'ธนชาติ'เสริมแกร่งอุตฯ เปิด'ไอเอ็มซี'สร้างคน

'ธนชาติ'เสริมแกร่งอุตฯ เปิด'ไอเอ็มซี'สร้างคน

อดีตผอ.ซอฟต์แวร์พาร์ค ผนึก “เอทีซีไอ” เปิดตัวสถาบัน “ไอเอ็มซี” เสริมแกร่งอุตสาหกรรมไอทีตั้งเป้าปั้นคนไอทีเลือดใหม่ป้อนตลาด

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า เขาร่วมมือกับสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (เอทีซีไอ) เปิดตัวสถาบันไอเอ็มซี วางไว้เป็นศูนย์รวมข้อมูลเชิงวิชาการสำหรับอุตสาหกรรมไอซีทีไทย

ทั้งนี้แนวทางการทำงานประกอบไปด้วย 3 พันธกิจหลักคือ 1. เป็นผู้นำสร้างงานวิจัยเชิงนโยบาย และสำรวจข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในตลาดประเทศไทย 2. พัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งส่วนผู้บริหารและเทคนิค 3. สนับสนุนการจับคู่ธุรกิจให้กลุ่มผู้ประกอบซอฟต์แวร์หน้าใหม่ เตรียมความพร้อมไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558

“เราเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทรนด์เทคโนโลยีคลาวด์ คอมพิวติง, โมบาย เทคโนโลยี, บิ๊กดาต้า รวมถึงโซเชียล เน็ตเวิร์ค ซึ่งหากรอเพียงการสนับสนุนจากภาครัฐอาจช้าเกินไป"

นอกจากนี้ พบว่าปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือขาดข้อมูลที่ถูกต้องในการวางแผนนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ ทั้งข้อมูลการปฏิบัติงาน บุคลากร และผลการสำรวจแนวโน้มต่างๆ โดยทั่วไปมักเป็นข้อมูลจากสถาบันวิจัยในต่างประเทศที่เน้นข้อมูลทั้งภูมิภาคมากกว่าเจาะลึกลงถึงภายใน

อย่างไรก็ดี รูปแบบของสถาบันมีลักษณะเป็นคอนเทนท์ โพรไวเดอร์ คล้ายกับบริษัทวิจัยของต่างประเทศ เช่น การ์ทเนอร์ หรือไอดีซี ลักษณะการบริหารจัดการเป็นเหมือนอีกหนึ่งบริษัทที่หารายได้จากการฝึกอบรม และการวิจัยตลาด แต่ละปี น่าจะมีรายได้หลัก 10-20 ล้านบาท แต่ไม่ได้วางเป็นเรื่องหลักที่จะต้องให้ความสำคัญ

"ในไทย ผู้ประกอบการรวมกลุ่มกันอยู่บ้างแล้ว ทั้งจุดยืนของหลายๆ รายมีพัฒนาการที่ดีมากขึ้นตามลำดับ แต่ขาดคนทำงานเชิงวิชาการซึ่งเปรียบเสมือนแขนและขา เราหวังว่าจะเข้าไปเติมเต็มตรงจุดนั้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรม"

เขากล่าวอีกว่า จุดยืนที่วางไว้คือพยายามทำในสิ่งที่ไม่ซ้ำซ้อนกับคนอื่น สอดคล้องตามความต้องการของตลาด ผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศขององค์กร ให้ความสำคัญกับปัญหา อุปสรรค และเทรนด์ที่เกิดขึ้นจริง พร้อมดึงข้อมูลที่จัดระเบียบแล้ว และไม่ได้จัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำให้ผู้ประกอบการไทยโดดเด่นขึ้นมา

ปีแรกตั้งเป้าปั้นคนไอทีเลือดใหม่สู่ตลาดหลัก 1,000 คน สถาบันและพันธมิตรมีเป้าหมายร่วมกันที่จะทำภารกิจหลักให้บรรลุภายใน 2 ปี ปัจจุบันมีบุคลากรที่ทำงานประจำ 3 คน หากรวมคนในแวดวงที่จะมาร่วมมือกันแบบรายโครงการมีอยู่กว่า 10 คน

“อุตสาหกรรมซอตฟ์แวร์ไทยเติบโตมากขึ้นอยู่ตลอด ฉะนั้นจึงไม่อาจอยู่นิ่งๆ แบบเดิมได้อีก ผมมองว่าเราต้องช่วยกันใช้ความสัมพันธ์และเครือข่ายที่มีอยู่ทั้งระดับประเทศและภูมิภาคเข้ามาผสมผสานทำให้การทำงานเกิดประสิทธิผลสูงสุด เช่นเดียวกับสมาคมในต่างประเทศที่พัฒนาไปมากกว่าที่ความร่วมมือขยายของเขตไปทั้งด้านข้อมูลข่าวสาร และทำการค้าระหว่างกัน”