เท้าเด็ก ... เรื่องเล็กที่ไหน

เท้าเด็ก ... เรื่องเล็กที่ไหน

เท้า อวัยวะที่ต้องรับภาระหนัก แบกน้ำหนักของเราไว้ อาจเกิดความผิดปกติซ่อนเร้นที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก และส่งผลต่อสุขภาพและบุคลิกภาพในตอนโต

นพ.เชิดพงศ์ หังสสูต ผู้อำนวยการคลินิกสุขภาพเท้ากรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยว่า การเดินที่ผิดเพี้ยน ปลายเท้าชี้เข้าด้านใน เท้าปุก เท้าบน เท้าบิดเข้าหรือออก ล้วนแต่เป็นความผิดปกติที่ทำให้ไม่สามารถรับน้ำหนักตัวได้ดีเท่าเท้าปกติ อาจส่งผลต่อลักษณะการเดิน บุคลิกภาพ และสุขภาพอีกด้วย

"ความผิดปกติของเท้าสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นภาวะซ่อนเร้น โดยเฉพาะภาวะเท้าแบน ที่พบได้บ่อยและมีความสัมพันธ์กับคนไทยมาก" นพ.เชิดพงศ์กล่าวพร้อมย้ำว่า โดยเฉพาะภาวะเท้าแบนที่มักพบในคน 50-70% ของประชากรไทย

ภาวะเท้าแบนคือ ภาวะที่รูปร่างของอุ้งเท้าจากเดิมที่มีแนวโค้ง 20-25 องศา การเรียงตัวของกระดูกทั้ง 26 ชิ้นสมบูรณ์ เกิดการผิดรูป ฝ่าเท้าแบนเรียบ ส่วนใหญ่เป็นภาวะเท้าแบนชนิดไม่ติดแข็งที่คงอยู่ต่อเนื่องมาตั้งแต่วัยเด็กเล็ก อุ้งเท้าไม่สูงขึ้นแม้กระดูกจะมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้วก็ตาม มักจะพบทั้งสองข้าง โดยมีสาเหตุส่วนมากมาจากลักษณะทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัว

การเจริญเติบโตของโครงสร้างเท้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 7 - 8 ขวบปีแรก โดยเมื่อเด็กเริ่มตั้งไข่และเดิน เท้าของเด็กจะมีลักษณะ 3F คือ Fat, Flat และ Floppy การ เดินจะไม่มีการถ่ายน้ำหนักจากส้นเท้าไปสู่ปลายเท้าเหมือนในผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการยืนและเดิน โครงสร้างของเท้าและอุ้งเท้าจะมีลักษณะเหมือนผู้ใหญ่เมื่ออายุประมาณ 7 - 8 ปี ส่วนการเดินในลักษณะถ่ายน้ำหนักจากส้นเท้าไปสู่ปลายเท้าจะเริ่มเมื่ออายุ 3 - 4 ปี

นพ.เชิดพงศ์อธิบายว่า เท้าแบนทำให้เท้ารับน้ำหนักตัวได้ไม่ดี แนวกระดูกเรียงตัวผิดเพี้ยน ทำให้ส้นเท้าแบออก หัวเข่าบิดเข้าหากัน โดยที่ไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ จนกระทั่งอายุสูงขึ้นจนถึงวัย 30-40 ปี จึงจะเริ่มมีอาการเจ็บเส้นเอ็น ปวดเข่า ปวดน่อง เจ็บฝ่าเท้าจนลงน้ำหนักได้ไม่มาก ออกแรงเดินได้ไม่ดีเท่ากับคนวัยเดียวกัน และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนเช่น ข้อเข่าเสื่อมตามมา

เด็กอาจรู้สึกว่า เท้าหรือขาอ่อนล้าง่าย ร่วมกับอาการปวดบริเวณอุ้งเท้า ส้นเท้าและเท้าด้านนอก โดยอาการเป็นมากขึ้นเมื่อมีการลงน้ำหนัก ขณะยืนลงน้ำหนักจะพบส้นเท้าบิดออกมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่มักจะมีกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายตึงร่วมด้วย หากมีส้นเท้าบิดมากๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้ข้อเสื่อม และเคลื่อนไหวได้น้อยลง

“การตรวจความผิดปกติของเท้าสามารถตรวจได้ตั้งแต่เด็กเริ่มเดิน ด้วยเทคนิค Pedographical Studies ที่จะค้นหาแรงเข้มข้นที่ทำให้เกิดความผิดปกของเท้า โดยวิธีพิมพ์รอยเท้า หรือติดเซนเซอร์ที่เท้าเพื่อวัดจุดลงน้ำหนัก แล้วใช้กล้องจับภาพความเร็วสูง ตรวจจับความผิดปกติอย่างละเอียด 1000 ครั้งต่อวินาที” คุณหมอกล่าว

การตรวจสามารถทำได้ตั้งแต่ 1 ขวบ จนกระทั่งถึง 4 ขวบซึ่งเป็นวัยที่กระดูกเริ่มเจริญเติบโตและเห็นรูปเท้าชัดเจน หากผิดปกติก็จะได้เริ่มปรับรูปเท้า แต่หากเป็นปกติก็จะไม่เกิดความผิดปกติหลังจากวัย 4 ขวบจนถึง 10 ขวบที่รูปเท้าจะฟอร์มตัวสมบูรณ์

สำหรับการปรับรูปเท้านั้น แพทย์จะปรับสรีระแก้ไขทรงรูปเท้าให้กลับมาเป็นปกติ โดยใช้อุปกรณ์ 2 อย่างคือ แผ่นรองรองเท้า ที่มีมุมนูน มุมเว้า ช่วยหนุนให้เกิดอุ้งเท้าปลอม ช่วยกระจายแรงกดของน้ำหนักตัว ปรับให้สรีระของเท้าที่แบนราบให้ค่อยๆ มีอุ้งเท้าอย่างสมบูรณ์ และตัวรองเท้าปรับสรีระที่ต้องเป็นรองเท้าบูทที่สูงเกินระดับข้อเท้า เสริมความแข็งแรงด้านหน้า และด้านข้าง ไม่ให้เท้าแบเข้าหรือออก หรือล้มเข้ามาข้างใน

"เด็กที่เกิดภาวะเท้าแบนต้องรักษาโดยใส่รองเท้าปรับสรีระและแผ่นรองที่ออกแบบพิเศษให้เหมาะกับรูปเท้าของเด็กแต่ละคน และใส่ตลอดยกเว้นเวลานอน เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่ต้องกินยาหรือผ่าตัด โดยแพทย์จะติดตามผลทุก 4 เดือน"

สำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครอง นพ.เชิดพงศ์แนะนำว่า ควรสังเกตลักษณะการเดิน การวางเท้าของเด็กตั้งแต่เริ่มเดิน หากพบลักษณะผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ และหากเด็กมีภาวะเท้าแบน ผู้ปกครองควรสนับสนุนให้ออกกำลังกายที่เสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณเท้าให้กลับมาสมบูรณ์เช่น การเขย่งยืนปลายเท้าขึ้นลง 20 ครั้งต่อวัน หรือการว่ายน้ำที่ต้องเตะเท้ามาก ๆ

เพราะเท้าน้อยๆ ต้องรับภาระหนักในอนาคต พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และเจ้าของเท้าจึงควรใส่ใจดูแลและปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อพบอาการผิดปกติ เพื่ออนาคตที่จะก้าวเดินอย่างมั่นคง