'Action Research' วางรากฐานสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

'Action Research' วางรากฐานสู่การท่องเที่ยวยั่งยืน พลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19

ท่ามกลางวิกฤต 'โควิด-19' การท่องเที่ยวและบริการถือเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทว่าในมุมกลับหากใช้สถานการณ์นี้เป็นโอกาสในการวางแผนการวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ย่อมสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศได้เช่นเดียวกัน

 

ทศวรรษที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สถานการณ์ก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP มีแรงงานในภาคอุตสาหกรรมกว่า 4.5 ล้านคน เชื่อมโยงผู้คนและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรอย่างกว้างขวาง ถือเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ

ทว่าในทางกลับกัน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยก็มีจุดเปราะบางที่จำเป็นต้องได้รับแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการขาดแผนแม่บทในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดูแลรักษาฐานทรัพยากรทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรม การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือแม้แต่การสร้างมาตรฐานและหลักประกันให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้

ดร. อดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นักวิชาการที่คร่ำหวอดในแวดวงการท่องเที่ยวมาโดยตลอด กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาก่อนการระบาดของโควิด-19 ว่าเกิดจากการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวในจังหวัดหลัก เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างจังหวัดหลักและจังหวัดรอง

“เรื่องนี้ป็นปัญหาสำคัญในช่วงก่อนเกิดโควิด-19  กระทั่งในเดือนเมษายนเมื่อรัฐบาลใช้มาตรการล็อกดาวน์ กลายเป็นว่านักท่องเที่ยวเราเป็นศูนย์ เพราะทุกอย่างหยุดหมด เหมือนเป็นการ Set Zero ซึ่งสิ่งที่เราเห็นทันทีคือ ภูมิคุ้มกันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่ำมาก สังเกตว่าทุกครั้งพอเกิดวิกฤติ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวแทบจะไม่มีความสามารถรองรับผลกระทบได้มากนัก พอทิ้งระยะไปสักสองสามเดือนเหมือน ปรากฏว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งแทบจะต้องปิดกิจการ ทำให้เราต้องหันมาทบทวนแนวทางหรือแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของงานวิจัยอีกครั้ง"

 

  1

 

  • ยุทธศาสตร์แหล่งท่องเที่ยวคุณภาพสูง

ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ภาวะชะงักงันของการเดินทางระหว่างประเทศอันสืบเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไปเกือบสิ้นเชิง อีกด้านหนึ่งคือช่วงเวลาสำคัญในการ 'ตั้งหลัก' เพื่อกำหนดทิศทางสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และวางแผน 'ตั้งรับ' การกลับมาของนักท่องเที่ยวบนพื้นฐานการจัดการที่กำหนดเป้าหมายเชิงคุณภาพ

ดร.อดิษฐ์ ให้ข้อมูลว่าในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอกรอบงานวิจัยที่สำคัญหลายชิ้น ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์การยกระดับให้กระบี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งเป็นการต่อยอดงานวิจัยเรื่อง 'การท่องเที่ยวสีเขียว จังหวัดกระบี่' หรือ 'กระบี่ Go Green'

"ผู้ประกอบการในกระบี่ส่วนใหญ่ทำเรื่อง Go Green มาพอสมควรแล้ว แต่พอจะไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงเขาไม่รู้จะตั้งต้นอย่างไร พอดีว่าเมื่อปีที่แล้วเรามีงานวิจัยเรื่องแหล่งท่องเที่ยวคุณค่าสูง หรือ High Value Destination ซึ่งได้ทำตัวชี้วัดไว้หมดแล้ว ก็เลยนำเนื้องานตรงนี้มาเสริม แล้วก็เอามาตรฐาน Amazing Thailand Safety and Health Administration: (SHA) เข้ามาจับอีกตัวหนึ่ง ถ้ามองเป็นกราฟ แกน X คือฐานเรื่องกระบี่ Go Green ส่วนแกน Y คือเรื่องแหล่งท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งในเชิงวิชาการพร้อมแล้วขาดแต่แนวทางปฏิบัติ"

ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิของสกสว. ปัญหาการแปรทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติคือสิ่งที่หน่วยงานด้านวิจัยตระหนักดี จึงมีการนำแนวทางการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  'Action Research' มาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"ช่วงที่ผ่านมาผมเองทำงานทั้งเชิงวิชาการและเชิงวิชาชีพ ก็พยายามขมวดสองฝั่งให้เดินหากันให้ได้  ตอนนี้สิ่งที่พยายามทำคือเน้นเรื่อง Action Research ลงไปในพื้นที่ ชวนผู้ประกอบการมาอยู่ในกระบวนการงานวิจัย ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน สุดท้ายงานวิจัยจบ เขารู้เลยว่าอยากได้อะไร ฉะนั้นงานวิจัยที่จะทำต่อไปคือการปิดช่องว่างเหล่านี้"

ดร.อดิษฐ์ ย้ำว่างานวิจัยในลักษณะนี้ใช้งบประมาณไม่มากแต่ให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า ยกตัวอย่างการนำแนวคิดเรื่อง Go Green ไปออกแบบเป็น Green Hotel โดยมีนักวิจัยช่วยเรื่องการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ขณะเดียวกันก็ยกระดับราคาห้องพักให้สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ใช้ Action Research เป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงกีฬาในกลุ่มกิจกรรม มวยไทย ปั่นจักรยาน และวิ่ง (Fight Ride Run) ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นกิจกรรม 'จอมบึงมาราธอน' สามารถการลดใช้ทรัพยากรและแรงงาน สร้างการมีส่วนร่วมและความพึงพอใจให้กับชุมชน หรือการพัฒนา ‘สปาล้านนา’ สำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ นำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นทางภาคเหนือมาสร้างมาตรฐานและต่อยอดในระดับสากล

 

4

 ดร. อดิษฐ์  ชัยรัตนานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

  • พัฒนาโจทย์วิจัย แก้ไขวิกฤตชาติ

ในอดีตงานวิจัยมักถูกมองว่าเป็นผลงานวิชาการที่ถูกวางอยู่บนหิ้ง แต่หลังจากได้มีการนำแนวคิดในการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ Action Research มาใช้โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ในลักษณะการพัฒนาโจทย์วิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ ทำให้เกิดกรอบการทำงานในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์ต่อภาคท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากมีการผนวกรวมหน่วยงานด้านการวิจัยของประเทศภายใต้ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รับหน้าที่จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เห็นได้ชัดว่าทำให้การวางแผนการวิจัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

"ข้อดีคือการเป็น Single Database จากเดิมที่มีหลายหน่วยงานมาก แล้วงบวิจัยไปอยู่ในหลายส่วน สิ่งแรกที่เห็นเลยคือสามารถตรวจสอบกรอบงานวิจัยได้ว่ามีความซ้ำซ้อนหรือไม่ ผมว่าหลังจากปฏิรูปแล้วมันทำให้เกิดความชัดเจน โอกาสที่จะเกิดความซ้ำซ้อนน้อยลง จะบอกว่าไม่มีเลยก็คงไม่ใช่ อาจจะมีความใกล้เคียงบ้างในบางครั้ง ซึ่งสามารถแนะนำให้ปรับกระบวนการวิจัยให้มีความแตกต่างหรือต่อยอดจากงานเก่าได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะทำให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

โดยเฉพาะในส่วนของงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวและบริการ การบริหารจัดการในระบบใหม่ช่วยให้เกิดแผนการศึกษาวิจัยในระยะยาวมากขึ้น  "ช่วงที่ผ่านมา ท่านผู้อำนวยการ สกสว. ให้นโยบายว่าต้องทำเป็น Block Grant คือทำเป็นโครงการต่อเนื่องสามปี ทำให้งานวิจัยมีความต่อเนื่อง ได้รับการยอมรับและได้รับการชื่นชมจากหน่วยงานที่อยู่ในภาคปฏิบัติค่อนข้างมาก"

เมื่อถามถึงประเด็นที่ควรศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในสถานการณ์ปัจจุบัน ดร.อดิษฐ์ มองว่าควรออกแบบแผนแม่บทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวในอนาคต

"อย่างแรกที่ต้องทำคือฉากทัศน์ (Scenario) เช่นที่ผ่านมาประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน กระจุกตัวอยู่ในจังหวัดหลักๆ ไม่กี่จังหวัด หลังจากนี้ถ้ากลับมาเหมือนเดิมหรือมากกว่านั้น นักท่องเที่ยวควรอยู่ส่วนไหนของประเทศไทยบ้าง ระบบขนส่ง ถนนหนทางควรต้องวางแผนอย่างไร คือแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวต้องทำไว้ล่วงหน้า ซึ่งมันเกิดจากกระบวนการวิจัยนี่แหละครับ"

เรื่องที่สอง แผนแม่บทการจัดการด้านโรงแรม-ที่พัก ต้องทำฐานข้อมูลเป็นรายจังหวัด เพื่อประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าพักต่อปี รวมไปถึงปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดคือแผนงานวิจัยที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีเข็มทิศในการพัฒนาต่อไป

"เรากำลังคุยกันในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คำว่า ยั่งยืน คือต้องมีแผนล่วงหน้า ที่ผ่านมาเราเดินหน้าอุตสาหกรรมแบบ Customer Centric  ลูกค้าจะเอาอะไรก็ทำสิ่งนั้น หาทรัพยากรมาป้อนตลาดจนลืมไปว่าการท่องเที่ยวมันทำลายทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวไปนะ ซึ่งวันนี้ผมพยายามรณรงค์ว่าทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวสร้างธรรมชาติ ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวสร้างทรัพยากรให้ประเทศ การที่จะสร้างได้คือการท่องเที่ยวนั้นจะต้องมีความสมดุล การท่องเที่ยวต้องสร้างมูลค่าให้แก่คนท้องถิ่น สร้างให้แก่ชุมชน แล้วชุมชนจะหันกลับมาอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อทำให้ธรรมชาตินั้นกลับมาสร้างตลาดท่องเที่ยว"

 

3_1  

  • งานวิจัยเข้มแข็ง ประเทศเข้มแข็ง

แม้จะไม่อาจฉายภาพความสำเร็จได้อย่างชัดเจนเหมือนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ แต่หากประเมินจาก 'คุณค่า' และ 'มูลค่า' ของประโยชน์ที่ต่อยอดจากงานวิจัยไปอย่างมากมาย การลงทุนด้านการวิจัยเชิงสังคมย่อมเป็นหนึ่งเสาหลักอันแข็งแรงในการพัฒนาประเทศ

"ตัวชี้วัดของงานวิจัยเชิงสังคมคือภาพใหญ่ของสังคม ค่อนข้างเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ที่ผ่านมาเลยไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก แต่สิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนคือ การนำกระบวนการวิจัยลงไปในพื้นที่ สร้างการจ้างงานในท้องถิ่น สร้างทั้งการเรียนรู้และรายได้ให้กับชาวบ้าน แบบนี้ย่อมจะทำให้คนในพื้นที่เห็นความสำคัญมากขึ้น เรียกว่าการปรับองค์กรการวิจัยใหม่"

ทิศทางของงานวิจัยที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง จึงไม่ใช่แค่ผลผลิตทางวิชาการ แต่หมายถึงการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย เปิดโอกาสให้คนภายนอก ชาวบ้าน ชุมชน ได้สัมผัสกับงานวิจัยโดยตรงมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ยังสร้างความร่วมมือได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคือการพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีศักยภาพในการจัดการปัญหาของตนเอง เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากของสังคม

ทั้งนี้ ดร.อดิษฐ์ ได้แสดงทัศนะต่อทิศทางการปฏิรูประบบวิจัย ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ว่า ก้าวแรกภายใต้โครงสร้างใหม่ "เริ่มเห็นแสงสว่างตรงปลายอุโมงค์"

 "อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าเป้าหมายที่เราจะเดินไปในอนาคตยังห่างไกล เพราะงบวิจัยของประเทศทุกวันนี้ยังห่างไกลกับมาตรฐานที่เป็นเปอร์เซ็นต์ของงบการลงทุนด้านการวิจัยเมื่อเทียบกับขนาดของ GDP ในอีกหลายประเทศ ประเด็นถัดมา ผมคิดว่าอัตราการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่มีอยู่ยังไม่มากพอ ต้องใช้เวลาในการพัฒนา

ประเด็นสุดท้าย ผมคิดว่านักวิจัยในประเทศไทยยังมีน้อย เราคงต้องพัฒนาให้เกิดนักวิจัยมากกว่านี้ ซึ่งในอดีตงบประมาณน้อยโอกาสสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ก็เลยน้อย

วันนี้เมื่อกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปฏิรูปแล้ว มีงบประมาณมากขึ้น การพัฒนา การสร้างนักวิจัยคงจะเป็นหัวใจ เป็นบันไดก้าวแรกที่จะทำให้ประเทศมีความเจริญภายใต้พื้นฐานงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ"