จากลุ่มเจ้าพระยาสู่ลุ่มอิรวดี ที่ ‘มัณฑะเลย์’

จากลุ่มเจ้าพระยาสู่ลุ่มอิรวดี ที่ ‘มัณฑะเลย์’

อดีตในปัจจุบันของเมือง "มัณฑะเลย์" ราชธานีแห่งสุดท้ายของ "พม่า" เสน่ห์การเดินทางท่ามกลางความสงบงามของสถาปัตยกรรมและผู้คนบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดีที่มัดใจนักเดินทางจากลุ่มเจ้าพระยามานักต่อนัก

 

จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนผมเคยดูภาพยนตร์เรื่อง ‘From Bangkok to Mandalay’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตความรักที่ไม่สมหวังของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง โดยใช้โลเกชั่นถ่ายทำเป็นสถานที่สำคัญและสวยงามมากมายในราชอาณาจักรเมียนมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเมือง มัณฑะเลย์ (Mandalay) ที่มีทั้งวัดวาอาราม ซากโบราณสถานขนาดใหญ่ ทะเลสาบ สะพานไม้ทอดยาว และแม่น้ำอิรวดีอันอาบอิ่มอุดม แม่น้ำสายนี้ยาวสองพันกว่ากิโลเมตรไหลจากเหนือลงใต้ โดยผ่านเมืองมัณฑะเลย์ด้วย 

นอกจากนี้กวีชื่อดังชาวอังกฤษ คือ รัดยาร์ด คิปลิง (Rudyard Kipling) ได้เขียนหนังสือชื่อ Mandalay เมื่อปี ค.ศ.​1890 กล่าวถึงแม่น้ำอิรวดีในบทกวีของเขาแทนด้วยถ้อยคำว่า ‘ถนนสู่มัณฑะเลย์

สิ่งเหล่านี้เองคือแรงบันดาลใจให้ผู้ชายตัวเล็กๆ อย่างผม แรมทางจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาสู่ลุ่มน้ำอิรวดีในที่สุด

 

เธกเธฑเธ“เธ‘เธฐเน€เธฅเธขเนŒ 6

 

มัณฑะเลย์เป็นเมืองมีมนต์เสน่ห์ลึกลับสำหรับคนชอบประวัติศาสตร์อย่างผม เพราะเป็นราชธานีแห่งสุดท้ายของพม่า ก่อนที่จะเสียให้อังกฤษโดยสมบูรณ์ หลังจากทำสงครามใหญ่กันมาหลายครั้งในยุคอังกฤษล่าอาณานิคมในอุษาคเนย์นี้

แต่แม้จะเคยตกอยู่ในน้ำมือของใครมาก่อนก็ตาม มัณฑะเลย์ในปี พ.ศ. นี้ ก็ยังมีอัตลักษณ์เป็นของตนเองอย่างไม่เสื่อมคลาย อารามเก่าทุกหลัง มหาเจดีย์สีทองทุกองค์ และวิถีแห่งพุทธะยังคงโลดแล่นบอกเล่าเรื่องราวมากมายอยู่อย่างเงียบเชียบ หากเราเงี่ยหูฟังด้วยหัวใจ รับรองว่าต้องได้สัมผัสเรื่องราวเหล่านั้นแน่นอน

หากเรานำแผนที่เมียนมากางออกดู จะเห็นเลยว่าจุดที่ตั้งของมัณฑะเลย์นั้นอยู่กึ่งกลางประเทศพอดิบพอดี นี่คือเหตุผลหนึ่งที่พระเจ้ามินดงทรงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระ มายังมัณฑะเลย์ เมื่อปี ค.ศ.​1857 เพราะเมืองเดิมง่ายต่อการเข้าตีของอังกฤษอยู่บ่อยครั้ง โดยตัวเมืองมัณฑะเลย์ถือว่ามีชัยภูมิดีเป็นเลิศ เพราะเมืองขนาบด้วยแม่น้ำอิรวดีอยู่ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านเป็นภูเขาและเนินเขา ซึ่งนอกจากจะใช้ประดิษฐานพระเจดีย์องค์สำคัญแล้ว ยังใช้เป็นจุดตรวจการณ์ได้กว้างไกล ในปัจจุบันนี้หากไม่นับเมืองเนปิดอว์ (เมืองหลวงใหม่) ต้องถือว่า มัณฑะเลย์ คือเมืองใหญ่อันดับ 2 รองจากนครย่างกุ้ง (เมืองหลวงเก่า) เลยทีเดียว

มัณฑะเลย์อยู่ห่างจากย่างกุ้งไปทางทิศเหนือ 716 กิโลเมตร บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี ตัวเมืองทุกวันนี้ยังคงกลิ่นอายอดีตอันขรึมขลังไว้อย่างสมบูรณ์แบบ ผสมผสานกับวิถีชีวิตสมัยใหม่ไม่ตกยุค คนที่จะมาเที่ยวมัณฑะเลย์แล้วรู้สึกแฮปปี้ ผมว่าต้องเป็นคนประเภทที่ไม่หลงแสงสี ไม่ชอบฟุ้งเฟ้อ แต่หลงใหลในวันวานที่ยังมีลมหายใจโลดแล่นอยู่ ย่านร้านตลาดและรอยยิ้มของผู้คนอันคึกคัก รวมถึงวัดวาอารามที่ยังมีพุทธศาสนิกชนเนืองแน่น สะท้อนเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะซึ่งยังฝังรากลึกอยู่ในหัวใจคนเมืองนี้

 

เธกเธฑเธ“เธ‘เธฐเน€เธฅเธขเนŒ 1

 

ที่เที่ยวแรกอันเป็นที่สุดของมัณฑะเลย์ คือ พระราชวังมัณฑะเลย์ ซึ่งพระเจ้ามินดงทรงรับสั่งให้สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1857–1859 หลังย้ายเมืองหลวงมาจากอมรปุระ ถือเป็นพระราชวังสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนถูกอังกฤษเข้ายึคครองอย่างเบ็ดเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 2428 

พระราชวังแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยไม้สักทองล้ำค่า แกะสลักลวดลายงดงามขั้นเทพ โดยถอดแบบมาจากพระราชวังหลวงเมืองอมรปุระ จึงมีความยิ่งใหญ่อลังการมากครับ ผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส เนื้อที่ภายในมากถึง 2,581 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงยาว 2 กิโลเมตร พร้อมคูน้ำล้อมรอบทุกด้าน กว้างถึง 64 เมตร กำแพงแต่ละด้านมีประตูสามบาน รวม 12 ประตู โดยมีสัญลักษณ์สิบสองนักษัตรประจำอยู่ 

ทว่าความงามยิ่งใหญ่ของพระราชวังมัณฑะเลย์ก็คงอยู่ได้ไม่นาน เมื่อกองทัพอังกฤษบุกเข้ายึดและปล้นสะดมพระราชวัง กระทั่งถึงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งระเบิดทำลายทุกอย่างราบเป็นหน้ากลอง เหลือเพียงส่วนกรมธนารักษ์และหอนาฬิกาเท่านั้นที่เหลือรอด เพราะสัมพันธมิตรเข้าใจว่าทหารญี่ปุ่นใช้พระราชวังเป็นฐานที่มั่น สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นพระราชวังที่ทางการพม่าสร้างขั้นมาใหม่ทั้งหมดตามผังเดิมครับ

สิ่งที่เห็นแม้เป็นของใหม่ทำเลียนแบบของเก่า แต่ก็พอจะช่วยให้เราจินตนาการถึงอดีตอันเรืองรุ่งของอาณาจักรพม่าในอดีตได้เป็นอย่างดี

ตัวพระที่นั่งต่างๆ ล้วนสร้างด้วยไม้สักทอง มุงหลังคาสีแดง ประดับประดาด้วยโลหะสีทอง (ในอดีตคงเป็นทองคำแท้) โดยเฉพาะยอดฉัตรแหลมซึ่งมักเรียงซ้อนกันหลายชั้นตามสไตล์สถาปัตยกรรมพม่า ขณะเดินชมไปตามพระที่นั่งและห้องหับน้อยใหญ่ เราต้องใช้จินตนาการตามไปด้วย ก็พอจะเห็นภาพของนางกำนัล ข้าราชการชั้นสูง และผู้คนมากมายทั้งฝ่ายนอกและฝ่ายในเดินกันขวักไขว่ 

 

เธกเธฑเธ“เธ‘เธฐเน€เธฅเธขเนŒ 2

 

ประเด็นหนึ่งที่ไกด์ทัวร์มักเล่าให้นักท่องเที่ยวฟังเสมอเกี่ยวกับพระราชวังมัณฑะเลย์ก็คือ ใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่า พระเจ้าธีบอ (บางคนเรียก พระเจ้าสีป่อ ซึ่งในบันทึกประวัติศาสตร์มักกล่าวถึงความอ่อนแอของพระองค์ จนพระมเหสีเอกคือ พระนางศุภยาลัต เข้ามามีบทบาทบริหารราชการแผ่นดินแทนเกือบหมด อีกทั้งพระนางยังมีพระทัยโหดเหี้ยม เข่นฆ่าพระญาติและข้าราชการที่ไม่เห็นด้วยไปนับร้อยคน โดยทำทีจัดงานเลี้ยงที่มีการเล่นดนตรีเสียงดังกลบเสียงการประหารหมู่ในครั้งนั้น! กระทั่งอังกฤษเข้ายึดพระราชวังได้ จึงเนรเทศพระเจ้าธีบอไปประทับอยู่ที่รัตนคีรีในบริติชราช ประเทศอินเดีย จนสิ้นพระชนม์ แม้กระนั้นก็ยังมีลูกหลานของพระองค์อาศัยอยู่ในอินเดียมาถึงทุกวันนี้ในภาพสามัญชนคนธรรมดา

ออกจากพระราชวังมัณฑะเลย์ ก็ขึ้นไปเที่ยวกันต่อที่ มหาคีรีแห่งมัณฑะเลย์ หรือที่ทัวร์ต่างชาติรู้จักกันในชื่อ Mandalay Hill ที่นี่โด่งดังพอๆ กับพระราชวังมัณฑะเลย์ เนื่องจากเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ทั้งลูกที่เต็มไปด้วยรูปปั้นพระพุทธรูปน้อยใหญ่นับพันตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปจรดยอด มีวิหารบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ซูตองพญาบนยอดเขา พระพุทธรูปชเวยัตดอร์ปิดทองขนาดใหญ่ รอบๆ วิหารมีระเบียงให้เราได้ยืนชมทัศนียภาพของเมืองมัณฑะเลย์ได้สุดสายตาพาโนรามา มองออกไปเห็นแม่น้ำอิรวดีทอดยาวราวกับงูยักษ์ แลเห็นพระราชวังเก่า รวมถึงวัดกุโสดอว์เจดีย์สีทองอร่าม และด้วยความที่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ลูกนี้ตั้งอยู่กลางใจเมือง จึงกลายเป็นจุดชมวิวมุมสูงสวยที่สุดของมัณฑะเลย์เลย

 

เธกเธฑเธ“เธ‘เธฐเน€เธฅเธขเนŒ 5

 

สำหรับคนสายบุญที่ชอบไหว้พระขอพรสะสมบารมี ผมแนะนำให้ไปเยือน 2 วัดนี้ครับ รับรองจะต้องประทับใจ แห่งแรกคือ วัดกุโสดอว์ ชมพระไตรปิฎกเล่มใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งมีการจำลองแบบการสร้างมาจากพระมหาเจดีย์ชเวสิกองเมืองพุกาม คือพระเจดีย์มหาโลกมารชิน สูงตระหง่านถึง 30 เมตร สวยเด่นเป็นสง่าจนมองเห็นได้จากระยะไกล นอกจากนี้วัดกุโสดอว์ยังเป็นอนุสรณ์แห่งการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 4 โดยพระเจ้ามินดงทรงให้จารึกพระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์ ลงบนหินอ่อน 729 แผ่น นำไปประดิษฐานไว้ในมณฑปรอบพระเจดีย์นั่นเอง ความเปล่งประกายของเจดีย์สีทองล้อมรอบไปด้วยเจดีย์สีขาวเล็กๆ นับร้อย คือพุทธศิลป์ที่น่าชื่นชม

ถัดมาคือ วัดชเวนันดอว์ วัดที่มีวิหารไม้สักทองจำหลักลวดลายละเอียดยิบจนแทบไม่เชื่อสายตา วิหารไม้สักทองชเวนันดอว์ (Shwenandaw Kyaung) สร้างด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่สมัยพระเจ้ามินดง ฝีมือช่างหลวงมัณฑะเลย์ เดิมตั้งอยู่ในเขตพระราชวังมัณฑะเลย์ ทว่าหลังจากพระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์ลงจึงย้ายวัดชเวนันดอร์ออกมาไว้ยังที่ตั้งปัจจุบัน ทำให้รอดจากการโดนทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมาได้

เดิมทีวิหารนี้เคยหุ้มทองคำประดับกระจกสีทั้งภายในและนอก ปัจจุบันที่ยังเหลือให้เห็นอยู่บ้างก็เฉพาะตรงเพดานเท่านั้น ด้านในวิหารยังมีพระแท่นของพระเจ้าธีบอและบัลลังก์ย่อส่วนจำลอง รวมถึงภาพไม้แกะสลักเรื่องพุทธชาดกภายในพระอาราม

 

เธกเธฑเธ“เธ‘เธฐเน€เธฅเธขเนŒ 8

 

ที่นี่คือมัณฑะเลย์แห่งลุ่มน้ำอิรวดี เมืองแห่งอดีตที่ยังมีลมหายใจในโลกแห่งปัจจุบัน เมืองที่สะท้อนความเป็นเมียนมาได้สมบูรณ์แบบ และทำให้ผมแทบจะลืมลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปเลย...