ภาษีสามีภริยา (1)

ภาษีสามีภริยา (1)

โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 17/2555 ว่า มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร

ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีเงินได้และการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินของผู้มีเงินได้ที่เป็นสามีและภริยาขึ้นใหม่บางประการ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในเรื่องดังกล่าว เพื่อใช้บังคับสำหรับการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. 2555 ใน พ.ศ. 2556 ซึ่งต้องเริ่มต้นยื่นตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ประกอบกับการจัดเก็บภาษีเงินได้ และการบริหารจัดเก็บภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญในอันที่จะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้ และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้มีการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2555 ประกอบกับกรมสรรพากรได้มีคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสามีและภริยา (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 14 มกราคม 2556 จึงขอนำมาเป็นประเด็นปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้
ปุจฉา ในเมื่อบทบัญญัติมาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นผลให้ทั้งสองมาตราดังกล่าวโมฆะใช้ไม่ได้อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องตรากฎหมายออกมายกเว้นอีก
วิสัชนา เป็นธรรมเนียมประเพณีในการบัญญัติกฎหมาย เมื่อมีกฎหมายใดขัดต่อรัฐธรรมนูญก็จะต้องยกเลิกมาตรานั้นออกไปไม่ให้พบเห็นกันอีก และเพื่อมิให้เกิดความสับสน ก็จะไม่มีการบัญญัติกฎหมายมาตรานั้นๆ ขึ้นแทนที่อีก ทั้งนี้ เพื่อดำรงความสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะไม่มีบทบัญญัติใดมาขัดหรือแย้งได้ ดังจะเห็นได้ว่ามีการบัญญัติเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ของสามีและภริยาขึ้นใหม่ตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่แทนที่บทบัญญัติมาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกไปเพราะเหตุที่เป็นโมฆะโดยการขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ
แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติมาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกไป ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระสำหรับปีภาษีก่อนปี พ.ศ. 2555
ปุจฉา บทบัญญัติมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากรที่บัญญัติขึ้นใหม่มีใจความสำคัญอย่างไร
วิสัชนา บทบัญญัติมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 57 ฉ ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา 56
ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง
สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้แต่ถ้ามีภาษีค้างชำระสามีและภริยาต้องร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้น
เมื่อได้เลือกยื่นรายการตามวรรคสองและวรรคสามในปีภาษีใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว”
จากบทบัญญัติดังกล่าวมีข้อสังเกตดังนี้
1. ตามวรรคแรกไม่ได้กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีภริยา ในกรณีที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีดังเช่นที่เคยบัญญัติไว้ในมาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แต่เดิม ดังนั้น แม้ความเป็นสามีภริยาจะมิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีก็ใช้บทบัญญัติมาตรา 57 ฉ นี้ได้
2. กำหนดเกณฑ์การแบ่งเงินได้ของสามีภริยาที่มีร่วมกัน เพื่อมิให้สามีภริยาเป็นคณะบุคคล ซึ่งจะมีการบัญญัติจัดเก็บภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษต่อไป
3. กำหนดทางเลือกในการเสียภาษีเงินได้ของสามีภริยาได้เป็นหลายๆ ทาง ซึ่งเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันจะไม่เป็นเหตุให้มีการขัดรัฐธรรมนูญอีกต่อไป

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ