.)

ถ้าสตีฟจ็อบส์ กับ ค็อตเลอร์ มีโอกาสเจอกัน เขาจะโต้ตอบแนวคิดฝังหัวที่ต่างกันสุดขั้วอย่างไร

"แล้วใครเจ๋งกว่ากัน !!!"

แน่นอนสุทธิชัย น่าจะถามคำถามนี้กับค็อตเลอร์

โดยเขาคาดเดาว่า หากทั้งสองมาพบกันจริงๆ คงน่าสนุกไม่น้อย สตีฟ จ็อบส์ คงแสดงท่าทียโสเล็กน้อยในสไตล์คนมั่นใจในตัวเอง ในฐานะได้ชื่อว่าฉันันเป็นอัจฉริยะพลิกโลก

ขณะที่ผู้เฒ่าวัย 82 ปี เจ้าของทฤษฎีการตลาดผู้เข้าใจโลก ออกหนังสือมาแล้ว 15 เล่ม คงใจเย็น นิ่งมองเด็กหนุ่มอย่างสตีฟ จ็อบส์ ด้วยความสุขุม ก่อนออกโรงสอนสั่งว่า บนโลกที่สะดวกสบายจากเทคโนโลยี กลับทำให้มนุษย์ขาดจิตวิญญาณ

“ชีวิตมีค่ามากกว่าคำว่าทำเพื่อผลประกอบการ แต่มันต้องคืนกลับสังคมด้วย แค่ดังอย่างเดียวไม่พอ แค่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ได้ชื่อว่าเปลี่ยนโลก มันอาจจะไม่ได้แปลว่าสังคมจะดีขึ้นเสมอไป มีอีกหลายด้านที่เกิดประโยชน์ทางลบจากสิ่งประดิษฐ์ของเขา แม้เด็กได้เล่นไอโฟนไอแพดคล่องแคล่ว แต่เด็กกลับไม่มีโอกาสเรียนรู้ทีละขั้นตอน และไม่มีโอกาสรู้ว่าคนอื่นในสังคมก็อยู่อย่างยากลำบาก คนเล่นของเหล่านี้อาจจะไม่คิดถึงสิ่งแวดล้อมเลย คิดไม่ได้ว่าวันหนึ่งโลกเราจะหลอมรวมเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกัน คุณต้องไม่เคยคิดอย่างนี้แน่เลยสตีฟ จ็อบส์” นี่คือคำพูดที่สุทธิชัยเชื่อว่าค็อตเลอร์น่าจะเอื้อนเอ่ย

สุทธิชัยเพิ่มเติมให้อีกว่า สิ่งที่สตีฟ จ็อบส์ ควรต้องรู้คือ เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม แม้เขาจะเคยไปเจอโยคะโยคีในอินเดีย แม้เคยเรียนเซน แต่มีเวลาเรียนน้อย หากจ็อบส์ได้คิดตามตำรา 3.0 จะมีโอกาสเปิดโลกเห็นสังคมอีกด้าน และคิดจะคืนอะไรให้กับสังคม เผลอๆ เขาจะกลายเป็นคนที่มีความสุข มีชีวิตยืนยาวกว่านี้แน่ๆ